วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ คัมภีร์ใบลานราษฎร์ ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย

 

 

บทความพิเศษ     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 

คัมภีร์ใบลานราษฎร์
ร่วมสืบศาสน์และชาติไทย

     พระพุทธศาสนาเริ่มเข้ามาประดิษฐานในแผ่นดินสุวรรณภูมิเป็นครั้งแรก ราวปีพุทธศตวรรษที่ ๓ เมื่อครั้งพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ มหาราชผู้ยิ่งใหญ่แห่งอินเดีย โปรดเกล้าฯ ให้พระโสณเถระและพระอุตตรเถระเดินทางจากแคว้นมคธมาเผยแผ่พระพุทธศาสนา ณ ดินแดนแถบนี้ ซึ่งช่วงเวลานั้นประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสุวรรณภูมิ ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง และมีศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่จังหวัดนครปฐม ตามข้อสันนิษฐานจากหลักฐานทางโบราณคดี นับแต่นั้นพระพุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ก็เจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ มีการสร้างศาสนสถานและถาวรวัตถุมากมาย รวมถึงมีการจารึกเรื่องราวทางพระพุทธศาสนาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกด้วย

 

    ในดินแดนแหลมทองของเรานี้ มีการจารจารึกคัมภีร์พระไตรปิฎกลงบนใบลานเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๐๒๐ ตรงกับสมัยพระเจ้าติโลกราช กษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ อาณาจักรล้านนา พระเจ้าติโลกราชทรงเลื่อมใส ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา และทรงอุปถัมภ์ให้มีการสังคายนาตรวจชำระและจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด) เมืองเชียงใหม่ พระไตรปิฎกฉบับที่สอบชำระในสมัยของพระองค์นี้ ถือเป็นคัมภีร์ที่เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของพระพุทธศาสนาในล้านนาที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน

 

 

"พระเจ้าติโลกราชโปรดเกล้าฯ ให้ชุมนุมพระเถรานุเถระ โดยมีพระธรรมทินมหาเถระเจ้าอาวาสวัดป่าตาล เป็นประธานสังคายนาชำระคัมภีร์พระไตรปิฎก"

 

พระสถูปเจดีย์พระเจ้าติโลกราช สถานที่ถวายพระเพลิงพระศพของพระเจ้าติโลกราช ณ วัดโพธารามมหาวิหาร (วัดเจ็ดยอด)

 

 

        ธรรมเนียมการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายไว้ในพระศาสนา เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบเนื่องเรื่อยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ถือเป็นราชธรรมเนียมของกษัตริย์ทุกพระองค์ในการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานถวายเป็นพุทธบูชา คัมภีร์ใบลานที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้างหรือโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง รวมถึงคัมภีร์ที่พระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนขุนนางชั้นผู้ใหญ่สร้างขึ้น เรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง หรือ ฉบับของหลวง ซึ่งคัมภีร์แต่ละฉบับจะมีลักษณะเฉพาะรวมทั้งสัญลักษณ์บ่งบอกถึงสมัยและรัชกาล อาทิ ฉบับล่องชาด เป็นคัมภีร์ใบลานสมัยรัชกาลที่ ๔ หรือ ฉบับทองทึบเป็นคัมภีร์ใบลานสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้น

 

     คัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับรองทรงในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขอบลานโดยรอบ ๔ ด้าน ปิดทองทึบ กึ่งกลางขอบด้านยาวมีชาดล่องกลาง ที่รอยต่อของทองกับชาดทั้งด้านขวาและซ้ายมีเส้นดำคั่นเป็นขอบ เขียนลายคู่ขนานกับเส้นดำ ลักษณะเป็นลายเส้นคล้ายลายใบไม้เครือเถา

       การที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักสำคัญในการสร้างคัมภีร์บันทึกคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้สำเร็จเป็นมาตรฐาน ถือเป็นการวางรากฐานทางวัฒนธรรมที่ทำให้สถาบันพระพุทธศาสนามั่นคง และจรรโลงจิตใจ ปลูกฝังศีลธรรมอันดีงามแก่เหล่าพสกนิกรใต้ร่มพระบารมี ให้อยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์บนแผ่นดินธรรม โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์รวมจิตใจให้ทั้ง ๓ สถาบันหลัก คือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์อยู่คู่ ผืนแผ่นดินไทย 


    ในขณะเดียวกันฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา หรือราษฎรทั่วไปที่หวงแหนพระธรรมคำสอน ก็เกิด  จิตศรัทธาสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลาน ซึ่งเรียกว่า คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ หรือ ฉบับเชลยศักดิ์ เพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาและสืบทอดศี]ธรรมให้หยั่งรากลึกอยู่คู่แผ่นดินบ้านเกิดเมืองนอนไปควบคู่กัน

 

      ป้ายฉลากไม้อักษรธรรมล้านนาระบุว่าคัมภีร์ใบลานฉบับนี้เป็นพระไตรปิฎกบาลี ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค สร้างโดยครูบากัญจนอรัญญวาสีเถระและเหล่าศิษยานุศิษย์ ณ เมืองน่าน เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรือง

 

     

        คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ ที่สร้างขึ้นมีเพียง ๕ ฉบับ เท่านั้น คือ ฉบับทองทึบฉบับล่องชาด ฉบับล่องรัก ฉบับรักทึบ ฉบับลานดิบ เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้มีชื่อเรียกฉบับเหมือนกับฉบับของหลวง แต่คัมภีร์ใบลานที่สร้างโดยสามัญชน ไม่มีสัญลักษณ์ที่สามารถบ่งบอกสมัยหรือรัชกาลได้เหมือนคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

 

ชื่อฉบับ คัมภีร์ใบลานฉบับทองทึบ

เอกลักษณ์ ขอบคัมภีร์ทาทองทึบทั้ง ๔ ด้าน

ชื่อฉบับคัมภีร์ใบลานฉบับล่องชาด

เอกลักษณ์ ขอบคัมภีร์ด้านข้างทางยาวทาชาดตรงกลางทาทองขนาบ ๒ ข้าง

ชื่อฉบับคัมภีร์ใบลานฉบับล่องรัก

เอกลักษณ์ ขอบคัมภีร์ทารักตรงกลางทาทองขนาบ ๒ ข้าง

ชื่อฉบับคัมภีร์ใบลานฉบับรักทึบ

เอกลักษณ์ คัมภีร์ใบลานฉบับรักทึบ

ชื่อฉบับ คัมภีร์ใบลานฉบับลานดิบ

เอกลักษณ์ ขอบคัมภีร์ไม่มีการตกแต่ง

 

    หากพิจารณาจากความวิจิตรประณีต พิถีพิถัน ตั้งแต่การคัดสรรใบลาน ฝีมือการจาร 
เนื้อผ้าห่อคัมภีร์ วัสดุที่ใช้ทำไม้ประกับ และป้ายชื่อคัมภีร์ จะเห็นว่าคัมภีร์ใบลานฉบับหลวง
มีความสมบูรณ์ ถูกต้อง และงดงามกว่าคัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์ แต่กระนั้นคัมภีร์ใบลานทั้ง ๒ แบบ ต่างก็มีความสำคัญและทรงคุณค่าสูงสุด ด้วยกลั่นออกมาจากจิตใจและความเคารพเทิดทูนพระศาสนา

 

ใบปกหน้า

คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์

หน้าใบลาน

คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์

ไม้ประกับ

คัมภีร์ใบลานฉบับหลวง

คัมภีร์ใบลานฉบับราษฎร์

 

    พุทธศาสนิกชนในแผ่นดิน ไม่ว่าจะยิ่งด้วยยศศักดิ์อย่างพระเจ้าอยู่หัว ผู้ปกครองประเทศ หรือสามัญชนคนธรรมดาอย่างอาณาประชาราษฎร์ ต่างก็มีใจที่รักและเทิดทูนพระพุทธศาสนา  หวงแหน ปกปักรักษา สืบทอดคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คำสอนอันทรงคุณค่าต่อจิตใจให้คงอยู่ต่อไป ท่านทั้งหลายเหล่านั้นไม่ว่าจะกี่ยุคสมัยจึงหลอมรวมดวงใจเป็นหนึ่งเดียวกัน เก็บรวบรวมคำสอนล้ำค่านี้บันทึกไว้ในคัมภีร์ใบลานส่งทอดสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน การสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกถวายไว้ในพระศาสนา จึงมิใช่เป็นเพียงแค่ธรรมเนียม มิใช่เป็นเพียงเพราะปฏิบัติสืบต่อกันมา แต่เป็นความเพียรอุตสาหะที่กลั่นจากความรักและศรัทธา ที่ปรารถนาจะให้สมบัติล้ำค่านี้สืบทอดต่อไปชั่วลูกชั่วหลาน คัมภีร์ใบลานหลวงและราษฎร์จึงทรงความงดงามและมีคุณค่ายิ่ง เป็นมรดกของแผ่นดิน ให้แผ่นดินไทยได้ชื่อว่าเป็น “แผ่นดินธรรม”..

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล