บุญพิเศษ
๔ มิถุนายน ๒๕๓๘
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)
ต่อจากนี้ให้ทุกท่านตั้งใจหลับตาเจริญสมาธิภาวนากันนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้ายให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้มือขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ หลับพอสบายคล้ายกับเรานอนหลับ อย่าไปบีบหัวตา อย่ากดลูกนัยน์ตา หลับตาพอสบายๆ นะจ๊ะ ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวด ไม่เมื่อยกันนะจ๊ะ ขยับกันให้ดีจนกระทั่งมีความรู้สึกว่าร่างกายของเราผ่อนคลาย ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายเราเกร็งหรือเครียด ให้ผ่อนคลายทุกจุดทีเดียวนะจ๊ะ ตั้งแต่ศีรษะ ลำคอ บ่าไหลทั้ง ๒ แขนถึงปลายนิ้วมือ ลำตัวเรื่อยลงมาถึงขาทั้ง ๒ ไปปลายนิ้วเท้า ให้ผ่อนคลายให้หมด ผ่อนคลายทั้งเนื้อทั้งตัวเลยนะจ๊ะ จนกระทั่งเรามีความรู้สึกท่าที่เรานั่งนี่มั่นคง จะนั่งอยู่ไปได้นานแค่ไหนก็ได้ โดยไม่ปวดเมื่อย นั่นแหละเป็นท่าที่พอเหมาะพอดีของตัวเรานะจ๊ะ
เมื่อเราปรับร่างกายแล้ว ต่อจากนี้ก็ปรับใจให้สบาย ๆ ใจที่เหมาะสมที่จะเข้าถึงธรรมนั้น จะต้องเป็นใจที่ผ่อนคลายสบาย เหมือนกับการผ่อนคลายกล้ามเนื้อของร่างกายนะจ๊ะ รวมความก็คือต้องให้กายและใจนั้นสบาย ใจจะสบายได้นั้น จะต้องเป็นใจที่ปลดปล่อยวางภารกิจชั่วคราว หรือลืมไปชั่วคราว ลืมว่าเราเคยมีภารกิจมาก่อนจะเป็นเรื่องธุรกิจการงาน ลืมเรื่องครอบครัว ลืมเรื่องการศึกษาเล่าเรียน ลืมทุกสิ่งทุกอย่างให้หมด ทำประหนึ่งว่าเราอยู่คนเดียวในโลกนะจ๊ะ อยู่คนเดียวในโลก ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ ไม่มีสิ่งของ ลืมไปชั่วคราว ๆ นะจ๊ะ ใจจะได้ผ่อนคลาย แล้วก็ทำใจให้ว่าง ๆ ให้แช่มชื่น ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ใจจะได้เหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ให้ทำตัวของเราเป็นประดุจพระเจดีย์ เป็นที่สิงสถิตสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย คือรัตนะทั้ง ๓ นอกจากนี้ ยังรวมทั้งบุญบารมี ๓๐ ทัศ พระคุณของครูบาอาจารย์ บิดามารดา อุปัชฌาย์อาจารย์ ทั้งหมดเลยรวมมาหมดที่ศูนย์กลางกาย
โดยมีวัตถุประสงค์ให้อานุภาพของสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดประคับประคองใจของเราให้หยุดให้นิ่ง ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน คือเข้าถึงกายธรรมพระโสดา กายธรรมพระสกิทาคามี กายธรรมพระอนาคามี กายธรรมพระอรหัต จนกระทั่งถึงบรรลุพระนิพพาน เพราะฉะนั้นจะกายก็ดี ใจของเราก็ดีน่ะ จะต้องผ่อนคลาย สบาย บริสุทธิ์ ใจต้องแช่มชื่นอย่างนี้นะจ๊ะ จึงจะเหมาะสมที่จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ดังกล่าว ดังนั้นในตอนนี้ทุกท่าน จะต้องทำให้ได้อย่างนี้นะ ทำให้สบายๆ ทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส การบูชาข้าวพระเป็นบุญใหญ่มาก เพราะการที่จะได้ถวายเครื่องไทยธรรมเป็นพุทธบูชาแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้านั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากมาก แม้เราจะมีกุศลศรัทธาแค่ไหนก็ตาม มีเครื่องไทยธรรมพร้อม
แต่ถ้าหากเราไม่เข้าใจหรือเข้าใจแต่ไปไม่ถึง บุญที่เราได้นั้นก็ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่มากเหมือนอย่างที่เราได้เคยบูชาข้าวพระกันแบบทั่ว ๆ ไป โดยการจัดสำรับอาหารอย่างละเล็กละน้อยน่ะ เป็นถาดเล็ก ๆ ไปวางไว้ที่หน้าโต๊ะหมู่บูชา ด้วยใจที่เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้า มีองค์พระปฏิมากรเป็นตัวแทนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วได้กล่าวคำถวายเป็นภาษาบาลีหรือภาษาไทย การทำอย่างนั้นก็ได้อย่างมาก ก็แค่ขอถึงพระพุทธเจ้า โดยมีพระปฏิมากรเป็นตัวแทน บูชาข้าวพระแบบขอถึงแบบนี้ก็มีอานิสงส์ อานิสงส์มากพอสมควรเพราะว่า ใจเราเลื่อมใสในพระรัตนตรัยน่ะ แต่ก็ยังไม่มากเท่ากับการเข้าถึง เข้าถึงตัวจริงของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
การเป็นพระพุทธเจ้านั้นน่ะ เค้าดูตรงที่การเป็นพระธรรมกายอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อท่านได้เข้าถึง พระธรรมกาย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน หมดกิเลสคือหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะที่เข้าไปครอบงำ หลุดหมด โลภะ โทสะ โมหะ กิเลสต่าง ๆ บังคับท่านไม่ได้ เพราะว่าท่านละเอียดกว่า หลุดรอดออกไปได้เป็นธรรมกายอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๐ วาขึ้นไปอย่างนั้น หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วาขึ้นไป ตรงนี้แหละถึงจะเป็นพระพุทธเจ้ากัน พระสมณโคดมพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้ท่านเข้าถึงตรงนี้ พระพุทธเจ้าในกาลก่อนท่านก็เข้าถึงตรงนี้ พระธรรมกายที่มีอยู่แล้วในตัวนั่นแหละท่านเข้าถึง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่ท่านตรัสเอาไว้นะ ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ หมายถึงตถาคตได้เข้าไปเป็นแล้วซึ่งธรรมกาย คือเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมกายแล้ว กายผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานแล้ว ผู้บริสุทธิ์ ผู้ที่หลุดพ้นที่กิเลสบังคับไม่ได้ เพราะกิเลสมันบังคับได้เฉพาะกายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปนี่บังคับได้หมด
แต่พอถึงกายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒๐ วาขึ้นไปนั้น บังคับไม่ได้ หลุดหมดที่เดียว เพราะว่าละเอียดกว่า กายธรรมนั้นละเอียดกว่า หลุดร่อนหมดจากกิเลสอาสวะ กิเลสนั้นดับไปเลย สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษไปด้วยอรหัตมรรค แวบเดียวขาดเป็นอรหัตผลเลย กายธรรมผุดเกิดขึ้นมา เมื่อท่านเป็นกายธรรมอย่างนี้ ความเป็นพระพุทธเจ้าจึงบังเกิดขึ้น ดังนั้นกายธรรมที่ปรากฏอยู่ในอายตนนิพพานก็คือ กายธรรมที่ท่านดับขันธปรินิพพานไปแล้ว คือกายถอดออกหมด กายมนุษย์ ทิพย์ พรหม อรูปพรหม ถอดหมดไปเลย เหลือแต่กายธรรมล้วน ที่หลุดจากการบังคับบัญชาของเค้า เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปรากฏเต็มในอายตนนิพพาน
การถวายเครื่องไทยธรรมเป็นพุทธบูชา แด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระองค์เดียวก็มีอานิสงส์ที่จะทำให้เราเนี่ย มีสมบัติทั้ง ๓ ไปนับภพนับชาติไม่ถ้วน มากมายก่ายกองทีเดียว คือรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ มาก การสร้างบารมีของเราก็สะดวก แต่นี่เรามีโอกาสถวายเครื่องไทยธรรมซึ่งเป็นของละเอียดนี้แต่กายธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย นับไม่ถ้วนทีเดียว เพราะฉะนั้นกระแสธารแห่งบุญที่เราจะได้รับกันในวันนี้เนี่ย จึงเป็นบุญที่ไม่อาจจะคำนวณได้ คือจะนับจะประมาณมิได้ทีเดียว จึงมักจะใช้คำว่าอสงไขยอัปมานัง คือมันนับกันไม่ได้ ไม่ทราบจะใช้กฎเกณฑ์ในการนับว่า ได้บุญปริมาณเท่านั้นเท่านี้ อย่างไร
เพราะว่ากระแสธารแห่งบุญที่บังเกิดขึ้น เมื่อเราได้ถวายเครื่องไทยธรรมขาดออกจากใจ ไม่ติดใจในเครื่องไทยธรรม มีความเลื่อมใสในพระธรรมกาย ของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วก็กลั่นเครื่องไทยธรรมนี้ให้ละเอียดไปถึงเท่า จนกระทั่งเท่ากับความละเอียดของท่าน กระแสธารแห่งบุญทุกพระองค์น่ะ มาจรดที่ศูนย์กลางกายของเราหมด มันสว่างมากมาย มากกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน หลาย ๆ ดวงทีเดียว เพราะฉะนั้นจึงยากต่อการที่เราจะคำนวณกันได้ว่า ได้เท่านั้นเท่านี้ แต่สมบัติทั้ง ๓ ที่จะบังเกิดขึ้น เพื่อให้เราได้สร้างบารมีไปทุกภพทุกชาติ กระทั่งถึงที่สุดนั้นน่ะ เราจะได้มากมายก่ายกองทีเดียว
เนื่องจากว่าพวกเราทั้งหลายเป็นทีมนักสร้างบารมีพิเศษที่มีเป้าหมายจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมเพื่อจะไปช่วยให้สรรพสัตว์ทั้งหลายหลุดพ้นจากกิเลสจากอาสวะ จากทุกข์ทั้งปวง เพราะฉะนั้นจะต้องมีบุญพิเศษเป็นบุญใหญ่ที่จะเป็นเครื่องสนับสนุนให้เราไปถึงที่สุดแห่งธรรมนั้นได้ เพราะฉะนั้นพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ในอายตนนิพพาน นับพระองค์ไม่ถ้วน นิพพานในนิพพานนับกันไม่ถ้วนทีเดียวจึงได้ตรวจตราดูว่าบุญอย่างไหนเนี่ย จะทำให้พวกทีมพิเศษที่ตั้งเป้าหมายอันสูงสุดจะไปถึงที่สุดแห่งธรรมนั้น เค้าได้บุญกันเยอะ ๆ มาก ๆ ท่านก็ตรวจตราดูประชุมกันทีเดียวจะเอาบุญขนาดไหนที่จะให้ได้ขนาดนี้ถึงจะไปกันได้
ในที่สุดก็สอดละเอียดมาจรดต้นคิด คือหลวงพ่อวัดปากน้ำ ท่านก็สั่งให้คุณยายทองสุก คุณยายจันทร์น่ะ ท่านค้นวิชชาขึ้นมา และในที่สุดคุณยายทองสุกท่านก็ค้นอันนี้ขึ้นมา พร้อมกับคุณยายจันทร์ เมื่อท่านสอดละเอียดลงมาตรงกลาง ก็เห็นวิชชาว่าจะต้องบูชาข้าวพระ ทำเครื่องไทยธรรมอย่างนี้ แล้วก็น้อมไปถวายเป็นพุทธบูชาอย่างนี้ นี่แหละจะเป็นบุญใหญ่บุญหนึ่งทีเดียว ที่ใหญ่มาก ๆ มากพอที่จะส่งผลให้ไปถึงที่สุดแห่งธรรมกันได้ในระหว่างการสร้างบารมีน่ะ เพราะการไปถึงที่สุดแห่งธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ยากต่อการไปถึง จะมีสิ่งที่คอยกีดคอยขวาง คอยกัน กันอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นจะต้องมีบุญมาก มากพอที่จะเอาชนะอุปสรรคที่กีดขวางกันอันนั้นได้ ถึงจะไปถึงตรงนั้นได้
ด้วยเหตุนี้วิชชาการบูชาข้าวพระ ที่เข้าถึงตัวจริงของพระพุทธเจ้า จึงได้บังเกิดขึ้นมาเมื่อหลายสิบปีที่แล้ว และได้ประกอบพิธีกรรมกันอยู่เงียบ ๆ แค่ ๒ คน คุณยายทองสุกกับคุณยายจันทร์ คุณยายอาจารย์ของเรานี้ เรื่อยมาจนกระทั่งมีผู้มีบุญ ในเส้นทางธรรมสายเดียวกันที่มุ่งไปถึงที่สุดแห่งธรรม ก็มาทีละคนสองคนเรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้เนี่ย หลายสิบปีมาแล้วเพราะฉะนั้นบุญที่จะบังเกิดขึ้นนี้ จึงยากที่จะคำนวณว่าได้ปริมาณเท่านั้นเท่านี้ นอกจากจะใช้คำว่าเป็นอสงไขยอัปมานัง คือได้กันอย่างนับกันไม่ถ้วน ถ้าเป็นความสว่างถ้าพูดกันด้วยภาพ ก็คือกระแสธารแห่งบุญจาก พระธรรมกายของพระผู้พุทธเจ้าในอายตนนิพพานนะ นับพระองค์ไม่ถ้วน ท่านก็มาจรดจากกลางกายท่านถึงกายของตัวเรา
ดวงสว่างมาจรดกันทีเดียว ที่กลางกายเหมือนน้ำหลาย ๆ สายไหลลงมาในภาชนะเดียวกัน จากห้วยจากหนอง จากคลอง จากบึง ไหลรวมกันมา ทะเลมหาสมุทร ตัวของเราก็จะเป็นประดุจท้องทะเลมหาสมุทร เป็นที่รองรับบุญหรือรองรับน้ำจากห้วย หนอง คลอง บึงต่าง ๆ ไหลรวมกันมาอยู่ในที่เดียวกัน บุญจากพระนิพพาน คือพระธรรมกายของพระพุทธเจ้า นับพระองค์ไม่ถ้วนนั้น จากกลางกายของท่านน่ะถึงตัวเรา รวมหมดทีเดียวเพื่อให้ตัวของเรามีอานุภาพ อานุภาพที่จะเข้าถึงวิชชาธรรมกาย แทงตลอดในวิชชาธรรมกาย มีรูปสมบัติคือรูปกายที่ได้ลักษณะที่สวยงาม ลักษณะมหาบุรุษแข็งแรงอายุยืน มีทรัพย์สมบัติมาก เอาไว้ใช้สร้างบารมีอย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น มีคุณสมบัติคือความฉลาด ความรอบรู้ต่าง ๆ สติปัญญา ไหวพริบปฏิภาณความเฉลียวฉลาด เพียบพร้อมที่จะไปถึงที่สุดแห่งธรรมได้
เพราะฉะนั้นหลวงพ่อมักจะย้ำอยู่เรื่อย ๆ ว่าเดือนหนึ่งเรามีแค่เพียงครั้งเดียว อย่าขาดไม่ว่าเราจะเจ็บจะป่วยจะไข้อะไรก็แล้วแต่ อย่าขาด สมัยหลวงพ่อเริ่มสร้างบารมีใหม่ ๆ นั้น เมื่อได้ทราบอานิสงส์จากที่คุณยายอาจารย์ท่านเล่าให้ฟังนี้ หลวงพ่อมีความกระตือรือร้น มีความปลื้มปีติ นึกอยู่ในใจว่าเรานี้มีบุญมาก เป็นบุญลาภของเราที่เรามาได้ยินได้ฟังเรื่องนี้ ซึ่งเป็นเรื่องไม่เคยมีใครเล่าให้ฟังก่อน เราได้มารู้ได้มาถึง ได้มาเห็นได้มาเข้าใจ ได้มีโอกาสมาสร้างบุญบูชาข้าวพระ ดีใจมาก จะนั่งจะนอน ยืนเดินที่ไหนก็ตัวเบา ๆ ลอย ๆ มีความปลื้มในบุญลาภของตัวเองว่ามีโชค ได้มาเจอสิ่งนี้ และตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ขาดในการบูชาข้าวพระเลย ตั้งแต่ยังเป็นเด็กอยู่ตั้งแต่อายุ ๑๕ เรื่อยมาจนกระทั่งบัดนี้เนี่ย เพราะมองเห็นว่าบุญนี้เป็นบุญใหญ่
เพราะฉะนั้นเราจะสังเกตได้ว่าแม้คุณยายจันทร์ คุณยายอาจารย์ของเรานั้น ท่านจะอายุ ๘๗ ปีจะเข้า ๙๐ ปีในไม่ช้านี้เนี่ย ท่านไม่เคยขาดเลยในการที่จะบูชาข้าวพระกันทุกเดือน สังเกตดูสิจ๊ะ แม้คุณยายทองสุกผู้ค้นพบวิชชาคู่กับคุณยายนั้น ก่อนจะละโลกท่านก็ได้สั่งข้อความนี้เอาไว้กับคุณยายจันทร์ว่า อย่าลืมเวลาบูชาข้าวพระให้นำท่านมาบูชาข้าวพระด้วย ให้เอาบุญทิพย์เอาบุญที่เกิดจากอาหารทิพย์เนี่ย บูชาข้าวพระเป็นอาหารทิพย์เนี่ยไปให้ท่าน เพราะว่าเป็นกายละเอียด มันทำไม่แรงเท่ากับที่ยังมีกายมนุษย์อยู่ ยังมีกายหยาบอยู่ ท่านจึงต้องสั่งความเอาไว้อย่างนั้นด้วย ก็แสดงว่าใจท่านนั้นผูกพันกับการบูชาข้าวพระอันนี้มาก ดังนั้นลูก ๆ ทุกคนที่มาในวันนี้นะจ๊ะ ทั้งภายในและต่างประเทศ ให้ได้รับทราบเอาไว้ว่าลูกทุกคนมีบุญมาก มีบุญลาภ มีโชคที่ได้ยินได้ฟัง ได้ปฏิบัติ
เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปอย่าได้ขาดกันเลยนะจ๊ะ เพราะเรามีเวลาน้อยในโลกที่เราจะสั่งสมบุญเป็นเสบียงเครื่องสนับสนุน ติดตัวไปในภพเบื้องหน้า กว่าจะถึงที่สุดแห่งธรรม เพราะฉะนั้นอย่าขาดถ้าไม่จำเป็น แต่ถ้าหากว่ามันติดภารกิจจริง ๆ แล้วละก็ อย่างน้อยก็ต้องฝาก ฝากหมู่ญาติ ฝากกัลยาณมิตรที่เค้า จะต้องมาบูชาข้าวพระเป็นสิ่งที่แทนตัวเรามา ในสมัยโน้นน่ะมีการบูชาข้าวพระกัน บางท่านน่ะติดธุระมาก อย่างเพื่อนหลวงพ่อเนี่ยะติดสอบ เค้าอยากได้บุญแต่เค้ามาไม่ได้ อยู่กันคนละคณะกัน เค้าก็ยังฝากปัจจัยมานะ มาร่วมบุญบูชาข้าวพระกัน ต่อมาเค้าก็มาถามคุณยายว่าแล้วผมจะได้บุญแค่ไหนเนี่ยะตัวผมไม่ได้มา แต่ฝากปัจจัยเครื่องไทยธรรมมา คุณยายท่านก็เข้าที่ไปค้นวิชชาไปดู ท่านบอกมันก็ไม่ได้เท่ากับที่ตัวเรามา อย่างน้อยก็ได้ครึ่งนึงน่ะ แต่ดีที่สุดคือตัวเราควรจะมาด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกันมาตั้งแต่สมัยเริ่มสร้างบารมี บูชาข้าวพระกันมานะจ๊ะ
เพราะฉะนั้นเมื่อเราได้ทราบอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปให้ทุกคนทำใจให้หยุดให้นิ่งไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กันทุก ๆ คนนะจ๊ะ ให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ ฐานที่ ๑ นั้นอยู่ปากช่องจมูก หญิงนั้นอยู่ข้างซ้าย ชายอยู่ข้างขวา ฐานที่ ๒ อยู่ที่เพลาตาที่หัวตา ท่านหญิงข้างซ้าย ท่านชายข้างขวา ฐานที่ ๓ อยู่ที่กลางกั๊กศีรษะในระดับเดียวกับหัวตาของเรา ฐานที่ ๔ อยู่ที่เพดานปาก ช่องปากอาหารสำลัก ฐานที่ ๕ อยู่ที่ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก สมมตปากช่องคอกลมเหมือนปากถ้วยแก้ว ตรงนั้นแหละเหนือลูกกระเดือกตรงนั้นแหละฐานที่ ๕ ฐานที่ ๖ อยู่กลางท้องในระดับเดียวกับสะดือของเรา สมมติเราขึงเส้นด้ายจากสะดือทะลุหลังไปเส้นหนึ่ง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย เส้นด้ายทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็มตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๖ ยกถอยหลังขึ้นมา ๒ นิ้วมือโดยเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน แล้วนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้แหละเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗
เพราะฉะนั้นท่านที่มาใหม่ให้จำไว้นะจ๊ะ ถ้าหลวงพ่อพูดถึงฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้แหละ ตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นด้ายทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่าฐานที่ ๗ นะจ๊ะ แต่ในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ นั้นให้นึกง่ายกว่านี้ นึกว่าอยู่ในกลางท้องของเราก็แล้วกัน นั่นแหละคือฐานที่ ๗ เราจะต้องทึกทักเอาตรงนี้ก่อน เพราะว่าเวลาเราใจยังไม่หยุดนั้นน่ะ มันมองไม่เห็นหรอกว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงไหน ดังนั้นเราได้แต่คาดคะเนเอา ทึกทักเอาว่ากลางท้องตรงนี้แหละเรียกว่าฐานที่ ๗ เราจะรู้จักฐานที่ ๗ จริง ๆ ต่อเมื่อใจมันหยุดนิ่ง ตรงที่หยุดนิ่งนั่นแหละก็เรียกว่าฐานที่ ๗ หยุดนิ่ง
เวลาหยุดถูกส่วนนี่ใจมันจะตกศูนย์ วูบเข้าไปข้างใน เหมือนตกจากที่สูงมันวูบลงไป คล้าย ๆ เรานั่งริมปากเหว หล่นวูบลงไปพอวูบลงไป แล้วก็จะมีดวงธรรมลอยขึ้นมาตรงฐานที่ ๗ จะเป็นดวงกลม ๆ เรียกว่าดวงธรรม หรือดวงปฐมมรรคขึ้นมาดวงเล็ก ๆ ก็เหมือนดวงดาวในอากาศ ถ้าขนาดกลาง ก็เหมือนพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ ขนาดใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันนะ หรือโตกว่านั้นน่ะ นั่นแหละคือธรรมเบื้องต้น ดวงธรรมเบื้องต้นคือความบริสุทธิ์เบื้องต้น เป็นหนทางเข้าถึงความบริสุทธิ์ภายใน เป็นหนทางที่เข้าถึงอายตนนิพพาน นั่นแหละเราจะรู้จักว่าฐานที่ ๗ อยู่ตรงไหนต่อเมื่อเราเข้าถึงตรงนี้ เมื่อใจหยุดนะจ๊ะ
เพราะฉะนั้นในแง่ของการปฏิบัติจริง ๆ นั้นอย่ากังวลกับฐานที่ ๗ มากเกินไปจนกระทั่งเราเกิดอาการตึงเครียด เพราะฉะนั้นตอนนี้เราเอาใจหยุด ไปที่กลางท้องอย่างเบา ๆ สบาย ๆ นะจ๊ะ อย่างเบา ๆ นิ่ง ๆ เบา ๆ การที่เราจะเข้าถึงดวงธรรม ถึงกายภายใน ถึงพระธรรมกาย จะต้องถึงได้ด้วยการหยุดกับนิ่งเท่านั้น ถ้าใจหยุดนิ่งถูกส่วน พอถูกส่วนเดี๋ยวก็เห็นเอง เห็นชัดเองน่ะ ใจจะหยุดนิ่งได้ถูกส่วนนั้นต้องวางใจให้พอดี ส่วนการถูกส่วนนั้นน่ะมันจะเป็นไปเอง แต่ตอนก่อนที่จะถึงการถูกส่วนนั้นต้องวางใจให้พอดี ถ้าใจวางพอดีแล้วมันจึงจะหยุดนิ่ง ถ้าไม่พอดีไม่หยุดนิ่ง นี่แปลกทีเดียวนะจ๊ะ
ใจจะพอดีได้นั้นใจต้องไม่ตึงเกินไป แล้วก็ไม่หย่อนเกินไป ตึงเกินไปเกิดขึ้นจากสาเหตุของความอยาก คือเราอยากจะได้ความสงบ อยากให้ใจมันหยุดมันนิ่ง อยากจะเห็นอย่างนี้น่ะมากเกินไป อยากเห็นดวงธรรม อยากเห็นองค์พระมากเกินไปก็ตั้งใจมาก พอตั้งใจมากก็ไป บังคับใจให้นิ่ง ให้หยุดให้นิ่งก็เกิดอาการเกร็งตึงเครียดขึ้นมา นั่งอย่างนี้นั่งแล้วปวดหัว นั่งแล้วไม่สบาย อย่างนี้ เรียกว่าตึงเกินไปใจก็ไม่หยุดเหมือนกัน หย่อนเกินไปก็คือดูเหมือนไม่ค่อยได้ตั้งใจน่ะ ปล่อยใจให้เผลอ ๆ ไปคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ฟุ้งซ่านไปเรื่อยหรือไม่ก็ง่วงหลับไปเลย เคลิ้ม ๆ มั่ง อย่างนี้เรียกว่าหย่อนเกินไป
พอดีเป็นยังไง พอดีนั้นน่ะ ให้สังเกตจากความพอใจของเรา ถ้าใจเรามีความรู้สึกว่าเอ้อเราวางใจของเราอย่างนี้เบา ๆ สบาย เบา ๆ สบายเนี่ย แม้ว่าจะไม่เห็นอะไรก็ตาม ก็รู้สึกว่าอยากจะวางใจด้วยความรู้สึกอย่างนี้น่ะ นิ่ง ๆ ไปก่อน ทำใจมันนิ่ง ๆ ไปก่อน แม้ว่ามันจะไม่มีความสุขแต่มันก็ไม่มีความทุกข์ แม้ว่าไม่เห็นอะไรก็ตามแต่รู้สึกว่าสบายใจ อย่างนี้เรียกว่าความพอดีให้สังเกตดูสิจ๊ะวันนี้ลองดูก็ได้ ถ้าหากเราทำใจให้มันสบาย ๆ นิ่ง ๆ หยุดให้นิ่ง ๆ เฉย ๆ นิ่ง ๆ พอนิ่งไปเรื่อยมันก็นิ่งขึ้น ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ พอนิ่งหนักเข้าหนักเข้า มันจะมีจังหวะหนึ่ง ตัวของเราก็จะเริ่มละเอียดลงไปละเอียดลงไป ละเอียดลงไป ละเอียดสังเกตยังไง กายรู้สึกมันจะเบา ๆ โล่งๆ โล่ง โปร่ง เบา สบาย ขยาย มีความรู้สึกสิ่งแวดล้อมขยาย ตัวเราขยายพอง ๆ โต ๆ แล้วกลืนไปกับอากาศเลย นิ่งแล้วมีความสุข แม้ไม่เห็นอะไรก็ตาม รู้สึกเราชอบมีความสุข รู้สึกเออนั่งสบายอย่างนี้ค่อยอยากนั่งหน่อย แล้วก็อยากนั่งต่อ ๆ ไปนี่แหละถูกวิธีแล้ว อย่างนี้เรียกว่านิ่ง ๆ โล่ง ๆ สบาย
ใจนี่แปลกถ้าอยากให้ใจหยาบให้คิดถึงเรื่องหยาบ ๆ ให้พูดเรื่องหยาบ ๆ ให้ทำใจให้มันหยาบๆ กระด้างๆ เดี๋ยวมันก็หยาบ เดี๋ยวก็ฮึดฮัดเดี๋ยวก็หงุดหงิด เดี๋ยวก็กระสับกระส่าย แต่ถ้าหากเราอยากให้ใจของเราละเอียด มันก็มีเทคนิคเหมือนกัน นึกถึงเรื่องละเอียดสิจ๊ะ พูดเรื่องละเอียด แล้วก็ทำใจให้ละเอียด ๆ เบา ๆ นิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไม สบาย นี่ทำอย่างนี้ได้ไม๊ ถ้าหากว่าเราทำนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไมสบาย เดี๋ยวใจก็ค่อย ๆ ละเอียดลงไปละเอียดลงไป ตัวเบาไปเลย โล่งโปร่งเบาสบาย เดี๋ยวมันก็วูบเข้าไปสู่ภายใน เห็นดวงใส เห็นกายภายใน เห็นตัวเอง เห็นกายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กระทั่งเห็นกายธรรม เห็นไปเองเลย
ถ้าอยากให้ใจเราละเอียด จงนึกเรื่องละเอียด จงพูดเรื่องละเอียด จงทำใจให้เบา ๆ สบาย ละเอียด ๆ เดี๋ยวเราก็จะได้ความละเอียด ลองดูสิจ๊ะ อันนี้เป็นเทคนิคนะ เป็นศิลปะอย่างหนึ่งทีเดียว แม้การนึกถึงดวงแก้วเนี่ยะหรือองค์พระ ถ้าลองทำดูนะ ดวงแก้วหรือองค์พระที่จริงมันก็นึกไม่ยาก มันก็ง่ายเหมือนเรานึกดอกกุหลาบ ดอกบัว น้ำค้างบนใบบัว น้ำค้างปลายยอดหญ้า มันก็คล้าย ๆ กันอย่างนั้น ถ้าเรานึกอย่างนั้นน่ะ เราจะสังเกตสิลูก เวลาเรานึกถึงน้ำค้างที่ปลายยอดหญ้า หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว ถ้าเรานึกอย่างสบาย ๆ เพลิน ๆ เดี๋ยวเราก็จะเห็นภาพชัดขึ้นมา แต่มันก็ไม่ชัดมากหรอก มันชัดพอให้เรารู้ว่ามันเป็นอย่างนั้นน่ะ มันเป็นภาพที่เห็นในใจที่เลือนลางแต่เรารู้ว่ามันมีลักษณะอย่างนี้ นั่นแหละเรียกว่านึกอย่างละเอียด ถ้านึกหยาบ ๆ เป็นยังไง คือเอาจริงเอาจังในการนึก นึกอย่างนี้ไปล้านปีก็นึกไม่ออก
เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรานึกอย่างละเอียดนะจ๊ะ ค่อย ๆ นึกไปอย่างสบายน่ะ นึกถึงดวงใส นึกถึงพระแก้วใส ๆ ถ้านึกอย่างธรรมดา ๆ ทำไมมันจะนึกไม่ได้ แต่ว่าเราต้องยอมรับกฎเกณฑ์ธรรมชาติตรงนี้สักหน่อยหนึ่งคือ การเห็นภายนอกกับการเห็นภายใน การเห็นภายนอกเวลาเราลืมตาดูวัตถุภายนอก จะดูคนดูสัตว์ดูสิ่งของนะจ๊ะ พอเราลืมตาก็เห็นชัดเลย ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ชัดทันที อันไหนไม่ชัดอย่างเช่นของที่ตั้งอยู่ในที่สลัว ๆ หรือไกล ๆ เวลาเราอยากจะให้ชัดเรามักเพ่งทำตาหยี ๆ อย่างนั้นนะ ทำตาหยีอย่างนั้นน่ะเพื่อจะให้มันชัด นั่นคือวิธีการเห็นภายนอกและวิธีการทำให้ชัดภายนอก เค้าทำกันอย่างนั้น ทีนี้ส่วนภายในเป็นยังไง เนื่องจากภายในเป็นของละเอียด เป็นของละเอียดทีเดียวนะจ๊ะ
วิธีการมันก็จะแตกต่างกัน เวลาจะเห็นภาพภายในนั้นน่ะ มัน เวลามันจะชัดมันจะค่อย ๆ เห็น ค่อย ๆ ชัด มันจะค่อย ๆ เห็น ลัว ๆ ลาง ๆ เหมือนของตั้งอยู่ที่ฟ้าสาง ๆ แล้วก็ค่อย ๆ ชัดขึ้นเท่ากับปริมาณความสว่าง แล้วก็ค่อย ๆ ชัดขึ้นทีละนิด ๆ ๆ เมื่อไหร่ใจเราหยุดนิ่งมาก แช่มชื่นมากมันก็ชัดมาก ชัดจนกระทั่งเท่าลืมตาเห็น แล้วก็ชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็นไป เห็นไม๊จ๊ะว่า วิธีการเห็นข้างในเนี่ยมันจะค่อย ๆ เห็นอีก วิธีการเห็นข้างนอกนั้นมันเห็นได้ทันที วิธีภายนอกจะทำให้ชัดต้องทำตาหยี ต้องเพ่งต้องจ้อง
วิธีให้ชัดภายในนั้นต้องหยุดนิ่งเฉย ๆ เยือกเย็น มีให้ดูแค่ไหนก็ดูไปแค่นั้นไปก่อนอย่างสบาย ๆ ดูไปเรื่อย ๆ พอเพลิน ๆ กำลังสบาย ๆ น่ะ พอใจหยุดนิ่งถูกก็ชัดเลย คราวนี้ชัด ชัดเหมือนเราลืมตาเห็นอย่างนี้แหละ เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอกอย่างนี้แหละ เราต้องยอมรับตรงนี้กันซะก่อนนะจ๊ะ ต้องรู้จักด้วย ต้องทำความเข้าใจว่าเห็นภายนอกกับเห็นภายในมันต่างกันอย่างไร วิธีทำให้ชัดภายนอกกับวิธีทำให้ชัดภายในนั้นมันต่างกันอย่างไร ถ้าเข้าใจตรงนี้นี่ หลวงพ่อว่าไม่กี่นาทีก็เข้าถึงธรรมกายกันแล้ว
เพราะฉะนั้นเอาใจหยุดใจนิ่งให้ดีนะ ใจหยุดนิ่งเฉยอย่างสบาย ๆ ที่กลางท้องของเรา อย่างสบาย ๆ น่ะ เบา ๆ ใครจะนึกถึงดวงแก้วก็ได้ หรือใครจะนึกถึงพระแก้วใส ๆ ในกลางท้องประกอบไปด้วยก็ได้ แต่นึกด้วยใจที่เยือกเย็นนะจ๊ะ สบาย ๆ ใจเย็น ๆ อย่านั่งหุนหันพันแล่น โมโหโทโส หงุดหงิดใจว่าเอ๊ะทำไมมาพร้อมกับเพื่อน แต่เพื่อนเห็นก่อน ไอ้เราดันไม่เห็นอะไรอย่างนี้น่ะ ถ้าคิดอย่างนี้เดี๋ยวมันหงุดหงิดไม่สบายใจ มันผิดวิธีนะจ๊ะ หรือจะมาแข่งขันกันด้วยวิธีการอย่างนี้ไม่ได้
มันต่างคนต่างทำ ใครทำถูกวิธีก่อนก็เข้าถึงก่อน ใครทำยังไม่ถูกวิธีก็ยังเข้าไม่ถึง เพราะฉะนั้นมันก็มีอยู่แค่นี้แหละ ดังนั้นตอนนี้ทำใจให้สบายนะจ๊ะ ทุก ๆ คนนะจ๊ะ ทำใจสบายน่ะ ให้ใจหยุดใจนิ่งให้ใจใส จะนึกถึงดวงแก้วก็ได้ จะนึกถึงพระแก้วใส ๆ ก็ได้ หรือจะไม่นึกถึงอะไรเลยก็ได้ ให้ใจนิ่งอยู่ในกลางท้องอย่างเดียวก็ได้นะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ ใจของเราหยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายอย่างสบาย ๆ นะจ๊ะ ถ้าหยุดอย่างสบาย ๆ นี่ ไม่ช้าเราจะเข้าถึงดวงธรรม จะเห็นดวงธรรมชัดใสบริสุทธิ์
เพราะฉะนั้นตอนนี้หยุดนิ่งให้ดีนะ ใครที่เข้าถึงดวงธรรมได้แล้วก็เอาใจ หยุดไปในกลางดวงธรรม ใครเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดได้ ก็เอาใจหยุดไปในกลางกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึง กายทิพย์ก็เอาใจหยุดไปในกลางกายทิพย์ ใครเข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปในกลางกายรูปพรหม ใครเข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปในกลางกายอรูปพรหม ใครเข้าถึงกายธรรมได้ ก็เอาใจหยุดไปในกลางกายธรรมหยุดอยู่ตรงกลางกายธรรม หยุดตรงนั้นนะจ๊ะ หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง หยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ พอถูกส่วนเดี๋ยวกายธรรมขยายกว้างออกไป และก็มีกายธรรมกายใหม่ผุดเกิดขึ้นในกลาง หันหน้าออกไปทางเดียวกับตัวของเราน่ะใสเป็นแก้ว สวย สวยงามมากทีเดียวนะจ๊ะ หน้าตักโตเท่ากับความสูงน่ะ ใสสวยงามทีเดียวน่ะ พอหยุดต่อไปเดี๋ยวกายธรรม ก็ขยายกว้างมีองค์ใหม่เกิดขึ้นมา
เราก็มีหน้าที่ของเราหยุดนิ่งอย่างเดียว ดูไปตรงกลางอย่างเดียวอย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้นะ อย่าลุ้น อย่าเร่ง อย่าเพ่ง อย่าจ้อง ให้หยุดนิ่งมองเฉย ๆ หยุดนิ่งเฉย ๆ น่ะ หยุดนิ่งเดี๋ยวองค์พระก็ซ้อนขึ้นมาเรื่อย ตอนแรก ๆ ก็ช้า เพราะว่าใจเรายังหยุดไม่สนิท จะช้าจะเล็ก ความชัดความใสความสว่างก็จะน้อย แต่ว่าเมื่อเราหยุดนิ่งอย่างสบาย ๆ แนบแน่นกันไปเรื่อย ๆ น่ะ เดี๋ยวท่านก็จะขยายเพิ่มขึ้นมาเรื่อย เดี๋ยวเราก็จะเข้าถึงองค์ใหม่ ท่านก็จะผุดผ่านกลางกายเราเร็วขึ้น เร็วขึ้นไปเรื่อย ๆ เราก็นิ่งอย่างเดียว อย่างนั้นแหละ หยุดนิ่งเฉยไม่น่าเชื่อเลยนะจ๊ะ ว่าแค่หยุดนิ่งอย่างเดียวเราจะได้เข้าถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่ แต่ความจริงมันเป็นอย่างนี้แหละ ยิ่งใจหยุดนิ่งเท่าไร่ ก็จะยิ่งเร็ว ยิ่งหยุดนิ่งยิ่ง ยิ่งเร็วเพิ่มขึ้น คือความเร็วของการผุดผ่านของพระธรรมกายนะ เร็วขึ้นเรื่อย ๆ เลย แต่เป็นความเร็วที่แปลก ยิ่งเร็วยิ่งชัด ชัดขึ้น ๆ ชัดขึ้นไปเรื่อย ขยายไป กายขยายไปเรื่อยเลย ใสสว่างอยู่ในกลางของกลางนั้นน่ะ มีองค์พระผุดผ่านตลอดเวลาเลย
เส้นทางของพระอริยเจ้าเนี่ยะ ก็จะมีแต่พระอริยเจ้า เส้นทางของพระอริยเจ้าก็จะมีแต่พระอริยเจ้า เส้นทางของพระอริยเจ้าก็จะมีแต่พระอริยเจ้า ผุดผ่านมาในกลางนั้นตลอดเลย ใส ๆ ๆ บริสุทธิ์ สว่าง ใจยิ่งเบิกบาน ยิ่งนุ่มนวลหนักเข้าไป ยิ่งมีพลังมีความสุขมาก มีความบริสุทธิ์เพิ่มขึ้น ยิ่งผ่านมากเร็วมากก็ยิ่งบริสุทธิ์มาก ยิ่งมีเพาเวอร์มาก อานุภาพมาก บริสุทธิ์เข้าไปเรื่อย ๆ ถ้าเราเข้าไปอย่างนี้ได้นะจ๊ะ เดี๋ยวใจก็จะนุ่ม นุ่มนวลทีเดียว มันจะไม่เห็นโน่นเห็นนี่เลอะ ๆ เทอะ ๆ ไม่เห็นเลยน่ะ เห็นแต่องค์พระใสสว่าง เกิดขึ้นมาเรื่อย ๆ เรื่อย ๆ ไปอย่างนี้ไปก่อนจนกระทั่งเราแนบแน่นกับท่าน แนบแน่นนุ่มนวลควรแก่การงานแล้วน่ะ ถึงตอนนั้นจะน้อมน้าวจิตไปทางไหนก็ได้ แต่ตอนแรก ๆ ก็จะต้องให้แนบแน่นนุ่มนวล เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่านให้ได้เสียก่อน ต้องหยุดนิ่งเข้าไปเรื่อย ๆ ให้ท่านผุดผ่านมาอย่างนี้น่ะ
เพราะฉะนั้นท่านที่ได้เข้าถึงตรงนี้แล้วน่ะ อย่าเพิ่งไปทำเรื่องอื่นนะจ๊ะ ทำตรงนี้ให้มันชำนาญซะก่อน สิ่งที่เราจะศึกษาต่อไปในอนาคตนั้นน่ะ เกี่ยวกับเรื่องวิชชา ๓ วิชชา ๘ อภิญญา ๖ อะไรพวกนั้นน่ะ เดี๋ยวเราตามมาภายหลังได้ แต่ทำตรงนี้น่ะหยุดกับนิ่งให้ดี ฝึกให้ชำนาญแม้จะโน้มน้าวไปที่ไหนก็ตาม ก็จะต้องอาศัยการหยุดนิ่งแน่น แนบแน่นนุ่มนวลควรแก่การงานแล้วนั้นแหละ ต้องนุ่มนวลก่อนถึงจะควรแก่การงาน ถึงจะศึกษาวิชชาอะไรได้ดังนั้นตอนนี้เรานิ่งลงไปเลยนะจ๊ะ อย่างสบาย ๆ ที่จริงมันสบายของมันไปเองน่ะ มันสบายไปเอง เป็นความสบายที่แท้จริงที่เพิ่มขึ้น สุขยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เลย ใจยิ่งโล่งโปร่งเบาสบาย ยิ่งมีความสุขเบิกบาน แช่มชื่นแช่มชื่นขนาดที่ไม่ต้องการอะไรเลย อยากจะมีความสุขแค่เนี่ยะ แม้มีที่นั่งที่แคบ ๆ แค่นี้ก็พึงพอใจ มีอาหารไปเพียงมื้อ ๆ หนึ่งก็พึงพอใจ
ใจรู้สึกจะติดแน่นอยู่ในกลาง พระพุทธเจ้าในอายตนนิพพานเนี่ย ท่านไม่ได้ทำอะไรนอกจากทำหยุดนิ่ง เข้านิโรธสมาบัติในกลางกายของท่าน ทำแบบที่เราทำอย่างนี้แหละ แต่ท่านละเอียดกว่า เพราะท่านไม่มีอะไรเหนี่ยวรั้ง กิเลสอาสวะเครื่องผูกพันไม่มีเลย ล่อน ใจท่านล่อนโล่งไปเรื่อยเลย ทุกองค์เลยทำอย่างนี้เนี่ย ไม่มีโบสถ์ ไม่มีวิหาร ไม่มีศาลาการเปรียญ ไม่มีเลยเพราะสิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็น เพราะที่นั่นฝนฟ้าไม่ตก ไม่ต้องมีโบสถ์ ไม่มีหลังคาที่มุงที่บัง มุ้งลวดอะไร ไม่ต้องมี เพราะเคยได้ยินได้ฟังเค้าบอกว่า บนพระนิพพานมีสิ่งเหล่านี้ ไอ้นั่นมันสำหรับกายมนุษย์ มนุษย์ยังกลัวแดดกลัวฝน กลัวลมกลัวแมลง กลัวสัตว์ร้าย จึงต้องมีที่มุงที่บังอะไรสารพัด แต่นี่ไม่มีสิ่งเหล่านี้ไม่มีในนั้น
ธรรมธาตุนั้นบริสุทธิ์นะจ๊ะ ล้วน ๆ บริสุทธิ์สว่าง เพราะฉะนั้นก็จะทับทวีเข้าไปเรื่อย ทับทวีขึ้นไป คุณยายก็นำเครื่องไทยธรรมถวายไปทั่วถึง ขอบุญ ขอบารมี รัศมี กำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิเฉียบขาดให้ถึงแก่พวกเราทุก ๆ คน คุณยายคุมให้ดี ให้บุญนี้มาถึงติดที่กลางกายเนี่ยะ ให้ลูก ๆ ทุกคนมีความสุขมีความเจริญ คิดอะไรให้สมความปรารถนา ให้มีดวงตาเห็นธรรม ให้มีสมบัติมาก ๆ ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น ที่เป็นนักธุรกิจก็ให้ซื้อง่ายขายคล่องกำไรงาม เป็นเศรษฐีมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ให้ครอบครัวได้อยู่เย็นเป็นสุข รักใคร่กลมเกลียวสมัครสมานสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เป็นครอบครัวธรรมกาย ที่เป็นนักศึกษาก็ให้สติปัญญาสว่างโพลง แทงตลอดในความรู้ของครูบาอาจารย์ ที่รับราชการ ก็ขอให้ราบรื่นทะลุปรุโปร่ง ไปถึงกระทั่งถึงที่สุดเลย และให้มีสมบัติมาก ๆ ได้สร้างบารมีไม่รู้จักหมดจักสิ้น
คุณยายขอบุญพิเศษให้พวกเราทุกคนที่จะได้ตั้งใจสร้างธรรมกายเจดีย์นี้เนี่ยให้สำเร็จ ให้สำเร็จ ๆ เป็นอัศจรรย์เลย จะไปสร้างผู้นำบุญจะไปชักชวนใครให้เป็นผู้นำบุญก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา จะสร้างเจ้าภาพธรรมกายประจำตัวก็ให้เกินควรเกินคาด ที่ตั้งเป้าเอาไว้หนึ่งวัน หนึ่งคน หนึ่งองค์อย่างน้อยนี้ก็ให้สมความปรารถนา ให้เป็นผู้มีบุญมาก ๆ ให้หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข นั่งนอนยืนเดินเป็นสุข บุญรักษา จะเดินทางไกลไปไหนมาไหนให้ปลอดภัยให้หมดเลย คุณยายคุมให้ดี พวกเราก็อธิษฐานจิตเอาตามใจชอบนะจ๊ะ
ขณะนี้กระแสธารแห่งบุญ จากพระธรรมกายทุกพระองค์เลย ในอายตนนิพพานกำลังมาจรดในกลางกายเนี่ย บางคนได้มาก บางคนได้น้อยขึ้นอยู่กับใครหยุดนิ่งมากนิ่งน้อย ตั้งใจมากหรือน้อย เลื่อมใสในพระรัตนตรัยมาก หรือน้อยเนี่ยมันก็หย่อนกันลงไป บางคนลืมตาปล่อยใจให้ฟุ้งซ่าน ในขณะนี้เนี่ยบุญก็หก ๆ หล่น ๆ บางคนเค้ากำลังบูชาข้าวพระ ก็เดินไปเดินมาดูต้นไม้ แทนที่จะดูพระก็ไปดูต้นไม้ ดูกุฏิ ดูน้ำอะไรต่าง ๆ บุญก็ไม่ค่อยจะได้ เพราะต้นไม้ที่วัดพระธรรมกาย มันก็เหมือนกับที่อื่นเหมือนกันเลยไปดูเถอะ ต้นเดียวกันเหมือน ๆ กัน ตึกอาคารที่อื่นเค้าบางทีสวยกว่าวัดพระธรรมตั้งเยอะแยะ
เพราะฉะนั้นบางคนที่กำลังเดินอยู่ ก็ไม่ได้อะไรเท่าไหร่ก็ได้นิด ๆ หน่อย ๆ ได้ซักถ้าเป็นน้ำก็ฝนตกลงมาก็ลองได้ซักแก้ว สองแก้วอะไรอย่างนั้น บางคนที่เดินไปเดินมาคุยปล่อยฟุ้งซ่าน แต่พวกที่ทำหน้าที่รักษาระเบียบก็ดี การครัวการอาหารจะต้องเคลื่อนไหวร่างกายนี้ ใจเค้าจรดกับการบูชาข้าวพระ อย่างนี้ได้บุญเต็มเปี่ยมไม่หกไม่หล่น เพราะใจเค้าไม่ฟุ้งซ่าน เค้าจรดจดจ่อกับหน้าที่การงาน อย่างนี้คุณยายคุมบุญให้เต็มที่ ส่วนพวกเดินไปเดินมาโต๋เต๋ก็ปล่อยไปเถอะ ได้ไปแก้ว ๒ แก้วก็ยังดี พอปิดประตูอบายไม่ไปตกนรก เพราะฉะนั้นก็คุมให้ดีเลย พวกเรามุ่งจะไปที่สุดแห่งธรรม ต้องตั้งใจเอาบุญกัน อธิษฐานจิตกันให้ดีนะลูกนะ ทุก ๆ คนนะ ทั้งภายในและต่างประเทศนะจ๊ะ อธิษฐานเอาตามใจชอบกันทุกคน