วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ อุโบสถพระไตรปิฎก แห่งแรกของโลก

ประวัติศาสตร์อุโบสถวัดพระธรรมกาย
เรื่อง : ณัชชี่

 

อุโบสถพระไตรปิฎกแห่งแรกของโลก

                 บทความนี้เกิดจากคำเรียกร้องที่มีหลายคนอยากทราบประวัติของอุโบสถพระไตรปิฎกอย่างละเอียดว่า สร้างตั้งแต่เมื่อไร ? ทำไมต้องสร้างรูปทรงนี้ ? แล้วจำลองหนังสือพระไตรปิฎกไว้กี่เล่ม ? จำลองขึ้นเพื่ออะไร ? ซึ่งบทความนี้จะตอบข้อสงสัยทั้งหมด เพื่อเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์สืบไป...


                 อุโบสถวัดพระธรรมกายเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐ เสร็จสมบูรณ์เมื่อ วันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทยประยุกต์ โดยมีวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม ราชวรวิหาร เป็นต้นแบบ ซึ่งการออกแบบยึดหลักความแข็งแรง คงทน เรียบง่ายและสง่างาม โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ดีที่สุดในสมัยนั้น ทำให้อุโบสถวัดพระธรรมกายได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นประจำปี พ.ศ. ๒๕๔๑ จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งอุโบสถหลังนี้รองรับพระภิกษุร่วมประกอบสังฆกรรมพร้อมกันได้มากถึง ๑,๕๐๐ รูป


                  ต่อมา มีพระภิกษุในวัดมากขึ้น เวลามาทำสังฆกรรม จึงทำให้พระภิกษุล้นออกมา นอกอุโบสถและพื้นที่โดยรอบต้องตากแดดโดนฝน เป็นเหตุให้ทางวัดพระธรรมกายต้องขยายพื้นที่ในการทำสังฆกรรม โดยทำพิธีถอนและฝังลูกนิมิตครั้งใหม่ ในวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒


           อีกทั้งดำเนินการต่อเติมสร้างครอบอุโบสถใหม่เพื่อเพิ่มพื้นที่ส่วนหลังคาให้กว้างขึ้นโดยทำการ จำลองรูปทรงหนังสือพระไตรปิฎกขนาดใหญ่ของนิกายเถรวาท จำนวน ๗๐๗ เล่มมาทำเป็นส่วนหนึ่งของหลังคา ซึ่งจารึกโดยใช้อักษรชนิดต่าง ๆ จำนวน ๖ ชนิด ได้แก่ อักษร ไทย อักษรสิงหล อักษรพม่า อักษรขอม อักษรลาว และอักษรโรมัน


               ที่พิเศษไปกว่านั้น เพื่อเป็นการยืนยันชัดเจนว่า คำว่า “ธรรมกาย” มีอยู่ในพระไตรปิฎกจริง จึงทำการจำลองหนังสือพระไตรปิฎกในลักษณะเปิดเล่มขนาดใหญ่ ๒ เล่ม เฉพาะหน้าที่ปรากฏคำว่า “ธรรมกาย” โดยเล่มแรกอยู่ด้านหน้าอุโบสถ ส่วนเล่มที่สองอยู่ด้านหลังอุโบสถ ซึ่งเล่มหน้าอุโบสถนั้น หน้าเปิดด้านซ้ายมือเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลีจารึกด้วยอักษรไทยส่วนหน้าขวามือเป็นพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทยสำหรับอีกเล่มที่อยู่ด้านหลังอุโบสถนั้น หน้าเปิดด้านซ้ายมือเป็นพระไตรปิฎกภาษาบาลีจารึกด้วยอักษรพม่า ส่วนหน้าขวามือเป็นพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาพม่า


        นอกจากนี้เพื่อความงดงาม บริเวณใต้หลังคาอุโบสถยังได้ออกแบบเสาโดยทำเป็นประติมากรรมรูปดอกบัว จำนวน ๑๘๔ ต้น ซึ่งลักษณะโครงสร้างทั้งหมดนี้ทำให้ อุโบสถพระไตรปิฎกมีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น ๕,๔๕๕ ตารางเมตร สามารถรองรับพระภิกษุในการทำสังฆกรรมได้มากถึง ๖,๐๐๐ รูป

              การสร้างอุโบสถรูปทรงเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่พบเห็นได้ตรึกระลึกถึงพระรัตนตรัย คือ

              ๑. พระพุทธ ซึ่งก็คือ พระปฏิมากรลักษณะมหาบุรุษ ๓๒ ประการในอุโบสถ

              ๒. พระธรรม ซึ่งก็คือ พระไตรปิฎกที่บันทึกพระธรรมคำสอน

              ๓. พระสงฆ์ ซึ่งก็คือ พระภิกษุที่มาร่วมกันทำสังฆกรรม

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๐๘ เดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๖๓

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล