วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มองยุโรป : น.พ. ปวิทัย ชัยเจริญวรรณปรากฏการณ์ของพระพุทธศาสนาในฝรั่งเศส

มองยุโรป : น.พ. ปวิทัย ชัยเจริญวรรณปรากฏการณ์ของพระพุทธศาสนาในฝรั่งเศส


หากเราได้มีโอกาสมองดูโลกของเราจากฟากฟ้า เราจะเห็นโลกของเรา ในภาพของผืนแผ่นดินและท้องน้ำที่กว้างใหญ่ เห็นอาณาเขตที่กว้างไกลจรดเส้นขอบฟ้า ไม่มีสิ่งใดระบุให้เราเห็นเลยว่า ผืนแผ่นดินที่เห็นเป็นของชาติใด ภาพของภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้ ท้องทะเล และบ้านเมืองที่ตั้งกันอยู่กระจัดกระจายนั้น เป็นสภาพธรรมชาติของโลกที่มีวิวัฒนาการมายาวนาน เหนือพื้นผิวโลกของเรา จะมองเห็นโลกเป็นโลกเดียวกัน โลกที่เป็นของมนุษย์ทุกคน ที่มีสิทธิเสมอกัน ในการดำรงอยู่ในฐานะของพลเมืองโลกคนหนึ่ง
เราเรียนกันมาแต่เด็กว่า โลกของเรามี ๗ ทวีป ๕ มหาสมุทร มีประเทศต่างๆ มากมายนับร้อยๆ และมีเมืองสำคัญต่างๆ ไม่น้อยกว่าจำนวนประเทศ มีผู้คนที่มีสีผิว สีผมแตกต่าง มีวัฒนธรรมประเพณี ศาสนา และชีวิตความเป็นอยู่ที่หลากหลายไม่เหมือนกัน การศึกษาได้สอนเราว่า เราคือคนแห่งชาติหนึ่ง มีภาษา และวัฒนธรรมเป็นของเรา และผู้ที่มาจากผืนแผ่นดินที่ไม่ได้ถูกกำหนดว่าเป็นชาติของเรา ก็จะเป็น "คนต่างชาติ" นี่คือการศึกษาที่กำหนดกติกาแก่ประชากรโลกของเราในปัจจุบัน
ผมได้มีโอกาสเป็น "คนต่างชาติ" คนหนึ่งในทวีปที่มีพรมแดนทางพื้นดินติดกับทวีปเอเชียของเรา ทวีปนี้เราเรียกกันว่า "ยุโรป" ซึ่งเป็นชื่อของเทพธิดากรีก ที่รับพรจากเทพเซอูสว่า ชื่อของเธอจะไม่มีวันตาย ณ ที่นี่ผมได้มีโอกาสเป็นคนไทย และคนพุทธ ซึ่งเป็นสิ่งที่หายากอย่างหนึ่งของที่นี่ ชีวิตการเป็นคนต่างชาติและต่างศาสนา ได้ให้ความรู้และข้อคิดแก่ผมมากมาย และนี่เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผมคิดว่า น่าจะสามารถถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์แก่ท่านผู้อ่านทุกท่านได้
คอลัมน์ "มองยุโรป" ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ เป็นการถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจสังคมและวัฒนธรรมตะวันตก โดยเน้นหนักมาทางทวีปยุโรป ซึ่งผมได้มีโอกาสใช้ชีวิตในการศึกษาอยู่ที่นี่ในช่วงเวลาหนึ่ง ผมคิดว่าสังคมไทยน่าจะได้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมตะวันตก เพราะการไหลบ่ามาของอารยธรรมตะวันตก ที่บั่นทอนวัฒนธรรมและคุณธรรมพื้นฐานของสังคมไทยกำลังรุนแรงขึ้น ปัญหาเยาวชนของบ้านเรากำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติ ซึ่งเรามักจะพูดเสมอว่า เป็นเพราะอิทธิพลของการไหลบ่าของกระแสวัฒนธรรมตะวันตก และแน่นอนว่าสังคมไทยไม่อาจแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยการปิดรับการรับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆจากสังคมโลก ดังนั้น หากเรามีวิธีเรียนรู้สังคมโลกที่ถูกต้อง ย่อมจะเป็นประโยชน์ในการช่วยแยกแยะความเหมาะสมในการปรับตัวตามวัฒนธรรมโลกาภิวัฒน์ได้ เพราะการมองด้วยความเข้าใจ ย่อมจะช่วยให้เกิดความมั่นใจได้เสมอ
ผมจะขอเริ่มต้นด้วยประสบการณ์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นผมกำลังศึกษาอยู่ที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเรอเน่ เดกาส์ หรือเรียกอีกอย่างว่ามหาวิทยาลัยปารีส ๕ (ประเทศฝรั่งเศส จะใช้ระบบเรียกมหาวิทยาลัยในเมืองใดๆ เป็นลำดับตัวเลข โดยจะใช้กับมหาวิทยาลัยภาครัฐ ที่ปารีสมีมหาวิทยาลัยภาครัฐอยู่ ๑๐ แห่ง) นักศึกษาทุกคนจะต้องทำงานวิจัย (ระดับปริญญาตรี ปีสุดท้าย) ซึ่งผมได้นำเสนออาจารย์ที่ปรึกษาสองท่าน ในเรื่องปรากฏการณ์ของพระพุทธศาสนาในประเทศฝรั่งเศส และจะต้องเก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ หรือแบบสอบถาม ในที่สุด ผมจึงได้ตัดสินใจไปขอแจกแบบสอบถามที่ศูนย์สมาธิของพุทธแบบเซนที่เป็นศูนย์ใหญ่แห่งหนึ่งในปารีส ศูนย์เซนแห่งนี้ก่อตั้งโดยอาจารย์ชาวญี่ปุ่น ชื่อ ดีชิมารุ เมื่อประมาณ ๓๐ ปีที่แล้ว ตั้งอยู่ที่ ถนน Tolbiac อยู่ในเขตปารีส ๑๓ หรือเรียกอีกอย่างว่าเขตคนจีน หรือเขตคนเอเชีย
วันแรกที่ไปถึง ผมก็ได้พบเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ชาวฝรั่งเศสที่นั่น เขาได้ชวนให้ร่วมทำซาเซนกับสมาชิกของเขา (ซาเซนก็คือการนั่งสมาธิแบบเซน) ผมคิดว่ามาทั้งที ก็น่าจะได้เรียนรู้หลายๆ อย่าง จึงได้ตามเขาไปบนชั้นสอง ไปถึงเราก็ถอดรองเท้า มีที่วางรองเท้าดูเรียบร้อยเป็นระเบียบ แล้วเขาก็เอาอาสนะให้ เป็นหมอนกลมๆ หนามาก สีดำ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๒ ฟุต แล้วก็พาไปห้องเก็บเสื้อนอก ก็ถอดเสื้อนอกกัน คนที่ชวนเขาก็เปลี่ยนชุดเป็นชุดกิโมโนดำ คล้ายกับที่พวกซามูไรใช้กัน เขาแนะนำผมด้วยว่า ถ้าถอดถุงเท้าจะดีกว่า ผมก็ถอดตามคำแนะนำ จากนั้นก็เดินไปห้องปฏิบัติธรรมซึ่งอยู่ติดกันกับห้องเก็บเสื้อนอก ช่วงนั้นก็มีคนเข้ามาเรื่อยๆ ทุกคนสวมกิโมโนดำ ทั้งชายและหญิง ผู้มาทำซาเซนส่วนใหญ่เป็นชายครับ เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลผมอยู่ ก็ช่วยแนะนำวิธีนั่งแบบเขาให้ เขาไม่ให้หลับตา ให้สายตามองลงต่ำ ทุกคนหันหน้าเข้าข้างฝา แล้วไม่ให้คิดอะไร ให้สนใจแต่ลมหายใจออก ฯลฯ และแนะนำให้กับหัวหน้าพิธีกรรมในวันนั้นว่า ผมเป็นคนใหม่ หัวหน้าพิธีกรรมก็จัดให้อยู่ในส่วนสำหรับคนมาใหม่ ซึ่งบริเวณพื้นที่สี่เหลี่ยมขนาดประมาณ ๓ คูณ ๕ เมตร มีฉากสูงขนาดหน้าอกกั้นไว้จากห้องใหญ่ อยู่ตรงทางเข้าพอดี วันนั้นมีคนใหม่มา ๓ - ๔ คน (ทราบจากชุด คือไม่ได้สวมกิโมโนดำ) และมีคนเก่าบางคนมานั่งในส่วนนี้ด้วยกันด้วย สำหรับในห้องใหญ่นั้นมีขนาดประมาณ ๑๐ คูณ ๑๕ เมตร เขาจะตั้งองค์พระไว้ตรงกลางห้อง และคนจะนั่งรอบๆ หันหน้าเข้าหาข้างฝา คนประมาณ ๖๐ คนน่าจะได้
เขาก็เริ่มต้น ด้วยการให้ต่างคนต่างนั่ง อย่างเป็นระเบียบ (พอเริ่มพิธี เขาจะปิดประตูเลย งดรับผู้มาช้า เข้มเอาเรื่องเหมือนกัน) หลังจากนั่งไปได้ครึ่งชั่วโมง ก็มีเสียงพูดภาษาญี่ปุ่น ๓-๔ พยางค์ มีเสียงลุก แล้วก็มีเสียงไม้ตีหลัง ดังปึกๆๆ วนไปในห้องใหญ่ ทราบตอนหลังว่า จะมีเจ้าหน้าที่เดินไป ถ้าใครง่วงก็ขอให้เขาตีหลังให้ ตอนที่เขาเดินมาห้องแยก ผมไม่ทราบเทคนิค เลยไม่ได้ขอให้เขาตีหลังให้ เสร็จแล้วก็นั่งต่อกันไปอีกประมาณ ๑๕ นาที จากนั้นก็เป็นการเดินสมาธิ คือ ย่างก้าว ตอนหายใจออก ก้าวช้ามาก สั้นๆ ใช้เวลาอีก ๑๕ นาที และต่อด้วยการสวดมนต์ ภาษาญี่ปุ่น (ทั้งห้องไม่มีคนญี่ปุ่นแม้แต่คนเดียวครับ ฝรั่งเศสล้วน ผิวดำก็มีปนมาบ้าง ก็น่าทึ่งเหมือนกัน) มีเสียงกลอง กระดิ่ง และบักฮื้อ ควบคุมจังหวะ สวดกัน ๓ รอบ สวดเสร็จหนึ่งรอบ ก็กราบหนึ่งครั้ง ช่วงสวดมนต์ ทุกคนจะหันหน้าไปที่องค์พระที่อยู่กลางห้อง ความเร็วของการสวดมนต์จะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนรอบสุดท้ายจะเร็วที่สุด จากนั้นก็นั่งกันต่ออีกพักหนึ่ง รอบนี้จะมีการอ่านคติธรรมของปรมาจารย์ประกอบอีก แปลเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้ว ใช้เวลาอีกประมาณ ๑๕ นาที แล้วก็สวดมนต์ คล้ายอธิษฐานอีก ๒-๓ นาที เสียงช่วงนี้ทุ้มต่ำ คล้ายเสียงสวดของพระทิเบต แต่จะสวดกันเร็ว ปิดท้ายด้วยเสียงประกาศเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งก็คือ เสร็จพิธี เขาก็ยกมือไหว้ข้างฝา (แบบแขนกางๆ สไตล์ญี่ปุ่น) แล้วก็หันกลับไปไหว้พระพุทธรูป และจากนั้นก็แสดงความเคารพต่อกัน สังเกตได้ว่าผู้อยู่กลางห้อง ชุดกิโมโนดำนั้น จะมีสีพาดเป็นสีน้ำตาลแบบสีจีวรพระป่า ถามเขาตอนหลัง จึงทราบว่า ผู้ที่แต่งชุดนี้คือพระ แต่จะแต่งเฉพาะในพิธีกรรม พอเสร็จก็เปลี่ยนชุด ใส่กางเกงยีนส์ เสื้อหนังได้ ก็เป็นสไตล์ของพระแบบญี่ปุ่น
หลังเสร็จพิธีก็ทยอยกันออกจากห้องอย่างสงบและเป็นระเบียบที่ประตูออก เขาจะต้องหันหลังกลับมาไหว้พระที่อยู่กลางห้องก่อน ทีละคู่หรือสามคน ตามลักษณะแถว คนต่อมาก็จะรออย่างสงบ ทยอยทำกันไปตามลำดับ จากนั้นก็เปลี่ยนชุดจากกิโมโนไปเป็นชุดที่ใส่มา ใครที่ไม่มีธุระไปไหนก็จะไปดื่มน้ำชากัน คงเป็นการคุยธรรมะกัน ผมขอเขากลับเลย เพราะเลยเวลาเที่ยงวันไปพอสมควรแล้ว 
ที่ตั้งใจเล่าเรื่องนี้ เพราะได้ข้อคิด เกี่ยวกับบรรยากาศพิธีกรรมที่เกิดจากความเป็นระเบียบเรียบร้อย บรรยากาศตลอดกิจกรรม จะสงบ เรียบร้อย และทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ตามมาความเงียบในระหว่างที่นั่งสมาธิ และประกอบพิธีกรรม ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมมีความรู้สึกที่ดีมากครับ
ผมได้ถามตนเองต่ออีกว่า ญี่ปุ่นเขามีดีอะไร ที่วันนี้ฝรั่งยอมทำพิธีกรรม ตามแบบฉบับของญี่ปุ่นทุกอย่าง ผมตอบกับตนเองว่า อาจารย์ญี่ปุ่นวางระบบการฝึกความเคารพ วินัย และความอดทน ให้แก่ผู้มาปฏิบัติธรรมทุกคนครับ และผู้มาฝึกก็ดูจะยินดีและพอใจในการฝึกตนด้วย 
และน่าสนใจที่เราพบว่า ฝรั่งเขาก็เหมือนคนไทย ต้องการที่พึ่งทางใจทั้งสิ้น จากที่เคยคาดว่าเขาคงรู้เรื่องอะไรต่อมิอะไรมากมาย และเป็นผู้นำของโลกเสมอ แต่วันนั้นภาพของฝรั่งจำนวนไม่น้อยที่กำลังตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้และศึกษาพระพุทธศาสนา และจำนวนไม่น้อยกำลังนับถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึก จากคำถามที่ผมตั้งไว้ในการทำรายงาน ได้นำไปสู่การเรียนรู้วงการพระพุทธศาสนาของที่นั่น ผมคิดว่าผลการศึกษาครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านพอสมควร และตั้งใจจะทยอยนำเสนอเรื่องนี้ในวารสารกัลยาณมิตรฉบับต่อๆ ไป 
การที่เราเข้าใจสังคมรอบตัวของเราย่อมจะช่วยให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม จากการไปศูนย์ปฏิบัติธรรมเซนครั้งนั้น จนถึงผลการศึกษาที่ได้รับ ผมคิดว่าความเป็น "คนต่างชาติ" ของผม ณ ทวีปยุโรป กำลังลดลง ในขณะเดียวกัน ผมกลับตระหนักมากขึ้นว่า ผมกำลังพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องที่จะเป็น "ประชากรแห่งโลก" ที่ดีคนหนึ่ง 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล