อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๒๘ : มรดกทางภูมิปัญญาในบทสนทนาก่อนพุทธปรินิพพาน
ในค่ำคืนสุดท้ายก่อนที่พระพุทธองค์จะทรงปรินิพพาน สุภัททปริพาชก ได้มาเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเพื่อทูลถามปัญหาที่ค้างคาใจมานาน ซึ่งในบทสนทนาการถามตอบนี้ แฝงไปด้วยความลุ่มลึกและพระอัจฉริยภาพของพระพุทธองค์ ที่พุทธศาสนิกชนควรศึกษาเป็นอย่างยิ่ง
สุภัททปริพาชกได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ สมณพราหมณ์ที่เป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นอาจารย์ มีชื่อเสียงเกียรติยศ เป็นเจ้าลัทธิ ประชาชนยกย่องกันว่าเป็นคนดี ได้แก่ ปูรณกัสสปะ มักขลิโคศาล อชิตเกสกัมพล ปกุธกัจจายนะ สัญชัยเวลัฏฐบุตร นิครนถนาฏบุตร เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่ได้รู้ตามที่ตนกล่าวอ้างหรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๓/๑๖๑ ไทย.มจร)
คำว่า “รู้เห็นตามที่ตนเองกล่าวอ้าง” นี้หมายถึงการบรรลุมรรคผลนิพพาน หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ ถ้าวันหนึ่งมีใครมาถามเราว่า “เจ้าสำนักนั้น เจ้าสำนักนี้ รู้เห็นตามที่ตนเองกล่าวอ้างหรือไม่” เราจะตอบกลับไปว่าอย่างไร (ลองคิดคำตอบดู) แล้วมาดูว่าพระพุทธองค์ทรงตอบอย่างไร
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “สุภัททะ อย่าเลย เรื่องที่เธอถามว่า ‘เจ้าลัทธิเหล่านั้นทั้งหมดรู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือไม่รู้ตามที่ตนกล่าวอ้าง หรือบางพวกรู้ บางพวกไม่รู้’ อย่าได้สนใจเลย เราจะแสดงธรรมแก่เธอ เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจะกล่าว ... สุภัททะ ในธรรมวินัยที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ ๘ ย่อมไม่มีสมณะที่ ๑ (พระโสดาบัน) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๒ (พระสกทาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๓ (พระอนาคามี) ย่อมไม่มีสมณะที่ ๔ (พระอรหันต์)...” (ที.มหา. ๑๐/๒๑๓-๒๑๔/๑๖๑-๑๖๒ ไทย.มจร)
พระพุทธองค์ตรัสบอกสุภัททะว่า “อย่าเพิ่งสนใจว่าเจ้าลัทธิเหล่านั้นจะรู้จริงหรือไม่” เพราะถ้าพระพุทธองค์จะตรัสบอกออกไปตรง ๆ สุภัททะหรือผู้ฟังในภายหลัง ก็อาจคิดไปว่า “พระพุทธองค์กล่าวให้ร้ายผู้อื่น” ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่พระผู้มีพระภาคกลับแสดงถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อมรรคผลนิพพาน คือ อริยมรรคมีองค์ ๘ โดยมีสัมมาทิฏฐิ เป็นต้น ด้วยคำตอบนี้ทำให้ท่านสุภัททะได้คำตอบว่า “คำสอนใดที่มีเรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ คำสอนนั้นมีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่จริง” และเท่ากับเป็นการบอกว่า “คำสอนของเจ้าลัทธิทั้ง ๖ นั้น หาได้มีผู้บรรลุมรรคผลนิพพานอยู่จริงไม่”
บทสนทนาในลักษณะนี้ มีปรากฏอยู่มากในพระสูตรต่าง ๆ โดยมากเป็นการสนทนาระหว่างพระพุทธองค์กับนักบวชนอกพระพุทธศาสนา เป็นลักษณะของการพูดให้ผู้ฟังได้คิดได้พิจารณาไตร่ตรอง โดยไม่มีการกล่าวให้ร้ายแต่ประการใด สมที่เราท่านทั้งหลายจะได้ศึกษา เพื่อเป็นแบบแผนที่ดีงามในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรต่อไป