การประชุมใหญ่ของพระสาวก (มหาสันนิบาต)

วันที่ 17 กพ. พ.ศ.2566

560216-maghapujaday-3.jpg

บทที่ ๑๐
มหาสาวกสันนิบาต
การประชุมใหญ่ของพระสาวก (มหาสันนิบาต)


                คราวหนึ่งในการเสด็จจาริกโปรดประชาชนในแคว้นมคธ พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นชายหนุ่มชื่อ ปิปผลิ ในสกุลกัสสปะ มีความเบื่อหน่ายในการครองเรือนจึงถือเพศนักบวชเดินทางเรื่อยมา เห็นพระบรมศาสดาเข้าเกิดความเลื่อมใส เข้าไปเฝ้า ขอสมัครเป็นสาวก พระองค์ทรงรับเป็นภิกษุ แล้วประทานพระโอวาท ๓ ข้อ
 

๑. ให้มีความละอายและยำเกรงในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นผู้บวชมานาน ไม่นานและเพิ่งบวชเสมอๆ
 

๒. ธรรมใดที่เป็นกุศล ต้องตั้งใจฟัง และพิจารณาตามเนื้อความในธรรมะนั้น
 

๓. จะไม่ยอมเผลอสติ จะเอาสติไว้ในกาย พิจารณาร่างกายนี้เป็นอารมณ์อยู่
 

               เมื่อประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังนี้แล้ว ทรงจากไป พระมหากัสสปะรับฟังคำสอนนั้น แล้วตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่นานนัก ในวันที่แปด ได้บรรลุธรรมขั้นสูงเป็นพระอรหันต์
 

               ถัดจากนั้นไม่นาน พระบรมศาสดาทรงพบบุตรชายปุโรหิตชาวเมืองอุชเชนี ชื่อกัจจายนะที่กรุงราชคฤห์ ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ทำนองเดียวกัน
 

              ครั้นถึงวันเพ็ญกลางเดือนสาม ได้มีพระสงฆ์เดินทางมาจากที่ต่างๆ เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น มาพบกันโดยไม่มีการนัดหมาย การประชุมครั้งนี้มีเหตุบังเอิญ ๔ อย่าง มาประจวบกัน จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
 

                พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นเวลาเหมาะสม จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ต่อที่ประชุม อันเป็นการวางหลักการโดยย่อของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงกระทําเช่นเดียวกัน ทุกๆ พระองค์ โอวาทปาฏิโมกข์ ก็มีเนื้อความอย่างเดียวกัน คือ มีทั้งอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวม ๑๓ ข้อ คือ


๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒. บำเพ็ญแต่ความดีให้เต็มที่
๓. ทำจิตให้ขาวรอบ คือ ผ่องใส
๔. ให้มีขันติ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
๕. พระนิพพานเป็นบรมธรรม
๖. ผู้ล้างผลาญคนอื่น ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
๗. ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ได้ชื่อว่าสมณะ
๘. ภิกษุต้องไม่กล่าวร้าย
๙. ต้องไม่ทําร้าย
๑๐. สํารวมในปาฏิโมกข์(ข้อที่ทรงห้ามไว้ต่างๆ)
๑๑. รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
๑๒. อยู่ในที่นั่ง ที่นอนอันสงัด
๑๓. ทําความเพียรในอธิจิต (จิตที่มีสมาธิสูง)


                 โอวาทปาฏิโมกข์นี้แสดงครั้งแรกในวันนั้น ต่อมาเรียกว่า วันมาฆบูชา และทุกครึ่งเดือน พระบรมศาสดา และบรรดาพระสาวกจะนำมาทบทวนแก่พระภิกษุสงฆ์ในวันอุโบสถ และงดกันไปเมื่อทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์เอาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ มาสวดในที่ประชุมแทน เรียกกันว่า สวดปาฏิโมกข์ จนทุกวันนี้
 

                  ในครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายเวฬุวนารามเป็นที่ประทับพร้อมเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์นั้น คงจะให้อาคารต่างๆ เท่าที่มีอยู่ เมื่อเวลาพระสงฆ์จาริกไปที่อื่น เจ้าหน้าที่คงดูแล เพราะยังไม่ใช่สังฆารามโดยตรง
 

                  ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจาริกไปตามที่ต่างๆ ก็อาศัยอยู่กันตามในป่าบ้าง โคนไม้บ้าง บนภูเขา ในซอกเขา ในถ้ำ ที่ป่าช้า ในพุ่มไม้ ที่กลางแจ้ง ตามลอมฟาง เหล่านี้เป็นต้น
 

                   ต่อมามีเศรษฐีชื่อ ราชคหกะ เลื่อมใสศรัทธา ทูลขอพุทธานุญาตปลูกวิหารถวาย ๖๐ หลัง ครั้งนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิดให้ภิกษุพักได้ คือ
๑. วิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างมีหลังคา มีปีกทั้งสองข้าง
๒. โรงหรือร้านสร้างไว้ด้านเดียว อีกด้านหนึ่งเปิดโปร่งไว้
๓. ปราสาท เป็นเรือนยอดมีหลายชั้น
๔. เรือนมีหลังคาชนิดพระจันทร์ส่องถึง ได้แก่หลังคาตัด
๕. คูหา ได้แก่ ถ้ำ

 

                   และทรงสรรเสริญการทำวิหารทานของเศรษฐีว่า เป็นทานที่ดีเลิศ สร้างอุทิศไว้เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ ได้มีที่พัก เป็นที่ป้องกันอากาศเย็น ร้อน ป้องกันสัตว์ร้าย สัตว์เลื้อยคลาน และยุง ป้องกันลม แดด ฝน เป็นที่พักผ่อน คลายอิริยาบถ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมสมถวิปัสสนา
 

                  เมื่อภิกษุสงฆ์มาพักแล้ว เจ้าของยังถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะด้วยใจเลื่อมใส ภิกษุสงฆ์ย่อมสามารถแสดงธรรมเทศนาบำบัดทุกข์ให้ เมื่อฟังแล้วกระทำตามคำสอน รู้เห็นธรรมะแล้วทำให้สิ้นอาสวกิเลส ปรินิพพานในโลกนี้ การทำทานด้วยการให้ที่พักเช่นนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าดีเลิศ
 

                  พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายที่อยู่แก่หมู่สงฆ์เป็นพระองค์แรก และยังทรงทำบุญ อุทิศส่วนกุศลแก่ญาติที่ตายแล้วเป็นพระองค์แรก ซึ่งพระบรมศาสดาทรงอนุโมทนาด้วย พระดำรัสว่า “อทาส เม อกาส เม...” แปลเป็นเนื้อความว่า เมื่อระลึกถึงอุปการะของญาติมิตรทั้งหลายที่มีต่อเรา เราควรทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เมื่อญาติมิตรเหล่านั้นสิ้นชีวิตไปแล้ว เราไม่ควรร้องไห้เศร้าโศกรำพันถึง เพราะทำดังนั้นไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้ล่วงลับไปแล้วเลย ญาติที่ตายไป เขาเกิดเป็นอะไรเขาก็เป็นอยู่อย่างนั้นเป็นเวลาช้านาน
 

                  ส่วนทานทั้งหลายที่เราถวายในหมู่สงฆ์ด้วยดี จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ตายแล้ว เหล่านั้นช้านานด้วยเหมือนกัน นับว่าเราได้แสดงญาติธรรมด้วย ได้บูชาผู้ที่ล่วงลับไปแล้วนั้นด้วย ทั้งได้ให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายนับเป็นบุญไม่น้อยเลย
 

                  แม้แต่กับเทวดา พระพุทธเจ้าก็ทรงแนะนำให้อุทิศส่วนกุศลทำนองเดียวกันนี้ ไม่ทรงแนะนำให้ทำการเช่นหรือสังเวยอย่างประเพณีที่ทำกันมาแต่เดิม การอุทิศส่วนกุศล ทำให้สนับสนุนเรื่องกตัญญูกตเวทิตา เป็นหนทางให้สกุลวงศ์รุ่งเรือง พระบรมศาสดาจึงทรงอนุมัติให้ปฏิบัติ
 

                 แม้แต่เรื่องการบวชในเวลาต่อมา ก็ทรงมอบให้สงฆ์เป็นใหญ่ เช่น ทอดพระเนตร เห็นพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อราธะ มีอายุมาก ยากจน ต้องการบวชแต่ไม่มีใครบวชให้ พระองค์ตรัสถามเหล่าภิกษุว่า มีผู้ใดระลึกถึงบุญคุณของพราหมณ์นี้ได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า นึกได้ว่าพราหมณ์ผู้นี้เคยใส่บาตรหนึ่งทัพพี ทรงอนุญาตให้พระสารีบุตรบวชให้พราหมณ์ราธะ นับแต่นั้นทรงกำหนดให้ใช้วิธีอุปสมบทด้วยวิธีประชุมสงฆ์ ถ้าเป็นเขตที่มีความเจริญ ให้ใช้ภิกษุอย่างน้อย ๑๐ รูป ถ้าอยู่ในถิ่นห่างไกล ให้ใช้อย่างน้อย ๕ รูป ให้มีภิกษุรูปหนึ่ง เป็นผู้ประกาศต่อหมู่สงฆ์ให้รับทราบการอุปสมบท ๑ ครั้งก่อน แล้วจึงประกาศรับการอุปสมบท เพื่อเป็นการยืนยัน ๓ ครั้ง ต่อจากนั้น ถ้าไม่มีภิกษุรูปใดคัดค้านถือว่า ผู้อุปสมบทนั้นเป็นภิกษุแล้ว ถ้ามีใครค้านแม้แต่ผู้เดียว ก็บวชไม่ได้ การบวชชนิดนี้ เรียกว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลว่าบวชด้วยการที่คณะสงฆ์มีวาจาประกาศทั้ง ๔ ครั้ง และผู้อุปสมบทจะต้องมีภิกษุผู้หนึ่งเป็นผู้รับรอง เรียกว่า อุปัชฌายะ
 

                 แต่เดิมภิกษุรูปเดียวเคยบวชให้กุลบุตรได้ เมื่อทรงบัญญัติวิธีบวชแบบญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทาแล้ว ก็ไม่มีการบวชอย่างเก่าอีก แม้แต่เอหิภิกขุอุปสัมปทาก็ไม่มี เท่ากับทรงมอบอำนาจให้สงฆ์เป็นใหญ่
 

                 การประกาศคำสั่งสอนของพระบรมศาสดามิได้ทรงเน้นเรื่องโลกุตตรธรรม คือ ธรรมพ้นโลก ได้แก่ปฏิบัติเพื่อออกจากวัฏฏสงสาร เลิกเวียนว่ายตายเกิดอย่างเดียว สำหรับชีวิตของคนครองเรือนที่อยู่ในโลกียธรรม พระองค์ก็ตรัสสอนเป็นแนวทางที่ดีเยี่ยมไว้เช่น
 

                 ครั้งหนึ่งขณะเสด็จออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ทอดพระเนตรเห็นบุตรเศรษฐี ชื่อ สิงคาลกะ นุ่งห่มผ้าเปียกชุ่มน้ำ มีผมเปียก ยกมือนมัสการทิศทั้งหกอยู่ (ทิศใหญ่ ๔ ทิศ และทิศเบื้องบน เบื้องล่าง รวมเป็น ๖ ทิศ) พระพุทธเจ้าตรัสถามถึงสาเหตุของการไหว้ทิศ ชายหนุ่มทูลชี้แจงว่า ทำตามคำสั่งของบิดาที่ให้ไว้ก่อนตาย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า การไหว้ทิศในศาสนาของพระองค์ไม่ไหว้อย่างนี้
 

พระบรมศาสดาจึงทรงแสดงการไหว้ทิศทั้ง ๖ ให้ชายหนุ่มทราบดังนี้
 

ทิศตะวันออก (ทิศบูรพา) อยู่ข้างหน้า ได้แก่มารดา บิดา
 

ทิศตะวันตก (ทิศปัจฉิม) อยู่ด้านหลัง ได้แก่บุตร ภรรยา
 

ทิศเบื้องล่าง ได้แก่บ่าวไพร่
 

ทิศใต้ (ทิศทักษิณ) อยู่ขวามือ ได้แก่ ครูอาจารย์
 

ทิศเหนือ (ทิศอุดร) อยู่ซ้ายมือ ได้แก่ มิตร อำมาตย์
 

ทิศเบื้องบน ได้แก่สมณพราหมณ์
 

                  คนที่จะทำการไหว้ทิศทั้ง ๖ ให้ได้รับผลดี ต้องเว้นจากการงานที่เศร้าหมอง ๔ อย่าง จากอคติ ๔ อย่าง เว้นจากทางที่ทำให้เกิดความเสื่อม ๖ อย่างเสียก่อนแล้ว จึงควรทำการไหว้
 

                  การงานเศร้าหมอง ๔ อย่าง (หรือกรรมกิเลส ๔) ได้แก่ การล้างผลาญชีวิต การขโมย การประพฤติผิดทางกาม การพูดปด
 

                  อคติ ๔ อย่าง คือ ลำเอียงเพราะรัก เพราะชัง เพราะโง่เขลาหลงใหลงมงาย เพราะกลัว

 

                   อบายมุข ๖ อย่าง คือ ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน เพลินดูการละเล่น การพนัน คบมิตรชั่ว เกียจคร้าน
 

                 เมื่อเว้นสิ่งต่างๆ ดังกล่าวแล้ว ย่อมได้รับความสวัสดี ต่อจากนั้นจึงไหว้ทิศ
 

ทิศเบื้องหน้า คือ มารดา บิดา บุตรควรบำรุง ๕ ประการ คือ
๑. เลี้ยงดูท่านเป็นอย่างดี
๒. ทํากิจการงานของท่าน
๓. ดำรงวงศ์สกุล
๔. ทำตนสมควรรับมรดก
๕. เมื่อท่านตายแล้ว ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้

