สติ สบาย สม่ำเสมอ ไม่ช้าใจจะหยุดเอง
ความสบายนี้เป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรม โดยหลักมีอยู่ว่าจะต้องให้สติกับสบายไปคู่กัน ซึ่งสติกับสบายทั้งสองอย่างจะต้องไปคู่กันตลอดเส้นทาง ตั้งแต่เบื้องต้นจนกระทั่งถึงที่หมายปลายทาง ถ้าไปด้วยกันเมื่อไรจะทำให้ใจเราหยุดนิ่งได้ง่าย และหลังจากใจหยุดแล้วก็จะเข้าถึงดวงธรรมภายใน หลักก็มีอยู่อย่างนี้ อย่านั่งแบบขุ่นมัว เร่าร้อนหรือนั่งแบบยึดฮัดอย่างนี้ไม่ได้ผล จะต้องทำอารมณ์ให้สบายๆ
ส่วนวิธีลัดที่จะทำให้เราได้ความสบาย คือ ทำใจให้ว่างๆ นิ่งๆ เฉยๆ ทำตัวประหนึ่งว่า เราอยู่คนเดียวในโลก ไม่มีพันธะผูกพันกับเรื่องใดๆ ทั้งสิ้น หรือสมมติตัวเราอยู่กลางอวกาศโล่งๆ ไม่มี สรรพสัตว์ สรรพสิ่ง คน สัตว์ สิ่งของ อย่างนี้เป็นทางลัดที่จะทำให้ใจของเราปลอดโปร่ง
คำว่า สบาย ของหลวงพ่อในที่นี้ เป็นความสบายในเบื้องต้น คือ รู้สึกเฉยๆ ภาษาธรรมะเรียกว่า อทุกขมสุข (อะ-ทุก-ขะ-มะ-สุก) คือ จะเรียกว่าสุขก็ไม่เชิง ทุกข์ก็ไม่ใช่ ในเบื้องต้นอยู่ในสภาพที่เฉยๆ แล้วเราก็ทำใจว่างๆ เหมือนอย่างที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนว่า “ให้มองโลกนี้ให้ว่างเปล่า ไม่มีคนไม่มีสัตว์ไม่มีสิ่งของใจว่างๆ นิ่งๆ” นี่คือความหมายของคำว่า สบายในเบื้องต้นของหลวงพ่อ แล้วเราก็รักษาใจที่เป็นกลางๆ ว่างๆ โล่งๆ นิ่งๆ เฉยๆ ถ้าเรารักษาอารมณ์นี้ให้สม่ำเสมอ ด้วยใจที่เยือกเย็น ไม่เร่งร้อน ไม่เร่งรีบ ประคองอารมณ์นี้ต่อไปเรื่อยๆ ในตำแหน่งที่ใจเราตั้งมั่นแล้วรู้สึกว่า สบาย ปลอดโปร่ง มีความรู้สึกพึงพอใจกับอารมณ์อย่างนี้..ความรู้สึกอย่างนี้ ไม่ช้าเราจะเข้าถึงจุดแห่งความสบายที่แท้จริง ซึ่งจะมีความรู้สึกที่แตกต่างจากคำว่า สบายในเบื้องต้นของหลวงพ่อ เพราะฉะนั้น..คำว่า สบาย คำเดียวกัน แต่ปริมาณแห่งความสบายนั้นจะไม่เท่ากัน ตั้งแต่ความสบายในระดับที่มีปริมาณน้อย จนกระทั่งมีปริมาณเพิ่มพูนขึ้น ดังนั้น..ให้เราแสวงหาอารมณ์สบายกันเสียก่อน โดยการทำใจให้ว่างๆ นิ่งๆ โล่งๆ เฉยๆ เหมือนอยู่กลางอวกาศ เมื่อเรามีอารมณ์สบายและมีสติ เดี๋ยวเราคอยดูนะ สิ่งที่เราเคยคิดว่ามันยาก มันจะกลายเป็นของง่ายสำหรับเรา
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๕
คุณครูไม่ใหญ่