วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ SUPER MONK พระราชพัชราภรณ์ " เจ้าคุณกฐินตก"

 


            ขัตติยประเพณีแต่บรรพกาลมา เมื่อมีการสร้างเมืองจะต้องสร้าง “ วัดมหาธาตุ ” ด้วย เพราะวัดมหาธาตุ หมายถึงวัดที่ประดิษฐาน พระบรมสารีริกธาตุ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อันเป็นที่เคารพสักการบูชาสูงสุด จึงเห็นได้ว่า ที่ใดมีเมือง ณ ที่นั้นจะมีวัดมหาธาตุ คู่บ้านคู่เมืองนั้นด้วย

            เมื่อกาลเวลาล่วงไป เมืองใหญ่ที่เคยเรืองอำนาจ ต้องร่วงโรยบารมีลง อารามหลวงที่เคยรุ่งเรือง ก็รกร้างลงตามเมือง

            พระครูพัชรธรรมโสภิต รองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เล่าให้ฟังถึงสภาพวัดก่อนที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อจะย้ายมาจำพรรษาที่นี่ว่า “ โดยสภาพของวัดทั่วๆ ไปจะเป็นสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ บ่อลึกบ้าง ตื้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ ต้นไม้เล็ก ต้นหญ้าขึ้นเต็มบริเวณไปหมด ”

            คุณยายสวาท ตันติบูรณ์ สาธุชนที่มาวัดตั้งแต่สมัยแรกๆเล่าว่า “ สภาพวัดไม่สวยงามและทรุดโทรม ศาลาที่เราขึ้นไปอยู่ก็เป็นศาลาไม้ หลังคาก็รั่ว พื้นก็ผุ ”

            คุณลุงบุญยืน ลูกเกด มัคทายกวัด เล่าเพิ่มเติมว่า “ ถ้าน้ำท่วมก็ลำบากมาก เพราะถ้าน้ำท่วมก็ท่วมหลายวัน พระเณรที่อยู่ที่นี่ก็ลำบากในการขบฉัน ”

            วัดมหาธาตุ ได้ชื่อว่าพลิกฟื้นจากวัดร้างกลายเป็นวัดรุ่ง อีกครั้ง เมื่อได้รับการบูรณะอย่างจริงจัง และชัดเจนในสมัยของพระเพชรบูรณคณาวลัย (แพ ธมฺมธริโก) เจ้าอาวาสรูปที่ ๙ ซึ่งปกครองวัดอยู่ในช่วง พุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๕๒๓ ซึ่งขณะนั้น พระราชพัชราภรณ์ มีสมณศักดิ์เป็นพระมหาสุรินทร์ ชุตินธโร ได้ร่วมสร้างวัดเคียงคู่กันมากับหลวงพ่อแพ

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า ...เมื่อไล่เรียงกันไปมาแล้ว ก็ทราบว่าเป็นญาติกับอาตมา โดยมีศักดิ์เป็นลุง ท่านต้องการจะให้มาเปิดการศึกษาบาลี เพราะว่าที่วัดนี้เป็นวัดเจ้าคณะจังหวัด แต่ไม่มีการศึกษา ”

            พระราชพัชราภรณ์ เป็นผู้ที่ปรับปรุงพัฒนาวัด ให้เจริญรุ่งเรืองในด้านต่างๆ มากมายทั้งในด้านสาธารณูปโภค สร้างถาวรวัตถุ บูรณะ ต่อเติม ปรับปรุงศาสนสถาน รวมทั้งด้านการศึกษาของคณะสงฆ์อีกด้วย

            “ ตอนนั้นมีศพตำรวจที่ถูกยิงตาย ๑๑ ศพ เขาก็ฝังไว้ในวัดมหาธาตุ เขาทำการขุดศพ ขึ้นเพื่อทำบุญ เราจึงขอไม้โลงศพเขา ๑๑ โลง เอามาทำพื้นกุฏิให้พระภิกษุสามเณรอยู่ นักเรียนรุ่นแรก เขาเรียกกันว่า รุ่นโลงผี หมายความว่า อาศัยโลงผี ถ้าไม่มีโลงผี ก็ไม่มีที่อยู่กัน ” พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ

            นอกจากนี้ท่านยังเล่าให้ฟังถึง การสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรม ในครั้งสมัยที่เริ่มบุกเบิกว่า “ เราไปขอไม้เขา หมายถึงไม้ทุบเปลือก ไม้ที่เป็นต้นเล็กๆบ้าง ไม้ไผ่บ้าง เอามาปลูกกันเป็นโรงเรียน เราเรียกโรงเรียนสมัยนั้นว่า โรงเรียนเล้าไก่ เอาไม้ไผ่มาขัดแตะเป็นเล้าไก่อย่างนั้น ๒ อาคาร จากนั้นก็พยายามหาเงินสร้างโรงเรียน แต่แล้วก็ไม่ได้เงินจากส่วนไหน ก็จำเป็นต้องวิ่งหากันเอาเอง จนสร้างโรงเรียนได้สำเร็จเท่าที่เห็นอยู่ในปัจจุบันนี้”

            คุณยายสวาท ตันติบูรณ์เล่าให้ฟังว่า “ สิ่งที่เห็นอยู่หลายๆอย่าง หลวงพ่อมาสร้างทั้งนั้น สมัยก่อนนี้ที่เรียนของพระ ที่เรียนบาลี มีสภาพอย่างน่าสงสารเลย เป็นเพิงทางมะพร้าวออกไปและหลวงพ่อก็ตากแดด”

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อได้จัดระบบ วางระเบียบบริหาร และจัดการวัดอย่างรอบคอบ และครอบคลุม อีกทั้งขยายเครือข่ายออกไปทั้งจังหวัด ดังมีโครงการต่าง ๆ กว่า ๒๐ โครงการ

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าให้ฟังว่า “ ตั้งแต่มาอยู่เพชรบูรณ์ ยังไม่ได้หยุดเลย ทำงานหลายด้าน ทั้งงานด้านการปกครอง ทั้งงานด้านสาธารณูปการ เผยแผ่ ๓๖ เรียกว่าครบทั้ง ๔ องค์การ แต่ปัจจุบันก็เพิ่มมาอีก ๒ องค์การก็คือ ศึกษาสงเคราะห์ สาธารณสงเคราะห์ มาคิดแล้วตั้งแต่มาอยู่ที่วัดนี้พ.ศ.๒๕๑๓ ถึงปัจจุบัน ๒๕๔๘ เป็นเวลา ๓๕ ปี โดยเฉพาะที่จัดโครงการขึ้นมามีทั้งหมด ๒๐ โครงการ”

            กิจกรรมที่โดดเด่นของวัดมหาธาตุ ซึ่งได้ถือปฏิบัติกันมา จนกลายเป็นประเพณีของวัดมหาธาตุ ก็คือ งานกฐินตกค้าง ด้วยเหตุนี้เอง พระราชพัชราภรณ์ จึงได้รับสมญานามที่เรียกขานจากชาวบ้านด้วยความรักและศรัทธาว่า “ เจ้าคุณกฐินตก ”

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านอธิบายเพิ่มเติมเรื่องกฐินตกค้างว่า “ โครงการสงเคราะห์ วัดยากจนและอยู่ในถิ่นทุรกันดาร นี่คือ โครงการกฐินตก มีจุดเริ่มต้นจากเหตุ ที่วัดยากจนในเพชรบูรณ์มีจำนวนมาก สร้างขึ้นมาแล้วแม้แต่กุฏิ จะอยู่ก็ยังไม่มี ต้องไปสร้างกระท่อมอยู่กัน เราก็มาหาว่าทำอย่างไร ถึงจะช่วยวัดยากจนได้ จึงได้ตั้งโครงการนี้ขึ้นมา โดยประกาศให้ญาติโยม มาเป็นเจ้าภาพกฐิน แล้วก็นำไปทอดในวัดต่างๆ ที่เราจะไปสงเคราะห์”

            คุณยายสวาท ตันติบูรณ์ เล่าว่า “ หลวงพ่อท่านจะต้องไปด้วยตัวท่านเองทุกกอง ลำบากยากอย่างไรท่านไม่เคยบ่น ไปขุดน้ำขุดร่องที่ไหน น้ำจะรดผ่านไป ท่านไม่เคยบ่นเลย”

            คุณยายนิลวรรณ วัฒนศัพธ์ ผู้ติดตามคุณแม่มาที่วัดมหาธาตุ ตั้งแต่ยังเยาว์วัยเล่าให้ฟังเรื่องกฐินตกค้างว่า “ ปีแรกๆเริ่มเพียงประมาณ ๙ วัด ตั้งแต่คุณแม่อยู่ พอต่อมาก็เพิ่มเรื่อยๆ มีคนศรัทธาอยู่ก็เพิ่มมาเรื่อย”

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศการทอดกฐิตกค้างว่า “ ปรากฏว่าเมื่อเราไปทอดกฐินที่วัดต่างๆแล้ว ได้ผลเกินคาด หมายความว่าเราไปเริ่มต้นให้เขาสร้าง ปัจจุบันนี้ศาลาก็ดี กุฏิก็ดี ทุกอย่างที่มีอยู่ในวัดนั้น กฐินตกจะไปร่วมแทบจะทุกวัดเลย หมายความว่าเราไปเป็นผู้นำเขา เช่น เขาจะสร้างโบสถ์ เราก็นำเบื้องต้นให้เขาสร้างโบสถ์ และพอมีเสามีอะไรแล้วเขาก็จะไปหาเจ้าภาพมา แต่เราก็ไม่ทิ้ง เราก็ยังไปอยู่ทุกปี”

            ด้วยตำแหน่งหน้าที่ของท่านในการคณะสงฆ์ ทำให้เวลาในแต่ละวัน ของหลวงพ่อหมดไป เพื่อส่วนรวม แต่กระนั้นท่านก็ยังคงทำกิจวัตร คือ การทำวัตรและเจริญภาวนา ทุกวันไม่เคยขาด ทั้งยังติดตามชมรายการธรรมะ จากจานดาวธรรมอยู่เป็นประจำ ซึ่งท่านได้เมตตาให้คำแนะนำเกี่ยวกับ จานดาวธรรมอย่างน่าสนใจว่า "วันพระ วันสำคัญอะไร ก็มีประชาชนมาประชุมกัน ก็จะเปิดให้ดูอยู่เรื่อย ตอนนี้อยู่บนศาลาทำที่ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ถ้าหากเป็นไปได้ ออกสู่สาธารณชนโดยทั่วไป นี่จะมีประโยชน์มาก เพราะตอนนี้เราอยู่แค่คนมีจานดาวธรรมเท่านั้นที่ดูได้ คนไม่มีจานดาวธรรมดูไม่ได้ เราก็เสียดายตรงนี้ว่า ทำไมคนที่จะดูเรื่องนี้ แต่เขาไม่มีจานดาวธรรมเขาก็เลยไม่รู้ ก็ไปดูเรื่องอื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดกิเลสทำนองนั้นขึ้นมาอีกนี่คือผลดีที่มองเห็น สำหรับหลวงพ่อธัมมชโย อาตมาก็สดับตรับฟังมาโดยลำดับแล้ว ก็มองเห็นการกระทำต่างๆ ที่อาตมาเองทำไม่ได้ แต่ว่าเป็นโครงการที่ดี นอกจากนั้นระเบียบการอื่น ๆ ซึ่งถ้าหากว่าใครได้ไปวัดพระธรรมกาย
แล้วก็จะเห็นระเบียบหลาย ๆ อย่าง เป็นส่วนหนึ่งที่อาตมาเอง ก็นำเอามาใช้ด้วยเหมือนกันบางครั้ง คือนำเอามาใช้กับสำนักปฏิบัติธรรมที่ว่านี้ สรุปแล้วก็คือเป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องทำได้ยาก หมายความว่า การที่จะทำขึ้นมาใหญ่โตขนาดนี้ เราจะเห็นว่าทำได้ยากอย่างยิ่ง"

            ๔๖ พรรษาของชีวิตเพศสมณะ ที่หลวงพ่อกลั่นหยาดเหงื่อ แรงใจถวายให้แด่พระพุทธศาสนา

            ทั้งโครงการกฐินตกค้างและอุโบสถสัญจร นอกจากจะเป็น การฟื้นฟูอายุพระพุทธศาสนา แล้วยังสามารถช่วยกระชับความสัมพันธ์ของพุทธบริษัทสี่ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้โดย ไม่แบ่งแยกธรรมยุตและมหานิกาย

            พระเดชพระคุณหลวงพ่อ พระราชพัชราภรณ์เมตตาเล่า ให้ฟังถึงเรื่องการรวมพระสงฆ์ว่า “ จังหวัดเพชรบูรณ์นี่ ทั้งสองนิกายจะไปด้วยกัน ทำงานด้วยกัน แม้แต่สำนักปฏิบัติธรรมที่ทำอยู่นี้ ก็มีทั้ง ๒ นิกาย เพราะถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมราชินีนาถ ที่อาตมาบอกว่ามีทั้งหมด ๑๑๗ สาขานี่ มีธรรมยุต ๔ วัด นอกนั้นเป็นมหานิกาย เราจะร่วมกันทำ และนอกจากนั้นศูนย์พัฒนาคุณธรรม ก็มีทั้งธรรมยุตและมหานิกาย โดยมีอาตมาเป็นประธาน อย่างเช่น สมมติว่าโยมจะมาขอให้เข้าค่ายโรงเรียนนั้น โรงเรียนนี้ เขาก็จะมาขออาตมาเป็นประธาน อาตมาก็จะส่งไป บางทีก็ให้ธรรมยุตไป บางทีให้มหานิกายไป บางทีก็ให้ทั้งสองนิกายไปร่วมกัน ถือว่าเรามาทำงานร่วมกัน”

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๓๖ ประจำเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล