วันวิสาขบูชา เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธองค์ทรงประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ซึ่งมาพ้องตรงกันอย่างน่าอัศจรรย์ การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก ต้องสั่งสมบารมียาวนานนับภพนับชาติไม่ถ้วน จนกระทั่ง บารมีเต็มเปี่ยมถึง ๒๐ อสงไขยกับแสนมหากัป ทรงสละศีรษะมากกว่าผลมะพร้าวในชมพูทวีป ทรงสละดวงตามากกว่าดวงดาวในท้องฟ้า ทรงสละโลหิตมากกว่าน้ำในมหาสมุทรทั้งสี่ กว่าที่จะบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในพระชาติสุดท้าย
เหตุการณ์ที่มาพ้องตรงกัน จึงเปรียบได้กับการประมวลภาพแห่งความดีที่พระพุทธองค์ทรงบำเพ็ญมาดีแล้ว ให้ปรากฏเป็นนิมิตหมาย ความสว่างแห่งธรรมบนผืนโลก วันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๘๐ ปีก่อนพุทธศักราช มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ของโลก ที่ไม่มีบุรุษใดเทียบเทียมได้ ทรงอุบัติขึ้นด้วย "รูปกาย" จากพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา ครั้นถึงเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ เมื่อ ๔๕ ปีก่อนพุทธ-ศักราช มหาบุรุษพระองค์นั้นได้ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัม-พุทธเจ้า นับเป็นการอุบัติขึ้นครั้งสำคัญของ "พระธรรมกาย" ซึ่งเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรม จวบจนวาระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก่อนพุทธศักราช ๑ ปี ณ สาลวโนทยาน นครกุสินารา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เอกบุรุษทรงสละ "รูปกาย" เหลือแต่ "พระธรรมกาย" ซึ่งเป็นกายที่เที่ยงแท้ บริสุทธิ์ พ้นแล้วจากอาสวกิเลสทั้งหลายเข้าสู่บรมสุขที่แท้จริง คือ อายตนนิพพาน
ตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา พระบรม-ศาสดาทรงอุทิศพระองค์เป็นต้นแบบและต้นบุญให้กับชาวโลก เมื่อตรัสรู้แล้วพระองค์มิได้ทรงอยู่นิ่งเฉย เสวยสุขแต่เพียงพระองค์เดียว กลับมีพระมหา-กรุณาธิคุณ ทรงแบ่งปันถ่ายทอดความรู้นั้น ตราบกระทั่งวาระสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพ
และในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ วันวิสาขบูชาปีนี้ ตรงกับวันพุธที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๗ วัดพระธรรมกาย ได้จัดงานบุญใหญ่เช่นเดียวกับทุกปี จึงขอเชิญกัลยาณมิตรผู้มีบุญ ร่วมกันรำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการอนุโมทนาในพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรจำนวน ๒๗ รูป ณ อุโบสถ วัดพระธรรมกาย การบวช เป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้นได้ยาก นับเป็นบุญของพระศาสนาที่ได้หน่อเนื้อพุทธางกูร ผู้มีความตั้งใจแน่วแน่ในการบวชอุทิศชีวิต เพิ่มขึ้นอีก ๒๗ รูป ซึ่งเหล่ากอของสมณะทุกรูปได้ฝึกฝนอบรมตนเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลานับสิบปี เพื่อนำพระสัทธรรมของพระบรมไตรโลกนาถไป ส่องสว่างยังดวงใจชาวโลก เปรียบได้กับการคว้าธงชัยในสมรภูมิธรรมของการได้ครองผ้าสีสุดท้ายในสังสารวัฏ ตอกย้ำเป้าหมายของทุกชีวิตที่เกิดมา ล้วนเป็นไปเพื่อแสวงหาความบริสุทธิ์หลุดพ้น
ดังมีรายนามสามเณรทั้ง ๒๗ รูป ดังนี้
๑.สามเณรณัฐวุฒิ ดาวไธสงค์ ๒.สามเณรกิตติพล มาลารักษ์
๓.สามเณรประพันธ์ ช่างปรีชา
๔.สามเณรไพบูลย์ วินทะไชย
๕.สามเณรพิชัย เกษแก้ว
๖.สามเณรสำรวย ปิยะวงศ์
๗.สามเณรบุญส่ง ศรีบุรินทร์
๘.สามเณรอนุพงศ์ ธรรมโชติ
๙.สามเณรประครองชัย บุญเกลี้ยง
๑๐.สามเณรจิรวัฒน์ พัฒนพงศ์พิบูล
๑๑.สามเณรมานพ ทาสุดใจ
๑๒.สามเณรประการชัย กะการดี
๑๓.สามเณรนคร น่วมปฐม
๑๔.สามเณรวิบูลย์ บุญอาจ
๑๕.สามเณรสุรกิจ สารเสนาะ
๑๖.สามเณรประทีป แสงอุทัย
๑๗.สามเณรจีระพงษ์ ประกดสคนธ์
๑๘.สามเณรวัฒนา ปาคำทอง
๑๙.สามเณรสมเพียร หยุดรัมย์
๒๐.สามเณรพุทธรัตน์ ใหม่เอี่ยม
๒๑.สามเณรวรพงศ์ มหาจันทร์
๒๒.สามเณรสมนึก รักขุมแก้ว
๒๓.สามเณรศิลาวุฒ อารีรัมย์
๒๔.สามเณรเถลิงศักดิ์ จำนงค์จิตร
๒๕.สามเณรณรงศักดิ์ จะโรจร
๒๖.สามเณรสุทธินารถ รังสิตสวัสดิ์
๒๗.สามเณรณรงศักดิ์ คุณวงศ์
วันแสงสว่างแห่งโลกในครั้งนี้ ถือเป็นวันสำคัญของชาวพุทธอีกวาระหนึ่ง ที่พวกเราจะได้ ตั้งใจบำเพ็ญบุญกิริยาน้อมถวายเป็นพุทธบูชา และร่วมอนุโมทนาในพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิตของสามเณรทั้ง ๒๗ รูป ผู้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตพรหมจรรย์ อย่างองอาจ สง่างาม สมเป็นเนื้อนาบุญให้กับชาวโลก
เหตุการณ์สำคัญเหล่านี้ จะถูกจารึกลงในหน้าประวัติศาสตร์ของการสร้างความดี ที่นึกถึงคราใด ให้รู้สึกปลาบปลื้มใจทุกครั้ง ยังกุศลศรัทธาให้ตั้งมั่นในพระรัตนตรัยแก่มหาชน ตราบสิ้นกาลนาน