 

บิดา มารดา เมื่อมีบุตรที่ดีอย่างนี้ ควรอนุเคราะห์บุตร ๕ อย่าง คือ
๑. ห้ามปรามจากความชั่ว
๒. สนับสนุนให้ทําความดี
๓. ขวนขวายให้ลูกได้รับการศึกษา
๔. หาคู่ครองที่ดีให้
๕. มอบสมบัติให้ในเวลาสมควร

 

ทิศเบื้องขวา คือครูอาจารย์ ศิษย์ควรปฏิบัติด้วย ๕ ประการ คือ
๑. อ่อนน้อม ลุกขึ้นรับ
๒. รับใช้
๓. เชื่อฟัง
๔. ปรนนิบัติ
๕. เรียนศิลปวิทยาโดยเคารพ

 

ครูอาจารย์ เมื่อได้รับการปฏิบัติด้วยดีจากศิษย์แล้ว ควรอนุเคราะห์ศิษย์ ๕ อย่าง คือ
๑. แนะนำด้วย
๒. ให้เรียนสิ่งดี
๓. ไม่ปิดบังอ่าพรางวิชา
๔. ยกย่องในหมู่เพื่อน
๕. ทำความปกป้องในทิศทั้งหลาย

 

ทิศเบื้องหลัง คือภรรยา สามีควรปฏิบัติด้วย ๕ ประการ คือ
๑. ให้การยกย่องนับถือ
๒. ไม่ดูหมิ่น
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. ให้เป็นใหญ่ในบ้าน
๕. ให้เครื่องแต่งตัว

 

ภรรยาควรปฏิบัติต่อสามี ๕ อย่าง คือ
๑. จัดงานบ้าน
๒. สงเคราะห์บริวาร
๓. ไม่ประพฤตินอกใจ
๔. เก็บทรัพย์ที่สามีให้ดี
๕. ขยันขันแข็ง

 

ทิศเบื้องซ้าย คือมิตร สหาย ที่กุลบุตรควรปฏิบัติด้วย มี ๕ ประการ
๑. การให้
๒. การพูดจาเป็นที่รัก
๓. การช่วยทำธุระให้
๔. วางตนเสมอต้นเสมอปลาย
๕. การซื่อตรงจริงใจ

 

มิตร สหาย ควรปฏิบัติตอบ ๕ อย่าง
๑. รักษามิตรถ้าเขาเกิดประมาท
๒. รักษาสมบัติของเขาด้วย
๓. เป็นที่พึ่งได้เมื่อมีภัย
๔. ยามมีอันตรายไม่ละทิ้งกัน
๕. นับถือตลอดจนวงศาคณาญาติของมิตร

 

ทิศเบื้องล่าง คือบ่าวและลูกจ้าง นายควรอนุเคราะห์ ๕ ประการ คือ
๑. ให้งานพอเหมาะแก่กำลัง
๒. ให้อาหารและค่าจ้าง
๓. ให้การรักษาพยาบาลเวลาเจ็บไข้
๔. ให้อาหารรสแปลก
๕. ให้พักตามเวลาสมควร

 

บ่าวและลูกจ้างควรภักดีรับใช้ ๕ ประการ คือ
๑. ทำงานก่อนเวลา
๒. เลิกหลังเวลา
๓. ไม่ลักขโมย
๔. ตั้งใจทํางาน
๕. นําคุณของนายไปชม

 

ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์ กุลบุตรควรบำรุง ๕ ประการ คือ
๑. ปฏิบัติต่อท่านด้วยจิตเมตตา
๒. พูดอะไรต่อท่านด้วยจิตเมตตา
๓. คิดต่อท่านด้วยจิตเมตตา
๔. เต็มใจต้อนรับเข้าบ้าน
๕. บริจาคสิ่งของให้อย่างพอเพียง

 

สมณพราหมณ์ ควรอนุเคราะห์ด้วย ๖ ประการ คือ
๑. ห้ามจากบาป
๒. ให้ตั้งอยู่ในกุศล
๓. อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจอันงาม
๔. ให้ได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง
๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังให้แจ่มแจ้ง
๖. บอกทางสวรรค์ให้

 

                 พระบรมศาสดาแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องทิศทั้ง ๖ จบแล้ว ตรัสว่าถ้าใครไหว้ด้วยการปฏิบัติดังนี้อยู่เป็นประจำ ย่อมสามารถสกัดกั้นอันตรายอันจะมีมาจากทิศเหล่านั้น
 

                 สิงคาลกมานพฟังแล้วเลื่อมใสศรัทธา กล่าวคำสรรเสริญแล้ว แสดงตนเป็นอุบาสก ขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะตลอดชีวิต นับแต่นั้นมา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028050700823466 Mins