จงพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปตามความเป็นจริง

วันที่ 01 มีค. พ.ศ.2567

010267b01.jpg 

พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม 
 โดยพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

จงพิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปตามความเป็นจริง 

 

                เราได้บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้เราจะได้นั่งหลับตาเจริญสมาธิภาวนากัน ขอเรียนเชิญทุกท่าน นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้ายวางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ สำหรับท่านที่นั่งขัดสมาธิไม่ถนัดจะนั่งพับเพียบก็ได้ แล้วก็เอามือขวาทับมือซ้ายนิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ เช่นเดียวกัน หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่าไปกดลูกนัยน์ตา ให้หลับพอสบาย ๆ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดีนะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย แล้วก็ให้ลืมภารกิจเครื่องกังวลทั้งหลายให้หมดสิ้นจากใจ 

 

                จะเป็นเครื่องกังวลอะไรก็ตาม ให้ปลด ให้ปล่อยให้วางเอาไว้ชั่วขณะที่เราจะได้เจริญภาวนา ให้ลืมหมดเลย เหมือนกับเราไม่เคยเจอภารกิจทั้งหลายเหล่านี้มาก่อน ลืมให้หมดสิ้น จะเป็นเครื่องกังวลอะไรก็ตาม เป็นธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียน เรื่องครอบครัว หรือเรื่องอะไรที่นอกเหนือจากนี้ ให้ปลดให้ปล่อย ให้วาง ให้ใจว่างเปล่าจากความคิดทั้งหลายทั้งปวง แล้วก็ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาดให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่าให้มีความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้ามาสิงสถิตอยู่ในใจของเรา ให้ใจของเราสะอาดบริสุทธิ์ จะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล รองรับพระรัตนตรัยใจที่เบิกบานที่แช่มชื่นนี้มีความสำคัญมาก พยายามทำให้ติดเป็นนิสัย ฝึกเอาไว้ทุก ๆ วัน ตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเราเข้านอนน่ะ 

 

                ให้ช่วงเวลานี้ฝึกทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใสเพราะว่าใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์นี้ เป็นใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว แล้วก็เป็นที่ตั้งแห่งบุญแห่งกุศล สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้เลย ทุกคนที่ประสบความสำเร็จในการเข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน คือเข้าถึงพระธรรมกายภายในนั้น ใจของเค้าจะต้องสดชื่น บริสุทธิ์ เบิกบาน ผ่องใส ซึ่งเป็นสภาพใจที่เหมาะสมที่จะรองรับที่จะเข้าถึง เพราะฉะนั้นทุกท่านที่เค้าประสบความสำเร็จมาเนี่ย ก็ด้วยการทำใจชนิดนี้นี่เอง ใจต้องเบาสบาย บริสุทธิ์ สะอาดผ่องใส ถึงเข้าถึงพระธรรมกายได้ แต่ใจชนิดนี้เนี่ย ไม่ใช่ว่าปุ๊บปั๊บมันจะได้ขึ้นมาเลยทันที จะต้องอาศัยการฝึกฝน อบรมสะสมความรู้สึกชนิดนี้ ทีละเล็กทีละน้อย ตั้งแต่ตื่นนอนกระทั่งเข้านอน ทุกวันทุกคืน เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี จนกระทั่งติดเป็นนิสัย 

 

                เมื่อเริ่มลงมือปฏิบัติธรรม เป็นแต่เพียงวางใจเบา ๆ ให้หยุดให้นิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายภายใน ตามวิธีการที่ได้แนะนำไป เค้าก็ประสบความสำเร็จ พบความสว่างภายใน พบความสุขภายใน พบกายในกายภายใน และก็พบธรรมกาย สภาพใจของทุก ๆ คนที่เข้าถึงจะต้องเป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด ไม่ว่าจะมีผ่านไปแล้วในอดีตก็ตาม ปัจจุบันหรือที่จะมีต่อไปในอนาคต ใจต้องสดชื่นต้องเบิกบาน แช่มชื่น ถึงจะเข้าถึงได้ ถ้าไม่มีสภาพใจอย่างนี้จะปฏิบัติอย่างไรก็เข้าถึงได้ยาก เข้าถึงไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นการทำจิตใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่นนี้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และต้องฝึกฝนให้สม่ำเสมอทุก ๆ วัน เราฝึกไปทุก ๆ วัน จนกระทั่งมันติดเป็นนิสัย ไม่ว่าจะมีเรื่องอะไรต่าง ๆ เกิดขึ้นมากระทบใจของเราเนี่ย ความขุ่นมัวจะอยู่ในใจเราได้ไม่นาน ชั่วแวบเดียวเท่านั้นเอง หรือไม่มีเลย และมันก็ถูกขจัดหมดสิ้นไป

  

                เพราะการฝึกฝนอบรมใจให้เบิกบานให้แช่มชื่นทุกวันทุกคืนนั้นน่ะ เป็นเสมือนเกาะคุ้มภัยเรา ขจัดปัดเป่าสิ่งที่จะทำให้เราเกิดความเครียดความขุ่นใจ ขุ่นมัว ขัดเคืองใจอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นต้น มันก็หมดไป นี่เป็นสิ่งสำคัญซึ่งทุก ๆ ท่าน ไม่ควรจะดูเบา ถ้าหากว่ารักที่จะปฏิบัติ เพื่อให้เข้าถึงธรรมกายจะต้องฝึกอย่างนี้ หรือปรารถนาที่จะมีชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความสุข ก็จะต้องฝึกฝนใจให้ได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านมีวิธีการที่จะสอนให้เราจิตใจเบิกบานสดชื่น ทุกวันทุกคืน ด้วยการที่ท่านสอนให้เราได้พิจารณาสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไปตามความเป็นจริง ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ มีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม สิ่งเหล่านี้นี่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่ใช่ของจริงของจังอะไร 

 

                จะเป็นคนก็ดี เป็นสัตว์ก็ดี สิ่งของก็ดี ลาภยศสรรเสริญก็ดี สิ่งเหล่านี้ก็เป็นของเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ท่านก็สอนให้พิจารณาให้มองเห็นสิ่งเหล่าเนี้ย ไปตามความเป็นจริงเหล่านี้ ทุก ๆ วัน เมื่อเราหัดฝึกฝนตามวิธีการที่ท่านได้แนะนำเอาไว้ ใจเราก็จะคุ้นว่าความเป็นจริงของสรรพสิ่งทั้งหลายมันก็เป็นอย่างนี้ สรรพสิ่ง สรรพสัตว์ทั้งหลายน่ะ ตกอยู่ในสภาวะอันนี้ ซึ่งเป็นของปกติธรรมดา ใครจะไปเปลี่ยนแปลงมันไม่ได้ เพราะว่ามันเป็นของมันอย่างนี้ เมื่อมันเป็นอย่างนี้เราจะได้ไม่ไปผูกพันกับมันมาก ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมาก เมื่อเราไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมั่นมาก เอาแค่พอสมควรเนี่ย ความทุกข์ใจต่าง ๆ ก็ไม่บังเกิดขึ้นกับเราหรือเกิดขึ้นอยู่กับเราได้ไม่นาน เมื่อความทุกข์ใจเกิดขึ้นได้ไม่นาน อารมณ์ที่เป็นสุขใจนั้นก็จะเกิดขึ้นมาทดแทน

 

                ความแช่มชื่น ความเบิกบานก็เกิดขึ้น เมื่อสั่งสมให้มากเข้าทุกวันทุกคืน ไม่ช้าเราก็จะเข้าถึงธรรมภายใน ถึงพระธรรมกายภายในได้ โดยไม่ยากเย็นอะไรเลย เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่มาปฏิบัติธรรมที่นี่ ถ้าหากว่าได้ทำตามวิธีการที่หลวงพ่อได้แนะนำอย่างนี้ ก็จะเข้าถึงพระธรรมกายไม่ยากเลย และสิ่งเหล่านี้จะต้องฝึกฝนให้ได้ทุก ๆ วันเพราะฉะนั้นได้ยินได้ฟังบ่อย ๆ ก็อย่าดูเบาว่าเป็นของที่ง่าย เคยได้ยินซ้ำ ๆ ซาก ๆ มาแล้ว แล้วก็ไม่ใส่ใจ ก็เพราะความที่เราดูเบาและไม่ใส่ใจนี้ เราจึงเสียเวลาที่เราจะเข้าถึงธรรมกาย

 

                ทั้ง ๆ เราทราบดีว่าการเข้าถึงพระธรรมกายภายในนั้นเป็นของดี เข้าถึงแล้วจะทำให้ชีวิตเรามีความสุข มีสติมีปัญญาเกิดขึ้น มีความรู้แจ้งภายในเกิดขึ้น มีอานิสงส์มากมายทีเดียวในการเข้าถึงธรรมกายเราทราบดี แต่ว่าที่เรายังไม่เข้าถึงเพราะว่าเราได้ดูเบาไปกับสิ่งที่หลวงพ่อได้แนะนำในเบื้องต้น ซ้ำ ๆ ซาก ๆ บ่อย ๆ อย่างนั้นแหละ เพราะฉะนั้นเราจะต้องมาปรับปรุงวิธีการในการปฏิบัติเสียใหม่ ใครที่ดูเบาก็เริ่มต้นใหม่ เริ่มต้นด้วยการระลึกนึกถึงคำแนะนำอย่างง่าย ๆ ที่หลวงพ่อได้แนะนำไปแล้ว แล้วก็เริ่มลงมือฝึกฝนอย่างจริงจัง ส่วนท่านที่มาใหม่ก็เริ่มต้นด้วยวิธีการง่าย ๆ ที่หลวงพ่อจะได้แนะนำต่อไป นี่ให้ทำความเข้าใจให้ดีนะจ๊ะ 

 

                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปจะได้สอนวิธีทำภาวนา สำหรับท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ฐานที่ตั้งของใจเราซึ่งเป็นทางเดินของใจน่ะ มีทั้งหมด ๗ ฐาน ฐานที่ ๑ อยู่ที่ปากช่องจมูก ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตา ตรงหัวตาที่น้ำตาไหล ท่านหญิงอยู่ข้างซ้าย ท่านชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก นึกตามไปช้า ๆ นะจ๊ะ ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก ฐานที่ ๖ อยู่ในกลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมติว่าเราขึงเส้นเชือกจากสะดือทะลุไปด้านหลังเส้นหนึ่ง จากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายอีกเส้นหนึ่ง ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม ตรงตำแหน่งที่จุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ นั่นแหละ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือ สมมติว่าเราเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 
 
                พอหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ ตรงฐานที่ ๗ นี่เป็นฐานที่สำคัญ เป็นที่ตั้งของใจ เราจะต้องนำใจของเรามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ใจที่แวบไปแวบมา นึกไปถึงเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งในอดีตก็ดี หรือที่ยังมาไม่ถึง ในอนาคตก็ดีน่ะ รวมมาหยุดเป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เอาความเห็น เอาความจำ ความคิด ความรู้ ๔ อย่างรวมหยุด เป็นจุดเดียวกันที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจหยุดอยู่ที่ตรงนี้ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นทางที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย เสด็จไปสู่อายตนนิพพาน ท่านอาศัยเส้นทางสายกลางที่อยู่ภายในกายของเรา 

 

                โดยเริ่มต้นจากตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ ปล่อยใจของท่านเข้าไปในกลางของกลางไปตามลำดับเรื่อย ๆ ในกลางนั้นท่านจะพบดวงธรรมต่าง ๆ จนกระทั่งเข้าถึงกายภายใน เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงกายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคา กายธรรมพระอนาคามี และกายธรรมพระอรหัต ท่านเสด็จเข้าไปทางนี้ ปล่อยใจเข้าไปสู่ภายในและก็พบดวงธรรมต่าง ๆ พบกายภายในต่าง ๆ ที่ซ้อนกันอยู่ข้างใน ท่านก็ปลดปล่อยวางกายต่าง ๆ ทั้งหมดไปถึงกายที่สุดคือกายธรรมพระอรหัต เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกายที่สุด กายที่กิเลสอาสวะเข้าไปไม่ได้เลยบังคับบัญชาไม่ได้เลย จะไปบีบบังคับร้อยรัดไม่ได้เลย ไปถึงกายนั้น พอถึงกายนั้นท่านก็หลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ เข้าสู่อายตนนิพพาน กายอรหัต กายเดียวเท่านั้นที่กิเลสอาสวะเข้าไปครอบงำไม่ได้ นี่คือเป้าหมายปลายทางของชีวิตทุก ๆ คนที่ได้เกิดมาในโลกนี้ 

 

                พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย สร้างบารมีมามากมายก่ายกอง ก็เพื่อที่จะเข้าถึงกายธรรมอรหัต กายนี้เพราะว่าเป็นกายเดียวเท่านั้นที่หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะ กิเลสอาสวะเข้าไปครอบงำไม่ได้เลย หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ สะอาดบริสุทธิ์หมดเป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา เนี่ยกายธรรมอรหัตนี้ เป็นที่ตั้งแห่งอภิญญา ที่ท่านมีอภิญญา ๖ วิชชา ๓ วิชชา ๘ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้นน่ะ ก็เพราะท่านเข้าถึงกายธรรมอรหัต กายนี้นี่เป็นกายที่สุด เป็นเป้าหมาย ปลายทางของชีวิตทุก ๆ คน เราให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนามา หรือสร้างบารมี ๑๐ ทัศมาทั้งหมดน่ะ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมม ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา อุเบกขาบารมี กำลังบารมีกำลังความดีเหล่านั้นก็จะส่งให้เราเข้าถึงกายธรรมอรหัต เมื่อบารมีของเราเต็มเปี่ยมแล้วก็หลุดพ้น เข้าสู่อายตนนิพพานนะ 

 

                เข้าถึงกายธรรมอรหัตก็เป็นพระอรหันต์ ไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่านเลย ใจของเราก็ร่อนจากกิเลสอาสวะหมด ส่วนกายอื่น ๆ นั้น กิเลสอาสวะยังครอบงำได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลง อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ยังบังคับบัญชาได้ กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม กายธรรมโคตรภู กายธรรมพระโสดา พระสกิทาคา พระอนาคา กิเลสอาสวะนี่ยังบังคับได้ แต่ก็เบาบางเจือจางไปตามลำดับ กายมนุษย์หยาบนี่ก็บังคับได้มากหน่อย ได้มากที่สุด กายมนุษย์ละเอียดก็เจือจางลงไป กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ก็จางลงไปอีก กายธรรมพระโสดาบัน โคตรภู โสดา สกิทาคา พระอนาคา ก็จางลงไปเรื่อย ๆ พอถึงกายธรรมอรหัตก็บังคับไม่ได้ กายเหล่านี้มีอยู่ในตัวของพวกเราทุก ๆ คน 

 

                มีอยู่ในตัวของพวกเราทุกคน แต่เรายังเข้าไม่ถึงเพราะยังไม่ได้ปฏิบัติอย่างจริงจัง หรือว่าไม่รู้วิธีการปฏิบัติ ใจเรายังผูกพันยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสารอยู่ คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ อะไรต่าง ๆ เหล่านั้น ยึดมั่นถือมั่นผูกพันกันอยู่ ใจจึงไม่แล่นไปสู่ภายใน เมื่อไม่แล่นไปสู่ภายในก็ไม่หลุดพ้น ไม่รู้จักกายในกายต่าง ๆ ก็เข้าไม่ถึง ชีวิตของเราจึงมีแต่ความทุกข์อยู่ร่ำไป ถ้าหากติดนิสัยอย่างนี้ไปข้ามภพข้ามชาติ ติดนิสัยยึดมั่นถือมั่นอย่างนี้ ขี้เกียจปฏิบัติหรือไม่ศึกษาค้นคว้าฝึกฝนอบรมใจกันอย่างจริงจัง ไม่พบกัลยาณมิตร ไม่เข้าใกล้กัลยาณมิตร ไม่ศึกษาไม่ถามไถ่ ไม่ลงมือปฏิบัติ นิสัยที่ข้ามภพข้ามชาติไป ก็จะทำให้เรามีความทุกข์เรื่อยไปอีกนั่นแหละ 

 

                ตั้งแต่ทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ ที่เกิดมาเป็นมนุษย์ หรือทุกข์ในอบายภูมิ เพราะว่าไม่รู้วิถีทางที่จะปฏิบัติตนให้พ้นทุกข์ บัดนี้บุญบารมีเก่าของเราได้สะสมอบรมมา ทำให้เรามาพบหนทางอันประเสริฐ เป็นหนทางของพระอริยเจ้าที่จะเปลี่ยนแปลงตัวของเรานะจากปุถุชนธรรมดาให้เป็นอริยเจ้าได้ ด้วยวิธีการปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำสั่งสอนมานี้ ก็คือการปล่อยใจเข้าไปสู่ภายใน ให้ไปพบกายในกายต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายใน และมุ่งสู่เป้าหมายปลายทางคือกายธรรมอรหัต เมื่อเราได้ทราบวิธีการเหล่านี้แล้ว เหลืออย่างเดียวเท่านั้นเราจะต้องลงมือฝึกฝนกันอย่างจริงจัง เอากันจริง ๆ จัง ๆ ทีเดียว ถ้าทำจริงก็จะต้องได้ผลจริงกันในภพนี้ชาตินี้ เพราะว่าบุญเก่าของเรามีมามากพอแล้ว มากพอที่จะมารู้วิธีการที่จะปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายอรหัตภายใน นี่บุญเก่าของเรามีมากพอแล้วนะจ๊ะ 

 


