วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ธรรมะกับการศึกษา

ธรรมะกับการศึกษา

เสริมสุข วิจารณ์สถิต นศ.แพทย์ ที่เคยปฏิเสธสมาธิ 
แต่สมาธิกลับทำให้ได้ A หมดทุกวิชา นศ.แพทย์ extern ปี ๖ แห่งมหาวิทยาลัยขอนแก่น คนนี้
.. เธอปฏิเสธการฝึกสมาธิ มาตลอด ๑๘ ปีเต็ม 
ด้วยเหตุผลที่ว่า นั่งสมาธิแล้วเสียเวลา รู้สึกเป็นการนั่งเฉยๆ ไม่มีประโยชน์
.. แต่ปัจจุบันนี้ การฝึกสมาธิ หล่อหลอมเข้าไปในชีวิตประจำวันของเธอ ประดุจลมหายใจเข้าออกที่ขาดเสียมิได้
อะไร .. ? ทำให้เธอมีแนวคิดเช่นนี้ สาเหตุเป็นเพราะ เธอได้ A หมดทุกวิชา ขณะเรียนแพทย์หรือเปล่า.. ? หรือมีอะไร ที่มากไปกว่านั้น.. .. !! เล่าประวัติก่อนจะเข้ามาเรียนคณะแพทย์ ม.ขอนแก่น 
ชั้นประถม นิ้งเรียนที่โรงเรียนอาษาวิทยา พอจบ ป.๖ ก็สอบเข้าที่โรงเรียนศึกษานารี จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ได้ลงสมัครในโครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขัน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ โอลิมปิกระหว่างประเทศ ตอนนั้นนิ้งเลือกสอบวิชาชีววิทยา มีการสอบคัดเลือกกันหลายรอบจน กระทั่งผ่านเข้ารอบ ๑ ใน ๑๐ คนสุดท้ายค่ะ ซึ่งคนที่สอบได้ในรอบนี้ จะได้รับสิทธิพิเศษ คือ สามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ โดยไม่ต้องเอนทรานซ์ ซึ่งนิ้งเองก็เลยเลือกเข้าคณะแพทย์ ที่นี่ค่ะ
J ใฝ่ฝันที่จะเป็นหมอหรือเปล่า หรือเลือกเรียนเพราะอาชีพนี้มีเกียรติและค่อนข้างมั่นคง 
นิ้งชอบวิชาชีวฯเป็นพื้นฐานอยู่แล้วค่ะ แล้วก็มีความคิดที่อยากจะเรียนอะไรสักอย่าง ที่สามารถช่วยเหลือ คนอื่นได้ ก็เลยเลือกเรียนหมอ แล้วอีกอย่างนิ้ง เห็นคุณพ่อ คุณแม่ของนิ้งเอง ท่านก็อายุมากแล้ว จึงอยากจะเอาความรู้ความสามารถที่เลือกเรียนด้านนี้มาดูแลรักษาท่านได้ด้วย 
J แล้วตอนมาเรียนหมอจริงๆ ซึ่งหนักมาก เคยรู้สึกเครียดหรือกังวลไหม
ยอมรับค่ะว่า เมื่อเข้าปี ๑ ต้องปรับตัวมาก ก็มีบ้างที่เครียดหรือกังวล เคยมีเพื่อนแนะนำชวนให้เราไปฝึกสมาธิ นิ้งก็ปฏิเสธเขากลับไป คือตอนนั้น นิ้งต้องยอมรับว่า เป็นคนค่อนข้างแรงๆ แล้วก็บอกเขาไปเลยว่า นั่งสมาธิอยู่เฉยๆ ไม่เห็นมีประโยชน์ เสียเวลาเปล่าๆ สู้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ประโยชน์กว่าตั้งเยอะ ซึ่งตอนนั้น นิ้งเถียงเขาจริงจังมากจนเขาร้องไห้เลย ..
J ที่ไม่เชื่อว่าสมาธิดี เพราะนิ้งเรียนดีอยู่แล้วหรือเปล่า คือหมายถึงไม่ฝึกสมาธิก็เรียนดีได้ 
อยากใช้คำพูดว่า ตอนนั้นนิ้งไม่เข้าใจเรื่องสมาธิมากกว่าว่าสมาธิดีอย่างไร เพราะไม่เคยสนใจในเรื่องแบบนี้มาก่อน แต่พอมาตอนหลัง เมื่อรู้แล้วรู้สึกตัวเองผิดมาก ที่นิ้งไปเถียงเพื่อนคนนั้นจนร้องไห้ ซึ่งมาถึงตอนนี้ นิ้งขอใช้คำพูดว่า ถ้านิ้งไม่ได้ฝึกสมาธิ นิ้งคงไม่ได้ A หมดทุกวิชา ตอนปี ๒ และ GPA ๓.๖๖ ตอนนี้ ทั้งๆ ที่ช่วงนั้นนิ้งทำกิจกรรมหนักและก็มาวัดวันอาทิตย์ด้วย
J อยากจะให้เล่าถึงจุดเริ่ม ที่ทำให้เราสนใจสมาธิ ทั้งๆ ที่ปฏิเสธมาก่อน
ตอนปิดเทอมปี ๑ มีเพื่อนมาชวนไปอบรมธรรมทายาทหญิง ที่วัดพระธรรมกาย เพราะเขาเล่าให้นิ้งฟังว่า เขาไปฝึกสมาธิมา ๗ วัน (ค่ายพัฒนาศักยภาพผู้นำ) แล้ว รู้สึกดีมากๆ แล้วเขาก็บอกนิ้งว่าขนาดเขาไป ๗ วันยังรู้สึกดีขนาดนี้ ถ้านิ้งไป ๔๐ วันจะรู้สึกดีขนาดไหน ซึ่งตอนนั้นก็ชวนเพื่อนในคณะไปด้วยกัน ๔ คน พอวันที่มาอบรมที่วัดจริงๆ รู้สึกชอบขึ้นมาทันที และช่วงอบรมที่นี่ นิ้งขอบอกว่า เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดเลยก็ว่าได้ เพราะเราได้รับการอบรมสอนธรรมะในเรื่องต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้จริง ซึ่งการฝึกสมาธิอย่างต่อเนื่อง นี่เอง มันทำให้ใจของเราสงบ สบาย เวลาจะทำอะไรก็จะคิดก่อนทำมากขึ้น
J แล้วคิดว่าการฝึกสมาธิได้ผลกับนิ้งชัดๆ แล้วยอมเปลี่ยนความคิดว่าสมาธิเป็นสิ่งดีจริง ตอนไหน
คือสังเกตได้เลยว่าตัวเราเปลี่ยนแปลงไป อย่างที่เล่าให้ฟัง คือเมื่อก่อนเป็นคนแรงๆ ใจร้อน ก็จะใจเย็นลง คือสมาธิเป็นจุดเริ่มให้เราแก้จากภายในใจเรา พอใจสงบ ใจเราจะมีระบบระเบียบ การกระทำก็จะสื่อออกมาให้รู้สึกเย็นลง คิดก่อนทำมากขึ้น และที่สำคัญพออบรมกลับนำมาใช้ทำให้ผลการเรียนตอนปี ๒ ปีนั้นได้เกรดเฉลี่ย ๔.๐๐ ได้รับเกียรติบัตรการเรียนดีเด่นประจำชั้นปีที่ ๒ คณะแพทย์ ม.ขอนแก่น 
J จริงหรือ? ที่แค่ใจสงบ ก็เรียนดีอาจเป็นเพราะอย่างอื่นก็ได้
ยกตัวอย่าง ตอนอาจารย์สอบ ถามตอบตัวต่อตัว .. นศ.แพทย์ส่วนใหญ่จะตื่นเต้นมากเลย จะตื่นเต้นกันมากกว่าการสอบข้อเขียนเสียอีก ซึ่งตอนนี้หลายคนมักจะลืมคำตอบ หรือตอบกันไม่ได้ เพราะเป็นคำถามที่ยาก คือเราต้องประมวลหลายเรื่องมาตอบในข้อนั้น แต่สมาธิกลับช่วยนิ้งทำตรงนี้ได้อย่างเด่นชัด เช่น มีอยู่ข้อหนึ่งอาจารย์ถามว่า ถ้าคลำเจอก้อนที่คอ แยกได้อย่างไรว่า เป็นต่อมน้ำลาย หรือต่อมน้ำเหลือง นิ้งก็ตอบไปว่าถ้าคลำได้ทั้งข้างบนข้างล่างเป็นต่อมน้ำลาย แต่ถ้าคลำได้ข้างเดียวเป็นต่อมน้ำเหลือง อาจารย์เลยถามต่ออีกว่า แล้วทำไมถึงตอบอย่างนั้น ? ตอนนั้น นิ้งเองก็อึ้งไปสักพัก ไม่คิดว่าตัวเองจะตอบได้ .. แต่อยู่ๆ ภาพตอนเรียนANATOMY (กายวิภาคศาสตร์) ก็แวบขึ้นมาเป็นภาพต่อมน้ำลายมีกล้ามเนื้ออยู่ทั้งข้างบน ทั้งข้างล่าง ซึ่งนิ้งก็ทำภาพนั้นให้อาจารย์ดู อาจารย์ก็พยักหน้าว่าถูก นี้เป็นตัวอย่างที่เห็นได้เลยว่า สมาธิช่วยให้เราจำได้ดี และระลึกมาใช้ได้ แม้ในเวลาที่เราตื่นเต้น 
J หลายคนมองว่าเด็กแพทย์จะเอาแต่เรียน กิจกรรมไม่ค่อยทำ แต่ทำไมนิ้งถึงทำในสิ่งที่ตรงกันข้าม
.. ใช่นะ .. ! คนจะมองเด็กที่เรียนแพทย์ว่า ไม่ค่อยทำกิจกรรม เพราะคณะแพทย์เรียนหนักอยู่แล้ว ถ้าจะมาทำกิจกรรมอาจทำให้เกรดตกได้ แต่นิ้งกลับมองว่า ในเมื่อเราไปอบรมธรรมทายาทมา และจากการฝึกสมาธิ ทำให้เราสามารถดึงศักยภาพตัวเองที่มีมากกว่าออกมาใช้ได้มากขึ้น เหมือนมีชีวิต ๒๐๐ % ซึ่งพอนิ้งตัดสินใจมาทำกิจกรรมตรงนี้แล้ว นิ้งได้ประโยชน์มาก เพราะทำให้นิ้งดึงศักยภาพที่ดึงออกมาได้ยาก แล้วอีกอย่างกิจกรรมที่นิ้งทำเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์กับตัวเอง และผู้อื่นด้วย
J นิ้ง เอาหลักธรรมอะไรไปใช้ในการเรียน และทำกิจกรรมให้ดีด้วย
ธรรมะก็มีหลายอย่าง แต่ที่นำไปใช้จริงๆ ก็คือ มงคลชีวิต เพราะเป็นธรรมะตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ขั้นสูงสุด ซึ่งสามารถนำมาใช้ได้อย่างดีมาก ซึ่งธรรมะนี้เอง ทำให้เราปรับปรุงตัวเองให้ดีขึ้นมาก เมื่อพูดถึงตรงนี้จึงอยากแนะนำให้เพื่อนๆ หรือคนอ่านคอลัมน์นี้ อ่านหนังสือเล่มนี้แล้วนำไปใช้ อย่างเช่นข้อแรก คือไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ถ้าเราได้เพื่อนดีการเรียนเราก็ดี นี้คือตัวอย่าง 
J มีเทคนิคการอ่านหนังสือที่ เป็นพิเศษกว่าคนอื่นหรือเปล่า 
คือทั่วไป จะเตรียมทุกอย่างให้พร้อม เช่น เตรียมตัว ก็คือ ไม่ง่วง ไม่อิ่ม ไม่หิวมากเกินไป อาบน้ำแต่งตัวให้สบาย แต่จะสวดมนต์นั่งสมาธิก่อนทุกครั้ง (แล้วจึง)ค่อยอ่านหนังสือ อะไรที่ขุ่นมัวก็จะเอาออกไปจากใจ ส่วนสถานที่ ก็แล้วแต่คนชอบ เลือกสถานที่ที่ถูกใจเรา จะทำให้เรานั่งได้นาน แต่ต้องเป็นสถานที่ที่อากาศถ่ายเท และที่สำคัญที่สุดอย่านอนอ่าน เพราะจะทำให้หลับง่าย .. และก็ .. อย่างนิ้งเองจะมีหนังสือธรรมะเล่มที่ชอบไว้ข้างๆด้วย บางทีอ่านหนังสือเรียนเบื่อ ก็จะหยิบหนังสือธรรมะสลับขึ้นมาอ่าน สรุปง่ายๆ คือทำให้ความสบายเกิดขึ้น แล้วอย่ากลัว อย่าเครียด อย่ากังวล ให้คิดว่า เรากำลังทำตรงนี้ให้ดีที่สุด 
J มีเทคนิค การจำอย่างไร?
แต่ละคนก็จะมีเทคนิคต่างกัน บางคนชอบช๊อตโน้ต แต่นิ้งชอบขีดเส้นใต้ เน้นส่วนที่สำคัญ แล้วกลับมาอ่านใหม่ เราต้องประเมินตัวเราให้ได้ว่า เรื่องนี้เราต้องอ่านกี่รอบถึงจะจำได้ ต้องแบ่งเวลาให้เป็น วิชาไหนสอบก่อน สอบหลัง ก็ต้องจัดลำดับการอ่านให้ถูกต้อง และที่สำคัญต้องนั่งสมาธิ เพราะสมาธิจะช่วยตรงนี้ได้เยอะ
J ตอนสอบตื่นเต้นบ้างไหม 
ทำอย่างไร 
เคย แต่จะหาสาเหตุย้อนกลับทุกครั้งว่า ที่ตื่นเต้นเพราะอะไร ..ตื่นเต้นเพราะกลัวไม่ได้ A หรืออ่านหนังสือไม่ทัน หรือตื่นเต้นเพราะกลัวสอบตก เราต้องหาสาเหตุจากตัวเราให้ได้และพอสอบครั้งหน้า เราก็แก้ตรงจุดนั้น ครั้งต่อมาเราก็จะตื่นเต้นน้อยลง
J กิจวัตรประจำวันทำอะไรบ้าง 
ก็จะเหมือนๆ กับนักศึกษาแพทย์ทั่วไป แต่จะสวดมนต์นั่งสมาธิทุกวัน แม้วันสอบก็ยังไปนั่งสมาธิที่ชุมนุมพุทธฯ บางคนอาจจะมองว่าเสียเวลา แต่สำหรับนิ้งคิดว่า มันทำให้เรามีศักยภาพใจเพิ่มขึ้น ทำอะไรก็จะมีประสิทธิภาพที่มากขึ้น
J เด็กหลายคนคิดว่าการมาวัดเป็นเรื่องเสียเวลาและเสียการเรียน นิ้งคิดว่าอย่างไร 
เสียการเรียน หรือไม่เสีย ไม่เกี่ยวกับการมาวัด เกี่ยวกับตัวน้องๆ เองมากกว่า แต่ถ้าเราไม่ได้มาวัด เราสังเกตตัวเองดีๆ ก็จะพบว่า เราเอาเวลาไปทำอย่างอื่น ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้อ่านหนังสืออยู่ดี บางทีไปเที่ยว ไปดูหนัง กลับมาก็เหนื่อย ไม่ได้อ่านหนังสืออีก สู้มาวัด มาทำบุญ มานั่งสมาธิ ช่วยให้จิตใจเราดีขึ้น มีสมาธิขึ้น กลับไปอ่านหนังสือก็จำได้ดีขึ้น 
J อยากฝากอะไรไว้ไหม ในฐานะที่เป็นนศ. แพทย์ที่มีสิทธิสูงในการได้เกียรตินิยมเหรียญทองในอีกไม่ช้า
สิ่งที่อยู่ในใจมาตลอดขณะที่เรียนหมอก็คือ คำพูดของพระราชบิดา ท่านพูดเป็นภาษาอังกฤษ มีความหมายรวมๆ ว่า คนเก่งไม่ใช่คนเรียนได้ดี หรือได้เกีรยตินิยมอันดับหนึ่ง คนเก่งก็คือคนที่สามารถนำความรู้ที่เรียนมา มาทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมและสังคมมากที่สุด แล้วยิ่งนิ้งมาได้รับการสอนจากที่วัด นิ้งรู้สึกชัดเจนขึ้นมาทันทีเลยว่า เราทำอะไรได้มากกว่าการเป็นหมอรักษาคนไข้ เพราะเราสามารถบอกให้เขาทำในสิ่งที่มีคุณค่า ให้เขารู้ถึงการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องว่าเป็นอย่างไร สร้างคนดีให้กับสังคม เพราะสังคมที่ดีก็เริ่มจากคนดี โรคภัยไข้เจ็บก็เหมือนกัน ถ้าคนมีจิตใจดีสุขภาพจิตดี ก็มีร่างกายที่แข็งแรง โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่มารบกวน
ขบวนการ Rethink (คิดใหม่) ของคุณหมอในอนาคตในเรื่องของสมาธิและการนำหลักธรรมะไปใช้ในการเรียน ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เธอมีเทคนิคการเรียนที่แตกต่างจากเพื่อนนศ. คนอื่นๆ แม้ทำกิจกรรมหนัก แต่ก็กลับเรียนจนได้ A หมดทุกวิชา และก็กลายเป็นตัวเต็งที่จะได้เป็นคุณหมอเกียรตินิยมเหรียญทองในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
ทางทีมงานวารสารฯ ก็ขอแสดงความยินดีล่วง หน้ากับคุณหมอนิ้ง คนเก่งด้วยนะค่ะ .. 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๗ เดือนมีนาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล