พระธรรมเทศนา
"วัด แดนศักดิ์สิทธิ์เพื่อการบรรลุธรรม"
เรียบเรียงจากโอวาทพระราชภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ตอนที่ ๑
วัดยิ่งมีอาสาสมัครท้องถิ่นอยู่มากเท่าใด ย่อมเป็นศูนย์กลางการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคมไปโดยอัตโนมัติ วัดคือสถานที่ชนิดใด
วัด ไม่ว่าจะตั้งอยู่ ณ สถานที่ใด ๆ ย่อมเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวพุทธทั้งที่เป็นบรรพชิต และคฤหัสถ์ หากใครเข้าไปสัมผัสถึงความร่มรื่น สะอาด สงบ ความน่าเคารพกราบไหว้ของพระรัตนตรัยทั่วบริเวณ ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศแห่งการประพฤติปฏิบัติธรรมขึ้นมาจับใจ พร้อมที่จะละชั่ว ประพฤติชอบ ประกอบความเพียรอย่างเคร่งครัด เพื่อทำใจให้ผ่องใสทันที
เป้าหมายแท้จริงในการสร้างวัด
วัดทั้งน้อยและใหญ่ ไม่ว่าจะสร้าง ณ แห่งหนตำบลใด โดยเฉพาะวัดในประเทศไทย ต่างมีเป้าหมายหลัก ๔ ประการ คือ
๑. เพื่อเป็นสถานที่สร้างพระภิกษุที่ดี มีคุณภาพให้พระพุทธศาสนา รวมทั้งเป็นที่อยู่อาศัย และทำการอบรมสั่งสอนประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วย โดยย่อ วัดคือสถานที่สร้างพระให้เป็นพระดีตามพุทธประสงค์
๒.เพื่อเป็นสถานที่สร้างประชาชนในชุมชนนั้น ๆ ให้เป็นพุทธศาสนิกที่ดีทั้งหญิงและชาย โดยอาศัยพระภิกษุในวัดนั้น ๆ ซึ่งได้รับการอบรมดีแล้ว ช่วยเมตตาสั่งสอนอบรมให้ โดยย่อ วัด คือโรงเรียนสอนศีลธรรมในพระพุทธศาสนา ให้แก่มหาชนทุกระดับ รวมทั้งพระภิกษุ เองด้วย
๓.เพื่อเป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรมร่วมกันทั้งชุมชน ตั้งแต่ให้ทาน รักษาศีล ฟังเทศน์ เจริญภาวนาร่วมกัน ตลอดจนร่วมประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น มาฆบูชา วิสาขบูชาอาสาฬหบูชา เข้า-ออกพรรษา เป็นต้น
๔.เพื่อเป็นสถานที่ปลูกฝังวัฒนธรรมการสร้างบารมีร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นของชาวพุทธอย่างทั่วถึง พร้อมเพรียงกันทั้งประเทศ โดยยึดหลักการปฏิบัติตนตามหน้าที่ประจำ ทิศ ๖1 อย่างเคร่งครัด เพื่อให้เกิดมิตรแท้2 หรือพลเมืองดี พร้อม ๆ กันทั้งประเทศ โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาล
วัดเป็นรากฐานการศึกษาและสังคมสงเคราะห์ประจำท้องถิ่น
นับตั้งแต่โบราณกาลมา ชาวพุทธต่างตระหนักว่า
๑. คนเราอยู่ลำพังคนเดียวไม่ได้ ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันและกัน
๒. ความรู้ที่เกิดขึ้นกับคนพาลนั้น ย่อมมีแต่นำความวิบัติเสียหายมาสู่บ้านเมือง เพราะต่างใช้ความรู้ไปในทางที่ผิด
๓. บุญเท่านั้น เป็นที่พึ่งอันแท้จริงทั้งโลกนี้และโลกหน้า
๔. การสร้างบุญเป็นทีมย่อมได้บุญมาก ชักนำให้เกิดความสามัคคีของชุมชนได้รวดเร็วมาก
ชาวพุทธจึงนิยมสร้างวัดไว้ประจำเกือบทุก ๆ ชุมชน ในชุมชนใหญ่ ๆ สร้างไว้ถึง ๓-๔ วัด มีทั้งวัดที่สร้างโดยกษัตริย์ประจำแคว้น เศรษฐีประจำเมือง ชาวบ้านประจำถิ่น
เพราะเหตุนี้ การมีวัดเป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมประจำท้องถิ่น การมีพระภิกษุเป็นครูสอนศีลธรรมประจำท้องถิ่น การฝึกหัดบุตรหลานให้รู้จักร่วมกันสร้างบุญใหญ่ด้วยการทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ร่วมกันปฏิบัติศาสนกิจต่าง ๆ ที่วัดตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น จึงเป็น เรื่องจำเป็น
ศาสนกิจเหล่านี้ ยิ่งมีมาก ยิ่งทำมากเท่าใด ยิ่งเป็นเหมือนหลักประกันความร่มเย็นเป็นสุขของครอบครัว ชุมชนสังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ มากเท่านั้น เพราะความรู้ทางธรรมย่อมทำให้คนเป็นคนดี บ้านเมืองใดที่มีคนดีมาก บ้านเมืองนั้นย่อมมี "มิตรแท้" มากกว่า "มิตรเทียม" มีคนใจบุญมากกว่าคนใจบาป
เมื่อท้องถิ่นทุกแห่งมีมิตรแท้อยู่เป็นจำนวนมาก อาสาสมัครที่จะทำงานด้วยความเสียสละเพื่อท้องถิ่น ด้วยหัวใจรักบุญกุศลย่อมมีอยู่เป็นจำนวนมาก ความทุ่มเทชีวิตจิตใจด้วยความรักบ้านเกิดเมืองนอน จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้เกิดการพัฒนาบ้านเมืองไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง ซึ่งมีทั้งความเจริญก้าวหน้า ในการประกอบสัมมาอาชีพ และความร่มเย็น เป็นสุขในการอยู่ร่วมกันด้วยศีลธรรมประจำใจ
วัดในท้องถิ่นใดมีศักยภาพในการสร้างคนในชุมชนให้เป็น "มิตรแท้" วัดแห่งนั้นย่อมกลายเป็น "ศูนย์กลางการสร้างอาสาสมัครพัฒนาท้องถิ่น" ไปโดยอัตโนมัติ
วัดยิ่งมีอาสาสมัครประจำท้องถิ่นอยู่มากเท่าใด ย่อมกลายเป็น "ศูนย์กลางการสร้างมิตรแท้ให้แก่สังคม" ไปโดยอัตโนมัติ
เมื่อสังคมได้รับประโยชน์จากการสร้างมิตรแท้ของวัดเพิ่มมากขึ้นเท่าใด วัดจึงไม่ได้ มีฐานะแค่เป็นโบราณสถานที่เก็บของเก่าประจำท้องถิ่นเท่านั้น แต่กลายเป็น "ศูนย์กลางสถาบันการศึกษาประจำท้องถิ่น" ไปโดยอัตโนมัติ โดยทำหน้าที่วางรากฐานศีลธรรมลงไปในจิตใจคนในท้องถิ่นนั้น ๆ ในทุกระดับการศึกษา ทุกระดับฐานะความเป็นอยู่ เพื่อให้คนในท้องถิ่นนั้น ๆ ประกอบสัมมาอาชีพด้วยความสงบ ต่างดำเนินชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข และเป็นคนดีของสังคม พร้อมที่จะโอบอุ้มหอบหิ้วกันและกันบำเพ็ญประโยชน์เพื่อ ส่วนรวม ซึ่งจะบังเกิดเป็นบุญกุศลต่อ ๆ ไปอีก
วัดเป็นรากฐานการพัฒนาบ้านเมือง
ชาวพุทธในยุคก่อน แม้ไม่ได้มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมือนยุคนี้ แต่จับประเด็น ความเจริญรุ่งเรืองของสังคมได้ถูกต้องว่าการพัฒนาที่แท้จริง ต้องเริ่มจากการพัฒนาใจของประชาชนส่วนใหญ่ให้ละอายความชั่ว กลัวความบาป รักบุญกุศลยิ่งด้วยชีวิต จึงใช้วัดเป็นศูนย์กลางการปลูกฝังศีลธรรมให้กับประชาชนทั้งบ้านทั้งเมือง
ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะทำให้วัดเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน ประจำท้องถิ่น ประจำประเทศแล้ว ยังทำให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาในยุคนั้น กลายเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ประจำทวีปขึ้นมาทันที
