วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วางตัวอย่างไรดี เมื่อมีคนมาขอยืมเงิน

หลวงพ่อตอบปัญหา
โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 

 

วางตัวอย่างไรดี เมื่อมีคนมาขอยืมเงิน

 

 

 

 

         ถ้ามีญาติหรือเพื่อน มาขอยืมเงิน เราควรจะวางตัวอย่างไรดี เพราะถ้าไม่มีให้ก็จะเสียน้ำใจ ถ้าให้บ่อยๆ เราก็เดือดร้อน

 

 

 

 

 

       การที่ใครจะมีเพื่อน จะมีญาติ สิ่งที่ต้องจำไว้ก็คือ เราต้องเป็นที่พึ่งให้เขาได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น ถ้าถึงคราวจำเป็นใครพึ่งก็ไม่ได้ แล้วใครเขาจะอยากมาเป็นเพื่อนเป็นญาติกับเรา และเราต้องรู้ไว้ว่าแม้คราวตัวเองก็เหมือนกัน บางครั้งอาจตกเข้าที่คับขัน สิ่งที่เราเตรียมไว้ มีไว้อย่างมหาศาล ก็อาจจะถึงคราวขาดแคลนได้ เข้าทำนองถึงเวลาราชสีห์ก็ต้องพึ่งหนูเหมือนกัน ตรงนี้ก็ต้องทำ ความเข้าใจกันเอาไว้

          เพราะฉะนั้นเมื่อถึงคราวญาติหรือเพื่อน บ่ายหน้ามาขอความช่วยเหลือ วิสัยของคนดี คนที่หวังความก้าวหน้า จะต้องเตรียมพร้อมตรงนี้เอาไว้ตลอดเวลา ว่าพรรคพวก เพื่อนฝูง ญาติสนิท บ่ายหน้ามาขอความช่วยเหลือแล้ว ต้องไม่ยอมให้กลับมือเปล่า จำคำนี้ไว้ก่อน แต่จะช่วยได้ มากน้อยแค่ไหนอีกเรื่องหนึ่ง อย่างไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องมีค่ารถให้เขากลับบ้านได้ ไม่อย่างนั้นเขามาเสียเวลา หวังจะได้รับความช่วยเหลือแต่ไม่ได้ มันเสียอารมณ์

          อย่างไรก็ตาม การที่จะให้ความช่วยเหลือใคร มากน้อยแค่ไหน มีหลักพิจารณาอย่างนี้

          ๑. ดูความพร้อม ความรู้ ความสามารถ ดูกำลังของเรา ว่าเรามีกำลังจะให้เขาพึ่งได้เท่าไร ดูตรงนี้ก่อน จะช่วยใครก็ช่วยเถิด แต่อย่าให้เกินกำลัง นี้ต้องถือเป็นหลักเอาไว้ให้ดี

          ๒. ดูบุคคลที่มาขอความช่วยเหลือจากเรา ดูความจำเป็นของเขาว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่มี ความจำเป็นอะไรมาก แค่มาเผื่อได้เท่านั้น อย่างนี้เลี้ยงข้าวสักมื้อหนึ่ง แล้วให้ค่ารถกลับบ้านก็พอแล้ว

           แต่หากเขามีความจำเป็น เช่น ป่วย หรือพ่อแม่ตาย ลูกเต้าเกิดอุบัติเหตุอะไรทำนองนั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องแกล้งกัน และไม่ใช่ว่าเขาไม่เตรียมพร้อม แต่ว่าเป็นเรื่องเหลือวิสัย ตรงนี้ต้องช่วยกัน จะมากจะน้อย ต้องช่วยกันให้เต็มที่ตามกำลังของเรา

          โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเขาผู้นั้นเคยมีความสัมพันธ์อันดีกับเราในอดีต เช่น เราเองก็เคยเป็น หนี้พระคุณเขามา ถึงคราวเราเดือดร้อน เขาก็ช่วยเหลือเราเต็มกำลังมาก่อน ถ้าในกรณีนี้ ถึงคราว เขาเดือดร้อนบ้าง เราก็ต้องช่วยให้เต็มที่ เช่น พ่อแม่เขาป่วยหนัก ตัวเขาถูกกลั่นแกล้ง ถูกโกง ถูกคดีความ ต้องมีค่าประกันตัว ไม่อย่างนั้นติดคุกติดตะราง ขึ้นโรงขึ้นศาล อะไรทำนองนี้ ให้นึกถึงความจำเป็นและนึกถึงความสัมพันธ์อันดีในอดีตซึ่งมีต่อกัน

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนชาวพุทธเอาไว้ว่า เพื่อนที่ดีนั้น ในวาระอย่างนี้ ต้องหาทางช่วยกันให้เต็มที่ อย่าว่าแต่ให้เขายืมเท่าที่เขาขอยืมมาเท่านั้น เนื่องจากเขาเป็นคนดี เขาแสนจะเกรงใจเรา เพราะฉะนั้น ที่เขาเอ่ยปากมันกระเบียดกระเสียรเต็มที่แล้ว พระองค์จึงทรงสอนเอาไว้ว่า กรณีเช่นนี้ให้ให้เป็น ๒ เท่าของที่เขาขอทีเดียว เพราะเขาเป็นคนดี เคยมีพระคุณกับเรามาก่อน แต่ว่าในเชิงปฏิบัติ ถ้าเราเป็นประเภทเราเองก็ตัวคนเดียว ไม่มีครอบครัวให้ห่วงหน้าพะวงหลัง ถ้าอย่างนี้ละก็ ใช้คำว่า ลูกผู้ชายใจนักเลง เทกันหมดกระเป๋าช่วยกันเลย ตรงนี้คือวิสัยที่ควรทำ

          แต่ถ้าเป็นกรณีคนทั่ว ๆ ไป เขากับเราก็เพียงคนรู้จัก นิสัยใจคอก็เพียงแค่พื้น ๆ ก็ต้องดูว่าเขาจมกับอบายมุขไหม ถ้าจมอบายมุข อย่างนี้ให้ไปนอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังกลายเป็น การส่งเสริมให้คนทำความชั่วด้วย ในกรณีอย่างนี้ไม่ต้องให้ ติดเหล้ากลิ่นเหล้าฟุ้งมาเชียว แล้วมายืมเงิน ไม่ให้ หรือมายืมเงินไปเล่นหวย ไปแทงม้า อย่างนี้ไล่กลับเลย ไม่ให้ โกรธได้ก็โกรธไป เพราะขืนให้ไปเขาก็จะไม่มีโอกาสได้แก้ไขนิสัยของเขา

          แต่ถ้าเขาเป็นคนตั้งใจทำกิน นิสัยใจคอก็ไม่มีข้อเสียหายอะไร ถ้าอย่างนี้ก็ให้ไปตามสมควร ถ้าเขายืมไม่มากนัก แต่ในกรณีอย่างนี้ก็ต้องทำใจ คือถ้าให้ไปแล้วไม่คืน หรือคืนแต่ไม่ตรงเวลา แล้วจะเกิดความเสียหายแก่เรา ถ้าอย่างนี้คงต้องคิดมากสักหน่อย ที่คิดมากสักหน่อยเป็นอย่างไร ก็เอาไปสักแค่ครึ่งหนึ่งก็แล้วกัน หรือว่าเอาไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือคุณไปหาจากพรรคพวกคนอื่นบ้างเถิด เพราะถ้าคุณไม่เอามาคืนตรงเวลา เดี๋ยวฉันจะเดือดร้อน อย่างนี้ก็ช่วยกันไปเท่าที่ไม่เกินกำลังของเรา เพราะว่าเขายังไม่มีประวัติในทางเสียหาย

          เมื่อให้ไปแล้ว ถ้าวันหลังเขาเอามาคืนตามที่สัญญาเอาไว้ ในกรณีเช่นนี้ถือว่าประวัติใช้ได้ หากวันหลังเดือดร้อนมา ก็ให้อีก เพราะประวัติเขาดี เราให้ไปแล้ว เขาก็ให้คืนกลับ อย่างนี้มาอีก ก็พอให้กันอีกได้ แต่ว่าพวกไหนให้ไปแล้ว ไม่เคยคืนเลย ถ้ามาอีกก็คงให้ไม่ได้ พอกันที เข้าทำนองที่ว่า "ไม่ให้ก็ไม่ให้Ž" คือ ให้คุณไปแล้ว แล้วคุณไม่ให้คืนกลับ มาขอใหม่อีกก็เลยไม่ให้

          ในกรณีที่เขาก็เป็นคนดี นิสัยใจคอก็ดี แต่ว่าบัดนี้เคราะห์หามยามร้ายกลายเป็นคนพิการไปแล้ว อาจจะถูกรถเฉี่ยว รถชน หรืออะไรก็ตามที ให้ได้เท่าไรให้ไป เพราะเขาเป็นคนดี เพียงแต่ เขาโชคร้าย อย่างนี้ต้องให้กัน ให้ในระดับที่เราไม่เดือดร้อน ในกรณีนี้ทำใจเสียเถิด ถึงจะไม่มีปัญญามาใช้คืน เพราะเขาช่วยเหลือตัวเองไม่ค่อยจะได้เสียแล้ว ก็ไม่ว่ากัน

          คิดเสียว่าถ้าถึงคราวเราเคราะห์หามยามร้าย ตกอยู่ในสภาพอย่างนี้ รถคว่ำจนพิกลพิการ เกิดอุบัติเหตุจนกระทั่งตาบอดหูหนวกไปเสียแล้ว ทำมาหากินก็ลำบากเต็มที เราก็ไม่รู้จะเจอภาวะอย่างนี้เมื่อไร เพราะฉะนั้นให้ใครได้ ช่วยใครได้ ก็ช่วยไปเถอะ เข้าทำนองว่า "ให้ไม่ให้ก็ให้ให้Ž" คือให้ไปแล้ว จะได้คืนหรือไม่ได้ เมื่อเขามาใหม่ก็ต้องให้ไปอีก นึกว่าสงสารลูกนกลูกกา นึกว่าเผื่อเราต้องเคราะห์หามยามร้ายอย่างนี้ ก็คงจะมีใครเมตตาเราบ้าง เพราะบุญที่เราทำไว้กับเพื่อนคนนี้หรือญาติคนนี้

          ถ้าจะให้ดีสร้างบุญไว้มาก ๆ ตั้งแต่วันนี้ ถึงเวลาสมบัติจะเกิดกับเราจะได้เกิดมาก ๆ ใคร เดือดร้อนมา เราก็จะได้ช่วยเขาได้มาก ๆ กลายเป็นไม้ใหญ่ให้นกให้กาอาศัย ก็ดีเหมือนกัน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล