วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เหตุแห่งความมีอายุยืน

กุศลกรรมบถ ๑๐
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 

 

เหตุแห่งความมีอายุยืน


          “..ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นฝนในฤดูฝนหรือกันแดดในฤดูร้อน เพราะฉะนั้นธรรมบาลกุมารย่อมได้รับการคุ้มครองโดยธรรม
เราจึงเชื่อว่า เขาต้องไม่ตายแน่นอน..”

 

          จากธรรมภาษิตที่อ้างมาข้างต้นนั้น เรามาหาคำตอบกันเลยว่า ธรรมบาลกุมารประพฤติธรรมอะไร จึงเป็นเหตุให้ผู้พูด      มั่นใจยิ่งนักว่า เขาจะไม่ตายและมีชีวิตอยู่     ต่อไปอย่างแน่นอน เรื่องก็มีอยู่ว่า..
 ในสมัยก่อน มีบ้านของผู้มีบุญครอบครัวหนึ่ง ชื่อบ้านธรรมบาล หมายถึง  บ้านที่ทุกคนในครอบครัวประพฤติธรรม          มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมโลก           ที่สำคัญ ทุกคนในบ้านต่างรักษากุศลธรรม   ๑๐ ประการ ได้อย่างบริสุทธิ์ จนชาวบ้านยกย่องสรรเสริญให้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน พร้อมทั้งเรียกครอบครัวนี้ว่า “ครอบครัวธรรมบาล” ทำนองเดียวกันกับ “บ้านกัลยาณมิตร”              บ้านแสงสว่างของโลกอย่างพวกเรานี่แหละ    ที่ทุกคนในบ้านมุ่งมั่นสร้างบารมี ชักชวน     ชาวโลกให้มาทำความดี ชักชวนนั่งสมาธิ     มิได้ขาด จนเป็นครอบครัวแก้ว ครอบครัวธรรมกาย ครอบครัวตัวอย่างของโลก
         เมื่อทุกคนในบ้านประพฤติธรรม         ผู้มีบุญ คือ พระบรมโพธิสัตว์ ก็ลงมาเกิด      พ่อแม่ตั้งชื่อว่า “ธรรมบาลกุมาร” เมื่อเติบโตขึ้น พ่อแม่ได้ส่งไปเรียนหนังสือที่เมืองตักสิลา ธรรมบาลกุมารเป็นลูกศิษย์ที่มีสติปัญญาเป็นเลิศ จึงได้รับเลือกเป็นหัวหน้า วันหนึ่งลูกชายคนโตของอาจารย์เสียชีวิตกะทันหัน อาจารย์และบรรดาลูกศิษย์ต่างพากันร้องไห้คร่ำครวญ แม้ฌาปนกิจศพลูกชายอาจารย์แล้ว ก็ยัง     เฝ้าร้องไห้รำพึงรำพันที่เชิงตะกอน มีเพียงธรรมบาลคนเดียวเท่านั้นที่ไม่ร้องไห้
 ธรรมบาลถามเพื่อน ๆ ว่า “ทำไมลูกชายอาจารย์ต้องตายในวัยที่ไม่สมควร” เพื่อน ๆ ตอบว่า “สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง       เป็นทุกข์ บังคับบัญชาไม่ได้ มีเกิดแล้วก็ต้องมีดับ พวกเราห้ามความตายของลูกชายอาจารย์ไม่ได้” แต่ธรรมบาลสงสัยว่า “มันก็จริงที่ว่าสังขารไม่เที่ยง แต่ก็ควรตายตอนแก่มิใช่หรือ” เพื่อน ๆ จึงถามว่า “แล้วที่บ้านของท่านไม่มีคนตายขณะที่ยังหนุ่มเลยหรือ” ทุกคนต่างอัศจรรย์ไปตาม ๆ กัน ที่ได้คำตอบว่า บ้านของธรรมบาลไม่มีใครตายตั้งแต่ยังเด็กหรือยัง  หนุ่ม และยังเป็นประเพณีสืบต่อกันมายาวนาน ของบ้านนี้อีกด้วย

 

 


         อาจารย์ซึ่งกำลังเศร้าซึมถึงลูกชาย ได้ยินเรื่องอัศจรรย์นี้แล้ว เกิดความประหลาดใจ คิดว่า ลูกศิษย์คนนี้พูดเรื่องเหลือเชื่อเกินไป  จึงอยากทดสอบว่า ลูกศิษย์พูดจริงแค่ไหน   ถ้าเป็นจริงตนจะได้เรียนวิชานี้มาเป็นความรู้สอนลูกศิษย์ต่อไป หลังจากฌาปนกิจลูกชายแล้ว อาจารย์กล่าวกับธรรมบาลว่า ท่านจะไปธุระนอกเมืองหลายวัน ให้ธรรมบาลช่วยสอนศิลปวิทยาแก่ลูกศิษย์ที่มาใหม่แทนด้วย
 จากนั้น อาจารย์ได้เก็บกระดูกแพะ   ตัวหนึ่งใส่กระสอบ ให้คนรับใช้ถือตามหลัง แล้วออกเดินทางไปบ้านของธรรมบาล เมื่อไปถึง อาจารย์ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดี ขณะนั่งสนทนาธรรมกัน อาจารย์แสร้งกล่าวกับพ่อของธรรมบาลว่า “ท่านพราหมณ์ ลูกชายของท่านเป็นคนฉลาดหลักแหลม เรียนจบไตรเพท และศิลปะ ๑๘ ประการ เป็นผู้นำของลูกศิษย์ทั้งหมด แต่น่าเสียดายที่ลูกชายของท่าน      เสียชีวิตแล้ว”
       ทันทีที่พราหมณ์ฟังจบ เขาตบเข่าหัวเราะลั่น สร้างความงุนงงให้แก่อาจารย์มาก อาจารย์จึงถามขึ้นว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องตลกเลย ท่านหัวเราะทำไม” พราหมณ์ตอบว่า “หัวเราะเรื่องที่ท่านพูดน่ะสิ ที่ตายคงจะเป็นคนอื่นกระมัง” อาจารย์เห็นว่าทุกคนในบ้านไม่เชื่อ จึงหยิบกระดูกออกมาให้ดูเป็นหลักฐาน         ถึงกระนั้นคนในบ้านก็แย้งกลับไปว่า “สงสัยจะเป็นกระดูกสัตว์กระมัง เรามั่นใจว่า ลูกชายเรายังไม่ตายหรอก เพราะในตระกูลนี้ตลอด ๗ ชั่วคน ยังไม่เคยมีใครตายตอนเป็นหนุ่มเลย”
 อาจารย์รู้สึกอัศจรรย์ใจยิ่งนัก จึงถามถึงเหตุผลว่า “การที่คนหนุ่มไม่ตายเป็นเพราะกรรมอะไร ทำไมตระกูลของท่านจึงไม่มีใครตายตอนยังหนุ่ม” พราหมณ์เล่าให้ฟังว่า “พวกเราประพฤติธรรมกัน ไม่พูดเท็จ งดเว้นกรรมชั่วทั้งหมด ก่อนจะให้ทาน พวกเราก็มีจิตเลื่อมใส ขณะให้ก็มีใจศรัทธา ครั้นให้แล้วก็ตามนึกถึงตลอดเวลา จิตเบิกบาน ไม่รู้สึกเสียดายในทานนั้นเลย ฉะนั้นคนในบ้านของเราจึงไม่ตายในวัยที่ยังหนุ่ม พวกเรางดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมยสิ่งของของคนอื่น ไม่นอกใจสามีภรรยา เว้นขาดจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดจาเพ้อเจ้อ       ทุกคนพูดแต่เรื่องที่เป็นอรรถเป็นธรรม พูด    ยกใจกันให้สูงขึ้น ไม่โลภอยากได้ของใคร และ   ไม่คิดพยาบาทปองร้ายคนอื่น ใจของทุกคน  มุ่งตรงต่อหนทางพระนิพพานอย่างเดียว เพราะฉะนั้นคนในบ้านจึงมีอายุยืน”
       หลังจากนั้น พราหมณ์ได้กล่าวเป็นธรรมภาษิตว่า “ธรรมที่ประพฤติแล้ว ย่อม    นำสุขมาให้ ผู้ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่ที่กางกั้นฝนในฤดูฝน หรือกันแดดใน     ฤดูร้อน เพราะฉะนั้นธรรมบาลย่อมได้รับการคุ้มครองโดยธรรม เราจึงเชื่อว่าเขาต้องไม่ตายแน่นอน”

