พิธีบรรพชาสามเณร ๑๑๑ รูป
ประเทศเนปาล
แสงแห่งความสมหวัง ณ แดนประสูติ
...
นมัสเต คือ คำทักทายของชาวเนปาล เหมือนคำว่า สวัสดี ของไทย หลายคนคงรู้จักประเทศเนปาลในฐานะดินแดนในอ้อมกอดแห่งขุนเขาหิมาลัย ซึ่งเป็นที่ตั้งของยอดเขาเอเวอเรสต์ที่สูงที่สุดในโลก หรือดินแดนแห่งป่าหิมพานต์ ตามความเชื่อโบราณ เนปาลมีอาณาเขตติดกับยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล และจากอุปสรรคทางกายภาพนี้ กลับทำให้ปลอดภัยและเป็นอิสระจากการแผ่ขยายอาณานิคมของต่างชาติ เนปาลจึงไม่เคยตกเป็นเมืองขึ้นของมหาอำนาจแต่อย่างใด
เนปาลมีเมืองหลวง คือ กรุงกาฐมาณฑุ บริเวณรายรอบเมืองเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญมากมาย จนได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกถึง ๗ แห่ง สถาปัตยกรรมอันงดงาม และการตกแต่งเจดีย์รูปทรงครึ่งวงกลม มีรูปดวงตา เห็นธรรมทั้ง ๔ ทิศ ประดิษฐานพระพุทธรูปที่ ทำจากทองเหลืองและหินขัดสวยงาม วัดและสถูปก่อสร้างจากงานไม้แกะสลักอันประณีตบรรจง แม้แต่งานช่างเหล็กและงานปั้นหินก็ทำได้อย่างละเอียดอ่อนไม่แพ้กัน แสดงถึงความเชื่อถือศรัทธาอย่างแรงกล้าของผู้คนชาวเนปาล ลักษณะเด่นเหล่านี้ทำให้ประเทศเนปาลมีภาพลักษณ์ในด้านวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่และวิจิตรงดงาม
ภูมิประเทศตั้งอยู่ในหุบเขาที่มีภูเขาล้อมรอบทุกด้าน จึงเรียกขานกันว่า คีรีนคร หรือเมืองแห่งขุนเขา พื้นที่ราบตรงกลางคล้ายแอ่งกระทะ มีชัยภูมิเหมาะสมในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนมาหลายพันปี วัฒนธรรมประเพณีของชาวเนปาลในแต่ละท้องถิ่นนั้น มีความแตกต่างกันไปตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ เช่น บริเวณที่ติดกับจีนด้านทิเบตจะคล้ายกับทิเบต ส่วนที่อยู่ติดกับอินเดียก็จะคล้ายอินเดีย เป็นต้น
หากใครได้ไปเยือนเนปาล ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เนปาลคือดินแดนวัฒนธรรม ในม่านหมอก ที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เพราะได้รับการผสมผสานอิทธิพลของศาสนาฮินดูและศาสนาพุทธไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ไม่ว่าเราจะเดินไปบริเวณไหนของเนปาล จะพบเห็นรูปแกะสลักเทพเจ้าฮินดูกับพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าอยู่เคียงกันตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไป โดยไม่มีความขัดแย้งแบ่งแยกเหมือนในหลาย ๆ ประเทศ
ย้อนไปเมื่อกว่า ๕๕๐ ปี พระพุทธศาสนาในดินแดนแห่งนี้เกือบกลายเป็นเพียงเรื่องเล่า ในอดีตประเทศเนปาลเคยเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย ทำให้ในปัจจุบันดินแดนประสูติของ พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ลุมพินีวัน แห่งนี้ยังคงอยู่ในประเทศเนปาล ซึ่งมีชาวพุทธ ทั่วโลกแวะเวียนเดินทางไปสักการบูชาไม่ได้ขาด พระพุทธศาสนาในยุคแรกของประเทศเนปาลเป็นแบบดั้งเดิมหรือแบบเถรวาท จากการที่มหาวิทยาลัยนาลันทาในประเทศอินเดียถูกทำลายส่งผลให้พระพุทธศาสนาในประเทศเนปาลพลอยเสื่อมลงไปด้วยเช่นกัน จนแทบจะสูญหายไปจนหมดสิ้น
ผ่านไปกว่า ๖๐ ปี พระพุทธศาสนาในประเทศเนปาลได้รับการฟื้นฟูขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พระปัญญานันทมหาเถระ พระภิกษุชาวเนปาลที่บวชในประเทศอินเดีย ได้นำพระพุทธศาสนาแบบเถรวาทกลับไปเผยแผ่ในประเทศ ทำให้ผู้คนหันมาศรัทธาและนับถือจำนวนมาก ซึ่งท่านได้รับการยกย่องให้เป็นพระสังฆมหานายกรูปแรกและรูปเดียวของประเทศเนปาล ชาวพุทธแทบทุกบ้านจะมีรูปของท่านไว้บูชา และมีอนุสาวรีย์ของท่านอยู่ตามวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ถ้าขณะนี้พระปัญญานันทมหาเถระยังมีชีวิตอยู่ ท่านจะมีอายุครบ ๑๑๑ ปีพอดี ทำให้เหล่าชาวพุทธเนปาลถือโอกาสนี้ จัดพิธีบรรพชาสามเณร ๑๑๑ รูป เพื่อเป็นการรำลึกถึงท่าน และตั้งใจที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ในการที่จะนำ คำสอนของพระพุทธเจ้าให้กลับคืนไปสร้าง ความสว่างไสวในจิตใจของชาวพุทธ ณ ดินแดนแห่งพุทธภูมิแห่งนี้ ระหว่างวันที่ ๑๙ มกราคม- ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔
โครงการนี้จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของวัดไทยลุมพินี โดยพระราชรัตนรังสี เจ้าอาวาสวัดไทยลุมพินี และวัดพระธรรมกาย โดยพระราช-ภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) คณะสงฆ์ประเทศเนปาล ตลอดจนเหล่าพุทธบริษัท ๔ ทั้งจากประเทศไทยและประเทศเนปาล นับเป็นพลังผลักดันสำคัญให้งานครั้งนี้สำเร็จลงได้ด้วยดี
๑๙ มกราคม ๒๕๕๔ กุลบุตรชาวเนปาล ถึง ๑๑๑ คน เดินทางไปที่วัดสิริกิตติวิหาร ใน กรุงกาฐมาณฑุ เมืองหลวงของประเทศเนปาล เพื่อรายงานตัว และฟังปฐมนิเทศเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนวันบรรพชาที่กำลังจะมาถึงอีก ๒ วัน นาคธรรมทายาททุกคนต่างกระตือรือร้นและตั้งใจฝึกฝนตนเองอย่างเต็มที่ โดยไม่หวั่นไหวต่ออุณภูมิที่หนาวเหน็บ เวลากลางคืนมีอุณหภูมิลดต่ำลง ถึง ๐ องศาเซลเซียส
วันนั้น ชาวพุทธเนปาลเดินทางไปร่วมพิธีตัดปอยผมให้นาคธรรมทายาทเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้รับเกียรติจาก ฯพณฯ มาริษ เสงี่ยมพงษ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล และคุณ Bekha Ratna Shakya อดีตท่านผู้ว่าราชการเมืองลลิตปูร์ ร่วมเป็นเกียรติในพิธี และกล่าวชื่นชมอนุโมทนาในภาพมหากุศลครั้งประวัติศาสตร์ ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลยในประเทศเนปาล
เนปาล ดินแดนวัฒนธรรมในม่านหมอก โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์
ผสมผสานอิทธิพลศาสนาพุทธ และศาสนาฮินดูไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน
ก่อนเริ่มพิธีตัดปอยผมนาคธรรมทายาท คุณพ่อ คุณแม่ ผู้ปกครอง ตลอดจนคณะญาติมิตรได้พร้อมใจกันสวดมนต์และนั่งสมาธิร่วมกัน ทุกคนต่างรู้สึกตื่นเต้นเป็นพิเศษ ที่จะมีโอกาส เข้าร่วมพิธีกรรมอันเปี่ยมด้วยคุณค่าและยังมี ความหมาย มีระเบียบงดงามอย่างที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน ในวันสำคัญเช่นนี้หลายครอบครัวได้นำรูปภาพของบรรพบุรุษหรือหนังสือที่มีรูปภาพ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปร่วมในพิธีขอขมาด้วย เพื่อให้นาคธรรมทายาทได้ขอขมาลาโทษ พร้อมขออนุญาตต่อบรรพบุรุษผู้ล่วงลับ
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีบรรพชา สามเณร ทุกรูปได้ร่วมกันความสะอาดวิหารและศาสนสถาน พัฒนาวัดให้สะอาดสะอ้าน สาธุชนหลายท่านเห็นภาพนี้แล้วเกิดความเลื่อมใสจึงเข้าร่วมทำความสะอาดด้วย ตอนค่ำเป็นพิธีจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชา ณ ลุมพินีวัน สามเณรทุกรูปร่วมเวียนประทักษิณรอบเสาอโศก และปฏิบัติธรรมร่วมกัน สามเณรหลายรูปมีผลการปฏิบัติธรรมที่ดียิ่ง ได้รับความสุข ความสงบ และพบความสว่างไสวจากการปฏิบัติธรรม
มหากุศลครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด ของประเทศเนปาล
และเป็นสิ่งที่ชาวพุทธเนปาลทุกคนเฝ้ารอคอยมานานแสนนาน
ก่อนลาสิกขา ๓ วัน สามเณรทั้ง ๑๑๑ รูป ได้เดินทางกลับไปที่เมืองกรุงกาฐมาณฑุอีกครั้ง เพื่อเป็นเนื้อนาบุญให้กับสาธุชนในพิธีตักบาตร และพิธีประกาศตนเป็นพุทธมามกะ ซึ่งมีชาวพุทธหลายพันคนเดินทางไปร่วมใส่บาตรกันอย่างเนืองแน่น กิจกรรมในครั้งนี้ ยุวพุทธแห่งประเทศเนปาล ( YMBA : Young Men Buddhist Association ) ได้ให้ความสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
พิธีบรรพชาครั้งนี้ ถือเป็นพิธีมหากุศล ครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศเนปาล และเป็นสิ่งที่ ชาวพุทธเนปาลทุกคนเฝ้ารอคอยมานานแสนนาน ทำให้ทุกคนต่างช่วยกันรับบุญทุกบุญด้วยความสดชื่นเบิกบาน มุ่งมั่นที่จะทำให้ทุก ๆ กิจกรรม ออกมาดีที่สุด สมกับการรอคอยพิธีบวชมาอย่างยาวนานเกือบศตวรรษ
หลังจากที่ลาสิกขาแล้ว ธรรมทายาทหลายท่านตั้งใจว่าจะเปิดบ้านกัลยาณมิตร ทำหน้าที่ชักชวนหมู่ญาติให้มาสวดมนต์นั่งสมาธิ และจะนำสื่อธรรมะที่ออกในรายการโรงเรียนอนุบาลฯ ไปแปลเป็นภาษาเนปาล เพื่อนำไปออกอากาศในสถานีโทรทัศน์ของประเทศเนปาลอีกด้วย ส่วนธรรมทายาทบางท่านจะนำโครงการเด็กดี V-Star ไปใช้ใน ๒ โรงเรียนที่อยู่ในความดูแล และทุกท่านมีความตั้งใจที่จะจัดโครงการบรรพชาสามเณร แบบนี้ขึ้นอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๕๔ โดยจะไปชักชวนชาวพุทธมาบวชให้มากกว่าเดิม เพื่อให้พระพุทธศาสนากลับไปสถิตสถาพรอย่างมั่นคงในประเทศเนปาลตลอดไป |