การทำใจให้เข้าถึงควมสงบภายใน
พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
เป้าหมายของการเกิดมามีชีวิตในแต่ละภพแต่ละชาติ ก็เพื่อเป็นการแสวงหาธรรมกายที่มีอยู่ในตัวของเรานี่เอง นี่คือเป้าหมาย การจะเข้าถึงธรรมกายได้ พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่าให้ตามเห็นกายในกายเข้าไปเนือง ๆ ให้มีสติให้มีสัมปชัญญะ ประกอบความเพียรให้กลั่นกล้า สละความยินดียินร้ายทั้งหลายที่มีอยู่ในโลกนี้ทั้งหมด สละความยินดียินร้ายในสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในสังขารทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ และฝึกใจให้หยุดให้นิ่งเข้าไปตามลำดับ หยุดเข้าไปสู่ภายในตัว พอถูกส่วนเข้า พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ใจก็จะเริ่มบริสุทธิ์ มีความผ่องใส มีความบริสุทธิ์ปรากฏเกิดขึ้นภายในตัวของเรา ในกลางตัวเนี่ย ความบริสุทธิ์จนกระทั่งเราเห็นความบริสุทธิ์ของใจเราได้ เมื่อใจเราหยุดเรานิ่ง จะเห็นความบริสุทธิ์ของใจเราน่ะ สว่างไสวเหมือนกับดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันหรือยิ่งไปกว่านั้น
ใจจะใสเกินใส คือใสยิ่งกว่าเพชร ใสละเอียดอ่อนอยู่ภายในตัว ความผ่องใสของใจในขณะที่เกิดขึ้นพร้อมกับสันติสุขจะเกิดขึ้นมาน่ะ พร้อมกับความสว่างไสวของใจที่ศูนย์กลางกาย ทันทีที่เราเห็นเป็นครั้งแรกท่านเรียกว่าปฐมมรรค ว่านั่นแหละเข้าช่องทางถูกแล้ว เห็นหนทางไปสู่พระนิพพานจะเข้าถึงธรรมกายกัน จะเข้าถึงสันติสุขที่เที่ยงแท้ถาวรที่อยู่ภายในตัวของเรา เข้าถึงธรรมกายในตัวของเรา แล้วก็ทำความเพียรให้กลั่นกล้าไปอีกคือฝึกใจให้หยุดให้นิ่งต่อไป ไม่ให้หวั่นไหว ไม่ให้ง่อนแง่นไม่ให้คลอนแคลนไม่ให้ใจไปติดในบ่วงของมาร ในรูปในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านั้น ใจไม่ติดเลย ความเพียรก็กลั่นกล้าไปเรื่อย จะหยุดจะนิ่งเข้าไปตามลำดับ
จากปฐมมรรคที่อยู่ภายในตัวของเราน่ะ ในไม่ช้าก็จะเห็นกายในกายน่ะ ซ้อนกันอยู่ไปตามลำดับ เห็นกายมนุษย์ละเอียดหรือกายฝันของเรา ซ้อนอยู่ในกายภายนอกคือกายที่นั่งเข้าที่ แล้วก็เห็นกายทิพย์ซ้อนอยู่ในกายมนุษย์ละเอียด เห็นกายพรหมซ้อนอยู่ในกายทิพย์ เห็นกายอรูปพรหม แล้วก็เห็นกายธรรมไปตามลำดับ กายในกายเหล่านั้นคือทางเดินของจิตของเรา ทางเดินของใจคือเป็นหนทางผ่าน ที่จะเข้าไปถึงธรรมกาย ถึงกายที่เที่ยงแท้ถาวร มีแต่สุขล้วน ๆ อาศัยตาเห็นไปตามลำดับ เมื่อใจหยุดแล้วจะต้องเห็นอย่างนี้แหละ จะไม่เห็นอย่างอื่น ไม่เห็นเลอะเทอะ เลอะเทอะเปรอะเปื้อนอะไรอย่างนั้น มันไม่เห็นอย่างนั้นนะ จะเห็นไปตามลำดับของจริงที่มีอยู่ในตัวน่ะ ไม่มากมายก่ายกองเลอะเทอะอย่างที่เค้าวุ่นวายเห็นกันวุ่นวายกันไปอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะมาฝึกฝนใจของเราเนี่ยให้เข้าถึงธรรมกาย เบื้องต้นเราจะต้องฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่งซะก่อน ใจที่แวบไปแวบมาน่ะ ไปนึกคิดถึงในสิ่งที่เราไม่เคยเห็น รูปสวย ๆ งาม ๆ คนสวย ๆ วัตถุสิ่งของสวย ๆ เราเอามาหยุดกลับเข้ามาหยุดอยู่ภายในซะ คือปล่อยวางสิ่งเหล่านั้น หรือได้ยินเสียงที่เพราะ ๆ หูน่ะ ทำให้เกิดความชอบอกชอบใจน่ะก็ให้ปล่อยวางซะ เสียงยกย่องสรรเสริญอะไรต่างๆ เหล่านั้นน่ะ มันยังไม่จริงจังอะไรหรอก ปล่อยวางซะ ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ จากการได้ยินได้ฟังคำสรรเสริญเยินยอ ก็ปล่อยซะ เอาใจมาหยุดนิ่งอยู่ภายใน หรือกลิ่นหอม ๆ ทำให้เกิดความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ น่ะ แล้วทำให้เกิดความทุกข์ตามมาคือความกระวนกระวาย อยากจะแสวงหาไอ้สิ่งเหล่านั้น ซึ่งไม่ใช่ของจริงจังอะไร ชั่วครั้งชั่วคราว ประเดี๋ยวประด๋าวแค่นั้นเอง ปล่อยวางซะ
เอามาหยุดนิ่งอยู่ภายในตัวของเรา หรือเราไม่เคยรับประทานอาหารที่อร่อย ๆ ถูกลิ้นถูกปากถูกคอของเราน่ะ ความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านั้นเราปล่อยซะ เพราะว่ามันมีวิบัติเจืออยู่ด้วย คือความทะยานอยาก ความกระวนกระวายที่จะต้องแสวงหาสิ่งเหล่านั้นมาอยู่เรื่อย ๆ น่ะ ถมเท่าไหร่มันก็ไม่เต็มหรอกในตัวของเรา จะรับประทานให้อร่อยแค่ไหนมันก็ไม่เต็ม ไม่เต็มความอยากของใจน่ะ ฉะนั้นเราปล่อยซะ หรือความสุขที่เกิดจากความสัมผัส ความสัมผัสความนุ่มนวล ทำให้เราเรียกร้องอยู่ตลอดเวลา นึกถึงแต่เวลาที่จะสัมผัสอย่างนั้น เพราะเราไปติดซะแล้ว สุขเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างนั้นเราปล่อยซะ มันยังไม่จริงจังอะไร เราปลด เราปล่อย เราวางซะ
เอาใจกลับเข้ามาสู่ภายใน หรือใจเราคิดถึงสิ่งเหล่านั้นที่เราเรียกว่า ธรรมารมณ์ คิดถึงรูปที่ผ่านมาแล้วที่เราเห็น สิ่งที่เราเห็นน่ะ ผ่านมาแล้ว คิดถึงเสียง คำพูดเค้าที่ค้างอยู่ในใจน่ะ คิดถึงอยากจะได้กลิ่นไอ้ที่หอม ๆ กลิ่นเหม็นไม่ชอบ อยากจะได้อาหารอร่อย ๆ หรืออยากจะได้สัมผัสที่นุ่มนวล ความคิดเหล่านั้นเรียกว่าธรรมารมณ์ คิดวนอยู่ ธรรมารมณ์แปลว่าคิดวนอยู่ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส วนอยู่ในของที่ไม่จริงจัง นี่เค้าเรียกว่าธรรมารมณ์ วนอยู่ในโลก เค้าเรียกติดอยู่ในโลก ติดอยู่ในภพ เป็นเหตุให้ ให้เราเกิดใหม่มีความทุกข์อยู่เรื่อย ๆ ไป อย่างนั้น
นี่ท่านเรียกธรรมารมณ์ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ ๖ อย่างนี้เป็นบ่วงของมาร ทำให้ใจของเรานี่ไม่หยุดไม่นิ่ง ใจจะซัดส่าย แตกกระเจิง กระจัดกระจายไปติดอยู่แต่ไอ้สิ่งเหล่านั้นน่ะ ซึ่งมันมีวิบัติเจืออยู่ ไม่ให้ความสุขเราอย่างแท้จริงน่ะ แล้วมันก็วนเวียนซ้ำซาก กี่ภพกี่ชาติมามันก็ไปเจอของเก่า ๆ อย่างนี้ ไม่มีอะไรใหม่เลย วนกันไปวนกันมา ดังนั้นพระพุทธเจ้าท่านได้ผ่านในโลกทั้ง ๒ มา จึงได้ทรงแนะ นำสาวกทั้งหลาย สัตว์โลกทั้งหลายว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงนั้นมันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น เป็นเครื่องอาศัยเกิดมาเจอะเจอ ก็อาศัยกันชั่วครั้งชั่วคราว เพราะฉะนั้นก็ขอให้คิดแค่เป็นเครื่องอาศัย ไอ้ของจริงของจังน่ะมันอยู่ในตัว ต้องปลด ต้องปล่อย ต้องวางซะถึงจะเข้าถึงของจริงที่อยู่ในตัว จะเป็นเหตุให้เกิดความสุขอย่างจริงจัง มั่นคงโดยไม่ต้องอาศัยวัตถุ วัตถุภายนอกหรือสิ่งภายนอก เป็นความสุขด้วยตัวของตัวเอง มีอำนาจอยู่ในตัวของตัวเอง แสวงหาความสุขด้วยตัวของตัวเอง สุขอย่างนี้ดีกว่าหลายล้านเท่านัก นี่ท่านแนะนำเอาไว้อย่างนี้นะ
เพราะฉะนั้น วันนี้เราจะฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง จะไม่ไปตรึกไปนึก ไปคิดกันในสิ่งเหล่านั้น เพราะเรานึกคิดกันมามากมายแล้ว ร่างกายของเราที่เกิดกันมาจะมีประโยชน์เพื่ออย่างนี้ เหมือนอ้อยที่มีรสหวานนั่นน่ะ ประโยชน์ของมันอยู่ที่ความหวาน นี่เค้าบีบความหวานออกได้แล้ว เหลือกากเหลือชานก็ทิ้งไป ร่างกายนี้เหมือนกัน อาศัยสำหรับแสวงหาธรรมกายในตัว เมื่อถึงธรรมกายอรหัต พ้นจากทุกข์ทั้งหลาย จากเครื่องผูกสังโยชน์ เครื่องผูกทั้งหลายในโลกได้แล้วก็ทิ้งไป ทิ้งกายหยาบนี้เหมือนกับชานอ้อย เอากายธรรมเข้าพระนิพพานไป นี่เรามีชีวิตเพื่ออย่างนี้นะ
เอาล่ะเข้าใจดีแล้ว ต่อจากนี้ขอให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงอาตมาไปนะ ตั้งใจกันให้ดีสมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกมา ๒ เส้น เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย นึกให้ดีนะ ทำใจสบาย ๆ เส้นเชือกทั้ง ๒ จะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดตรงนี้เราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ จำว่าตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ให้เราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบ ตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ของใครก็ของคนนั้นนะ โดยประมาณเอา เรียกว่าฐานที่ ๗ นี่เราจำคำว่าฐานที่ ๗ เอาไว้นะ สำหรับท่านที่มาใหม่ ถ้าบอกว่าเอาใจไปหยุดที่ฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะ ใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ฐานที่ ๗ จะนั่ง จะนอน จะยืนจะเดิน จะเอาใจของเรามาตรึกมานึกมาคิดอยู่ที่ตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗ นี่ให้รู้จักเอาไว้นะ ฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ ตรงนี้แหละเป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางไปของพระอรหันต์ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย เข้าเส้นทางนี้ จะห่างไกลแล้วจากข้าศึกคือกิเลส สรรพกิเลสทั้งหลายนี้เข้าไปครอบงำไม่ได้
ตรงกลางฐานที่ ๗ นี่แหละสำคัญที่สุด สำคัญจริง ๆ เอามาตรึกนึกเอาไว้ตรงนี้นะ ตรึกถึงตรงนี้แล้วจะมีสุขอยู่อย่างเดียว ทุกข์ไม่มีเลย เอาใจมานึกมาคิดอยู่ที่ตรงนี้ นี่ฐานที่ ๗ ให้กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจของเรา กำหนดขึ้นมานะ กำหนดนึกขึ้นมาในใจ นึกอย่างง่าย ๆ สบาย ๆ ว่าตรงนี้เนี่ย ฐานที่ ๗ ตรงนี้มีดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กำหนดนึกด้วยใจ ดวงแก้วใส ๆ กลมรอบตัว โตเท่ากับปลายนิ้วก้อย ให้ดวงแก้วนี้ใสเหมือนกับเพชร เพชรที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วน ไม่มีไฝไม่มีฝ้า ไม่มีรอยตำหนิ กำหนดให้ละเอียดนิ่งอยู่ที่ตรงนี้นะ กำหนดให้ใส เราค่อย ๆ นึกดูนะ นึกเบา ๆ นึกเข้าไปที่กึ่งกลางของดวงแก้วที่ใส เอาใจหยุดนิ่งอยู่ที่ตรงกึ่งกลางตรงเนี้ย นึกเบา ๆ นะ นึกเบาๆ สบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่งง่าย ๆ นึกถึงคนที่เรารัก คนที่เรารู้จัก รู้สึกง่ายอย่างไร โดยที่เราไม่ได้ใช้ความพยายามในการนึกคิด นึกคิดถึงดวงแก้วก็ให้ง่ายอย่างนั้นแหละ
อย่าไปใช้ความพยายามมาก ถ้าพยายามมากเกินไปแล้วมันจะเครียด สมองเราจะมึนชา จะปวดศีรษะ นั่นไม่ถูกวิธีแล้ว คือวิธีต้องง่าย สบาย ๆ เหมือนเราคิดเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง นึกง่าย ๆ พอนึกให้เห็นมันก็เห็นน่ะ ดวงใส ๆ กลมรอบตัวโตเท่ากับปลายนิ้วก้อยน่ะ เอาใจของเราไปนึกคิดอยู่ที่ตรงนี้เนี่ย นึกเบา ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ ภาวนาให้เสียงของคำภาวนาดังออกมาจากจุดกึ่งกลางของดวงแก้วที่ฐานที่ ๗ เราภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาให้คำภาวนาดังก้องออกมาจากศูนย์กลางตรงนั้นนะ ศูนย์กลางฐานที่ ๗ จุดกึ่งกลางของดวงแก้วใส ๆ ให้ดังออกมาจากตรงนั้น เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน เหมือนความนึกคิด ละเอียดอ่อนเท่ากับความคิด คือเสียงที่ละเอียดอ่อนนะ ดังออกมาจากศูนย์กลางฐานที่ ๗ ตรงจุดกึ่งกลางของดวงแก้ว กำหนดให้ใสที่สุดเท่าที่จะใสได้
กำหนดให้นิ่งให้ใจหยุดนิ่งเฉย หรือบางท่านจะกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ ก็ได้ ที่เคยกำหนดเป็นพระ ก็กำหนดเป็นพระ พระแก้วใส ๆ อยู่ในกลางตัวตรงฐานที่ ๗ อย่างนี้ก็ได้ มองไปที่องค์พระ มองให้เห็นทั้งองค์ บางครั้งอาจจะมองเห็นส่วนใดส่วนหนึ่งก็ช่าง ไม่เป็นไร มองไปเรื่อย ๆ พร้อมกับภาวนาสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาไปเรื่อย ๆ นะ อย่างใดอย่างหนึ่ง ให้เราเลือกเอา อย่าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมานะ ไม่ต้องไปเปลี่ยนมัน เราชอบองค์พระก็กำหนดองค์พระ เราชอบดวงแก้วก็กำหนดดวงแก้ว ถ้าเรานึกไม่ออก ดวงแก้วก็นึกไม่ออก องค์พระก็นึกไม่ออก มันมืด ๆ นึกแล้วเครียด ก็ปล่อยสบาย ๆ ให้เหลือแต่คำภาวนาอย่างเดียว สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ทำอย่างนี้นะ เอาล่ะต่อจากนี้ไป ต่างคนต่างทํากันเงียบ ๆ หลับตาแค่ผนังตาปิดเบา ๆ อย่าเม้มตาแน่น อย่าบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับเฉย ๆ นะ หลับสบาย ๆ ทำใจของเราให้สบาย ๆ สังเกตดูร่างกายของเราให้สบาย ๆ อย่าเกร็งส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย กล้ามเนื้อทุกส่วนของเราให้คลายหมด กล้ามเนื้อเปลือกตา หน้าผาก ศีรษะต้นคอ เรื่อนลงไปทั้งตัวเลย ให้สบายให้หมดเลยนะ
ปล่อยสบาย ๆ หมด สำหรับท่านที่มาใหม่ ไม่เคยไม่คุ้นเคยการนั่งนาน ๆ ถ้าหากว่าปวดเมื่อยหรือเป็นเหน็บก็ให้เปลี่ยนอริยาบถได้ แต่ว่าอย่าให้กระเทือนคนข้างเคียงเค้านะ อย่าไปกระทบกระเทือนเค้า เปลี่ยนได้เปลี่ยนอริยาบถด้วยความเบา ให้มันหายปวดหายเมื่อย แต่ว่าใจของเราจะต้องตรึกเข้าไปภายในเสมอ สำหรับท่านที่มาใหม่ที่ยังไม่คุ้นน่ะ เปลี่ยนกลับไปกลับมาได้ ไม่เป็นไร ตอนเช้าเราจะฝึกทำใจของเราให้หยุดให้นิ่งให้เป็นสมาธิ ใจที่ซัดส่ายวุ่นวายไปในที่ต่าง ๆ ก็จะฝึกให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบให้ระงับ เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะเตรียมตัวของเราฝึกใจหยุดใจนิ่ง ขอให้ทุกคนปล่อยวางภารกิจทั้งหมดที่มีอยู่ในโลก ใจที่ไปผูกพันกับเรื่องราวอะไรต่าง ๆ เราปล่อยให้หมด เรื่องการศึกษาเล่าเรียนก็ดี เรื่องครอบครัวก็ดี เพื่อนฝูงก็ดี เที่ยวเตร่สนุกสนานหรือธุรกิจการงานอะไรต่าง ๆ ปล่อยวางชั่วขณะ ทำประหนึ่งว่าเราไม่เคยมีสิ่งเหล่านี้เข้ามาผูกพันในชีวิตของเราเลย ปลดปล่อยวางหมด
ทำตัวเหมือนกับเราอยู่คนเดียวในโลกนี้ ปล่อยวางสบาย ๆ นะ ปลดปล่อยวางหมด ในโลกนี้ไม่มีอะไรเลยน่ะ มีตัวเราอยู่คนเดียว ปล่อยวางสบาย ๆ ทำใจเย็น ๆ มันอาจจะมีความคิดเก่า ๆ ที่เราผ่านมาแล้ว อาจจะคลายตัวออกมาทำให้เราเห็นเป็น เรื่องเป็นราวอะไรต่าง ๆ ในมโนภาพในความนึกคิดของเรา ก็ช่างมัน ความคิดอะไรเกิดขึ้นมาก็ช่างมัน เราอย่าไปฝืนไปต้านมัน ปล่อยมันไปอย่างสบาย ๆ พอเรารู้ตัวเราจึงกลับมาภาวนาใหม่อย่างง่าย ๆ อย่าไปกังวลกับไอ้ความคิดเหล่านั้นที่เกิดขึ้นมาน่ะ อย่าไปเสียเวลาไปเพ่งไล่ความคิดหรือไปต่อต้านมัน อย่าไปหงุดหงิดกับมันอย่าไปมัวกลุ้มอกกลุ้มใจว่าความคิดทั้งหลายมันไม่น่าจะเกิดขึ้นเลยในขณะที่เราทำภาวนา มันเป็นกฎธรรมชาติของใจเราที่จะต้องนึกคิดอยู่ตลอดเวลาอย่างนั้น ไม่ว่าเราจะตื่นจะหลับ หรือจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม เราก็จะวนเวียนอยู่ในความคิดเหล่านั้น ถ้าเราไปฝืนมันไปต้านมัน ไปบังคับมัน จะทำให้เราเครียด เราจะอึดอัด เราจะกลุ้มใจ และจิตไม่เป็นสมาธิ
เพราะฉะนั้นหลักจึงมีอยู่ว่าเราจะปล่อยมันไปหมด สบาย ๆ ถ้าหากว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้นนะ แต่เมื่อเรารู้ตัวเราจึงกลับมาภาวนาใหม่ ถ้าหากว่าเรายังบังคับไม่ได้ก็ปล่อยมันไปอย่างนั้น พอรู้ตัวก็กลับมาภาวนาใหม่ สลับกันไปอย่างนี้นะ นี่สำหรับบางท่านที่มีความคิดอยู่ในใจมากมาย เราก็จะปล่อยมันไปอย่างนั้นน่ะ สบาย ๆ ทำของเราไปอย่างเย็น ๆ อย่างง่าย ๆ ทีนี้เราลองมาพิจารณาดูร่างกายของเราหรือสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ว่ามีสิ่งใดที่เป็นสาระเป็นแก่นสารของชีวิตมั่ง ที่จะให้เรามีความสุขอย่างแท้จริง เรามองดูทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวของเรา จะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิ่งทั้งหมดนี้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่ามันจะต้องเคลื่อนไปสู่จุดสลาย จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ร่างกายของเรา จะต้องเคลื่อนไปสู่จุดสลายทั้งนั้น ต้องเปลี่ยนกันไป ต้องสลายไป เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมไป เป็นอย่างนี้ ทุกคนในโลก ทุกชีวิตทุกสรรพสิ่งทั้งหลาย มันเป็นอย่างนี้ ของที่มีอยู่ภายในร่างกายของเราก็เป็นอย่างนั้น เหมือนกัน
เราลองนึกคิดซักชั่วขณะหนึ่งว่าอะไรที่มันเป็นจริงเป็นจัง เป็นแก่นสารของชีวิต มองดูให้ทั่ว ลองนึกดู ต้นหมากรากไม้ ภูเขาเลากา ตึกรามบ้านช่อง ทุกอย่างมันเปลี่ยนไปหมดทั้งนั้น ไม่คงที่ ปู่ย่า ตายาย พ่อแม่สามีภรรยา พี่ป้าน้าอา ญาติมิตร ลูกหลานเหลน เพื่อนร่วมงาน เพื่อนร่วมโลกทั้งหมดเลย ไปสู่จุดสลายทั้งนั้น ผมบนศีรษะของเรา ฟันในปาก ผิวหนังทุกอย่าง อวัยวะภายในเสื่อมหมด จะต้องไปสู่จุดสลายทั้งนั้น ทุกคนในโลกเป็นอย่างนี้ ดังนั้นเราจะเกิดมาเพื่ออะไร ที่เราเกิดมาในภพหนึ่งชาติหนึ่ง ก็ต้องการแสวงหาที่พึ่งและที่ระลึก แสวงหาสิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลง มีสันติสุขด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องไปพึ่งวัตถุภายนอก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งที่เราต้องการคือสิ่งที่เที่ยง คงที่ มีสันติสุขอยู่ภายในด้วยตัวของตัวเอง นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ในชีวิตของการเกิดมาเป็นมนุษย์ และสิ่งที่มั่นคงเป็นสาระแก่นสารของชีวิตน่ะ ที่จะทำให้เรามีความสุขอย่างแท้จริงก็คือธรรมกายนั่นเอง
ธรรมกายคือชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเรา เป็นชีวิตอันประเสริฐของผู้เจริญแล้ว ผู้มีจิตตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส มีอิสระเสรีที่จะเสวยสุขด้วยตัวของตัวเอง ไม่อึดอัด ไม่คับแคบ ไม่กระวนกระวาย ไม่ทุรนทุรายเป็นจิตที่มีเสรี เป็นกายที่มีเสรี มีความสมบูรณ์เต็มเปี่ยมไปด้วยสติและปัญญานะ เป็นความรู้ที่ไม่มีขอบเขตไม่มีประมาณ ความรู้ที่ยิ่งรู้ยิ่งสว่าง ยิ่งแจ้ง ชีวิตที่อยู่ในระดับลึก นี่คือสิ่งที่เราต้องการ ที่เราเกิดกันมาแต่ละภพแต่ละชาติต้องการแสวงหาสิ่งนี้แหละ เราเข้าถึงธรรมกายในตัวของเราเมื่อไหร่ ชีวิตของเราก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปไปสู่สันติสุขที่เที่ยงแท้ถาวร มีความมั่นคงของชีวิตเกิดขึ้นมามีความสุข ที่ที่เราไม่ทราบว่าจะใช้คำอะไรมาเปรียบเทียบ กับการที่ได้เข้าถึงกันไปอย่างนั้น
ธรรมกายคือแก่นของคน แก่นของชีวิต อยู่ภายในตัวของเรา อยู่ในจิตที่ละเอียดที่สุด ลึกที่สุด อยู่ภายในของเรานี่แหละ เราจะเข้าถึงได้ต่อเมื่อเราฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบให้ระงับ ใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียวเท่านั้นจึงจะเข้าถึงธรรมกายภายในได้ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเข้าถึงได้ทั้งนั้น มีโอกาสที่จะเข้าถึงได้ ถ้าหากฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบให้ระงับ หยุดนิ่งเดี๋ยวนี้ก็ถึงเดี๋ยวนี้ หยุดเมื่อไหร่ก็ถึงเมื่อนั้น ไม่จำกัดกาลเวลา ดังนั้นวันนี้เราจะฝึก ฝึกฝนใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ใจที่ซัดส่ายไปมาในที่ต่าง ๆ เราจะเริ่มฝึกให้มันหยุดให้มันนิ่งอยู่ภายในตัวของเรา ดังนั้นขอให้ทุกคนน่ะ ปลดปล่อยวางภารกิจเครื่องกังวลใจอะไรต่าง ๆ ทั้งหมด ปล่อยวางและก็ทำใจให้สบาย ให้ทุกคนนึกน้อมจิตตามเสียงไปนะ ที่จะแนะนำต่อไปน่ะ ให้ทุกคนน้อมจิตตามเสียงไป
สมมติว่าเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น เรานำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง ขึงให้ตึงทีเดียวนะ นี่เราสมมติเอาเส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง นึกตามอย่างง่าย ๆ นะ อีกเส้นหนึ่งเราสมมติว่าขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นเชือกทั้ง ๒ จะตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม จุดตัดที่อยู่ในกลางท้องเราเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ นะตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ตรงเนี้ย นี่นึกตามให้ดี ให้เราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางของเราวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเชือกเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าฐานที่ ๗ นี่เราจำฐานที่ ๗ ไว้ให้ดีนะ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือเรียกว่าฐานที่ ๗ ดังนั้น ถ้าบอกว่าฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงจุดที่เหนือจากฐานที่ ๖ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือนะ โดยประมาณ อยู่ในกลางท้องของพวกเราทุก ๆ คน ตรงนี้สำคัญนะ ตรงฐานที่ ๗
ฐานที่ ๗ นี่เป็นทางไปสู่พระนิพพาน เป็นทางหลุดทางพ้นจากทุกข์ทั้งหลาย เข้าถึงสันติสุขภายใน ตรงฐานที่ ๗ สำคัญที่สุดเลยในชีวิต ถ้าใครเอาใจของเรามาจรด มาหยุดมานิ่งอยู่ตรงนี้ได้ล่ะก็จะพบสันติสุขภายใน จะพบพระธรรมดวงแก้ว พบหนทางไปสู่พระนิพพานพบทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ นี่แหละ ตรงนี้สำคัญทีเดียว ตรงฐานที่ ๗ จำเอาไว้ให้ดีนะ เป็นทั้งที่มาเกิด เป็นทั้งที่ตาย เป็นทั้งที่หลับและก็ตื่นด้วย ทั้งเกิด ทั้งดับ ทั้งหลับทั้งตื่น อยู่ตรงนี้ ที่เดียว ฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้แหละ ตรงนี้สำคัญทีเดียวนะ เหนือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานที่ ๗ ตรงนี้น่ะ เป็นทั้งที่มาเกิดเป็นทั้งที่ตาย ทั้งที่หลับและก็ตื่น เกิด ดับ หลับ ตื่น อยู่ตรงนี้แหละ อยู่ตรงที่เดียวของใครก็ของคนนั้น ของทุก ๆ คนในโลก ชาติไหนภาษาไหนก็แล้วแต่ อยู่ตรงนี้ตรงที่เดียวน่ะ เป็นที่เกิด เป็นที่ดับ เป็นที่หลับ เป็นที่ตื่น เกิดตายตรงนี้ หลับตื่นก็ตรงนี้ ไปสู่พระนิพพานก็ได้ตรงนี้แหละ เข้าถึงสันติสุขภายในก็ตรงนี้ เข้าถึงธรรมกายก็ตรงนี้ที่เดียว นี่สำคัญอย่างนี้เห็นไม๊ล่ะ สำคัญมาก
ดังนั้นขอให้ทุกคนเนี่ยให้เอาใจมาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ อย่าปล่อยให้ใจของเราเลื่อนลอยไปในที่ต่าง ๆ ให้มันหยุดให้มันนิ่ง ประคับประคองอยู่ที่ตรงนี้นะ แล้วสมมติบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจว่าตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ มีดวงแก้วใส ๆ ใสเหมือนกับเพชร เพชรลูกที่เจียระไนแล้วนะ ไม่มีขนแมว ไม่มีขีดไม่มีข่วน ไม่มีรอยตำหนิ โตเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเราน่ะ กลมหรือโตเท่าแก้วตาของเราน่ะ กลม เป็นเพชรลูกนะ เคยเห็นเพชรกันใช่ไม๊น่ะ มีความใสอย่างไรน่ะ เรานึกถึงเพชรลูกที่กลมรอบตัวน่ะ โตเท่ากับแก้วตาของเรา หรือเท่ากับปลายนิ้วก้อยของเรา กลม กลมเหมือนปิงปองอย่างนั้นน่ะ กลมรอบตัวเลย มาอยู่ที่ตรงฐานที่ ๗ อยู่ตรงนี้พอดีเลย ไม่เหลื่อมซ้ายเหลื่อมขวาเลย ตรงฐานที่ ๗ นี่ดวง ดวงแก้วนะ เรากำหนดอยู่ที่ตรงนี้น่ะ
นึกถึงความใสของดวงแก้วน่ะ ให้ใสที่สุดเท่าที่จะใสได้ ให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะชัดเจนได้ คล้าย ๆ เราลืมตาเห็น นึกอยู่ที่ตรงนี้นะ นึกง่าย ๆ จำคำนี้ให้ดีนะ นึกง่าย ๆ คล้ายกับเรานึกถึงเรื่องอะไรซักเรื่องหนึ่ง นึกถึงคนที่เรารัก คนที่เรารู้จัก หรือสิ่งของที่เรารักนั่นน่ะง่ายอย่างนั้น เราจะสังเกตว่าคนที่เรารักน่ะ เราไม่ได้ใช้ความพยายามในการนึกคิดเลย เราเห็นหน้า เห็นท่าทาง เห็นอริยาบถเค้าชัดเจนทีเดียว โดยไม่ได้ใช้ความพยายามในการนึกคิดอะไรเลย การนึกคิดถึงดวงแก้วใส ๆ เหมือนกับเพชรอย่างนี้ก็เช่นเดียวกัน นึกให้ง่าย ๆ อย่างนั้นนะ ง่าย ๆ อย่าไปใช้ความพยายามมาก ไปเพ่งไปจ้องมัน ถ้าเราไปเพ่งไปจ้องไปบังคับจิตมันจะทำให้เราเครียด แล้วเราก็มึนศีรษะ ปวดศีรษะ การฝึกของเราจะไม่ได้ผล ดังนั้นขอให้นึกง่าย ๆ สบาย ๆ
นึกถึงดวงแก้วใส ๆ ตรงนี้นะ นึกง่าย ๆ อย่างนั้นน่ะ คงเข้าใจนะคำว่านึกง่าย ๆ พร้อมกับภาวนาในใจของเราเบา ๆ ภาวนาว่าสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ให้คำภาวนาสัมมาอะระหังเป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ใช่ดังที่ปากนะ ดังออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ดังออกมาจากตรงนั้นนะ ใจจะหยุดหรือไม่หยุดเนี่ย มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะต้องไม่เผลอจากบริกรรมทั้ง ๒ คือใจตรึกนึกเข้าไปถึงกลางของดวงแก้วอย่างง่าย ๆ แล้วก็ภาวนาอย่างง่าย ๆ ให้ทั้ง ๒ อย่างควบคู่กันไป และให้คำภาวนาดังออกมาจากศูนย์กลางฐานที่ ๗ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ดังออกมาจากตรงนี้นะ เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน เหมือนเสียงในทางความคิดของเราน่ะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ภาวนาไปอย่างนั้นนะ
โดยยังไม่จำเป็นต้องไปนึกถึงความหมายของคำว่าสัมมาอะระหังว่าแปลว่าอะไร เราไม่ต้องไปนึกถึงคำแปลหรือความหมายของมัน ภาวนาไปเรื่อย ๆ ภาวนาไปจนกระทั่ง คำภาวนาสัมมาอะระหังมันหายไปเอง คือค่อย ๆ เลือนหายไป เหลือแต่ใจหยุดใจนิ่งอย่างเดียว ถ้าเป็นอย่างนี้ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่ เราก็ปล่อยมันไป แต่ในกรณีที่เราภาวนาไปแล้ว เกิดมีความคิดอื่นเข้ามาแทรก แล้วทำให้เราลืมภาวนาไป อย่างนี้เมื่อเรารู้ตัวเราดึงกลับมาภาวนาใหม่ แต่ถ้าหากเราภาวนาแล้วคำภาวนาหายไปนะ ใจหยุดนิ่งอยู่ภายใน ไม่มีความคิดอื่นเข้าแทรก อารมณ์จิตปลอดโปร่งผ่องใส อย่างนี้เราก็ไม่ต้องกลับมาภาวนาใหม่ จำให้ดีนะ และถ้าใครปวดใครเมื่อย เราก็เปลี่ยนอริยาบถ ขยับแข้งขยับขา แต่อย่าให้กระเทือนคนข้างเคียงเค้า
ทีนี้บางท่านกำหนดดวงแก้วไม่ถนัด จะกำหนดเป็นพระแก้วใส ๆ ก็ได้ แต่บางท่านเคยเคารพกราบไหว้บูชาพระท่านทุก ๆ วัน จำรูปร่างหน้าตาของพระได้ เราก็เอาพระพุทธรูปองค์นั้นแหละ จะเป็นโลหะจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ หรือจะเป็นแก้วน่ะ กำหนดให้ท่านอยู่ที่ศูนย์กลางฐานที่ ๗ เหมือนกัน อยู่ที่ตรงนี้นะ แทนดวงแก้ว นี่ในกรณีคนที่ถนัดองค์พระ เราจะนึกถึงพระแก้วก็ได้ เราก็นึกให้ง่าย ๆ เช่นเดียวกัน นึกง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามจนกระทั่งเราเครียด นึกง่าย ๆ เห็นรัว ๆ ลาง ๆ ก็ช่าง เห็นบางส่วนขององค์พระ ก็ช่างเห็นชัดหรือไม่ชัดก็ช่าง เราตรึกไปอย่างเบา ๆ สบาย ๆ พร้อมกับภาวนาไปเรื่อย ๆ แล้วก็ให้เสียงคำภาวนาดัง ออกมาจากฐานที่ ๗ เช่นเดียวกันอย่างนี้เหมือนกันนะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ หรือบางท่านนึกดวงแก้วก็ไม่ออก นึกองค์พระก็ไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ให้เอาใจวางไว้เฉย ๆ นึกคิดว่าใจของเราอยู่ในกลางท้องฐานที่ ๗
ถ้านึกดวงแก้วไม่ออก นึกองค์พระมองไม่เห็น ศูนย์กลางกายก็นึกไม่ได้ ก็ปล่อยมันอย่างสบาย ๆ ให้เหลือแต่สัมมาอะระหังอย่างเดียว สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ให้ทำไปอย่างนี้นะ คือสำหรับคนกำหนดดวงแก้วก็ให้กำหนดดวงแก้ว คนกำหนดองค์พระได้ก็ให้กำหนดองค์พระ ถ้ากำหนดทั้ง ๒ อย่างไม่ได้ก็ให้กำหนดที่ศูนย์กลางกาย ถ้ากำหนดศูนย์กลางกายไม่ได้ ก็ให้เหลือแต่สัมมาอะระหังอย่างเดียว จำให้ได้นะ ให้ทำอย่างนี้แหละ อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราชอบที่เราถนัด เพราะทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นวิธีฝึกใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้สงบให้ระงับทั้งนั้น เราจะเลือกอย่างไหนก็ได้ แล้วแต่ของเราถนัด เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วน่ะ
เอาล่ะต่อจากนี้ไป ขอให้เราทำอย่างที่ได้แนะนำไปเมื่อซักครู่เนี๊ยะ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ทำอย่างสบาย ๆ ง่าย ๆ โดยไม่ต้องใช้ความพยายามอะไร ปล่อยสบาย ๆ ใจเย็น ๆ แล้วอะไรที่จะเกิดขึ้นมาน่ะ คือประสบการณ์ภายในที่เกิดขึ้นมา จะเป็นอะไรก็ตาม ตัวของเราอาจจะยึด อาจจะขยาย อาจะเล็ก มีการเปลี่ยนแปลงภายในน่ะ ขนลุกมั่ง ตัวโยก ตัวโคลง ตัวลอยอะไรก็แล้วแต่ ปล่อยมันไปอย่าไปฝืนนะ ปล่อยมันไปอย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ ให้ทำกันอย่างนี้นะ เอาล่ะต่อจากนี้ต่างคนต่างทำกันเงียบ ๆ กันทุก ๆ คน ถ้าเมื่อยก็เปลี่ยนอริยาบถ แต่อย่าให้กระเทือนคนข้างเคียงเค้านะ แล้วไม่พูดไม่คุยกัน ไม่ลืมตาล่ะ หลับตาดูไปภายในตัวของเรา