สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๑๒ วิชาครูของพระสารีบุตร : การหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัว (ต่อ)
๒.๘ ไม่เบื่อการตอบคำถาม
ในคราวที่เพื่อนสหธรรมิกเกิดติดขัดในปัญหาธรรมะเรื่องใด ก็จะหาโอกาสมาสอบถามปัญหาเรื่องนั้น ซึ่งท่านก็ไม่เคยเบื่อหน่ายต่อการตอบคำถามเลย เช่น การตอบคำถามเรื่องการปฏิบัติธรรมของพระอนุรุทธะ1 เป็นต้น
สมัยหนึ่ง พระอนุรุทธะบำเพ็ญภาวนาจนได้ทิพยจักษุแล้ว แต่ยังมิได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แม้พากเพียรเท่าไรก็ยังไม่สามารถสิ้นอาสวกิเลสเสียที ท่านจึงนำเรื่องนี้ไปสอบถามพระสารีบุตร
หลังจากพระสารีบุตรรับทราบปัญหานั้นแล้ว ก็ตอบว่า สาเหตุที่พระอนุรุทธะยังมิได้บรรลุอรหัตผล ทั้ง ๆ ที่สามารถใช้ทิพยจักษุตรวจดู ๑,๐๐๐ โลกธาตุได้แล้ว ก็เพราะติดขัดอยู่ที่สาเหตุ ๓ ประการ ได้แก่
๑) มานะ คือ ความยึดมั่นถือตัวว่าเป็นผู้มีทิพยจักษุเหนือกว่าจักษุมนุษย์สามัญทั่วไป
๒) อุทธัจจะ คือ ความฟุ้งซ่านในขณะทำสมาธิว่าเราก็ทำความเพียรไม่ท้อถอย สติก็ตั้งมั่น กายก็สงบระงับ จิตก็มั่นคงแน่วแน่แล้ว
๓) กุกกุจจะ คือ ความรำคาญใจว่าเหตุไฉนยังไม่หมดสิ้นอาสวกิเลสเสียที ทั้ง ๆ ที่บำเพ็ญเพียรมาอย่างถูกต้องตามหลักวิชชาทุกประการ
หากเมื่อใดที่พระอนุรุทธะไม่สนใจในธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ แล้วน้อมจิตไปเพื่อนิพพานก็จะละทิ้งมานะ อุทธัจจะ กุกกุจจะ และบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้เมื่อนั้นเอง
หลังจากพระอนุรุทธะได้รับฟังคำแนะนำนั้นแล้ว ท่านก็หลีกเร้นไปอยู่ผู้เดียว บำเพ็ญเพียรด้วยความไม่ประมาท และสามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้สำเร็จตามคำแนะนำของพระสารีบุตรนั่นเอง
๒.๙ วางตนน่าเคารพยกย่อง
สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะใหญ่ แม้จะเป็นหมู่คณะที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเพื่อปราบกิเลสก็ตาม สิ่งนั้นก็คือ ปัญหาการกระทบกระทั่ง
พระสารีบุตรเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ถึงแม้เป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านก็พยายามระมัดระวังตนไม่ยอมให้กระทบกระทั่งกับใคร แต่ถึงกระนั้นท่านก็ยังหลีกเลี่ยงปัญหาถูกผู้อื่นกระทบกระทั่งไม่ได้เช่นกัน เช่นถูกพระฉันนะริษยา แต่ท่านก็ไม่ถือโทษ2 ถูกพราหมณ์ทุบตีก็ให้อภัย3 ถูกพระแก่ลองภูมิก็ไม่ตอบ4 ถูกพวกลูกศิษย์ของพระฉัพพัคคีย์ล่วงเกินก็ไม่รุกรานกลับ5 ถูกภิกษุใส่ร้ายก็ไม่โกรธ6 เป็นต้น
สำหรับในที่นี้ จะขอยกเรื่อง ถูกภิกษุใส่ร้ายก็ไม่โกรธ มาอธิบายเป็นตัวอย่างดังนี้
เรื่องมีอยู่ว่า พระภิกษุรูปหนึ่งชื่นชมในปฏิปทาของพระสารีบุตรเป็นอันมาก เมื่อทราบข่าวว่าออกพรรษาแล้ว พระสารีบุตรจะจาริกไปสู่ที่อื่น ท่านจึงติดตามไปส่งพร้อมกับภิกษุรูปอื่น ๆ แต่เนื่องจากในวันนั้นมีผู้ตามไปส่งเป็นจำนวนมาก ทำให้พระเถระกล่าวทักทายได้ไม่ทั่วถึง ท่านจึงเกิดความน้อยอกน้อยใจโกรธเคืองที่พระเถระไม่เห็นความสำคัญของตน
ขณะที่พระสารีบุตรกำลังสนทนากับภิกษุอื่น ๆ อยู่นั้น มุมสังฆาฏิของท่านก็ไปกระทบถูกร่างกายของภิกษุรูปนี้เข้า ท่านผูกโกรธอยู่แล้ว จึงนำเรื่องนี้ไปฟ้องพระบรมศาสดาว่า “พระพุทธเจ้าข้า พระสารีบุตรทำร้ายข้าพระองค์เหมือนตีเข้าที่กกหู ท่านไม่ยอมขอโทษและจะหลีกไปสู่ที่จาริก ท่านคงคิดว่าตัวเองเป็นพระอัครสาวกของพระองค์ พระเจ้าข้า”
พระบรมศาสดาทรงทราบความจริงอยู่ก่อนแล้ว แต่ทรงประสงค์จะให้พระสารีบุตรบันลือสีหนาทถึงความบริสุทธิ์ของตน จึงตรัสเรียกให้ท่านเข้าเฝ้า
ขณะนั้น พระโมคคัลลานะและพระอานนท์ทราบพระประสงค์นี้เช่นกัน จึงเชิญชวนพุทธบริษัทมาประชุมพร้อมกัน เมื่อหมู่สงฆ์มาพร้อมกันแล้ว พระบรมศาสดาได้ตรัสถามว่า “สารีบุตรเพื่อนพรหมจรรย์รูปหนึ่งในธรรมวินัยนี้ กล่าวหาเธอว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระสารีบุตรกระทบข้าพระองค์แล้วไม่ขอโทษ หลีกจาริกไปแล้ว”
พระสารีบุตรไม่กล่าวรับไม่กล่าวปฏิเสธแต่กราบทูลว่า “พระพุทธเจ้าข้า หากภิกษุไม่มีสติเป็นไปในกาย ภิกษุนั้นอาจกระทบกระทั่งเพื่อนร่วมประพฤติพรหมจรรย์รูปใดรูปหนึ่งแล้วไม่ขอโทษ รีบหลีกไปสู่ที่จาริกเป็นแน่”
ต่อจากนั้นท่านได้กล่าวบันลือสีหนาทในความบริสุทธิ์แห่งจิตของท่าน ที่มิได้มีเจตนาล่วงเกินผู้ใดด้วยคำอุปมา ๙ อย่าง ว่าจิตของท่านเสมอด้วยแผ่นดิน น้ำ ไฟ ลม ผ้าเช็ดธุลีเด็กจากตระกูลจัณฑาล โคเขาขาด ซากงู คนถือภาชนะใส่มันข้น7 (ความหมายโดยรวมคือ ท่านเป็นผู้มีจิตมั่นคง ไม่หวั่นไหว ไม่มีเวรไม่มีความคิดเบียนเบียนผู้ใด)
ภิกษุรูปนั้นได้ฟังคำอุปมา ๙ อย่างแล้ว ก็เกิดความสำนึกผิด รีบลุกขึ้นจากอาสนะ ห่มจีวรเฉวียงบ่า ก้มกราบพระบรมศาสดา สารภาพผิดและกล่าวขอขมาในความเป็นคนพาลใส่ร้ายพระสารีบุตร
พระบรมศาสดาทรงเห็นว่าภิกษุรูปนั้นสำนึกผิดแล้ว ก็ทรงกล่าวรับโทษของเขา และทรงขอใ ห้พระสารีบุตรกล่าวงดโทษแก่ภิกษุรูปนั้นก่อนที่ศีรษะเขาจะแตกเป็น ๗ เสี่ยงพระสารีบุตรกล่าวว่า “พระเจ้าข้า ข้าพระองค์ยอมอดโทษต่อผู้มีอายุนั้น และขอผู้มีอายุนั้นจงอดโทษต่อข้าพระองค์ ถ้าว่าโทษของข้าพระองค์มีอยู่”
พระภิกษุที่ประชุมอยู่ในที่นั้น เห็นความเป็นผู้มีคุณธรรมของท่านแล้ว พากันพูดยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นผู้มีคุณธรรมสูงส่ง แม้ท่านไม่มีโทษ ก็มิเพียงไม่โกรธ ไม่ประทุษร้ายผู้ใส่ร้าย ยังขอให้เขางดโทษให้อีกด้วย
จากเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า แม้พระสารีบุตรจะถูกใส่ร้าย แต่ท่านก็มีวิธีวางตัวที่น่าเคารพยกย่อง จึงสามารถคลี่คลายปัญหาเหล่านั้นออกไปได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมากของการวางตนเป็นผู้ใหญ่ นอกจากนั้น การวางตนของท่านยังทำ ให้พระบรมศาสดาทรงเบาแรงในการปกครองสงฆ์อีกด้วย ทำให้ทรงสามารถประคับประคองหมู่สงฆ์ให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกต่อไป
๒.๑๐ พร้อมแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดาอยู่เสมอ
พระบรมศาสดาทรงมีภารกิจในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอยู่มากมาย ลำพังเฉพาะงานที่พระองค์ทรงดำเนินตามพุทธกิจ ๕ ประจำวัน (ตั้งแต่เวลารุ่งสางของวันนี้ไปจรดเวลาเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง) ก็ทรงแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อนพระวรกายอยู่แล้ว ยังไม่นับพุทธกิจนอกพระกิจวัตรประจำวันที่มีเฉพาะพระองค์เท่านั้นที่ทำได้อีกมากมาย เช่น การเฝ้าระวังรักษาดวงจิตของสาวกให้ปลอดภัยจากกองกิเลส8 เป็นต้น
ในอรรถกถากุณาลชาดก9 กล่าวว่า พระบวชใหม่ ๕๐๐ รูป ออกบวชจากตระกูลกษัตริย์ทั้งสองพระนครคือศากยะและโกลิยะ พักอยู่ในป่ามหาวัน แต่เพราะบวชด้วยความเคารพในสมเด็จพระบรมครู หาได้บวชด้วยความศรัทธาความเต็มใจของตนไม่ จึงได้เกิดความกระสันอยากจะสึก ใช่แต่เท่านั้น พวกอดีตภรรยาของภิกษุเหล่านั้น ยังกล่าวถ้อยคำและส่งข่าวสารไปยั่วยวนชวนให้เกิดความเบื่อหน่ายอีกด้วยภิกษุราชกุมารเหล่านั้นจึงเบื่อหน่ายหนักขึ้น
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาดูก็ทรงทราบว่า ภิกษุเหล่านั้นเกิดความเบื่อหน่ายขึ้นแล้ว จึงทรงใคร่ครวญว่า ภิกษุเหล่านี้อยู่ร่วมกับพระพุทธเจ้าเช่นเรายังมีความเบื่อหน่ายอีกธรรมกถาเช่นไรหนอจึงเป็นที่สบายของภิกษุเหล่านี้ได้ ก็ทรงเห็นว่ากุณาลธรรมเทศนาเป็นที่สบาย
ลำดับนั้น หลังจากกลับจากบิณฑบาตพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงชวนภิกษุ ๕๐๐ รูป เหาะไปชมป่าหิมพานต์ด้วยกำลังฤทธิ์ของพระองค์ให้ชมทิวทัศน์และสิ่งแปลก ๆ จนภิกษุเหล่านั้นเพลิดเพลินแล้ว จึงตรัสแสดงโทษของมาตุคาม (หญิง) ตามถ้อยคำของพญานกดุเหว่ากุณาละให้ภิกษุเหล่านั้นฟัง จนเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อจบธรรมเทศนา ภิกษุเหล่านั้นบรรลุอรหัตผลกลางอากาศนั่นเอง
จากพุทธกิจมากมายในแต่ละวันเหล่านี้พระสารีบุตรเห็นพระบรมศาสดาทรงตรากตรำงานหนักหามรุ่งหามค่ำเช่นนี้ ท่านจึงพยายามมองหาโอกาสที่จะช่วยแบ่งเบาภาระงานของพระบรมศาสดาทุกหนทาง
ด้วยเหตุนี้ งานที่พระเถระช่วยแบ่งเบาจากพระบรมศาสดาจึงมีอยู่ ๒ ประเภท ได้แก่
๑) งานที่พระบรมศาสดาทรงมอบหมายแก่พระเถระโดยตรง
ตัวอย่างเช่น การให้โอวาทแก่พระภิกษุที่จะเดินทางไปต่างแคว้นหลังออกพรรษา10การพาตัวภิกษุใหม่ ๕๐๐ รูป ที่ไปเข้าพวกกับพระเทวทัตให้กลับคืนสู่อาราม11 เป็นต้น
๒) งานที่พระเถระเห็นว่าสมควรทำเพื่อความผาสุกของหมู่สงฆ์
ตัวอย่างเช่น การบิณฑบาตเลี้ยงดูภิกษุที่ป่วยไข้ การเก็บกวาดเสนาสนะให้สะอาดเพื่อป้องกันมิให้ศาสนาอื่นดูหมิ่นได้ การกราบทูลขออนุญาตทำสังคายนา เป็นต้น
โดยคุณธรรมเรื่องการแบ่งเบาภาระของพระบรมศาสดานี้ จะเห็นได้อีกมากมายจากการหมุนธรรมจักรด้วยการสร้างทิศ ๖ และการหมุนธรรมจักรด้วยการป้องกันภัยอันตรายให้แก่พระพุทธศาสนา ซึ่งจะกล่าวต่อไปในบทข้างหน้า
จากตัวอย่างคุณธรรมประจำตัวทั้ง ๑๐ ข้อของพระสารีบุตรที่ยกมาเล่าพอสังเขปนี้ จะเห็นได้ว่า ลำพังคุณธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทีของท่านเพียงประการเดียว ก็ทำให้การเผยแผ่พระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไปอย่างรวดเร็วมหาศาลแล้ว ซึ่งการที่ใครจะเห็นคุณธรรมเหล่านี้ของท่านได้ ก็เฉพาะใน ๔ ช่วงเวลาต่อไปนี้เท่านั้น ได้แก่
๑) เวลาที่ท่านปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน
๒) เวลาที่พระบรมศาสดาทรงมอบหมายภารกิจสำคัญ
๓) เวลาที่ท่านฝึกฝนอบรมหมู่สงฆ์ในสำนักของท่าน
๔) เวลาที่ท่านจาริกไปประกาศพระศาสนาตามชนบท
เพราะทั้ง ๔ ช่วงเวลานี้คือช่วงเวลาที่ท่านบำเพ็ญประโยชน์เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลกการได้พบเห็นธรรมเสนาบดีจึงเป็นสิ่งที่มนุษย์และเทวดาต่างเฝ้ารอคอยจะได้ฟังธรรมจากท่าน และได้ทำบุญกับท่าน เพราะท่านเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาผู้เป็นบัณฑิตทุกคน สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสชมพระสารีบุตรไว้ว่า
“อานนท์ ใครเล่าที่ไม่ใช่คนพาล ไม่ใช่คนมุทะลุ ไม่ใช่คนงมงาย ไม่ใช่คนมีจิตวิปลาสจะไม่ชอบสารีบุตร เพราะสารีบุตรเป็นบัณฑิตมีปัญญามาก มีปัญญาแน่นหนา มีปัญญาชวนร่าเริง มีปัญญาเร็ว มีปัญญาแหลมคม มักน้อยสันโดษ สงัดกายสงัดใจ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ปรารภความเพียร เข้าใจพูด อดทนต่อถ้อยคำ โจทก์ท้วงคนผิด ตำหนิคนชั่ว”12
ธรรมบรรยายที่จบลงในตอนนี้ คือตัวอย่างการหมุนธรรมจักรด้วยวิธีที่ ๒ ซึ่งเป็นวิธีหมุนธรรมจักรด้วยคุณธรรมประจำตัวของพระอสีติสาวกองค์หนึ่งคือ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวาผู้เลิศด้วยปัญญา ซึ่งท่านได้ทำการหมุนธรรมจักรด้วยกิจวัตรประจำวันของท่านนั่นเอง แต่ยังผลให้ท่านกลายเป็นต้นแบบเป็นแรงบันดาล เป็นกำลังใจ ให้แก่พุทธบุตรรุ่นหลังในการหมุนธรรมจักรสืบต่อ ๆ กันมา
1 องฺ.ติก.อนุรุทธสูตรที่ ๒ (ไทย) ๒๐/๑๓๑/๓๘๐
2 ขุ.ธ.อ.เรื่องพระฉันนเถระ (ไทย) ๔๑/๒๙๖-๒๙๘
3 ขุ.ธ.อ.เรื่องพระสารีบุตรเถระ (ไทย) ๔๓/๔๓๗-๔๔๑
4 ขุ.ชา.อ.สูกรชาดก (ไทย) ๕๗/๑๗-๑๙
5 วิ.จุ.เรื่องความเคารพ (ไทย) ๗/๓๑๐/๑๒๑-๑๒๒
6 องฺ.นวก.สีหนาทสูตร (ไทย) ๒๓/๑๑/๔๕๑-๔๕๕, ขุ.ธ.อ.เรื่องพระสารีบุตรเถระ (ไทย) ๔๑/๓๘๔-๓๘๘
7 องฺ.นวก.สีหนาทสูตร (ไทย) ๒๓/๑๑/๔๕๑-๔๕๕, ขุ.ธ.อ.เรื่องพระสารีบุตรเถระ (ไทย) ๔๑/๓๘๔-๓๘๘
8 ขุ.ชา.อ.สิคาลชาดก (ไทย) ๕๖/๕๙๑-๕๙๗
9 ขุ.ชา.อ.กุณาลชาดก (ไทย) ๖๒/๕๔๑-๖๑๖
10 สํ.ขนฺธ.เทวทหสูตร (ไทย) ๑๗/๒/๖-๑๑
11 วิ.จุ.พระอัครสาวกพาภิกษุ ๕๐๐ รูปกลับ (ไทย) ๗/๓๔๕/๒๐๕-๒๐๗
12 สํ.ส.สุสิมสูตร (ไทย) ๑๕/๑๑๐/๑๒๒