วันนี้เป็นวันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสูงสุด ในทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวัน ประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพาน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งองค์การสหประชาชาติ ได้เล็งเห็นความสำคัญของวันนี้ จึงได้ประกาศ ให้เป็นวันสำคัญสากลของโลก ที่ชาวโลกจะได้มาระลึกนึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และระลึกนึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อชาวโลกอย่างเอนกอนันต์ เพราะถ้าไม่มีวันนี้ มนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายในภพทั้งสาม ก็จะไม่ได้ยินได้ฟังพระสัทธรรม จะทำให้พลาดโอกาส ในการศึกษาเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต และก็จะพลาดโอกาสในการได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ดังนั้น วันนี้จึงเป็นวันที่มีความหมายต่อชีวิตของพวกเรามาก
วันวิสาขบูชาเป็นวันของพระพุทธเจ้า คำว่า วิสาขบูชา มาจากคำว่า วิสาขปุรณมีบูชา ซึ่งแปลว่า การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ซึ่งในวันนี้ มีเหตุการณ์อัศจรรย์ ๓ ประการเกิดขึ้น คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพาน สามเหตุการณ์นี้ มาพ้องตรงกันในวันเพ็ญวิสาขะ ดังนั้น พุทธศาสนิกชน ทั่วโลก ควรจะให้วันวิสาขบูชาตรงกันวันเดียวทั่วโลก เพราะเรามีพระบรมศาสดาองค์เดียวกัน ทั่วโลกจะได้ยึดถือ และปฏิบัติให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะพุทธบริษัททั้งสี่ต้องเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนดวงตะวันที่มีดวงเดียว
เมื่อย้อนประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาไปก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี ในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งตรงกับวันศุกร์ขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีจอ ครั้งนั้น พระพุทธมารดาทรงพระครรภ์แก่จวนจะประสูติ ทรงได้รับพระบรมราชานุญาตให้แปรพระราชฐาน ไปประทับ ณ กรุงเทวทหะ ซึ่งเป็นพระนครเดิมของพระนาง เพื่อเสด็จไปให้การประสูติยังตระกูลเดิม ตามขัตติยประเพณีนิยมในสมัยนั้น ขณะทรงแวะพักผ่อนพระอิริยาบถ ใต้ต้นสาละ ณ สวนลุมพินีวัน พระนางก็ทรงให้การประสูติ พระราชโอรสผู้มีบุญญาธิการมาก ทรงพระนามว่า เจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งแปลว่า สมปรารถนา หมายความว่า เป็นผู้บังเกิดมาเพื่อสร้างความสมปรารถนาให้แก่ชาวโลกและสรรพสัตว์ทั้งหลาย
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงเจริญวัย ก็ได้ศึกษาความรู้จากครูที่เลิศที่สุดในแผ่นดินในยุคนั้น ทรงใช้เวลาศึกษาเพียง ๗ วัน ก็สามารถเรียนรู้จนหมดภูมิรู้ของครูทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยพระปัญญาธิคุณ ทรงพิจารณาเห็นว่า ความรู้ในทางโลกไม่สามารถจะช่วยให้พ้นทุกข์ได้ ต่อมาจึงทรงออกผนวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม จนลุถึงวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ก็ได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ร่มพระศรี มหาโพธิบัลลังก์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในยามต้น พระองค์ได้เข้าถึงธรรมกายพระโสดาบัน ทรงบรรลุ "ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ" คือ ทรงระลึกชาติหนหลังในครั้งอดีตได้ ในยามที่สอง ได้เข้าถึงธรรมกายพระอนาคามี ทรงบรรลุ "จุตูปปาตญาณ" คือ การรู้แจ้งเห็นแจ้งการเกิดและดับ เห็นการเวียนว่ายตายเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย และในยามที่สาม ทรงบรรลุ " อาสวักขยญาณ" ทรงสามารถ กำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นไปได้ และได้ตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ดังนั้น วันนี้ จึงเป็นวันที่ทำให้มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก ซึ่งก็ตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อีกเช่นกัน
หลังจากที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ทรงนำเอาความรู้อันบริสุทธิ์มาสั่งสอนเวไนยสัตว์ ด้วยพระเมตตา และพระมหากรุณาธิคุณ ตลอด ระยะเวลา ๔๕ พรรษา ทรงบำเพ็ญพุทธกิจ โปรดสรรพสัตว์ตั้งแต่ตอนเช้าตรู่ ทรงตรวจตราดูสัตว์โลกผู้มีบุญ ที่มีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม ในยามเช้า เสด็จออกบิณฑบาตโปรดสัตว์ผู้ควรจะได้ตรัสรู้ ที่ทรงเห็นในข่ายพระญาณ พอตอนบ่ายก็ทรงแสดงธรรมแก่มหาชนที่มาเข้าเฝ้า ในยามเย็น ทรงประทานโอวาทแก่ภิกษุสงฆ์ ยามเที่ยงคืนก็ทรงพยากรณ์ปัญหาแก่เทวดา พรหม และอรูปพรหม ตลอดจนแสดงธรรม และตอบปัญหาให้กษัตริย์ที่มาเข้าเฝ้าเป็นการส่วนพระองค์ โดยพุทธจริยาดังที่กล่าวมานี้ เราจะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้ไม่ว่างเว้นจากการสร้างบารมีเลย จึงทรงเป็นต้นบุญต้นแบบที่ประเสริฐสุดของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย พระองค์ทรงบำเพ็ญพุทธกิจที่งดงามทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย จวบจนกระทั่งถึงวาระสุดท้าย เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ทรงประทับ จำพรรษา ณ เวฬุวคาม ใกล้เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ในระหว่างนั้นทรงพระประชวร เมื่อถึงวันเพ็ญ เดือน ๖ พระพุทธองค์ก็มุ่งเสด็จไปยังเมืองกุสินารา ประทับ ณ ป่าสาละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในราตรีนั้น พระองค์ทรงประทานปัจฉิมโอวาทว่า " ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงอันเป็นประโยชน์ทั้งแก่ตนและผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด" หลังจากนั้นก็ทรงเข้าโลกุตตรฌานสมาบัติและเสด็จดับขันธปรินิพพาน ในคืนวันเพ็ญเดือน ๖ นั้น อีกเช่นเดียวกัน
จากพุทธประวัติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพานใน วันเดียวกัน คือวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่ผ่านมา ก็ทรงมีพุทธประเพณีเช่นเดียวกันนี้เหมือนกัน ดังนั้นเราจึงควรยึดเอาวันนี้ ให้เป็นวันวิสาขบูชา ตรงกันไปทั่วโลก เพื่อรักษาพุทธประเพณีอันดีงามนี้เอาไว้ และเพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกันของพุทธบริษัททั่วโลก
เมื่อวันนี้เวียนมาถึง เราควรจะทำอย่างไร ในฐานะที่เราเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี เราก็ต้องสร้างมหากุศลถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐ และไม่มีประมาณของพระพุทธองค์ ด้วยการบำเพ็ญ บุญกิริยา มีการตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล สวดมนต์ เจริญสมาธิภาวนา จุดประทีปบูชา และเวียนประทักษิณ เป็นต้น ซึ่งในวันนี้เรา ก็จะพร้อมใจกันจุดวิสาขประทีป รอบมหา รัตนวิหารคดเป็นครั้งแรกของโลก เพื่อถวาย เป็นพุทธบูชา และที่สำคัญ วันนี้เป็นวันของพระพุทธเจ้า วันแห่งความบริสุทธิ์ เราควรจะเลิกทำในสิ่งที่ไม่ดี รวมทั้งเลิกอบายมุขทุกชนิดถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตของเรา และจะต้องปฏิบัติตามหลักธรรม ที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้ในวันนี้ คือ อริยสัจ ๔ ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ ได้แก่ ทุกข์ คือ เราต้องมองให้เห็นไปตามความเป็นจริงว่า พื้นฐานของชีวิตคือความทุกข์ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความทะยานอยาก ที่เรียกว่า สมุทัย จะดับความทะยานอยากได้ต้องทำใจให้หยุด ที่เรียกว่า นิโรธ เมื่อใจหยุดมรรคก็เกิด ตั้งแต่ปฐมมรรค เรื่อยไปจนกระทั่งได้บรรลุถึงกายธรรมอรหัต
" ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค " คือ อริยสัจ ความจริงของพระอริยเจ้าที่ทรงค้นพบในวันเพ็ญ วิสาขบูชา ซึ่งการจะบรรลุอริยสัจได้ก็ต้องไม่ประมาท ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงทรงย้ำ พุทโธวาทเป็นครั้งสุดท้ายว่า ให้เราทั้งหลายเป็นผู้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท การประกอบความเพียร ทำใจหยุดใจนิ่ง ด้วยความไม่ประมาทถือว่าได้ทำตามพุทโธวาทอย่างแท้จริง พระพุทธองค์ทรงให้นัยยะว่าให้ทำนิโรธ คือ ทำใจให้หยุดให้นิ่งที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะที่ตรงนี้เป็นที่บังเกิดขึ้น ของปฐมมรรค และเป็นทางเสด็จไป ของพระพุทธเจ้าและ พระอรหันต์ทั้งหลาย รวมทั้งเป็นที่ประสูติ ตรัสรู้ และดับขันธปรินิพพาน คือ เป็นที่บังเกิดขึ้น ด้วยรูปกายเนื้อของพระพุทธองค์ และเป็นที่ตรัสรู้กายธรรมอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และก็ เป็นที่ถอดกาย เสด็จดับขันธปรินิพพานเข้าสู่ อายตนนิพพาน ซึ่งเป็นการประสูติ ตรัสรู้ ดับขันธปรินิพพานภายใน ที่เราควรศึกษาเอาไว้ และก็ต้องปฏิบัติให้ได้ตามพุทโธวาท ให้สม กับที่เราเป็นชาวพุทธ ได้เกิดในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา และให้สมกับที่วันนี้เป็นวันสำคัญสากลของโลก และเป็นวันสำคัญสูงสุด ในพระพุทธศาสนา