แม้แต่ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นดินแดนทองของพระพุทธศาสนา ที่เต็มไปด้วยความศักดิ์สิทธิ์ของวัดวาอารามที่น่าเลื่อมใส การทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ถือเป็นเรื่องปกติของคนทั้งบ้านทั้งเมือง อบายมุขก็อับเฉา ซบเซา การสร้างวัดวาอารามเพื่อเป็นโรงเรียนสอนการศึกษาและศีลธรรมประจำหมู่บ้าน ถือเป็นเรื่องปกติที่ต้องช่วยกัน หมู่บ้านใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นแต่ละแห่งจะต้องมีวัดใหม่ ๆ ประจำหมู่บ้านเกิดขึ้นด้วยเสมอ ดังปรากฏหลักฐานคือ วัดวาอารามที่สร้างขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปี ซึ่งมีอยู่จำนวนหลาย หมื่นวัดที่หลงเหลืออยู่ตามหมู่บ้านหลายหมื่นแห่งตราบถึงทุกวันนี้
ทั้งนี้ เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ในบ้านเมืองเป็น "ผู้มีศีลธรรม" แล้ว แม้มิใช่ญาติโดยสายโลหิต ย่อมกลายเป็น "มิตรแท้" ต่อกัน
เมื่อผู้คนทั้งบ้านทั้งเมืองเป็น "มิตรแท้" ต่อกันโดยญาติธรรมแล้ว ย่อมทำในสิ่งที่ตรงกับ "หัวใจการศึกษา" ที่กล่าวว่า
"ความรู้ที่เกิดขึ้นกับคนดีนั้น ย่อมมีแต่นำความเจริญรุ่งเรืองมาให้ เพราะมีแต่จะใช้ความรู้ไปในทางที่ถูกที่ควร"
ผลที่ตามมาก็คือ บรรยากาศของการส่งเสริมศีลธรรม ย่อมเกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมือง อบายมุขซึ่งเป็นอาชีพที่หากินบนความวิบัติของผู้อื่น จะไม่ถูกปล่อยให้ระบาดท่วมบ้านท่วมเมืองเป็นอันขาด
ความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจและความร่มเย็นด้านศีลธรรมได้เจริญรุ่งเรืองไปคู่กัน ผู้คนก็มีศีลมีธรรม มีปกติยิ้มแย้มแจ่มใส ทักทายไหว้ก่อน ไม่หน้าหงิกหน้างอใส่กัน ไม่คิดจ้องจะกินเลือดกินเนื้อกัน วัดวาอารามก็ไม่ถูกทิ้งร้าง มีแต่สร้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้มีจำนวนเพียงพอกับประชากรในหมู่บ้าน
การเลี้ยงชีพของคนส่วนใหญ่ในยุคนั้น ก็ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีแต่สงเคราะห์ช่วยเหลือกัน การจัดการระบบเศรษฐกิจของบ้านเมือง ก็วางแผนเพื่อความอยู่รอดร่วมกัน ไม่ใช่แบบปลาใหญ่ไล่กินปลาเล็ก ประชาชนทั้งประเทศก็มีความรักกันเหมือนพี่น้อง เพราะต่างก็เต็มใจที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ยินดีที่จะอิ่มด้วยกันอดด้วยกัน และตั้งใจไปสวรรค์อย่างพร้อมหน้าพร้อมตากัน
การเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนรวมในบ้านเมืองนี้ จึงเป็นสิ่งที่ทำด้วยความเต็มใจ ไม่ใช่การขู่เข็ญบังคับ เพราะทำด้วยความรักความห่วงใยพี่น้องร่วมชาติของตน และไม่ใช่เป็นการทำเพียงลำพังคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการช่วยกันคนละไม้คนละมือ "ความสามัคคี" จึงเกิดขึ้นเป็นปึกแผ่นทั้งบ้านทั้งเมือง โดยมีสายบุญ สายธรรมเป็นเครื่องร้อยรัดมัดใจ
บ้านเมืองที่มีแต่ความสามัคคีนั้น จะเกิดขึ้นมาได้ก็ต่อเมื่อมี "วัดเป็นศูนย์กลางการสร้างมิตรแท้ให้กับสังคม" เพราะฉะนั้น วัดที่เป็นวัดตรงตามพุทธประสงค์ยิ่งมีจำนวนมากเท่าใด ยิ่งเป็นการเพิ่ม "สถาบันการศึกษาด้านศีลธรรมสำหรับสร้างมิตรแท้ให้แก่บ้านเมือง" มากเท่านั้น
วัดเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง
ด้วยเหตุที่วัดเป็นทั้งรากฐานการศึกษาประจำท้องถิ่น และรากฐานการพัฒนาบ้านเมือง วัดจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรือง ของบ้านเมืองทั้งด้านเศรษฐกิจและด้านจิตใจ
บ้านเมืองในยุคใดที่มีวัดจำนวนมากทั้งน้อยและใหญ่ ชูช่อฟ้าไสว ตั้งใจอบรมสั่งสอน ประชาชน พระภิกษุก็ท่องบ่นพระธรรมคัมภีร์กันทั้งวัด ย่อมแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง ทั้งเศรษฐกิจและจิตใจของผู้คนในประเทศนั้นว่ามีอยู่มากมหาศาลขนาดไหน ศัตรูหมู่ร้าย ใด ๆ ย่อมครั่นคร้าม
ในทางตรงกันข้าม บ้านเมืองในยุคใดที่มีวัดเสื่อมโทรมรกร้างอยู่มาก ย่อมแสดงถึงความทรุดโทรมตกต่ำทางด้านศีลธรรม การทำมาหากินย่อมฝืดเคืองมหาชนย่อมจมอยู่ในอบายมุขทั้งบ้านทั้งเมือง
บ้านเมืองใดที่มีอบายมุขระบาด บ้านเมืองนั้นย่อมมีแต่ความแตกแยก ประชาชนย่อมไร้ศีลธรรมแม้อยู่ในครอบครัวเดียวกัน ก็ประพฤติต่อกันเยี่ยงศัตรู อาณาจักรใหญ่ ๆ จึงถึงกาลล่มสลายหายไปจากแผนที่โลกครั้งแล้วครั้งเล่า ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์โลก
ดังนั้น การสร้างวัดทั้งน้อยและใหญ่ ทั้งใกล้และไกลบ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองเหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรมตามอริยประเพณี จึงเป็นเรื่องที่ชาวพุทธทุกคนต้อง ศึกษาให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จะได้ช่วยกันสร้าง ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันรักษาวัดประจำท้องถิ่น ให้เป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมที่เหมาะสมกับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอยู่ทุกวัน ทั้งนี้เพื่อให้ครอบครัว ชุมชน สังคมในท้องถิ่นนั้น ๆ มีแต่ความสงบสุขร่มเย็น ลูกหลานชาวพุทธในย่านนั้น ๆ ก็จะได้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ ผู้มีความรู้ ความสามารถ มีศีลธรรม ประจำใจ และย่อมนำความรู้วิชาการทางโลกไปสร้างความดีให้เกิดความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี และความเจริญรุ่งเรืองของศีลธรรมในจิตใจ โดยไม่ยอมให้สถานประกอบอบายมุขทั้งหลายเป็นแหล่งเพาะคนพาล ซึ่งเป็นต้นตอแห่งมิตรเทียม ลอยหน้านำความวิบัติเสียหายมาทำลายความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของท้องถิ่นและประเทศชาติ
การเพิ่มขึ้นของจำนวนวัด การเพิ่มขึ้นของจำนวนพระภิกษุ การเพิ่มขึ้นของจำนวนชาวพุทธในแต่ละท้องถิ่นนั้น จึงต้องอาศัยกำลังของเศรษฐี และคฤหบดีประจำท้องถิ่นในการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกควบคู่กันไป
(อ่านต่อฉบับหน้า)