                เพราะฉะนั้น ให้ตั้งใจให้ดี เมื่อเราทราบว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เป็นหนทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเสด็จเข้าสู่ในกลางกายนี้ ในเส้นทางนี้ เราก็จะได้ลงมือปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึง เช่นเดียวกับพระองค์บ้าง เพราะฉะนั้นจะต้องเอาใจของเรานี่ มาหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้ใจของเราตรึกนึกถึงดวงใส ให้หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้อย่างง่าย ๆ ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้อย่างง่าย ๆ คล้าย ๆ กับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย ให้นึกถึงบริกรรมนิมิตนี้อย่างง่าย ๆ คล้ายกับเรานึกถึงสิ่งที่เราคุ้นเคย เช่นภาพดอกบัวหรือภาพดอกกุหลาบหรือภาพคนที่เรารู้จักหรือของที่เรารักให้นึกถึงบริกรรมนิมิตง่าย ๆ อย่างนี้ 

 

                เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้นึกอย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ทำใจเย็น ๆ นึกอย่างสบาย ๆ อย่าไปตั้งใจมากเกินไปนึกอย่างสบาย ๆ แล้วก็ใจเย็น ๆ ใจเย็น ๆ ก็คือให้ภาพนั้นน่ะมันค่อย ๆ เกิดขึ้นมาในใจเรา อย่าไปเร่งร้อน อย่าไปรีบเร่งมากเกินไปน่ะ ภาพนั้นจะชัดเจนแค่ไหนก็ประคองเอาไว้ ประคับประคองภาพนั้นเอาไว้ ให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน ประคับประคองภาพดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์ เหมือนเพชรน่ะ ให้ต่อเนื่องกันไปอย่าให้ขาดตอน ให้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ พร้อมกับภาวนา ภาวนาในใจสัมมาอะระหัง ๆ ๆ ๆ ๆ ภาวนาสัมมาอะระหังไปอย่างนี้ 

 

                ควบคู่กับการนึกถึงภาพดวงแก้ว ภาวนาสัมมาอะระหังไปอย่างนี้ ควบคู่กับการนึกถึงภาพดวงแก้ว ให้ภาวนาไปเรื่อย ๆ จนกว่าใจเราไม่อยากจะภาวนา เมื่อความรู้สึกของเราไม่อยากจะภาวนา ก็ให้หยุดคำภาวนาเลย รักษาแต่ภาพของดวงแก้วอย่างเดียว ให้ภาวนาสัมมาอะระหังอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เพื่อไม่ให้ใจไปคิดเรื่องอื่นน่ะ พร้อมกับนึกถึงภาพดวงแก้ว เมื่อไหร่เราเกิดความรู้สึกว่าเราอยากอยู่เฉย ๆ ไม่อยากภาวนา อยากจะรักษาภาพดวงแก้วอย่างเดียว ถ้าเกิดความรู้สึกอย่างนี้ขึ้นมา ก็ให้ทิ้งคำภาวนาสัมมาอะระหังไปเลย รักษาแต่ภาพของดวงแก้ว และก็ให้ต่อเนื่องกันไปเรื่อย ๆ ด้วยใจที่สบาย ด้วยใจที่สบาย ด้วยใจที่แช่มชื่น เมื่อใจเราหยุดนิ่งถูกส่วนแล้ว เราก็จะพบดวงแก้วใสบริสุทธิ์ หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 

                ดวงแก้วจะหยุดจะนิ่งใส บริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย ให้รักษาภาพนิมิตอันนั้นเอาไว้ให้ดี อย่าให้เลือนหายจากใจ ไม่ว่าเราจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดินหรือจะทำภารกิจอะไรก็ตาม ให้นึกเอาไว้เรื่อย ๆ จะเข้าห้องน้ำห้องส้วมทำได้ทั้งนั้น ไม่บาปกรรม จะอยู่บนรถบนรา บนเรือก็ทำได้ บนเครื่องบินก็ทำได้ จะพูดจะคุยกับใครหรือจะทำงานอะไรก็ทำได้ตลอดเวลา รักษาภาพดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์อย่างนั้นไปเรื่อย ๆ อย่าให้ขาดหายไป ทำอย่างนี้ไม่ช้าเราจะเข้าถึงพระธรรมกายกัน เมื่อเข้าใจดีแล้วต่อจากนี้ไปก็ให้ตั้งใจ ปฏิบัติกัน ตรึกนึกถึงดวงใส ใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับสัมมาอะระหัง ๆ อย่างนี้เรื่อย ๆ ไป 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.074066416422526 Mins