ปกิณกธรรม
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ. ๙ / ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป
|
วันวิสาขบูชา วันพระพุทธเจ้า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เอกบุรุษเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติขึ้นเพื่อประโยชน์แก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์สุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เอกบุรุษผู้เลิศ คือพระตถาคตสัมมาสัมพุทธเจ้า
ช่วงนี้ใกล้ถึงวาระมหามงคลสำหรับเหล่าพุทธศาสนิกชนอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือ วันวิสาขบูชา ซึ่งเป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรงกับวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๖ ฉะนั้น วันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่เราควรมาตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จะได้เกิดความปีติใจว่า เป็นบุญลาภอันประเสริฐที่เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา ได้สั่งสมบุญ กุศลที่จะนำตนไปสู่สวรรค์นิพพาน เพราะพุทธบารมี- ธรรมอันไม่มีประมาณนี่เอง
ความหมายของวันวิสาขบูชา
คำว่า วิสาขบูชา แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้า เนื่องในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ" ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนพฤษภาคม แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหน ก็เลื่อนไปเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ กลางเดือน ๗ หรือราวเดือนมิถุนายน วันวิสาขบูชา เป็นวันที่ ๓ เหตุการณ์ สำคัญที่เกี่ยวกับวิถีชีวิตของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบกันในวันเพ็ญ เดือน ๖ แม้จะมีช่วงระยะเวลาห่างกันหลายสิบปี ซึ่งเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ ประการ ได้แก่
๑. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ
เมื่อพระนางสิริมหามายา พระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ ทรงพระครรภ์ แก่จวนจะคลอด พระนางเสด็จแปรพระราชฐานไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ เพื่อทรงให้กำเนิดพระราชโอรสในตระกูลของพระนาง ตามประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะเสด็จแวะพักผ่อนพระอิริยาบถใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ได้ประสูติพระราชโอรสใต้ต้นสาละนั้น ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ครั้นพระกุมารประสูติได้ ๕ วัน ก็ได้รับการถวายพระนามว่า "สิทธัตถะ" แปลว่า "ผู้มีความสมหวังดังใจปรารถนา"
เมื่อข่าวการประสูติแพร่ไปถึงอสิตดาบสผู้มีความคุ้นเคยกับพระเจ้าสุทโธทนะ ดาบสจึงเดินทาง ไปเข้าเฝ้า เมื่อเห็นพระราชกุมารก็ทำนายได้ทันทีว่า "พระราชกุมารนี้จักได้เป็นพระพุทธเจ้า" แล้วกราบลงแทบพระบาทของพระกุมาร พระเจ้าสุทโธทนะทอดพระเนตรเห็นเหตุการณ์นั้นทรงรู้สึกเปี่ยมล้นด้วยปีติ ถึงกับทรุดพระองค์ลงอภิวาทพระราชกุมาร ตามอย่างดาบส
๒. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้
หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี มีพระชนมายุ ๓๕ พรรษา เจ้าชายสิทธัตถะก็ทรงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดของวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า "พุทธคยา" เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย
สิ่งที่ตรัสรู้ คือ อริยสัจ ๔ เป็นความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปที่ต้น มหาโพธิ์ และทรงเจริญสมาธิภาวนาจนได้บรรลุญาณ ๓ คือ ยามต้น : ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติในอดีตได้ ยามสอง : ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งการเกิดและดับของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ด้วยการมีตาทิพย์สามารถเห็นการจุติและอุบัติของสรรพสัตว์ทั้งหลาย ยามสาม : ทรงบรรลุ "อาสวักขยญาณ" คือ รู้วิธีกำจัดกิเลสด้วย อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖
๓. วันวิสาขบูชาเป็นวันที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน
เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้และแสดงธรรมเป็นเวลานานถึง ๔๕ ปี จนมีพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ได้ประทับจำพรรษา ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ระหว่างนั้นทรงประชวรอย่างหนัก ขณะ เดียวกันพระองค์ได้เสวยสุกรมัททวะที่นายจุนทะตั้งใจ ทำถวาย แล้วเกิดอาพาธ แต่ทรงอดกลั้นมุ่งเสด็จ ไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน
เมื่อถึงยามสุดท้ายของคืนนั้น พระพุทธองค์ก็ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ของตนและประโยชน์ของผู้อื่นให้บริบูรณ์ด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน
สำหรับการปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชาในสมัย สุโขทัยนั้น มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศว่าเมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้าและฝ่ายใน รวมทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนครด้วยดอกไม้ พร้อม กับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็น เวลา ๓ วัน ๓ คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์และบรมวงศานุวงศ์ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ ครั้นตกเวลาเย็น ก็เสด็จพระราชดำเนินไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรง เวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษา ศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน แด่พระภิกษุ สามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯประวัติความเป็นมา
วันวิสาขบูชาในประเทศไทย
ปรากฏหลักฐานว่า วันวิสาขบูชาเริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๒๐ พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์ แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวาย เป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกาพระองค์อื่น ๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา เมื่อมี พระสงฆ์มาเผยแผ่ในประเทศไทยจึงนำประเพณีนี้เข้ามาด้วย
วันวิสาขบูชา
วันสำคัญสากลของสหประชาชาติ
เนื่องจากวันวิสาขบูชาล้วนมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒ องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุมกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ยื่นเรื่อง ให้สหประชาชาติพิจารณา นอกจากนี้ยังกำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญ บุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนด ให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผล ไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็น มหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิด โอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน มานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้พระมหากรุณาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน
วิสาขบูชา วันแห่งการสถาปนาพระพุทธ-ศาสนาให้เป็นแสงสว่างส่องนำทางสรรพสัตว์ไปสู่สวรรค์นิพพาน
วิสาขบูชา วันที่พระพุทธเจ้าทรงมีชัยชนะเหนือหมู่มารและมีชัยชนะที่ไม่วันกลับแพ้
วิสาขาบูชา วันที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัทจะได้ทำทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชาต่อองค์พระบรมศาสดา ด้วยการเข้าวัดฟังธรรม ปฏิบัติธรรม บำเพ็ญ บุญ ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ดำเนินตามรอย บาทพระศาสดา และรักษาวันแห่งความมหัศจรรย์นี้ไว้ให้เป็นประเพณีอันดีงามยืนยงคงอยู่เคียงคู่โลกตลอดไป...