ตำรับยอดเลขา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
ตำรับยอดเลขา
จากคัมภีร์ “จรรยาบ่าว”
วิธีฝึกผู้นำในยุค ร.ศ. ๑๓๑
ตอนที่ ๓
จรรยาข้อที่ ๕-๖
“ตำรับยอดเลขา” นำมาจากหนังสือ “จรรยาบ่าว” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อ ๗๕ ปีที่แล้ว โดยไม่ได้ระบุชื่อผู้เขียน เมื่อหลวงพ่อทัตตชีโวอ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว ท่านอยากให้ญาติโยมรู้เรื่องราวดี ๆ จึงเมตตานำมาเทศน์ให้ฟังเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ต่อมาพิมพ์รวมเล่มและตั้งชื่อใหม่ว่า “ตำรับยอดเลขา” โดยลำดับเนื้อความตามต้นฉบับเดิม และคัดลอกของเก่าไว้ให้ดูด้วย เพื่อรักษาศัพท์บางคำไว้ และเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้เขียน
๕
จงอุตส่าห์ทำการงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด
จงอุตส่าห์ทำการงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด
การที่เราไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งนั้น
คุณค่าของเราอยู่ที่มีงานทำเต็มมือ
จึงทำประโยชน์ให้หน่วยงานนั้น ๆ ได้เต็มที่
ถ้าเมื่อใดต้องเอาคนอื่นมาทำแทน
แสดงว่าเรานั้นหย่อนสมรรถภาพเสียแล้ว
การงานอันใดที่ประจำอยู่ ซึ่งท่านมอบธุระให้ทำนั้น จงทำให้สม่ำเสมอ อย่าให้บกพร่องต้องให้คนอื่นมาทำแทนไปด้วยการเหลวไหลของเราไม่ระมัดระวังหน้าที่ได้จึงจะดี เว้นไว้แต่เรามีการจำเป็นที่นายใช้ไปธุระอย่างอื่น ฤๅธุระของเราที่จำเป็นบ้างก็ดี ถ้าเมื่อเช่นนั้นเราควรต้องขอแรงไหว้วานเพื่อนบ่าวด้วยกัน อันคนที่ควรจะกระทำการอย่างนั้นแทนเราได้ ให้เขาช่วยสงเคราะห์เป็นการเอาแรงกันทำแทนเรา
คนที่เขาช่วยทำการแทนชั่วคราว และว่าคนที่ควรนั้นต้องอธิบายเสียหน่อยว่าต้องเป็นคนชั้นเดียวกับเรา ฤๅเป็นคนทำการงานที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเรา กล่าวคือ เช่น เราเป็นคนจัดและทำของเครื่องทองเงิน ฤๅของใด ๆ ที่ละเอียดและสำอาง จะไปวานคนที่เคยทำของหยาบของเลว เช่น คนสำหรับ ตักน้ำ ผ่าฟืน เทกระโถน กวาดชะลา มาทำแทนไม่สมควร เช่นนี้เป็นต้น ด้วยเป็นคนเคยทำของหยาบ จะทำให้ของของท่านอันตรธานเสียหายชอกช้ำไปเมื่อเป็นเช่นนั้น เราก็ต้องรับผิดด้วย ด้วยรักษาการและทำการไม่สมควรแก่หน้าที่
จรรยาข้อนี้สรุปความได้คือ งานประจำในหน้าที่ของเรา อย่าเอาใครมาทำแทน เราต้องให้ความสำคัญกับหน้าที่ที่เรารับผิดชอบอยู่ ถือเป็นคุณค่าของตัวเราเอง เพราะว่าการที่เราจะไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งนั้น คุณค่าของเราอยู่ตรงที่มีงานทำเต็มมือ จึงทำประโยชน์ให้แก่หน่วยงานนั้น ๆ ได้เต็มที่ ถ้าเมื่อใดเกิดต้องเอาคนอื่นมาทำแทน แสดงว่าเรานั้นหย่อนสมรรถภาพเสียแล้ว คนที่ เหมาะสมกว่าซึ่งทำงานได้ ย่อมเข้ามาแทนที่เรา เป็นลางบอกเหตุว่าจวนจะโดนไล่ออกแล้ว ดังนั้นงานในหน้าที่ของเรา อย่าได้ให้ใครมาทำแทน เว้นไว้เสียแต่ว่า
๑. เกิดมีงานจรอย่างอื่นที่นายสั่งให้เราไป ทำให้เราต้องละทิ้งงานประจำ อย่างนี้ก็ต้อง มอบหมายให้ผู้อื่นทำแทนไปเป็นการชั่วคราว
๒. เป็นธุระส่วนตัวของเราเอง จำเป็นต้องไป ก็ให้ผู้อื่นมาทำแทน
อย่างไรก็ดี การที่จะหาคนมาทำงานแทนเรานั้น มีข้อแม้อยู่ ๒ ประการ คือ
(๑) ต้องเป็นคนที่มีฝีมือระดับเดียวกับเรา จะไปเอาคนฝีมือต่ำกว่ามาทำแทน คุณภาพของงานก็จะด้อยลง ทำให้ถูกตำหนิติเตียนได้ ดังนั้นเมื่อเราจำเป็นต้องทิ้งงานประจำไปไม่ว่าเพราะเหตุใด ก็ควรเลือกหาผู้มาทำแทนที่สามารถคงคุณภาพงานของเราไว้ได้ สำหรับผู้ที่มีฝีมือสูงกว่านั้นอย่าไปพูดถึง เพราะเขาย่อมมีงานประจำล้นมืออยู่แล้ว จะมาช่วยใครคงทำไม่ได้
(๒) ต้องเป็นคนที่ทำการงานที่ละม้ายคล้ายคลึงกับเรา คือ เป็นงานชนิดเดียวกัน เช่น งานประเภทต้องการความละเอียดลออย่อมไม่เหมาะกับผู้ที่เคยทำงานหยาบ ๆ เพราะนอกจากจะเสียงานแล้ว อาจจะเสียของด้วย
หลวงพ่อเองก็เคยเจอปัญหานี้ในพรรษาแรก ๆ เพราะยังไม่ทันได้ระวังเรื่องคนทำงาน ต่างชนิดกัน คือตามปกติมีเด็กคนหนึ่งมาช่วยทำความสะอาดห้องเขียนหนังสือของหลวงพ่อ เป็นประจำ พอคนนั้นไม่อยู่จึงเรียกใช้อีกคนหนึ่งซึ่งเคยตัดหญ้าอยู่เป็นประจำมาทำแทน เดี๋ยวเดียวเสียงแจกันบนโต๊ะหมู่บูชาในห้องแตกเพล้งเลย หลวงพ่อเองก็ไม่ทราบว่าจะโทษใคร ได้แต่ตัดใจ ไม่ได้เข้าไปดู นึกสมน้ำหน้าตัวเองที่ใช้คนผิด ทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเขาทำเป็นแต่ตัดหญ้า ก็ยังขืนใช้ เขาทำงานที่ต้องใช้ความละเอียดลออ
๖
อย่าเป็นคนเฉื่อยชา
ข้อดีของงานหนักงานยากก็คือ
เป็นวิธีเค้นเอาความสามารถในตัวเองออกมา
และเป็นวิธีที่เจ้านายใช้เป็นช่องทาง
เติมความรู้ความสามารถให้แก่เราผู้เป็นลูกน้อง
อีกประการหนึ่ง การงานอันใดจะเป็นราชการก็ดี จะเป็นการส่วนตัวสำหรับบ้านก็ดี ซึ่งเป็นการทำด้วยแรมวันแรมเดือน อันที่ท่านมอบธุระให้ทำนั้น เราต้องตั้งหน้ามุ่งหมายทำหวังความสำเร็จจงได้ เมื่อขัดข้องด้วยความสงสัย หรือไม่รู้ถึงด้วยอย่างใด ก็ต้องเรียนถามเอาความขัดข้องนั้น ๆ มากระทำต่อไป จงได้ หรือเมื่อเรามีความเห็นอย่างไรที่ควรที่ถูก ก็นำความหาฤๅให้แน่นอนทีเดียว อย่าเอาไปเก็บแฉะช้าไว้เสียไม่ดี เว้นไว้แต่มีการด่วนที่จำเป็นจะต้องทำก่อนนั้นมีมา เราจึงควรละวางเรื่องยาววันนั้นไว้พลางก่อน เมื่อหมดธุระการด่วนก็ตั้งหน้าทำไปจนกว่าจะสำเร็จ อย่าคิดหรือท้อถอยความอุสาหตามคำสั่งเสีย เพราะมักจะคิดเสียว่า ไม่ใช่การเร่งร้อน ละเลยไปจนลืม
ครั้นเมื่อท่านต้องการเข้า ก็เป็นอันไม่แล้วสำเร็จออกจะมีชุกชุม เราอย่าให้เป็นเช่นนั้นเลย ให้นึกว่าเหมือนเราเป็นหนี้ท่านอยู่จึงจะดี การมากมายอย่างไรก็ดี ซึ่งไม่สุดสามารถมนุษย์นั้น ถ้าตั้งใจทำก็อาจสำเร็จ เมื่อเราปล่อยใจให้เคยตัวเสียบ่อย ๆ แล้ว ความเกียจคร้านหรือสะเพร่าก็หนาขึ้น เคยตัวเคยใจเข้า ก็ซ้ำเสียความพยายามและเจตนาอันดีแต่เดิมนั้นเสีย
การทำงาน อย่าทำลวก ๆ ทำแบบขอไปที เพราะนอกจากจะทำให้เสียเครดิตแล้ว ยังจะกลายเป็นนิสัยติดตัวข้ามภพข้ามชาติไป คนที่ชอบทำอะไรพอผ่าน ๆ อย่างนี้ไปเกิดอีกกี่ภพกี่ชาติก็ตาม ไม่ว่าอะไรก็จะได้พอผ่าน ๆ ทั้ง ๆ ที่ทำเป็นสารพัดทุกอย่าง แต่เอาดีไม่ได้สักอย่าง จัดเป็นพวกมักง่ายประเภทหนึ่ง เรียนหนังสือตั้งแต่ชั้นประถมจนกระทั่งจบมหาวิทยาลัย ไม่เคยได้ เกรด A เลย ได้แค่พอผ่าน ๆ คาบเส้นเกือบตกมาตลอด อย่างนี้ไม่ได้ความ อย่าไปเป็นกันทีเดียว
เมื่อทำงานไปแล้วเกิดติดขัดขึ้นมา อย่าทิ้งค้างไว้ ให้รีบกลับไปถามผู้รู้หรือผู้บังคับบัญชา เพื่อจะได้สะสางงานต่อไปให้เสร็จ ตอนถามอาจถูกตำหนิ ถูกดุว่าบ้าง ก็ต้องทนยอมให้ท่าน ว่ากล่าว เพราะถ้ามัวกลัวเสียหน้าทั้ง ๆ ที่ไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร นอกจากงานจะติดขัดแล้ว ยังอาจทำความเสียหายไปสู่งานส่วนอื่นได้ เวลาทำงานให้นาย ให้นึกว่าเหมือนเราเป็นหนี้ท่านอยู่ จะได้รีบเร่งทำให้สำเร็จ ไม่เฉื่อยแฉะ
หลวงพ่อเอง เมื่อหลวงพ่อธัมมชโยมอบหมายงานมาให้ ก็ตั้งใจทำอย่างดีจนเสร็จ แต่บางครั้งภูมิปัญญาไม่ถึง พอทำไปได้ครึ่งทางก็พบว่าทางตันเสียแล้ว ทำต่อไปไม่ได้ ต้องเข้าไปถามข้อขัดข้องกับท่าน ไม่กลัวเสียหน้า ทั้งที่บางทีท่านก็เอ็ดเอาว่าเพียงเท่านี้ทำไมไม่รู้ แล้วท่านก็อธิบาย งานก็ดำเนินต่อไปได้ด้วยดีจนเสร็จ น่าชื่นใจ แสนจะคุ้มค่า เพราะงานสำเร็จเป็นอย่างดี ยังได้รับคำชมเชยอีก แต่ถ้าดันทุรังทำไปทั้งที่ไม่รู้ ไม่กล้าถามเพราะกลัวเสียหน้า ก็จะยิ่งเสียหายไปกันใหญ่ คือ งานก็ไม่สำเร็จ หรือถ้าเสร็จก็เป็นแบบผิดพลาด ใช้ไม่ได้
คุณยายอาจารย์ฯ (คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) เตือนหลวงพ่อตั้งแต่ยังไม่ได้บวชว่า งานที่ผู้ใหญ่ให้มาทำนั้น ถึงจะเป็นงานหนัก เราไม่เคยทำ ก็อย่าไปท้อแท้ ถ้าไม่หนักหนาสาหัสเกินกำลังจริง ๆ ให้รับเอามาก่อน แล้วค่อยคิดค่อยทำไป เพราะงานหนักงานยาก นั้น มีข้อดีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นวิธีเค้นเอาความสามารถในตัวเองออกมา
คนโดยทั่วไปเมื่อทำงานอะไรก็ตาม พอเหนื่อยเข้าหน่อย ก็จะรู้สึกว่างานนั้นช่างเกินความสามารถของเราจริง ๆ ทำไม่ไหว ความจริงแล้วความสามารถในตัวเรานั้นมีมหาศาลเลย แต่เราเองไม่รู้ตัวกัน
หลวงพ่อจะยกตัวอย่างให้ฟัง เรื่องการจัดอบรมพระธรรมทายาทของที่วัด เมื่ออบรมได้ระยะหนึ่งแล้ว จะให้มีการเดินธุดงค์ สำหรับปีนี้ฝนตกบ่อย จึงให้รถไปส่งบนเขาใหญ่ ไปนั่งสมาธิทำภาวนาบนเขาอยู่ครบ ๓ วัน จึงลงมา ขากลับให้เดินเท้าตลอด ใช้เวลาราว ๗ วัน ระยะทางประมาณ ๒๐๐ กิโลเมตร พอเดินถึงวัด ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า โอ้โฮ เพิ่งรู้ตัวว่ายังมีความสามารถเหลืออยู่ในตัวอีกแยะเลย ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนนี้คิดว่าได้นำความสามารถของตัวเองมาใช้หมดแล้ว คือเคยทำงานหนักชนิดที่เรียกว่าทุ่มทำจนหมดทุกขุมกำลังแล้ว แต่พอเดินธุดงค์เสร็จจึงรู้ว่าความสามารถในตัวเองนั้นยังมีอยู่อีกมากมาย
มีอยู่ปีหนึ่ง หลวงพ่อให้พระธรรมทายาทไปเดินธุดงค์ที่ภูกระดึง พอขึ้นไปถึงยอดภู ทำท่าเหนื่อยเหมือนจะตายให้ได้ พอหลวงพ่อถามท่านว่า เดินต่ออีกสัก ๑ กิโลเมตร จะได้หรือไม่ ท่านก็บอกว่าไม่ไหว อยากจะนอนอยู่ตรงนั้นเอง ก้าวขาไม่ออกแล้ว ชวนเท่าไร ๆ ก็บอกว่า “ไม่ไหว” จนกระทั่งหลวงพ่อแกล้งพูดว่า “เอ๊ะ นั่นงูใช่ไหม?” เท่านั้นแหละกระโดดผางเลย มีเรี่ยวแรงขึ้นมาอีก นี่ถ้าบอกว่าช้างมาคงวิ่งต่อไปได้อีกเป็นกิโลฯ ที่เป็นเช่นนี้เพราะคนเราส่วนมากเวลาเหนื่อยเข้าหน่อย ก็คิดว่าช่างลำบากยากเย็นเกินความสามารถเสียแล้ว แต่ที่แท้ไม่เป็นความจริงเลย เพราะถ้าไปโดนงานหนัก ๆ ยาก ๆ เข้า จะพบว่าเมื่อใช้ความเพียรฝ่าฟันอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้แล้วก็ไม่มีอะไรเกินความสามารถของเรา
ดังนั้น ความหนัก ความยากลำบาก จึงเป็นเครื่องมือสำหรับเค้นความสามารถของเราใครที่รักจะหาความก้าวหน้าในชีวิต ทุกครั้งที่ถูกคุณพ่อ คุณแม่ หรือผู้บังคับบัญชาใช้ให้ทำงานยากงานหนัก อย่าท้อแท้ไม่รับงาน หรือรับแล้วส่งคืนเด็ดขาด ให้กัดฟันทำไป ถ้าติดขัดอะไรให้ถามท่าน งานก็จะสำเร็จลุล่วงไปได้
๒. เป็นวิธีที่เจ้านายใช้เป็นช่องทางเติมความรู้ความสามารถให้แก่เราผู้เป็นลูกน้อง
การที่แข็งใจรับงานหนักงานยากที่ผู้บังคับบัญชามอบให้ นับว่าเป็นต้นทางแห่งความเจริญของเราเอง เพราะก่อนที่ผู้บังคับบัญชาจะใช้ใครทำอะไร ท่านย่อมสังเกตหน่วยก้านไว้แล้ว จึงมอบงานหนัก ๆ ยาก ๆ ให้ทำ จริง ๆ แล้วท่านตั้งใจฝึกเราขึ้นมา เพื่อให้งานเสร็จสิ้นอย่างดี เราจึงได้รับ ความรู้และมีความสามารถพิเศษ ที่ผู้อื่นซึ่งไม่เคยถูกใช้ให้ทำงานหนักไม่มี
อย่างนี้ ถ้าพูดภาษาพระก็เรียกว่า ครูบาอาจารย์ให้งานยาก ๆ มาเพื่อเป็นการเติมบุญให้ ดังนั้นถ้าอยากได้บุญละก็ อย่าไปปฏิเสธงานยาก เพราะเมื่อเราทำไปแล้ว ถ้าครูบาอาจารย์ท่านเห็นว่าไม่ไหว ท่านก็จะเติมบุญ คือสอนให้จนทำได้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีปัญหาในการทำงานถ้าหากว่าแก้ไขได้ ก็ให้แก้ไป แต่ถ้าแก้ไม่ได้ให้ไปหาครูบาอาจารย์ ท่านจะชี้ทางให้เป็นช่อง ๆเราทำตามไปก็แล้วกัน เพราะนั่นเป็นการให้ความสามารถ เป็นการเติมบุญให้เรา
ในทางโลกก็เช่นกัน เมื่อผู้บังคับบัญชาให้งานมา แม้จะยากก็ให้กัดฟันรับเอาไว้ ค่อย ๆ ทำไป แล้วความสามารถในตัวจะถูกเค้นออกมาเอง ถ้าสุดความสามารถจริง ๆ ท่านก็จะหาวิธีช่วยเราในที่สุด..
(อ่านต่อฉบับหน้า)