ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรม กับพระวินัย

วันที่ 22 ตค. พ.ศ.2564

ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรม กับพระวินัย

ความสัมพันธ์ระหว่างพระธรรม กับพระวินัย


      พระพุทธศาสนา คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติและทรงแสดงไว้ตลอดระยะเวลา ๔๕ ปีหลังจากได้ตรัสรู้แล้ว ท่านแบ่งไว้เป็น ๒ ส่วน คือ ธรรม กับ วินัย หรือ พระธรรม กับ พระวินัย เรียกรวมกันว่า พระธรรมวินัย

       พระธรรม คือ คำสั่งสอนที่เนื่องด้วยข้อปฏิบัติคืออริยสัจธรรม ที่มีจุดมุ่งหมายให้ผู้ปฏิบัติได้รับอานิสงส์หรือผลตอบแทน คือมนุษย์สมบัติสวรรค์สมบัติและนิพพานสมบัติโดยทรงแสดงแนวทางเพื่อให้ได้บรรลุถึงอานิสงส์นั้นไว้ครบถ้วนสมบูรณ์ตามความต้องการของแต่ละบุคคลผู้ต้องการได้สมบัติเช่นใด เมื่อปฏิบัติไปตามแนวทางนั้นๆ ก็ย่อมได้สมบัติเช่นนั้น

       พระธรรมได้แก่คำสั่งสอนที่ท่านรวบรวมเก็บไว้ในพระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก

       พระวินัย คือคำสั่งสอนที่เนื่องด้วยข้อบัญญัติอันมีหลักการเพื่อความสงบเรียบร้อย เพื่อความดีงามของหมู่คณะ เพื่อให้หมู่คณะอยู่ร่วมกันอย่างมีอิสระและปลอดภัย ตลอดถึงเพื่อความบริสุทธิ์ทางกายและวาจาอันจะนำพาให้ได้บรรลุธรรมสูงขึ้นได้โดยไม่ยาก เหมือนผ้าที่ซักสะอาดดีแล้วย่อมรับน้ำย้อมได้ดีฉะนั้น

       พระวินัยได้แก่คำสั่งสอนที่ท่านรวบรวมเก็บไว้ในพระวินัยปิฎก 

       และพระวินัยนั้นเองจัดเป็นบาทฐานให้ปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวกเพราะผู้ปฏิบัติได้จัดระเบียบการเป็นอยู่ของตัวเองตามข้อบัญญัติถูกต้องครบถ้วนไม่ด่างพร้อยแล้ว จะเป็นอยู่และปฏิบัติธรรมตามลำพังคนเดียวก็ตามร่วมกับหมู่คณะก็ตาม ก็ย่อมมีความสงบ เกิดสันติภายในและภายนอกโดยไม่ยาก ไม่ติดขัดในการเป็นอยู่และการปฏิบัติย่อมปฏิบัติไปได้ราบรื่น

       ดังนั้น พระวินัยจึงเป็นพื้นฐานที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม 

       อนึ่ง พระวินัยนั้นมิใช่บทบัญญัติที่เป็นข้อห้ามทั้งหมด หากแต่มีบทบัญญัติที่เป็นข้ออนุญาตเชิงเป็นข้อแนะนำให้ปฏิบัติเข้าไว้ด้วยไม่น้อย ซึ่งบทบัญญัติเช่นนั้นย่อมอาจกล่าวได้ว่าเป็นธรรม

       ธรรมที่มีปรากฏอยู่ในพระวินัยนั้น เช่น

       (๑) สารธรรม คือธรรมที่เป็นสาระเป็นหลักการ เช่น ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อนัตตลักขณสูตร อาทิตตปริยายสูตร เป็นต้น พระสูตรเหล่านี้ล้วนอยู่ในพระวินัยปิฎก

       (๒) คุณธรรมหรือคุณสมบัติของผู้ทำหน้าที่ต่างๆ ซึ่งเป็นหลักธรรมสำหรับปฏิบัติโดยตรง เช่น คุณสมบัติของภิกษุผู้ควรให้อุปสมบท (คือพระอุปัชฌาย์) มี๕ ประการคือ ต้องเป็นผู้ไม่วิบัติด้วยศีล ไม่วิบัติด้วยอาจาระไม่วิบัติด้วยทิฐิเป็นพหูสูต เป็นผู้มีปัญญา ซึ่งล้วนเป็นหลักธรรมทั้งสิ้น

       (๓) ข้อปฏิบัติเชิงเป็นวินัย เช่น เรื่องที่พระพุทธองค์ทรงพยาบาลภิกษุอาพาธท้องเสียไม่มีแรงที่จะช่วยเหลือตัวเองได้ได้แต่นอนจมกองอุจจาระปัสสาวะอยู่ หลังจากทรงช่วยเหลืออาบน้ำ เปลี่ยนผ้านุ่งห่ม ทำความสะอาดห้องพักเช็ดถูจนสะอาดและให้เธอนอนพักหลับสบายแล้ว ทรงประชุมสงฆ์ไต่สวนเรื่องราว แม้จะทรงได้ความชัดว่าภิกษุรูปนั้นใจแคบ ไม่เคยช่วยเหลือ ไม่เคยอุปการะใคร และไม่ทำประโยชน์อะไรเลย ก็ตรัสอบรมสั่งสอนพวกภิกษุว่า


     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มารดาบิดาผู้จะพึงพยาบาล 
     พวกเธอก็ไม่มีถ้าพวกเธอไม่พยาบาลกันเองแล้วใครเล่า
     จักพยาบาล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพยาบาลเรา
     ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุไข้เถิด”

       ดังนี้เป็นต้น

       (๔) ข้อปฏิบัติอันเป็นธรรมเนียมที่ดีงาม เช่น
       - อุปัชฌายวัตร     ธรรมเนียมที่สัทธิวิหาริกพึงปฏิบัติต่อพระอุปัชฌาย์
       - อาจริยวัตร     ธรรมเนียมที่อันเตวาสิก (ศิษย์) พึงปฏิบัติต่ออาจารย์
       - อาคันตุกวัตร ธรรมเนียมที่พระอาคันตุกะพึงปฏิบัติ
       - เสขิยวัตร      ธรรมเนียมปฏิบัติเกี่ยวกับมารยาทที่พึงศึกษา เพื่อความเรียบร้อยสวยงามเช่นมารยาทในการ นุ่งห่ม มารยาทในการขบฉัน ธรรมเนียมในการเทศนา ฯลฯ

สรุปได้ว่า
       พระธรรม     เป็นเรื่องของเนื้อหาสาระ เป็นหลักการและเป็นจุดหมาย
       พระวินัย         เป็นเรื่องของระบบการจัดระเบียบบุคคลและองค์กรเพื่อขับเคลื่อนส่งให้บุคคลหรือองค์กรนั้นๆ ก้าวขึ้นสู่ธรรมได้โดยราบรื่น

ความสำคัญของพระวินัย

       แต่โบราณมาท่านถือว่าพระวินัยนั้นมีความสำคัญอันดับต้นในการทำให้พระพุทธศาสนาแพร่หลายขยายตัวได้อย่างรวดเร็วและมั่นคงดำรงอยู่ได้ดังเช่นสังคมของสงฆ์ในสมัยพุทธกาลมีความแข็งแกร่งและยืนหยัดอยู่ได้อย่างอาจหาญ เป็นที่เกรงขามกันทั่วไป แม้จะอยู่ในท่ามกลางเจ้าลัทธิที่มีชื่อเสียงจำนวนมากก็ตาม ทั้งนี้เพราะอาศัยรากฐานสำคัญคือพระวินัย สังคมสงฆ์ในครั้งนั้นส่วนใหญ่เป็นสังคมแห่งพระอริยสงฆ์ซึ่งมีวัตรปฏิบัติที่งดงาม นำมาซึ่งความศรัทธาเลื่อมใสของประชุมชนทั่วไป

       อนึ่ง แม้ในการประชุมพระอริยสงฆ์จำนวน ๕๐๐ องค์คราวทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก พระมหากัสสปสังฆวุฒาจารย์ผู้เป็นประธานที่ประชุมได้ถามพระอรหันต์ทั้งนั้นว่าจะสังคายนาอะไรก่อน ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ให้สังคายนาพระวินัยก่อน ด้วยเหตุผลว่า

     “วินโย นาม พุทฺธสาสนสฺส อายุ, วินเย ฐิเต พุทฺธสาสนํ ฐิตํ โหติ ฯ

อันพระวินัยจัดเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่ด้วย”

แสดงว่าท่านให้ความสำคัญแก่พระวินัยในกาลต่อมาจึงมีคำกล่าวว่า

       “พระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา”

       พระมหาเถระอริยบุคคลสมัยต้นให้ความสำคัญแก่พระวินัยอย่างสูงสุด เท่ากับเป็นอายุและเป็นชีวิตของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็จะยังดำรงอยู่ เหมือนต้นไม้ดำรงอยู่ได้ด้วยรากแก้ว พระวินัยก็เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนาซึ่งจะประคองให้พระพุทธศาสนาดำรงอยู่ได้นาน
       อนึ่ง พระวินัยเป็นบาทฐานคือเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการบรรลุธรรมที่สูงขึ้นไปตามลำดับ ดังเช่นที่ตรัสไว้ในจูฬสงคราม คัมภีร์บริวาร ว่า
     “วินัยมีเพื่อความสำรวม (สังวร)
       ความสำรวมมีเพื่อความไม่เดือดร้อนใจ (อวิปปฏิสาร)
       ความไม่เดือดร้อนใจมีเพื่อความปราโมทย์ (ปาโมชชะ)
       ความปราโมทย์มีเพื่อความอิ่มใจ (ปีติ)
       ความอิ่มใจมีเพื่อความสงบใจ (ปัสสัทธิ)
       ความสงบใจมีเพื่อความสบายใจ (สุข)
       ความสุขมีเพื่อความตั้งใจมั่น (สมาธิ)
       ความตั้งใจมั่นมีความรู้เห็นตามเป็นจริง (ยถาภูตญาณทัสสนะ)
       ความรู้เห็นตามเป็นจริงมีเพื่อความเบื่อหน่าย (นิพพิทา)
       ความเบื่อหน่ายมีเพื่อความสำรอกกิเลส (วิราคะ)
       ความสำรอกกิเลสมีเพื่อความหลุดพ้น (วิมุตติ) 
       ความหลุดพ้นมีเพื่อประโยชน์แก่ความรู้เห็นว่าหลุดพ้น      (วิมุตติญาณทัสสนะ)
       ความรู้เห็นว่าหลุดพ้นมีเพื่อความดับสนิทหาเชื้อมิได้ (อนุปาทาปรินิพพาน)” 

       แสดงว่า พระวินัยเป็นต้นเค้าให้ไต่เต้าสูงขึ้นไปจนถึงความดับสนิทหา เชื้อมิได้ซึ่งแปลความได้ว่าถ้าไม่มีพระวินัยเป็นต้นเค้าก็ย่อมไม่มีความสำรวม เมื่อไม่สำรวมก็เดือดร้อนใจฯลฯเมื่อไม่รู้เห็นความหลุดพ้น ก็ไม่มีความดับสนิทหาเชื้อมิได้


อานิสงส์พระวินัย

       พระวินัยที่ทรงบัญญัติไว้นั้น เมื่อภิกษุรักษาดีแล้วด้วยความมั่นใจไม่ล่วงละเมิดไม่ว่าด้วยข้ออ้างใดๆ ย่อมได้ชื่อว่าเป็นพระจริงพระแท้พระผู้บริสุทธิ์ เป็นบุญเขตเป็นเนื้อหาบุญอันยอดเยี่ยมของชาวโลก ย่อมได้รับอานิสงส์อันสำคัญ ๓ ประการ คือ
       ๑. ไม่มีวิปฏิสาร คือความเดือดร้อนใจ มีความสบายใจ ไม่ต้องวิตกกังวลเรื่องศีลาจารวัตร เรื่องการประพฤติปฏิบัติของตน
       ๒. ได้รับความแช่มชื่น เพราะรู้สึกว่าตนประพฤติดีงามแล้ว ไม่ต้องถูกลงโทษหรือถูกตำหนิติติงจากผู้ใด
       ๓. ได้รับความยกย่องสรรเสริญ สามารถเข้าสมาคมกับผู้ทรงศีลได้อย่างกล้าหาญ ไม่สะทกสะท้าน

ความมุ่งหมายในการบัญญัติพระวินัย

     ๑.     เพื่อป้องกันไม่ให้เป็นคนเหี้ยมโหด
     ๒.    เพื่อป้องกันความลวงโลกเลี้ยงชีพ
     ๓.    เพื่อป้องกันความดุร้าย
     ๔.     เพื่อป้องกันความประพฤติเลวทราม
     ๕.     เพื่อป้องกันความประพฤติเสียหาย
     ๖.     เพื่อป้องกันความเล่นซุกซน
     ๗.    เพื่อรักษาความนิยมของบุคคลในสมัยนั้น
     ๘.    เพื่อเป็นธรรมเนียมของภิกษุ


ประโยชน์ของพระวินัย

      ในการบัญญัติพระวินัยนั้น พระพุทธองค์ทรงอาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
๑. สงฺฆสุฏฺฐุตาย
          เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งหมู่คณะ

๒. สงฺฆผาสุตาย
     เพื่อความผาสุกของหมู่คณะ

๓. ทุมฺมงฺกูนํ ปุคฺคลานํ นิคฺคหาย 
เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก (คนหน้าด้าน)

๔. เปสลานํ ภิกฺขูนํ ผาสุวิหาราย 
              เพื่อการอยู่อย่างผาสุกของภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก

๕. ทิฏฺฐธมฺมิกานํ อาสวานํ สํวราย 
         เพื่อป้องกันมิให้อาสวะในปัจจุบันเกิดขึ้น

๖. สมฺปรายิกานํ อาสวานํ ปฏิฆาตาย 
              เพื่อกำจัดอาสวะในอนาคต

๗. อปฺปสนฺนานํ ปสาทาย 
    เพื่อให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสได้เลื่อมใส

๘. ปสนฺนานํ ภิยฺโยภาวาย 
    เพื่อให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้วเลื่อมใสยิ่งขึ้น

๙. สทฺธมฺมฏฺิติยา 
              เพื่อความมั่นคงแห่งพระสัทธรรม

๑๐. วินยานุคฺคหาย 
         เพื่ออนุเคราะห์เกื้อกูลพระวินัย (ให้ดำรงอยู่ต่อไป)

ประโยชน์ของพระวินัยต่อบุคคลและองค์กร

      ๑. เป็นประโยชน์ต่อผู้บวช คือ ทำให้ผู้ที่เข้ามาเป็นสมาชิกอยู่ในองค์กรสงฆ์ที่เรียกว่าภิกษุภิกษุณีสามเณรสามเณรีสามารถดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐแล้วพัฒนาตนให้บรรลุธรรมในระดับสูงขึ้นไปจนถึงพระนิพพานได้

      ๒. เป็นประโยชน์ต่อองค์กรสงฆ์ คือ ทำให้องค์กรสงฆ์มีความรักสามัคคีและเคารพนับถือกัน ปฏิบัติดีต่อกันด้วยจิตใจ ทำให้อยู่กันอย่างสันติจนสามารถปฏิบัติธรรมได้สะดวก

      ๓. เป็นประโยชน์ต่อสังคมโลก คือ ทำให้สังคมโลกมีแบบอย่างที่ดีงามสำหรับประพฤติตาม หรือส่งลูกหลานให้เข้ามาบวชเพื่อจะได้อบรมบ่มเพาะมารยาทและธรรมเนียมต่างๆ สำหรับปฏิบัติตนให้เป็นคนเรียบร้อยงดงามตามอย่างพระสงฆ์และเสริมสร้างศรัทธาปสาทะให้เกิดแก่สังคมโลกที่ได้เห็นองค์กรสงฆ์ปฏิบัติเคร่งครัดในพระวินัยอันเป็นแรงจูงใจให้เข้ามาหาแล้วบูชากราบไหว้ในฐานะเป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐ แล้วฟังคำแนะนำสั่งสอนจากท่านและนำไปปฏิบัติตามจนได้รับความสุขสงบในชีวิต

      ๔. เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา คือ พระวินัยในฐานะที่เป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา ย่อมนำพาให้เกิดความมั่นคงและความเป็นปึกแผ่นให้แก่พระพุทธศาสนาเอง ด้วยเมื่อองค์กรสงฆ์และสังคมโลกปฏิบัติตามหลักพระวินัยกันถ้วนหน้าแล้วย่อมทำให้พระพุทธศาสนาเข้มแข็งเติบใหญ่และแพร่หลายขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ท่านกล่าวว่า

     “พระวินัยเป็นอายุของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาก็ดำรงอยู่”


ประโยชน์ของการเรียนรู้พระวินัย

      พระวินัยอันเป็นที่รวมคำสอนซึ่งเป็นข้อบัญญัติและธรรมเนียมปฏิบัติต่างๆ เพื่อความเรียบร้อยดีงามขององค์กรสงฆ์นั้น เมื่อเรียนรู้และพิเคราะห์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วย่อมให้ความรู้มากมายกล่าวคือทำให้รู้วิธีการบริหารจัดการบุคคลเป็นต้นของพระพุทธองค์ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้แม้ในยุคสมัยปัจจุบัน

      ถือได้ว่า พระวินัยเป็นต้นแบบการเรียนรู้เรื่องเหล่านี้คือ
     (๑)    เทคนิคการสร้างองค์กรการพัฒนาและการรักษาองค์กรให้มั่นคง
     (๒)    ความรอบคอบ ป้องกันไว้ก่อน
     (๓)    การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ
     (๔)    ความละเอียดลออ ไม่มองข้ามแม้เรื่องเล็กน้อย
     (๕)    ความยืดหยุ่นผ่อนปรนแบบสายกลาง
     (๖)     วิธีกำจัดคนไม่ดีให้ออกไปจากหมู่คณะโดยใช้กฎเกณฑ์
     (๗)    ความมีเหตุผล ไม่ถือตนเป็นใหญ่
     (๘)     วิธีสร้างสันติความสามัคคีและความมั่นคงแก่หมู่คณะ
     (๙)     วิธีสร้างศรัทธา รักษาศรัทธาของชาวบ้าน
    (๑๐)    การดูแลตัวเอง สิ่งแวดล้อม
    (๑๑)     วิธีพัฒนาตัวเองเบื้องต้น
    (๑๒)    วิธีการอยู่ร่วมกันด้วยใช้ธรรมเนียมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว


ภาคส่วนของพระวินัย

      พระวินัยแบ่งออกเป็น ๒ ภาคส่วนใหญ่ๆ ๒ ภาคส่วน คือ
      (๑) อาทิพรหมจริยกาสิกขา คือ ข้อศึกษาอบรมข้อปฏิบัติอันเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ในการดำเนินชีวิตอย่างประเสริฐ เป็นระเบียบที่พึงปฏิบัติในสังคมของพระอริยบุคคลได้แก่ส่วนที่เป็นสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันความเสียหายเป็นต้น มีการปรับโทษกำกับไว้ทุกข้อ หนักบ้าง เบาบ้าง จัดเป็นพุทธอาณา เรียกโดยทั่วไป พระปาติโมกข์
     ภาคส่วนนี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อุภโตวิภังค์ แปลว่า วิภังค์ ๒ คือ
      - มหาวิภังค์ หรือ ภิกขุวิภังค์ ได้แก่ สิกขาบทหรือศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุ
     - ภิกขุนีวิภังค์ ได้แก่ สิกขาบทหรือศีล ๓๑๑ ข้อของภิกษุณี

      (๒) อภิสมาจาริกาสิกขา คือ ข้อศึกษาอบรมข้อปฏิบัติอันเป็นแบบแผน ธรรมเนียม ความประพฤติที่เป็นมารยาทเป็นสมบัติผู้ดีซึ่งทรงบัญญัติไว้เพื่อให้พระสงฆ์มีความสง่างาม น่าเคารพศรัทธาเลื่อมใส เป็นสิกขาบทที่มานอกพระปาฏิโมกข์

      ภาคส่วนนี้ท่านจัดไว้เป็นหมวดๆ เรียกว่า ขันธกะ มีจำนวน ๒๒ ขันธกะ


ชื่ออื่นที่ใช้เรียกพระวินัย

       พระวินัยมีชื่อเรียกต่างๆ ตามลักษณะที่มุ่งประสงค์คือเรียกว่า
(๑) อาณาเทสนา เพราะเป็นการแสดงข้อความอันเป็นลักษณะ
               บังคับ เป็นกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติตาม
(๒) ยถาปราธสาสน์ เพราะเป็นคำสอนที่มีการกำหนดโทษตาม
               ความผิดกำกับไว้ด้วย
(๓) สังวราสังวรกถา เพราะว่าด้วยเรื่องการสำรวมและการ
               ไม่สำรวม

(๔) อธิสีลสิกขา เพราะเป็นข้อศึกษาเกี่ยวกับการปฏิบัติเพื่อ ปรับกายและวาจาให้สะอาดบริสุทธิ์สำหรับรองรับคุณพิเศษที่สูงขึ้นไป แบ่งเป็นจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล
(๕) วีติกกมปหาน เพราะเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ


ฐานะพระวินัย

พระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ดีแล้วนั้น มีฐานะที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
(๑) เป็นสาสนพรหมจรรย์ คือเป็นคำสอนสำหรับดำเนินชีวิตอันประเสริฐ บริสุทธิ์
(๒) เป็นอาทิพรหมจรรย์ คือเป็นเบื้องต้นแห่งการปฏิบัติเพื่อชีวิตประเสริฐ
(๓) เป็นมรรคพรหมจรรย์ คือเป็นทางสำหรับดำเนินไปสู่สิ่งประเสริฐคือความพ้นทุกข์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.024044048786163 Mins