ความหมายและลักษณะของผู้มีสัมปชัญญะ

วันที่ 13 มค. พ.ศ.2565

650113_B.jpg

ความหมายและลักษณะของผู้มีสัมปชัญญะ

          สัมปชัญญะ แปลว่า ความรู้ตัว หมายถึง ความรู้ตัวขณะที่กำลังทำ พูด คิดการงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เช่น

กำลังล้างหน้า        ก็รู้ตัวว่า กำลังล้างหน้า

กำลังอาบน้ำ          ก็รู้ตัวว่า กำลังอาบน้ำ

กำลังอ่านหนังสือ   ก็รู้ตัวว่า กำลังอ่านหนังสือ

กำลังเดินข้ามถนน ก็รู้ตัวว่า กำลังเดินข้ามถนน

          ความรู้ตัวเหล่านี้ เป็นลักษณะสัมปชัญญะที่เกิดขณะทำกิจส่วนตน เมื่อผู้ใดมีสัมปชัญญะเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้นั้นมีอารมณ์ดีอยู่ในอารมณ์เดียวต่อเนื่องและช่างสังเกตโดยปริยาย ช่วยให้สิ่งที่ผู้นั้นกำลังทำลุล่วงด้วยดี นี้จัดเป็นสัมปชัญญะเบื้องต้น ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองควรฝึกลูกหลานของตนทำให้ชำนาญตั้งแต่เล็ก เพราะเมื่อเขาเติบใหญ่จะต้องทำงานเกี่ยวข้องกับผู้อื่นมากขึ้น โอกาสที่งานเหล่านั้นจะเกิดประโยชน์หรือโทษต่อตัวเขาเอง ต่อผู้ที่เกี่ยวข้อง ย่อมมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากงานที่เขากำลังทำนั้น แม้เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ แต่อาจทำลายสุขภาพตนเอง หรือไม่ได้ทำความเสียหายแก่สุขภาพตนเอง แต่รบกวนเพื่อนพ้องได้ ไม่รบกวนเพื่อนพ้องแต่อาจทำลายสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ อาจทำลายศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามได้ เช่นเหตุการณ์ดังต่อไปนี้

           โจรบางคน ก็รู้ตัวว่า การปล้นทรัพย์ของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งไม่ดีแต่ก็ปล้น เพื่อหวังจะได้ทรัพย์ ขณะปล้นก็พยายามทำให้แนบเนียนไม่ให้ถูกจับ บางพวกก็ปล้นเพื่อเผาผลาญทำลายทรัพย์ผู้อื่น

          คนสับปลับบางคน ก็รู้ตัวว่า การโกหกเป็นสิ่งไม่ดี แต่ก็พูดโกหกและพยายามพูดให้น่าเชื่อถือ เพื่อหวังประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งจากผู้อื่นหรือเพื่อทำลายผู้อื่น

          คำถามก็คือ ทั้งโจรและคนสับปลับต่างก็รู้อยู่แล้วว่า การปล้น การโกหกไม่ดี เป็นความผิด แล้วทำไมจึงทำจึงพูดอย่างนั้น พยายามทำอย่างรัดกุม จับได้ไล่ทันก็ยากนั่นแสดงว่าก่อนทำ ก่อนพูด พวกเขารู้อยู่แล้วว่า การกระทำเช่นนี้เป็นความชั่ว แต่ขาดสัมปชัญญะ คือ ขาดความรู้ตัวในการระวังไม่ให้ตนเองทำความชั่ว และเผลอลงมือทำความชั่วไปเต็มที่ ดังนั้น เราจึงไม่มีหลักประกันว่าในอนาคตเราเองหรือลูกหลานของเราจะไม่กลายเป็นโจร เป็นคนสับปลับเช่นเดียวกันคนเหล่านั้นด้วย เพราะโจรและคนสับปลับบางคนก็มีการศึกษาสูง มียศ ตำแหน่งสูงกว่าเรา

          คำตอบก็คือ ไม่ว่าโจรหรือคนสับปลับจะมีความรู้ทางโลกระดับสูงเพียงใด ความรู้เหล่านั้นเป็นเพียงความรู้จริงทางด้านวิชาการ แต่เขาขาดความรู้จริงด้านการทำความดี อย่างมากก็มีความรู้ด้านการทำความดีระดับผิวเผิน จึงได้ทำเลวๆ เช่นนั้น หรือต่อให้รู้จักความดี รู้จักธรรมะจากการเรียนมาอย่างดีก็ตาม แต่หากเรียนอย่างขาดศรัทธาไม่มีความเชื่อมั่นในความดี และไม่ได้ฝึกฝนทำความดีด้วยสติสัมปชัญญะในทุกเรื่องอย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็มีโอกาสที่จะนำความรู้เหล่านั้นไปทำความชั่วได้อย่างมากมายเลยทีเดียว ดังผู้รู้จริงกล่าวว่า

“ความรู้เกิดแก่คนพาลเพียงเพื่อทำลายถ่ายเดียว ความรู้ของคนพาลนั้นกำจัดคุณงามความดี ทำปัญญาของเขาให้ตกต่ำ”   ขุ.ธ. ๒๕/๗๒/๔๙ (ไทย.มจร)

          ไม่ว่าโจรหรือคนสับปลับล้วนเป็นคนที่มีปกติปล่อยใจออกนอกกายเป็นนิจ ทุกครั้งที่ใจแวบออกไปนอกกาย ใจ ของเขาย่อมพร้อมจะคิดชั่ว-พูดชั่ว-ทำชั่ว คือ ขาดสติสัมปชัญญะความรู้ตัวที่สมบูรณ์ด้วยเหตุ ๓ ประการ

           ๑. ใจของเขาย่อมคิดเคว้งคว้างสับสนทั้งที่อยากเป็นคนดี เพราะเขาขาดสติ ซึ่งเป็นคุณธรรมควบคุมใจให้เลือกคิด-พูด-ทำแต่สิ่งดีๆ เท่านั้น สภาพของใจขณะนั้นจึงไม่ต่างกับเรือที่เคว้งคว้าง เพราะขาดหางเสือควบคุมให้พ้นจากคลื่นลม และหินโสโครกใต้น้ำ

           ๒. ใจของเขาอ่อนกำลังลงโดยฉับพลัน เพราะเมื่อใดใจแวบออกนอกกาย กามคุณ ๕ หรือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัส ย่อมกรูเข้ามาฉุดกระชากใจให้เข้าไปหา คือ รูปแย่งฉุดตาไปดู เสียงฉุดหูไปฟัง กลิ่นฉุดจมูกไปดม รสฉุดลิ้นไปลิ้ม วัตถุฉุดกายไปสัมผัส สิ่งไหนมีแรงมาก ย่อมแย่งฉุดใจให้เข้าไปหาได้ก่อน ซึ่งสิ่งที่ดึงดูดให้ใจเข้าไปหา มีทั้งที่ถูกใจและไม่ถูกใจ กว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะหันเข้าไปหาสิ่งใดก่อน ซึ่งสิ่งนั้นเขาเองก็ยังไม่รู้จริง ยังถูกโมหะย้อมใจอยู่เพียงยังไม่รู้จริงถึงสิ่งที่ตนจะเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เท่านี้ใจก็อ่อนกำลังต้านทานความชั่วลงไปมากแล้ว

           ๓. ทันทีที่ใจของเขาหันไปสนใจที่รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสวัตถุที่น่าพอใจนั้น กิเลสประเภทโลภะ โทสะ โมหะ ซึ่งยังฝังอยู่ในใจตั้งแต่เกิด ย่อมแพร่กระจายย้อมใจให้ขุ่นมัว คิดแต่ในทางที่จะได้สิ่งนั้นเป็นของตนให้ได้ ทั้งที่รู้ว่าสิ่งนั้นอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยชอบธรรม ยิ่งถูกใจมาก ความโลภก็ยิ่งฉุดแรงมากขึ้น สัมปชัญญะความรู้ตัวว่าไม่ใช่ของตน ก็อ่อนแรงจนเกินจะต้านทาน แล้วก็ปล้น โกหก เพื่อให้ได้สิ่งนั้นมาตามต้องการหากมีความรู้ด้านวิชาการมาก ก็ยิ่งนำวิชาการทางโลกที่ตนมีมาประกอบการปล้น การโกหกได้แนบเนียน ให้น่าเชื่อถือและสำเร็จโดยง่าย โดยไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมาภายหลัง

          ถ้าสิ่งที่ฉุดใจ คือ รูป-เสียง-กลิ่น-รส-สัมผัสที่ไม่น่าพอใจ กิเลสประเภทโทสะซึ่งฝังอยู่ในใจย่อมแพร่กระจายย้อมใจให้ขุ่นมัวทันที พร้อมกับเกิดความคิดเห็นผิดๆ คือ คิดเห็นในทางทำลาย ยิ่งไม่พอใจมากยิ่งอยากทำลายรุนแรงมาก มากจนสัมปชัญญะความรู้ตัวว่า สิ่งนี้ไม่ใช่ของตนและตนไม่มีสิทธิจะทำลายนั้น อ่อนแรงลงมากจนเกินจะต้านทานไว้ได้ การปล้น การโกหกเพื่อหวังทำลายล้างจึงเกิดขึ้น เพราะความขาดสติสัมปชัญญะของผู้นั้น

          โจรและคนสับปลับเหล่านี้หากทำความชั่วได้สมใจ โดยไม่มีใครจับได้ไล่ทัน จากเพียงแค่โลภะหรือโทสะก็จะขยายความไม่รู้จริงและความขุ่นมัวดำมืดของใจมากยิ่งขึ้นด้วยอำนาจแห่งโมหะความโง่ว่า ยิ่งโลภะยิ่งได้ คือ ทั้งโง่ ทั้งโลภะ หรือยิ่งโทสะยิ่งเก่ง คือ ทั้งโง่ ทั้งโทสะ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบแก้ไข จากความโง่ก็จะกลายเป็นมิจฉาทิฐิ มีความหลงผิดว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป

          การทำงานที่ประกอบด้วยสัมปชัญญะ จึงเป็นการทำงานที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือการได้มาจากความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจของผู้ทำเท่านั้น ขณะทำงานผู้ทำการงานนั้นยังต้องป้องกันไม่ให้มีการเสียหายเดือดร้อนใดๆ เกิดขึ้นด้วย ถ้ามีบ้างก็ต้องให้น้อย แต่สำคัญที่สุดคือเสร็จงานแล้วต้องไม่มีความเดือดร้อนตามมา มีแต่ความอิ่มเอม เบิกบานใจของทุกฝ่าย

******

คนบางคนรู้จักความดี
รู้จักธรรมะจากการเรียนมาอย่างดี
แต่หากเรียนอย่างขาดศรัทธา
ไม่มีความเชื่อมั่นในความดี
และขาดการฝึกฝนในการทำดีด้วยสติสัมปชัญญะ
พวกเขาก็มีโอกาสที่จะนำความรู้เหล่านั้น
ไปทำความชั่วได้อย่างมากมาย

******

 

จากหนังสือ สติ สัมปชัญญะ รากฐานการศึกษาของมนุษยชาติ

เผด็จ ทตฺตชีโว

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035146713256836 Mins