 

 


         อาจารย์ได้ฟังถ้อยคำที่เป็นสิริมงคลเช่นนั้น เกิดมหาปีติว่าการเดินทางมาในครั้งนี้ไม่สูญเปล่า เพราะได้รู้วิธีที่จะทำให้มีอายุยืน และไม่ต้องตายเมื่อยังไม่ถึงกาลสมควร          จึงขอโทษทุกคนในบ้าน แล้วเล่าความจริงว่า “ที่มาก็เพื่อจะทดสอบดูเท่านั้น ขณะนี้ลูกของท่านสุขสบายดี ไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ไข้ แถมตั้งใจศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพ และเป็นที่รักของผองเพื่อนอีกด้วย” 
        จากนั้น อาจารย์ก็จดจำหัวข้อธรรมที่ครอบครัวของธรรมบาลประพฤติ เพื่อนำไป  สั่งสอนและเผยแผ่ให้ลูกศิษย์ประพฤติปฏิบัติกันต่อไป ครั้นลูกศิษย์แต่ละคนนำกลับไปปฏิบัติที่บ้าน พร้อมทั้งแนะนำสมาชิก              ในครอบครัวให้ลองทำด้วยกัน ความรัก   ความสมัครสมานสามัคคี ความอบอุ่นใจ        ก็พลันบังเกิดขึ้นในบ้านอย่างเห็นได้ชัด ทุกคนปลอดกังวล ประกอบอาชีพการงานด้วยความสบายใจ ไม่มีความหวาดระแวงกันอีกต่อไป ไม่มีการทะเลาะวิวาท ไม่ทำร้ายกัน อายุขัยก็ยืนยาวขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ยุคนั้นผู้คนอายุยืนมากด้วยอำนาจการประพฤติกุศล-กรรมบถ ๑๐ ประการ

 

 


          จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ถ้าคนเราตั้งใจทำความดีเต็มที่ รักษากุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ย่อมทำให้มีความมั่นใจในชีวิต แม้ในเรื่องความตายที่ไม่มีใครปรารถนา แต่ผู้ประพฤติธรรมกลับเห็นเป็นเรื่องธรรมดา  เพราะตระหนักดีว่า “มีเกิดย่อมมีตาย ไม่มีใครหลีกหนีความตายไปได้”     เพียงแต่เราสามารถเลื่อนการตายออกไปได้ หมายถึง ควรตายในวัยที่สมควรตาย คือ       วัยชรา ไม่ใช่ตายในเวลาที่ยังหนุ่มยังแน่น      ในขณะทำมาหากินก็สั่งสมบุญควบคู่ไปด้วย เมื่อถึงคราวตายก็ไม่หวั่นไหวในมรณภัยแม้เพียงเล็กน้อย เพราะพร้อมเสมอต่อการไปสู่สัมปรายภพอย่างปลอดภัยและมีชัยชนะ เหมือนการย้ายถิ่นฐานบ้านช่องไปอยู่ที่อื่น เป็นการย้ายภพภูมิ ย้ายไปเสวยสุข หลังจากที่ทนทุกข์แบกสังขารร่างกายที่เหม็นเน่านี้ เพื่ออาศัยเป็นที่สั่งสมบุญสร้างบารมี นี่คือการดำเนินชีวิตของบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อน     ที่พวกเรานักสร้างบารมีในยุคปัจจุบันก็สามารถทำได้
        ชีวิตของเราจะมีคุณค่า กาลเวลาจะทรงความหมายอย่างยิ่ง ถ้าให้เศรษฐกิจกับจิตใจไปด้วยกัน และหมั่นประคองตัวเองให้มีความสะอาดทั้งกาย วาจา ใจ อยู่เสมอ


        “สมบัติใดในมนุษย์และสมบัติ     ในสวรรค์ สมบัติทั้งสองนั้น หากผู้มีศีลปรารถนา ก็ทำได้ไม่ยาก อนึ่ง ใจของผู้มีศีลบริสุทธิ์ ย่อมแล่นไปสู่นิพพานสมบัติ อันเป็นสมบัติที่สงบระงับสุดยอดโดยแท้” (พุทธพจน์)

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๓๖ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล