ความหมายของคำว่าบารมี

วันที่ 07 พค. พ.ศ.2564

7-5-64-3-b.jpg

การสร้างบารมี ๑๐ ทัศ

บทนำ

               "การสร้างบารมี" เป็นเรื่องสำคัญที่ชาวพุทธทุกคนควรได้ศึกษาเรียนรู้ให้กระจ่าง ด้วยเหตุ
ว่าเป็นธรรมสำคัญที่มีผลต่อการตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรง

                พระโพธิสัตว์ทั้งหลายกว่าจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ล้วนต้องสั่งสมบารมีให้เต็ม
บริบูรณ์ บางพระองค์สั่งสมบารมียาวนาน ๒๐ อสงไขยแสนมหากัป บางพระองค์ ๔๐ อสงไขยแสนมหากัป
บางพระองค์ ๘๐ อสงไขยแสนมหากัป และลดหย่อนลงมาตามลำดับในพระปัจเจกพุทธเจ้า พระอัครสาวก
และพระอรหันต์ทั้งหลาย แต่ไม่ว่าจะลดหย่อนกันลงมาอย่างไรต่างก็ต้องใช้เวลายาวนานด้วยกันทั้งสิ้น
ทำให้เราได้เห็นว่า กว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะก้าวไปถึงจุดหมายสูงสุดของชีวิต คือ การสิ้นอาสวกิเลสได้นั้น
อย่างน้อยต้องมีจิตใจที่มุ่งมั่นต่อเป้าหมาย และมีความอดทนต่อความยากลำบากทั้งหลาย เพื่อให้ได้บารมี
เหมือนกันหมด

                 พวกเราทั้งหลาย ต่างก็อยู่ในระหว่างสร้างบารมีเช่นเดียวกับท่านเหล่านี้เหมือนกัน แม้เรา
จะไม่รู้ว่าจะต้องสร้างกันอีกมากน้อยหรือนานเท่าใด แต่อย่างน้อยชาตินี้ได้เกิดมาในที่ที่มีพระพุทธศาสนา
เจริญรุ่งเรือง จึงเป็นโอกาสทองของพวกเราที่จะได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องการสร้างบารมีให้กระจ่าง เพื่อจะได้
ทุ่มเทสร้างบารมีให้ถูกต้องอย่างเต็มกำลัง

ความหมายของคำว่าบารมี

            บารมี มาจากคำบาลีว่า "ปารมี" ซึ่งมาจากคัพท์เดิมว่า "ปรม" มีคำแปลที่ใช้กันหลากหลาย
ทั้งในคัมภีร์เก่า เช่น อรรถกถา และฎีกา รวมถึงตำราที่เขียนขึ้นในภายหลัง มีตัวอย่างดังต่อไปนี้
๑. ปรม แปลว่า ผู้เป็นเลิศ, ปารมี แปลว่า ภาวะหรือการกระทำของผู้เป็นเลิศ
๒. ทำให้เต็ม หรือยังให้เต็ม
๓. แปลว่า "อย่างยิ่ง" คือบุคคลผู้ขัดสี หรือชำระตนอย่างยิ่งจากมลทินคือกิเลส
๔. แปลว่า "บรรลุ" หมายถึงผู้บรรลุถึงธรรมอันวิเศษอย่างประเสริฐ ฯ
เหล่านี้เป็นต้น


ซึ่งโดยสรุปแล้วมี ๒ นัยยะหลักด้วยกัน คือ
๑. หมายถึง "ความเป็นเลิศ"
๒. หมายถึง "ธรรมเครื่องถึงฝั่ง" หรือธรรม ๑๐ ประการ ที่ผู้ปฏิบัติแล้วจะบรรลุพระโพธิญาณ

ส่วนในทางปฏิบัติ บารมีมีความหมาย ๒ นัยยะด้วยกัน คือ
๑. บุญที่มีคุณภาพพิเศษที่เกิดจากการสร้างความดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
๒. นิสัย ที่เกิดจากการสร้างความดีโดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน

พุทธการกธรรม

              บารมี เรืยกอีกอย่างหนึ่งว่า "พุทธการกธรรม" คือ ธรรมซึ่งทำให้เป็นพระพุทธเจ้า
ที่พระบรมโพธิสัตว์ทั้งหลายต้องบำเพ็ญสั่งสมไปตามลำดับ จนกว่าคุณธรรมที่เป็นพุทธการกธรรมนี้จะ
สมบูรณ์ จึงจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้

              เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เกิดเป็นสุเมธดาบส ได้รับพุทธพยากรณ์จากพระทีปังกรพุทธเจ้าว่าจะ
ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปในอนาคต จากนั้นจึงนั่งขัดสมาธิคู้บัลลังก์เข้าฌานสมาบัต พิจารณา
ว่าการจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้นั้นต้องปฏิบติอย่างไร จึงได้เห็นพุทธการกธรรม ๑๐ ประการ หรือที่
เรียกว่าบารมี ๑๐ ทัศ คือ
๑. ทานบารมี คือ การให้ทาน
๒. ศีลบารมี คือ การละเว้นบาปและความชั่วทั้งปวง
๓. เนกขัมมบารมี คือ การสละไม่พัวพันในเรื่องกาม เรื่องครอบครัว แล้วหลีกเร้นแสวงหา
ทางหลุดพ้นด้วยการออกบวช
๔. ปัญญาบารมี คือ การเสาะหา แสวงหาความรู้ที่นำไปสู่ความหลุดพ้น
๕. วิริยบารมี คือ ความหมั่นเพียรไม่ท้อถอย กล้าที่จะสู้กับอุปสรรค
๖. ขันติบารมี คือ ความอดทน อดกลั้น ต่อสิ่งที่น่ายินดีและไม่น่ายินดี
๗. สัจจบารมี คือ ความตั้งใจมั่นที่จะทำความดี
๘. อธิษฐานบารมี คือ การตั้งความปรารถนาเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ พระโพธิญาณ
๙. เมตตาบารมี คือ ความปรารถนาดีต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย
๑๐. อุเบกขาบารมี คือ ความวางเฉยต่อสุขและทุกข์ หรือความยุติธรรม ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.013901050885518 Mins