วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ปัญหาวัดร้าง ตอนที่ ๒

พระธรรมเทศนา

 



 

   ๔. เหตุแห่งความสิ้นสูญของพระพุทธศาสนา 

     ในทางตรงกันข้าม ถ้าวัดใดก็ตาม ไม่ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง โดยเฉพาะไม่สามารถแจกจ่ายโลกุตรธรรม ให้กับประชาชน วัดนั้นก็จะต้องกลายเป็น "วัดร้างŽ" อย่าง  แน่นอน

          เพราะเมื่อวัดไม่สามารถเป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมได้แล้ว ประชาชนย่อมไม่ได้รับประโยชน์จากพระพุทธธรรมอย่างเต็มที่ ความศรัทธาในพระรัตนตรัยย่อมไม่เกิดขึ้น ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดย่อมไม่ปรากฏขึ้นในสายตาประชาชน ความรู้สึกว่าวัดเป็นดินแดนเพื่อการบรรลุธรรมย่อมไม่มีอีกต่อไป ประชาชนย่อมรู้สึกว่า การทำนุบำรุงย่อมกลายเป็นความสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ

          เมื่อเป็นเช่นนั้น ความรู้สึกว่าพระภิกษุเป็นผู้เอารัดเอาเปรียบสังคมก็จะตามมา การดูหมิ่นดูแคลน พระภิกษุ ด้วยถ้อยคำค่อนขอดต่าง ๆ นานาก็จะตามมา แล้วก็ปล่อยให้วัดร้างไปต่อหน้าต่อตา โดยไม่ เหลียวแลอีกต่อไป

          ยิ่งกว่านั้น เมื่อความศรัทธาในพระธรรมคำสอนสิ้นไป ประชาชนจะรู้สึกอีกว่า "การศึกษาทางธรรมเป็นเรื่องคร่ำครึ ล้าหลังกว่าการศึกษาทางโลก"Ž ก็จะเลิกนับถือพระพุทธศาสนา หันไปบูชาเงินเป็นพระเจ้า ใช้เงินเป็นตัวกำหนดความถูก-ผิด ดี-ชั่ว ใช้เงินฟาดหัวเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ

          ผู้คนก็จะเกิดค่านิยมยอมทำทุกอย่างให้ได้เงินมาโดยไม่คำนึงถึงศีลธรรม แม้แต่การ ทำมาหากินด้วยอบายมุข ซึ่งเป็นการเลี้ยงชีพอยู่บนความทุกข์ของคนอื่นก็ทำได้โดยไม่รู้สึก ขัดเขินละอายแก่ใจ

          บรรยากาศของบ้านเมืองย่อมเต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์ การซุบซิบนินทา ยินดี กับการรับรู้เรื่องผิดศีลผิดธรรมตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน นั่นคือประชาชนต่างมีความเห็นเป็น "มิจฉาทิฐิŽ" คือ เข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงว่า "พระธรรมอันเป็นเครื่องนำ ผองชนให้หลุดพ้นจากทุกข์ในวัฏสงสาร"Ž ต่ำต้อยด้อยค่ากว่า "การทำมาหากินและการใช้ชีวิตจมอยู่ในอบายมุข"Ž

ในที่สุดทั้งบ้านทั้งเมืองก็ไม่หลงเหลือบรรยากาศในการศึกษาและปฏิบัติธรรมอีกต่อไป

          เมื่อบรรยากาศของการศึกษาปฏิบัติธรรมของ "เมืองพุทธ"Ž หมดสิ้นไป ก็เท่ากับ "วัฒนธรรมชาวพุทธ"Ž หมดสิ้นตามไปด้วย "การทำทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนาŽ" ย่อมหมดสิ้นลง "ความเคารพในพระรัตนตรัย"Ž ย่อมหมดสิ้นไปจากจิตใจของชาวพุทธ และนั่นก็คือ ความสิ้นสูญของพระพุทธศาสนา ดังที่เกิดขึ้นกับอดีตเมืองพุทธในหลาย ๆ ประเทศ ที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน

          ดังนั้น การที่ชาวพุทธปล่อยให้วัดร้างไปหนึ่งวัด ย่อมเป็นสัญญาณบ่งบอกว่า วัดกำลังลดจำนวนลง พระภิกษุกำลังลดจำนวนลง และชาวพุทธก็กำลังลดจำนวนลงด้วย เมื่อสถานการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นนี้ จะมีสิ่งใดเป็นหลักประกันว่า วัดทั้ง ๓๐,๐๐๐ กว่าวัดทั่วประเทศจะไม่ร้างจนหมดสิ้นไปจากผืนแผ่นดินไทย

           ๕. หัวใจแห่งความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา
          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า "ความเสื่อมและความเจริญของพระพุทธศาสนาŽ" ขึ้นอยู่กับ "ความเคารพในธรรม"Ž เพราะเมื่อขาดความเคารพในธรรมย่อมเท่ากับ ขาดความเคารพในคุณความดีทั้งปวงของพระพุทธศาสนา การศึกษาย่อมขาดสูญ การบรรลุธรรมย่อม ขาดสูญ การปกป้องพระพุทธศาสนาย่อมขาดสูญ ความเคารพในธรรมจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด ในพระพุทธศาสนา เพราะแม้แต่พระบรมศาสดา เมื่อตรัสรู้แล้วก็ยังต้องเคารพโลกุตรธรรม ที่พระองค์ตรัสรู้แล้วด้วยพระองค์เองต่อไป1 ดังนั้น เรื่องของความเคารพในธรรมนี้ จึงเป็นรากฐานทั้งหมดของพระพุทธศาสนาทีเดียว

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้โอวาทเรื่องความเคารพในธรรมไว้ ๓ ระดับ สำหรับพระนวกะ พระมัชฌิมะ และพระเถระ ซึ่งมีภูมิรู้ภูมิธรรมและพรรษาแก่อ่อนกว่ากัน ดังนี้

           ๕.๑ โอวาทสำหรับพระนวกะ 
          พระนวกะ คือพระบวชใหม่ที่มีอายุการบวชยังไม่ครบ ๕ พรรษา ยังต้องฝึกถือนิสัยของบรรพชิต2 เพื่อละทิ้งนิสัยของฆราวาส ซึ่งติดมาจากบ้านตั้งแต่ก่อนบวช ยังต้องอยู่ในการปกครองดูแลของพระอุปัชฌายาจารย์ โดยมีหน้าที่หลักอยู่ที่การศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันรักษาตัวเอง มากกว่าเทศน์สอนผู้อื่น เรียกกันให้เข้าใจง่ายๆ ว่า "พระใหม่Ž" หรือ "พระนักเรียนŽ" พระพุทธองค์ทรงให้โอวาทที่เหมาะแก่พระนักเรียนไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ๑. ฟังธรรมโดยเคารพ ๒. เรียนธรรมโดยเคารพ ๓. ทรงจำธรรมโดยเคารพ ๔. ใคร่ครวญอรรถแห่งธรรมที่ทรงจำไว้แล้วโดยเคารพ ๕. รู้อรรถรู้ธรรมแล้วปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมโดยเคารพ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรมŽ" ดังนั้น การปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาททั้ง ๕ ประการนี้ แม้พระภิกษุเพิ่งจะบวชใหม่ได้ไม่นานนัก ก็ย่อมสามารถช่วยให้วัด ช่วยให้พระพุทธศาสนา เจริญรุ่งเรืองได้ ญาติโยมเห็นพระใหม่ตั้งใจอบรมฝึกฝนตนเอง ก็มีกำลังใจที่จะถวายปัจจัย ๔ เพื่อบำรุงพระ บำรุงวัด บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไป การศึกษาพระธรรมวินัยของพระบวชใหม่ก็จะทำได้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ญาติโยมก็จะรู้สึกว่า ปัจจัย ๔ ที่ตนนำมาถวายบำรุงนั้น จะก่อให้เกิดบุญกุศลแก่ตนอย่างเต็มที่เต็มกำลัง จึงปรารถนา จะถวายบำรุงอย่างต่อเนื่องด้วยความปีติยินดี

          นี่คือ ความเคารพในธรรมของพระนวกะ ที่จะทำให้พระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ดำรงมั่นสืบต่อไปอีกนานแสนนาน

           ๕.๒ โอวาทสำหรับพระมัชฌิมะ 
          พระมัชฌิมะ คือ พระภิกษุที่มีอายุการบวชครบ ๕ พรรษาแล้ว แต่ยังไม่ถึง ๑๐ พรรษา หากเป็นผู้ฉลาดก็ให้อยู่ได้โดยไม่ต้องถือนิสัย แต่หากเป็นผู้ไม่ฉลาดก็ยังต้องให้ถือนิสัย อยู่กับอุปัชฌายาจารย์จนตลอดชีวิต หน้าที่หลักของพระมัชฌิมะคือ การศึกษาพระธรรมวินัย การฝึกเทศน์สอนตัวเอง การฝึกเทศน์สอนผู้อื่น การขวนขวายแบ่งเบาภาระของหมู่คณะและพระอุปัชฌายาจารย์ มีคำเรียกพระมัชฌิมะให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า "พระพี่เลี้ยงŽ"

          พระภิกษุมัชฌิมะที่เป็นผู้ฉลาดในพระวินัย จะต้องมีคุณสมบัติครบ ๖ ประการ4 ได้แก่ ๑. รู้จักอาบัติ ๒. รู้จักอนาบัติ ๓. รู้จักอาบัติเบา ๔. รู้จักอาบัติหนัก ๕. จำปาติโมกข์ทั้งสอง5 โดยพิสดารได้ดี จำแนกได้ดี คล่องแคล่วดี วินิจฉัยโดยสุตตะโดยอนุพยัญชนะได้ดี ๖. มีพรรษาครบ ๕ หรือมีพรรษาเกิน ๕ พระมัชฌิมะที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมเป็นผู้รู้จักข้อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ตามพระธรรมวินัยของสงฆ์ ย่อมไม่ทำความลำบากให้กับพระอุปัชฌายาจารย์ เพราะสามารถดูแลรักษาตนเองให้อยู่ในพระธรรมวินัยเสมอ จึงมีความพร้อมในการศึกษาค้นคว้า พระสัทธรรมสำหรับการฝึกเทศน์สอน มีความพร้อมในการเจริญภาวนาเพื่อให้เกิดความชำนาญในการกำจัดอาสวกิเลสของตน เพื่อจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระของพระอุปัชฌายาจารย์ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างไกลและยืนยาวต่อไปอีก

          พระพุทธองค์ทรงให้โอวาทแก่พระพี่เลี้ยงหรือพระนักเทศน์ไว้ว่า "ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ๑. เรียนธรรม (หมายถึงการเรียนพระไตรปิฎก) คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาตกะ อัพภูตธรรม และเวทัลละ ๒. แสดงธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ๓. บอกธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาแก่ผู้อื่นโดยพิสดาร ๔. ทำการสาธยายธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมาโดยพิสดาร ๕. ตรึกตาม ตรองตาม เพ่งตามด้วยใจ ซึ่งธรรมตามที่ตนได้สดับมา ตามที่ตนได้เรียนมา ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรม"

          การปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาททั้ง ๕ ประการนี้ ย่อมทำให้พระมัชฌิมะขยันเล่าเรียนพระธรรมวินัย ขยันเทศน์สอนตัวเอง ฝึกเทศน์สอนผู้อื่น ย่อมสามารถช่วยแบ่งเบา ภาระของหมู่คณะตลอดจนพระอุปัชฌายาจารย์ได้มากมายหลายอย่าง เช่น การเป็นพระพี่เลี้ยงให้แก่พระนวกะ เป็นต้น กิจกรรมดังกล่าวนี้ คือปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมทำนุบำรุง วัดและพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป

          สาเหตุที่พระมัชฌิมะเป็นพระพี่เลี้ยงให้พระนวกะได้ ก็เพราะเป็นผู้ที่สามารถดูแลตัวเองให้อยู่ในพระธรรมวินัย มีความรู้ลึกซึ้ง และสามารถปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณีของพระภิกษุสงฆ์ได้อย่างถูกต้อง เช่น เรื่องอาจาริยวัตร คือการอุปัฏฐากรับใช้อาจารย์อย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย เป็นต้น

          นอกจากนี้ ยังมีวินัยของสงฆ์ว่าด้วยเรื่องมารยาทและธรรมเนียมที่ดีงาม อันเป็นแบบฉบับที่พระสงฆ์พึงศึกษาอบรมและปฏิบัติจนเกิดเป็นนิสัย เพื่อให้เกิดความเรียบร้อยสวยงามในหมู่คณะ และเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของปวงชนทั่วไป เช่น การนุ่งห่มจีวร ซึ่งรวมถึงมารยาทในการเดิน การยืน การนอน การนั่ง การล้างหน้า การอาบน้ำ การแปรงฟัน การซักจีวร การเก็บจีวร การบิณฑบาต ซึ่งรวมถึงมารยาทในการขบฉัน การดื่มน้ำ การเคี้ยวอาหาร การพูดคุย การล้างบาตร การรักษาบาตร การใช้เสนาสนะ ซึ่งครอบคลุม ถึงเรื่องการปูอาสนะ การล้างเท้า การถอดรองเท้า การวางตั่ง การกวาดพื้น การกวาดเพดาน การกวาดข้างฝา การปิดและการเปิดหน้าต่างในฤดูหนาว การปิดและการเปิดหน้าต่างในฤดูร้อน การสำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ซึ่งรวมถึงมารยาทในการถ่ายอุจจาระ การปัสสาวะ การบ้วนน้ำลาย การสนทนากับญาติโยม เป็นต้น

          แต่เนื่องจากพระมัชฌิมะยังมีอายุการบวชไม่ครบ ๑๐ พรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงไม่ทรงอนุญาตให้เป็นพระอุปัชฌาย์ หรือเป็นพระอาจารย์ผู้ให้นิสัยของบรรพชิต เพราะยังต้องบ่มเพาะคุณสมบัติอื่นๆ เพื่อเตรียมตัวเป็นพระเถระเมื่ออายุพรรษาครบสิบเพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะความฉลาดในการคัดเลือกคน การให้อุปสมบท การอบรมคน การปกครองคน และการเผยแผ่ เป็นต้น

          ดังนั้น การฝึกอบรมตนของพระมัชฌิมะตามโอวาทของพระพุทธองค์ทั้ง ๕ ข้อ ดังกล่าวนั้น ก็คือ การเคร่งครัดฝึกอบรมตนเองให้อยู่ในพระธรรมวินัย ส่วนการฝึกค้นคว้าพระไตรปิฎก การฝึกเทศน์สอน การฝึกดูแลหมู่คณะ เพื่อเตรียมตัวเป็นพระเถระที่ดีในอนาคต ล้วนเป็นการเตรียมสร้างบุญอันยิ่งใหญ่ให้แก่ตนเองภายใต้ร่มเงาพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น

          นี่คือ ความเคารพในธรรมของพระมัชฌิมะ ที่จะทำให้พระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ดำรงมั่นสืบต่อไปอีกนานแสนนาน

          ๕.๓ โอวาทสำหรับพระเถระ 
          พระเถระ คือพระภิกษุผู้ใหญ่ที่มีอายุการบวชมากกว่า ๑๐ พรรษาขึ้นไป ถ้ามีพรรษามากกว่า ๒๐ เรียกว่า พระมหาเถระ
          หน้าที่หลักของพระเถระคือเป็นผู้รักษาพระธรรมวินัย เป็นผู้ให้นิสัย ๔ แก่พระภิกษุ บวชใหม่ เป็นผู้เผยแผ่พระธรรมคำสอนให้กว้างไกล เป็นผู้บรรลุธรรม เป็นผู้นำผองชน เจริญภาวนา เป็นผู้สร้างความสามัคคีในหมู่สงฆ์

          พระภิกษุผู้เป็นพระเถระที่หนักแน่นในธรรมวินัยนั้น จะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติครบ ๑๐ ประการ7 ได้แก่ ๑. เป็นรัตตัญญู บวชมานาน (หมายถึงรู้เหตุผลต้นปลายของเรื่องราวต่าง ๆ ในพระธรรมวินัย การคณะสงฆ์ การทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา นับตั้งแต่วันบวชมาไม่ต่ำกว่าสิบพรรษา) ๒. เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยการสังวรในปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบท ทั้งหลาย ๓. เป็นพหูสูต ทรงสุตตะ สั่งสมสุตตะ เป็นผู้ได้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลาย ที่มีความ งามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ และพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฐิ ๔. ทรงจำปาติโมกข์ทั้งสองได้ดี จำแนกได้ดี ให้เป็นไปได้ดีโดยพิสดาร วินิจฉัยได้ดีโดยสุตตะ โดยอนุพยัญชนะ ๕. เป็นผู้ฉลาดในการระงับอธิกรณ์ที่เกิดขึ้น ๖. เป็น ผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้ฟังและแสดงธรรมเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์อย่างยิ่งในอภิธรรม และอภิวินัย ๗. เป็นผู้สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขารตามแต่จะได้ ๘. เป็นผู้น่าเลื่อมใสในการก้าวไปและถอยกลับ เป็นผู้สำรวมดีในการนั่งในละแวกบ้าน ๙. เป็นผู้ได้ฌาน ๔ อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ๑๐. ทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน พระเถระที่มีคุณสมบัติทั้ง ๑๐ ประการนี้ ย่อมสามารถเป็นหลักเป็นประธานให้แก่พระภิกษุนวกะและพระภิกษุมัชฌิมะ ที่อาศัยอยู่ในวัดนั้นได้ เพราะไม่ว่าใครเข้าไปอยู่ใกล้ ก็จะได้รับความเจริญก้าวหน้าใน พระธรรมวินัย ได้รับความเจริญก้าวหน้าในโลกุตรธรรมอันเป็นเครื่องนำตนพ้นจากทุกข์ และ ได้รับการฝึกอบรมให้เป็นขุนพลของกองทัพธรรมที่จะนำพระพุทธศาสนาแผ่ขยายออกไป

          แต่การที่จะมีคุณสมบัติทั้ง ๑๐ ประการนี้ได้ ก็จะต้องฝึกอบรมตนตามพระบรมพุทโธวาทสำหรับพระเถระที่มีพรรษาสิบขึ้นไป ดังนี้  ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๕ ประการนี้ ๑. ภิกษุเล่าเรียนพระสูตรที่เล่าเรียนมาดี ด้วยบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี แม้อรรถแห่งบทพยัญชนะที่สืบทอดกันมาดี ก็ชื่อว่าเป็นการสืบทอดขยายความดี ๒. ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่าย อดทนรับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ ๓. ภิกษุ เป็นพหูสูต เรียนจบคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ถ่ายทอดสูตรแก่ผู้อื่นโดยเคารพ เมื่อภิกษุเหล่านั้นล่วงลับไป สูตรไม่ขาดรากฐาน มีที่พึ่งอาศัย ๔. ภิกษุเป็นเถระ ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม (หมายถึงละนิวรณ์ ๕ และบรรลุธรรม ตั้งแต่ระดับปฐมฌานเป็นต้นไป) เป็นผู้นำในปวิเวก (หมายถึงนำผองชนเจริญภาวนา) ปรารภ ความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ ทำให้แจ้ง หมู่คนรุ่นหลังพากันตามอย่างภิกษุเถระเหล่านั้น แม้หมู่คนรุ่นหลังนั้นก็ไม่มักมาก ไม่ย่อหย่อน หมดธุระในโอกกมนธรรม เป็นผู้นำในปวิเวก ปรารภความเพียรเพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อทำให้แจ้งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ๕. สงฆ์ พร้อมเพรียงกัน ชื่นชมกัน ไม่วิวาทกัน มีอุทเทสที่สวดร่วมกันอยู่ผาสุก เมื่อสงฆ์พร้อมเพรียงกัน จึงไม่มีการด่ากัน ไม่มีการบริภาษกัน ไม่มีการใส่ร้ายกัน ไม่มีการทอดทิ้งกัน หมู่คนที่ยังไม่เลื่อมใสในสงฆ์นั้นก็เลื่อมใส และหมู่คนที่เลื่อมใสแล้วก็เลื่อมใสยิ่งขึ้น ย่อมเป็นไป เพื่อความดำรงมั่น ไม่เสื่อมสูญ ไม่หายไปแห่งสัทธรรมŽ8 พระบรมพุทโธวาทนี้ ชี้ให้เห็นว่า พระภิกษุเถระยิ่งพรรษาสูงมากเท่าใด ยิ่งต้องเป็นผู้นำในการบำเพ็ญภาวนามากเท่านั้น เพราะพระภิกษุเถระ คือ ผู้แจกจ่ายโลกุตรธรรมให้แก่พระมัชฌิมะ พระนวกะ และประชาชนที่บำรุงเลี้ยงพระพุทธศาสนาด้วยปัจจัย ๔ อย่างไม่ฝืดเคือง

          ตามปกติธรรมดาของคนเรานั้น การที่ใครจะแจกจ่ายสิ่งใดให้ผู้อื่นได้ ก็จะต้องเป็นผู้มีสิ่งนั้นก่อน การที่พระเถระจะเป็นผู้ให้โลกุตรธรรมแก่วัดแก่สังคมได้ พระเถระก็ต้องเป็น ผู้มีโลกุตรธรรมนั้นก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่จะทอดทิ้งการกระทำความเพียรภาวนาไม่ได้เลยแม้แต่ วันเดียว และพระพุทธองค์ก็ทรงรู้ดีว่า การได้โลกุตรธรรมนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอาสวกิเลส เป็นธาตุสกปรกที่ซ่อนอยู่ในใจ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้แต่พระบรมศาสดาเอง ก็ยังต้องบำเพ็ญภาวนาอย่างอุทิศชีวิตเป็นเดิมพัน จึงจะกำจัดกิเลสได้เด็ดขาด บรรลุโลกุตรธรรม คือมรรคผลนิพพานที่อยู่ในตัว

          ดังนั้น การปฏิบัติตามพระบรมพุทโธวาททั้ง ๕ ประการชนิดอุทิศชีวิตเป็นเดิมพันเท่านั้น จึงจะทำให้พระเถระสามารถเป็นผู้แจกจ่ายโลกุตรธรรมแก่สังคมได้ สามารถเป็นผู้นำพระมัชฌิมะ พระนวกะในวัดนั้นให้บรรลุโลกุตรธรรมได้ และสามารถนำประชาชนให้เข้า ถึงโลกุตรธรรมได้

          นี่คือ ความเคารพในธรรมของพระเถระ ที่จะทำให้พระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ดำรงมั่นสืบต่อไปอีกนานแสนนาน

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล