ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระมหาสมชาย ?านวุฑฺโฒ (M.D.; Ph.D.) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC
สถานการณ์ชายไทย
ชายไทยทำไมต้องบวช และทำไมต้องบวชนานถึง ๓ เดือน ในช่วงเข้าพรรษา?
คำถามนี้เป็นเครื่องชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่ง ถ้าเป็นสมัยก่อนคำถามจะสลับกันถ้าใครบวช ๑ เดือน หรือ ๑๕ วัน เขาจะถามว่าทำไมไม่บวช ๓ เดือน เพราะแต่เดิมทุกคนรับรู้กันว่า ถ้าบวชก็ต้องบวชทั้งพรรษา และเป็นอย่างนี้ทั้งประเทศ ซึ่งปัจจุบันทางภาคอีสานหรือ ภาคเหนือบางส่วนยังรักษาธรรมเนียมนี้อยู่ ธรรมเนียมชายไทยคือต้องบวชเข้าพรรษาอย่างน้อย ๑ ครั้งในชีวิต ถ้ายังไม่ได้อย่างนั้น เขาจะถือว่ายังเป็นคนดิบอยู่ ถ้าบวชครบพรรษาถึงจะเรียกว่าทิด เช่น ทิดมี ทิดสี ทิดสุข คำว่า “ทิด” แปลว่า คนสุก คือ กิเลสในตัวสุก จากเดิมเคยดิบ ๆ อยู่ ถูกย่างด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้าและจากการบำเพ็ญเพียรในช่วงบวช ทำให้มีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวประจำใจ จะไปทำงานเขาก็จะกล้าให้ความไว้วางใจ มอบตำแหน่งรับผิดชอบสูง ๆ ให้ แต่ถ้ายังไม่เคยบวช ทำได้แค่เป็นลูกน้องระดับล่าง ไปขอลูกสาวบ้านไหนแต่งงาน พ่อเขาก็ไม่ยกให้ ขืนยกลูกสาวให้ไปยังไม่เคยบวชเรียนแล้วจะไปเป็นหัวหน้าครอบครัวไหวหรือ พออย่างนี้แล้ว ผู้ชายบวชทั้งประเทศเพราะกลัวไม่ได้แต่งงาน
พอวางรากฐานมายาวนานหลายร้อยปี จึงเป็นธรรมเนียมของไทย ซึ่งต่างประเทศเขาทึ่งและชื่นชมมาก เขาสงสัยกันว่า ทำไมประเทศไทยถึงเป็นสยามเมืองยิ้ม ประเทศอื่นเขานับถือพุทธเหมือนกัน ทำไมไม่ได้ชื่ออย่างนี้ ก็เพราะว่าเรามีการบวชเรียนเข้าพรรษา ทำให้ชาวพุทธได้ใกล้ชิดพระรัตนตรัย พอลูกชายบวช พ่อแม่ก็มาใส่บาตร มาอุปถัมภ์บำรุงวัด พี่น้องก็เข้าวัด รู้สึกว่า พระศาสนากับเราไม่ได้ห่างเหินกันเลย ฉะนั้นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงซึมซับไปในทุกส่วนของสังคมไทย หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมไทย เป็นความร่มเย็น เป็นน้ำใจไมตรีที่ออกมาเป็นรอยยิ้มบนใบหน้า เขาเลยเรียกสยามเมืองยิ้ม แต่ปัจจุบันนี้สยามชักยิ้มไม่ค่อยออก เพราะว่าคนเริ่มห่างธรรมะของพระพุทธเจ้า ถึงคราวต้องเรียกกลับมาแล้ว ขืนปล่อยช้ากว่านี้เดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ
ส่วนคำถามที่ว่าทำไมต้องบวช ๓ เดือน แล้วงานการจะทำอย่างไรนั้น ถ้าเราจะตั้งโจทย์ว่าติดงาน ไม่ต้อง ๓ เดือนหรอก ๑ เดือน ก็บวชไม่ได้ ขนาดมีเพื่อนมาชวนไปวัด แค่ไปเช้าเย็นกลับก็บอกไม่ว่าง ติดงาน เห็นไหมเหตุผลเดียวกัน แต่ถ้าคิดอยากจะบวชจริง ๆ เวลา ๓ เดือน ไม่มีปัญหา อยู่ที่ว่าเห็นประโยชน์หรือเปล่า ตรงนี้เป็นตัวหลัก
มีโยมคนหนึ่งเป็นแม่บ้านเข้าวัดมาก่อนโดยบังเอิญ ลูกสาวเขาเรียนอยู่อนุบาล วันหนึ่งเพื่อนลูกสาวให้วีซีดีมา ลูกก็เอามาให้แม่ช่วยเปิดให้ดู แม่เปิดแล้วก็ไปทำงาน สุดท้ายลูกมากราบเท้าแม่ แม่ตะลึงน้ำตาคลอ ถามว่า “มากราบเท้าแม่ทำไม?” ลูกบอกว่า “หลวงพ่อท่านสอนในวีซีดีว่า เด็กดีต้องกราบเท้าคุณพ่อคุณแม่” แม่สงสัยว่าวีซีดีของหลวงพ่อวัดไหน? ไปตามสืบถามจนสุดท้ายรู้ว่าเป็นวัดพระธรรมกาย ก็เลยมาวัด มาเจอหลวงพ่อสอนนั่งสมาธิ ก็เลยมาวัดทุกอาทิตย์ คราวนี้พ่อบ้านเริ่มสงสัยว่า แม่บ้านคงโดนล้างสมอง พ่อบ้านไม่เคยมาวัด แต่ฟังเขาว่าวัดว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเห็นแม่บ้านไปวัดทุกอาทิตย์ชักเป็นห่วง พ่อบ้านจึงต้องตามไปสืบ ด้วยการพาแม่บ้านไปวัดเองเลย แล้วมาจับผิด แม่บ้านจะไปปฏิบัติธรรมที่พนาวัฒน์ ๗ วัน ก็ตามไปจับผิด พอไปถึงพระอาจารย์เลยชวนพ่อบ้านบวช พ่อบ้านบอกเป็นไปไม่ได้ ผมเป็นผู้บริหาร งานการเยอะมาก แทบไม่มีเวลาพักผ่อน จะให้หยุดงาน ๓ เดือน Impossible เป็นไปไม่ได้
ตกกลางคืนนอนหลับฝันเห็นคุณแม่ที่เสียชีวิตไปแล้วมาบอกว่า ช่วยบวชให้แม่หน่อย ตื่นเช้าขึ้นมาไปกราบพระอาจารย์ บอกว่าจะบวช แล้วก็มีเหตุผลต่าง ๆ มารองรับมากมาย เช่น การบวช ๓ เดือน จะทำให้เราได้ทดลองระบบการทำงาน ว่าถ้าเราไม่อยู่ระบบจะรันไปอย่างไรบ้าง แล้วจะได้ฝึกผู้บริหารมือรอง ๆ ลงไปให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ถ้าทุกคนเติบใหญ่ขึ้นเราจะได้ขยายกิจการได้ เมื่อพิจารณาแล้วบวช ๓ เดือน มีแต่ข้อดี งานของเราจะพัฒนาครั้งใหญ่ เราศึกษาธรรมะของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว กลับมาคงจะพัฒนาอะไรเป็นการใหญ่ เห็นไหมว่า ถ้าคิดว่าจะไม่บวช จะมีเหตุผลเรื่องติดงาน ติดนั่น ติดนี่ แต่ถ้าคิดจะบวชก็มีเหตุผลมาเป็นกระบุงเช่นกัน สรุปก็คืออยู่ที่ว่าเห็นประโยชน์หรือเปล่า ถ้าเห็นประโยชน์ก็บวชได้
บางครั้งพ่อบ้านที่บอกว่าไปบวชไม่ได้ ถ้าไปบวชแล้วลูกเต้าจะเอาอะไรกิน ก็มีความจริงอยู่ส่วนหนึ่ง แต่พอไปดูจริง ๆ ปรากฏว่าพ่อบ้านหลายคนดื่มสุราทุกวัน ไปเล่นการพนันทุกวัน กำลังหลักจริง ๆ คือแม่บ้าน ถ้ามาบวช ๓ เดือน ช่วง ๓ เดือน พ่อบ้านไม่อยู่ คนที่เหลืออยู่ก็ต้องออกแรงช่วยกัน แต่กลับไปแล้วเป็นพ่อบ้านคุณภาพ รักษาศีล ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นการพนัน ไม่มีปัญหาทะเลาะวิวาทในครอบครัว ขยันขันแข็งทำการงาน เป็นหลักให้ครอบครัวจริง ๆ ถามว่าถ้าได้อย่างนี้ ๓ เดือน คุ้มไหม? สุดคุ้มเลย เพราะฉะนั้นมาบวชเถิด และให้เราไปชวนทุกคนมาบวช เพื่อนำสิ่งที่มีค่าสูงยิ่งไปให้เขา เขาจะได้ก้าวจากผู้นับถือพระรัตนตรัยมาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย เป็นการยกฐานะครั้งใหญ่ แล้วไม่ใช่บวชตามประเพณีเฉย ๆ แต่ได้ศึกษาธรรมะ จริง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีพระอาจารย์อบรมดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย เหมือนกับได้ทุนการศึกษาชั้นหนึ่ง ถ้ามีคนมาให้ทุนเรา บอกว่าให้ไปเรียนฟรีที่ฮาร์วาร์ด หลักสูตรระยะสั้น ๔ เดือน ให้ตั๋วเครื่องบินไปฟรี กินอยู่ฟรีหมด ไปไหม? มีใครบอกว่าผมติดงาน ไม่ว่าง ไปไม่ได้ มีไหม? รู้สึกว่าเคลียร์ภารกิจกันได้หมด จะไม่ไปได้อย่างไร
บางคนบวช ๓ เดือนไม่ได้ อยากบวช ๑ เดือน อานิสงส์ต่างกันไหม?
บวชรุ่นเข้าพรรษา คือหลักสูตร ๓ เดือน เราก็ต้องถือตามหลักสูตรนี้ บวชให้เต็มหลักสูตร ถ้าหากว่าเรายังเรียนหนังสืออยู่ หรือถ้าลาบวชเขาไล่ออกจากงานแน่ ก็ให้อุ่นเครื่องไปก่อน คือมาวัดทุกอาทิตย์ ปฏิบัติธรรมสม่ำเสมอ สะสมความพร้อมเอาไว้ แต่ถ้ามาบวชได้ให้รีบมาบวช อย่าไปรอช้า และบวชให้ครบหลักสูตร
บวชเข้าพรรษากับบวชนอกพรรษา แต่ระยะเวลา ๓ เดือนเท่ากัน อานิสงส์ต่างกันไหม?
ในช่วงเข้าพรรษามีคนมาบวชพร้อม ๆ กันเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้บวชช่วงเข้าพรรษามีโอกาสได้รับการอบรมมากกว่า แต่ถ้าบวชนอกพรรษา มาทีละคนสองคน พระอาจารย์ไม่สามารถลงไปอบรมได้ เมื่อบวชแล้วอาจจะได้รับการฝึกอบรมและการสอนธรรมะไม่เต็มที่ แต่ถ้าบวชในโครงการบวชแสนรูปที่จัดขึ้น ไม่ว่าจะในพรรษาหรือนอกพรรษา ก็มีการอบรมเป็นระบบ เพียงแต่นอกพรรษาใช้เวลาประมาณ ๔๙ วัน ถ้าในพรรษาก็ ๔ เดือน ระยะเวลาต่างกัน ธรรมะที่ได้ศึกษาก็ต้องต่างกันแน่นอน เพราะระยะเวลาเต็มที่มากกว่า ได้ศึกษาลึกซึ้งมากกว่า และบุญกุศลที่ได้ก็มากกว่า
ไปตามส่วน
จะบวชต้องดูฤกษ์ยามก่อนหรือไม่ ฤกษ์ยามมีผลมากน้อยแค่ไหน?
จะบวชพระเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัยต้องถือฤกษ์พระพุทธเจ้า ฤกษ์พระพุทธเจ้าถือความพร้อมและความสะดวก คือตั้งอยู่บนพื้นฐานของเหตุผล พระอุปัชฌาย์พร้อม โบสถ์พร้อม พระคู่สวดพร้อม พระอันดับพร้อม ทุกอย่างพร้อม นั่นคือฤกษ์ดี ถ้าไปหาหมอดู แล้วหมอดูบอกดวงของคุณฤกษ์ดีตอนตี ๒ ถามว่าจะมีพระที่ไหนมาบวชให้ การบวชจึงควรถือฤกษ์ที่เหมาะสม ที่ทุกคนสะดวกที่สุด ซึ่งทางโครงการของเราจัดไว้อย่างนั้นอยู่แล้ว การที่เรามาบวชพร้อมกัน ฤกษ์ที่บวชนั่นแหละคือฤกษ์ที่ดี เพราะทุกฝ่ายมีความพร้อมและความสะดวกมากที่สุด แล้วฤกษ์สึก ก็ถือฤกษ์สะดวกเหมือนกัน อย่าไปถือโหรา
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “ประโยชน์ย่อมล่วงเลยคนพาลผู้มัวรอฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมเป็นฤกษ์ของประโยชน์เอง ดวงดาวจะทำอะไรได้” เราต้องถือสูตรพระพุทธเจ้า เพราะเราเป็นชาวพุทธ เป็นลูกพระพุทธเจ้า
พิธีกรรมที่วัดกับศูนย์ต่างจังหวัดเหมือนกันหรือไม่?
เนื่องจากเราบวชจำนวนมาก ถ้าบวชเณรเราบวชพร้อมกันได้เป็นหมื่นเป็นแสน แต่บวชพระต้องบวชในโบสถ์ และครั้งหนึ่งบวชไม่เกิน ๓ รูป แต่ละครั้งต้องใช้เวลาอย่างน้อย ๑๕ นาที ขึ้นไป เพราะฉะนั้นวันหนึ่งบวชได้ไม่กี่รูป จึงต้องแยกกันบวชเป็นพันวัดเลย จริง ๆ คือบวชทุกจังหวัดทั่วประเทศ เกือบครบทุกอำเภอด้วย บางอำเภอมีหลายวัดด้วย ซึ่งเราถือหลักพระพุทธเจ้า คือเอาความเรียบง่ายตามวินัยสงฆ์เป็นหลัก
ความเชื่อและประเพณีที่แตกต่างของแต่ละภูมิภาคเกิดจากอะไร?
การบวชถือเป็นสิ่งที่ดีมาก ฉะนั้นจึงต้องชวนญาติพี่น้องมาร่วมแสดงความยินดีกัน พอมาถึงแล้วให้เดินเฉย ๆ ก็ดูเหงา ๆ ก็คงจะเริ่มต้นจากที่มีคนเอาปี่เอากลองมาประกอบสักหน่อย จะได้ดูคึกคัก จะได้ป่าวประกาศให้คนเขารู้ และเนื่องจากคนไทยเราชอบดื่มสุราด้วย เพราะฉะนั้นมีรำก็ต้องมีดื่ม มีล้มวัวล้มควาย จนลามไปเรื่อย ๆ กลายเป็นว่าลูกฉันบวชทั้งที ต้องจัดงานขนาดนี้ หมดเงินบางครั้งหลายแสน แล้วก็ได้บุญไม่คุ้ม แต่โครงการเราเน้นตามพระวินัยเป็นหลัก ประหยัดที่สุด และเกิดประโยชน์มากที่สุด
การศึกษาทางโลกสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในอนาคตได้ แต่การบวชให้ผลอย่างไร?
คนมักคิดว่าเมื่อไปศึกษาทางโลกกลับมาแล้วจะได้งานการที่ดี ต้องบอกว่ามาบวชได้ประโยชน์ยิ่งกว่าไปเรียน MBA ที่ฮาร์วาร์ดเสียอีก เพราะนี่คือหลักสูตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ให้ประโยชน์ทั้งในชาตินี้ คือเจริญก้าวหน้าขึ้นแน่นอน มีความสุขแน่นอน แล้วละจากชาตินี้ไปจะได้ไปเกิดบนสวรรค์ จบฮาร์วาร์ดมีหลักประกันไหมว่าจะได้เกิดบนสวรรค์ แต่การบวชนั้นนอกจากดีในชาตินี้ คือ ตัวเองมีความสุข ครอบครัวมีความสุข สังคมสงบร่มเย็น เพราะเอา หลักธรรมพระพุทธเจ้าไปใช้ ละจากอัตภาพนี้แล้วยังได้ไปเกิดบนสวรรค์ เพราะได้สร้างบุญต่อเนื่อง บางคนอาจสงสัยว่าบวชพระดีกว่าเรียนฮาร์วาร์ดจริงหรือ ขอบอกว่าจริงยิ่งกว่าจริงเสียอีก อยากรู้ต้องมาพิสูจน์
อยากบวช แต่ญาติห้ามบวชในโครงการของวัดพระธรรมกาย จะทำอย่างไรดี?
ส่วนใหญ่คนที่ห้ามมักจะยังไม่เคยมาวัดและเคยฟังข่าวจากสื่อสมัยก่อน เลยสงสัยอย่างนั้นอย่างนี้ ดีที่สุดคือต้องพิสูจน์ และถ้ามาบวช ผู้บวชก็จะได้มาพิสูจน์และชวนญาติมาพิสูจน์ ด้วยกันว่าวัดเป็นอย่างไร เพราะพระพุทธเจ้าตรัสว่า อย่าเชื่อตาม ๆ กันมา ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง
อย่างเช่นที่ผ่านมาเรามีการบวชธรรมทายาทญี่ปุ่น เมื่อปีที่แล้วจัดบวช ๒๐ กว่ารูป ผู้บวชมีคนหนึ่งเป็นศาสตราจารย์ที่ได้รับรางวัลเกียรติยศ ทั้งประเทศญี่ปุ่นหนึ่งปีมีรางวัลเดียว เขาเป็นนักวิชาการพระพุทธศาสนาที่เก่งที่สุดในรอบปีนั้น ผลงานโดดเด่นที่สุด ก่อนจะมาบวชเขาศึกษาข้อมูลจากเว็บไซต์ว่ามีเรื่องราวอะไรเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย เขาศึกษาแบบผู้มีปัญญา ไม่ใช่ว่าใครพูดอะไรก็เชื่อ ศึกษาแล้วก็อยากจะรู้ จึงต้องพิสูจน์ เขาก็เลยมาบวชธรรมทายาท หลังจากกลับไปเขาเขียนบทความจากประสบการณ์จริงว่าเป็นอย่างไรบ้าง จากการที่เขาเป็นนักวิชาการ ที่มีความรู้และเป็นที่รู้จักทั้งประเทศ และเขายังได้มาบวชเอง ปฏิบัติเอง แล้วได้ผลเอง นำมาเขียนเป็นบทความ และยังไปเล่าให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังมากมาย เขายังบอกว่าปีนี้ไม่ควรจัดแค่ ๒๐ กว่ารูปแล้ว ควรจะบวชกันสัก ๑๐๐ รูป เขาคิดว่าจะชวนคนญี่ปุ่นมาบวช ๑๐๐ คน ตอนมาบวช เขามากับศาสตราจารย์อีกคนหนึ่ง และพานักศึกษาปริญญาเอกมาอีกหนึ่งคน กลับไปแล้วสามประสานยืนยันว่าดี แล้วเราชาวไทยวัดอยู่ใกล้ ๆ แค่นี้ ควรจะมาพิสูจน์ไหม ถ้ามาพิสูจน์แล้ว เห็นว่าดี บวชเถิด บวชแล้วก็ไม่ควรบวชคนเดียว ชวนคนมาบวชด้วยกัน จะได้มาช่วยกันพิสูจน์ อย่างนี้ยิ่งดีใหญ่เลย..