น้ำย่อมแผ่ขยายความเย็นไปสู่คนดีและคนเลวได้เสมอกัน ฉันใด พระโพธิสัตว์ทั้งปวงก็ย่อม แผ่ขยายความเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ในชนทั้งที่เกื้อกูลและไม่เกื้อกูลแก่ตน โดยไม่เลือกชนชั้น วรรณะ เพศ วัย หรือเผ่าพันธุ์ใดๆ ด้วยคิดว่าสัตว์โลกก็ คือหมู่ญาติ มีความปรารถนาจะพาข้ามวัฏสงสารไปให้หมด ฉันนั้น
|
|
นับเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก ที่บุคคลผู้หนึ่งแม้จะถูกประทุษร้ายจนปางตาย ก็ไม่คิดเคืองแค้นและประทุษร้ายตอบ ดวงใจนั้นมิได้คลายความเมตตาเลย มหาบุรุษท่านนั้นคือ สุวรรณสามบรมโพธิสัตว์ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ซึ่งเราจะได้มาติดตามศึกษาเรื่องราวการสร้างบารมีของท่านว่า คือบุคคลตัวอย่างของผู้มีจิตเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลกอย่างไรบ้าง
ในสมัยพุทธกาล มีภิกษุรูปหนึ่งตั้งใจบวชตลอดชีวิต มุ่งบำเพ็ญสมณธรรมเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อบวชมาได้หลายพรรษา สมณธรรมยังไม่ก้าวหน้า โยมบิดามารดาเกิดมีปัญหาในเรื่องการค้าขาย ถึงขั้นกลายเป็นคนขอทาน เมื่อท่านกลับมาเยี่ยมบ้าน เห็นโยมทั้งสองตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น ก็รู้สึกสงสารจนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ ท่านจึงตัดสินใจออกบิณฑบาตมาเลี้ยงดูบิดามารดา เพื่อนสหธรรมิกไม่รู้ความจริง จึงตำหนิว่า เป็นพระไม่ควรนำอาหารบิณฑบาตไปให้คฤหัสถ์
|
|
เมื่อพระบรมศาสดาทรงทราบเรื่องนี้ จึงประทานสาธุการแก่ภิกษุรูปนั้นถึง ๓ ครั้ง แล้วตรัสว่า “เธอได้ปฏิบัติชอบแล้ว แม้ในกาลก่อน เราก็ได้เลี้ยงดูบิดามารดาเช่นกัน” แล้วทรงนําเรื่องในอดีตมาเล่าให้ฟังว่า
ในป่านอกกรุงพาราณสี มีดาบสผู้ทรงศีลชื่อว่า “ทุกูลดาบส” และดาบสินี (ดาบสผู้หญิง) ชื่อว่า “ปาริกา” แต่เดิมบิดามารดาปรารถนาจะให้ท่านทั้งสองแต่งงานกัน แต่ท่านเป็นผู้ที่รักการประพฤติพรหมจรรย์ จึงออกบวชและได้เจริญเมตตาธรรมอยู่เป็นนิจ ด้วยกระแสแห่งความเมตตา ทำให้สัตว์ในป่านั้นอยู่ร่วมกันอย่างผาสุกไม่เบียดเบียนกัน และกระแสแห่งความเมตตานี้ยังได้แผ่ไปถึงโลกสวรรค์
พระอินทร์ทรงมีพระทัยอ่อนโยนหวังจะอนุเคราะห์ดาบสทั้งสอง เพราะทรงเห็นเหตุการณ์ในอนาคตว่า ต่อไปดวงตาของดาบสทั้งสอง จะมืดบอด เพราะวิบากกรรมตามมาทัน จึงเสด็จไปหาดาบส แล้วตรัสว่า “ท่านผู้เจริญ ต่อไปอันตรายจะมีแก่ท่านทั้งสอง ท่านควรมีบุตรไว้ปรนนิบัติ เราจะแนะนำวิธีมีบุตรให้แก่ท่าน โดยไม่ต้องล่วงพรหมจรรย์ เพียงท่านเอามือลูบท้องดาบสินี เมื่อเวลานางมีระดูก็พอแล้ว”
|
|
ในกาลนั้น พระโพธิสัตว์จุติจากเทวโลก ถือปฏิสนธิในครรภ์ ของดาบสินี เมื่อเวลาล่วงไป ๑๐ เดือน นางได้ให้กําเนิดบุตรซึ่งมีผิวพรรณดั่งทองคำ จึงให้ชื่อว่า “สุวรรณสาม” พระโพธิสัตว์เจริญวัยมาตามลำดับจนอายุได้ ๑๖ ปี อยู่มาวันหนึ่ง ดาบสทั้งสองออกไปหาผลไม้ และนำผลไม้กลับมาในเวลาเย็น เมื่อใกล้จะถึงอาศรม ได้เกิดฝนตกหนัก ท่านทั้งสองจึงเข้าไปหลบฝนอยู่ใต้ร่มไม้ใหญ่ ซึ่งมีจอมปลวกอยู่ น้ำฝนปนกับกลิ่นกายของมนุษย์ได้ไหลเข้าไปในที่อยู่ของอสรพิษ มันเกิดความโกรธจึงเลื้อยออกมา แล้วพ่นพิษใส่นัยน์ตาของดาบสทั้งสอง ทำให้ตาบอดทันที เมื่อสุวรรณสามไม่เห็นบิดามารดากลับมา ก็ออกตามหาจนพบและทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงบอกบิดามารดาว่า “พ่อและแม่อย่าได้วิตกไปเลย ลูกจะปฏิบัติบำรุงเลี้ยงดูพ่อและแม่เอง” จากนั้นพาบิดามารดากลับอาศรม
|
|
สุวรรณสามได้จัดที่พักใหม่ โดยผูกเชือก ทำเป็นราวไว้ในสถานที่ต่างๆ เพื่อให้บิดามารดา เดินได้สะดวก ครั้นเวลาเย็น ก็ต้มน้ำแล้วอาบให้ บำรุงท่านทั้งสองด้วยดีตลอดมา
ต่อมา เหตุร้ายก็ได้เกิดขึ้นกับสุวรรณสาม เนื่องจากพระราชาพระนามว่า “ปิลยักขราช” ได้เสด็จมาล่าเนื้อในป่า ทรงเห็นสุวรรณสาม เดินมาตักน้ำ พร้อมกับฝูงสัตว์เป็นจำนวนมาก จึงดำริว่า “ตามปกติสัตว์จะไม่กล้าอยู่ใกล้มนุษย์ ผู้นี้จะเป็นเทวดา หรือพญานาค ถ้าเราเข้าไปไต่ถาม ก็อาจจะหนีไปเสียก่อน เราควรจะยิงผู้นี้ให้บาดเจ็บ แล้วจึงค่อยเข้าไปถาม” ว่าแล้วก็ยิงทรงสุวรรณสาม ด้วยลูกศรอาบยาพิษ เข้าข้างขวาทะลุข้างซ้าย ฝูงเนื้อเมื่อเห็นดังนั้นก็ตกใจกลัว วิ่งหนีไปหมด สุวรรณสามแม้ถูกยิงก็ประคองหม้อน้ำไว้ไม่ให้หก แล้วค่อยๆ วางหม้อน้ำลง ล้มตัวลงนอน หันศีรษะไปทางบิดามารดา เพื่อแสดงความเคารพ แล้วกล่าวขึ้นว่า “ในป่านี้เราไม่มีเวรกับใคร บุคคลผู้มีเวร กับบิดามารดา ของเราก็ไม่มี ใครหนอใช้ลูกศรยิงเรา ขอจงบอกเถิด ทำไมท่านถึงยิงเรา แล้วหลบซ่อนอยู่”
พระราชาได้สดับถ้อยคำอันอ่อนโยน จึงดำริว่า “บุรุษผู้นี้ แม้ถูกเรายิงด้วย ลูกศรล้มลงแล้ว ก็ไม่ด่าบริภาษเรา ยังเรียกหาเราด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยนน่ารัก น่าพอใจ” จึงเสด็จเข้าไปใกล้สุวรรณสาม ตรัสว่า “เราเป็นพระราชา” สุวรรณสามกราบทูลว่า “ขอจงทรงพระเจริญ ข้าพระองค์ชื่อ สุวรรณสาม พระองค์ทรงยิงข้าพระองค์ทำไม” พระราชาไม่ทรงทราบว่าจะตอบอย่างไร จึงโกหกว่า “เราเห็นฝูงเนื้อแล้ว หมายจะยิง แต่เมื่อท่านเดินเข้ามา ทำให้ฝูงเนื้อเหล่านั้นตกใจหนีไปหมด เราโกรธเคืองท่าน จึงได้ยิง”
|
|
สุวรรณสามทูลแย้งว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์ตรัสอะไรอย่างนั้น สัตว์ทั้งหลายในป่าแห่งนี้ เมื่อเห็นข้าพระองค์แล้วไม่เคยวิ่งหนี มีแต่วิ่งเข้าหาด้วยความรัก พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก ดังนั้นฝูงเนื้อจะสะดุ้งกลัวข้าพระองค์ได้อย่างไร”
พระราชาทรงยอมรับผิดที่ได้กล่าวเท็จไป สุวรรณสามเมื่อใกล้จะสิ้นใจจึงกล่าวว่า “บิดามารดาของข้าพระองค์ตาบอด ข้าพระองค์ต้องเลี้ยงดูท่าน หลังจากนี้ไปเมื่อไม่ได้อาหาร คงจะต้องตายเป็นแน่ ความทุกข์เพราะถูกยิงด้วยลูกศรนี้ ยังไม่เท่ากับความทุกข์ที่ข้าพระองค์จะไม่ได้บำรุงบิดามารดาอีกต่อไป”
|
|
พระราชาทรงเสียพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ดำริว่า “เราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว ได้ประหารบุรุษผู้ตั้งอยู่ในธรรม ปฏิบัติต่อบิดามารดาด้วยความกตัญญู ถ้าเราตายไปก็จะต้องตกนรกเป็นแน่ ราชสมบัติจักช่วยอะไรเราได้” จึงตรัสว่า “ท่านอย่าได้กังวลไปเลย เราจะเลี้ยงดูบิดามารดาของท่าน ให้เหมือนกับที่ท่านได้กระทำไว้”
สุวรรณสามได้ทูลสั่งลาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงบำรุงเลี้ยงบิดามารดาของข้าพระองค์ ผู้มีดวงตามืดบอดด้วยเถิด และขอพระองค์ได้ตรัสบอกบิดามารดาให้ทราบว่า ข้าพระองค์ขอกราบแทบเท้าท่านทั้งสอง เป็นครั้งสุดท้าย” จากนั้นก็สิ้นลม
|
|
พระราชาทรงนำดอกไม้มาบูชาสุวรรณสาม จากนั้นทรงถือหม้อน้ำเสด็จไปอาศรมของดาบส ตรัสเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้บิดามารดาฟัง แล้วพาไปยังที่สุวรรณสามนอนอยู่ ดาบสและดาบสินีเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ระลึกถึงความดีของลูก แล้วตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ขออานิสงส์ที่บุตรของเราได้ประพฤติธรรม ได้บํารุงเลี้ยงดูเรา ด้วยคำสัตย์นี้ ขอพิษจากลูกศรจงอันตรธานหายไป”
|
|
เทพธิดาชื่อ “พสุนธรี” ผู้เคยเป็นมารดาของสุวรรณสามในชาติปางก่อน ก็มาช่วยตั้งสัตยาธิษฐานว่า “ใครๆ จะเป็นที่รักของเรายิ่งกว่า สุวรรณสามย่อมไม่มี ด้วยสัจวาจานี้ ขอพิษร้ายจงหายไป” ความอัศจรรย์ก็พลันบังเกิดขึ้น พิษร้ายได้หายไปในทันที สุวรรณสาม กลับฟื้นขึ้นเป็นปกติ และนัยน์ตาที่มืดบอด ของบิดามารดา ก็กลับเห็นชัดเจนเป็นปกติ
|
|
พระราชาทรงอัศจรรย์ใจยิ่งนัก ทรงประคองอัญชลีขอขมาโทษสุวรรณสาม แล้วตรัสถามด้วยความตื่นเต้นว่า “ท่านสามทำกาลกิริยา (ตาย)ไปแล้วมิใช่หรือ แต่ทำไมท่านจึงยังมีชีวิตอยู่ล่ะ” สุวรรณสามไม่คิดเคืองแค้น ต่อพระราชาเลย มีแต่จิตที่ประกอบด้วยความเมตตา ทูลถวายโอวาทว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า โลกอาจสำคัญว่าข้าพระองค์นั้นตายแล้ว แต่ความจริงแล้วข้าพระองค์ ยังมีชีวิตอยู่ ข้าแต่มหาราช ..บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมแก้ไขคุ้มครองบุคคลผู้นั้น บุคคลใดเลี้ยงดูบิดามารดาโดยธรรม นักปราชญ์ทั้งหลายย่อมสรรเสริญบุคคลผู้นั้น เมื่อเขาละจากโลกไปแล้ว ย่อมบันเทิงอยู่ในสวรรค์”
|
|
พระราชาทรงดำริว่า “น่าอัศจรรย์จริง เราพึ่งประจักษ์ถึงอานุภาพแห่งความกตัญญูกตเวทิตา ก็ในวันนี้เอง แม้เทวดาทั้งหลายก็เยียวยารักษาโรคภัยที่เกิดแก่บุคคล ผู้เลี้ยงดูบิดามารดาได้ สามบัณฑิตนี้ช่างน่าอัศจรรย์เหลือเกิน ท่านสามบัณฑิต ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นสรณะ และขอท่านจงเป็นที่พึ่งให้แก่ข้าพเจ้าไปสู่เทวโลกด้วยเถิด”
สุวรรณสามโพธิสัตว์ได้ทูลว่า “ข้าแต่มหาราชเจ้า ถ้าพระองค์มีพระประสงค์เสด็จสู่เทวโลก ขอจงทรงประพฤติในทศพิธราชธรรมจรรยาเหล่านี้เถิด” เมื่อพระราชาเสด็จกลับแล้ว พระโพธิสัตว์ก็ยังคงทำหน้าที่บำรุงบิดามารดา เป็นปกติดังเดิม มิให้ท่านทั้งสอง ต้องลำบากกาย ลำบากใจ ทั้งสามท่านได้เพ็ญสมณธรรมด้วยความไม่ประมาท ได้เจริญเมตตาภาวนาให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จนได้ฌานสมาบัติ ละโลกแล้วก็ไปบังเกิดในพรหมโลก
พระบรมศาสดาตรัสเล่าเรื่องสุวรรณสามจบลงแล้ว จึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การเลี้ยงดูบิดามารดานั้น ชื่อว่าเป็นวงศ์ของบัณฑิตทั้งหลาย” จากนั้นก็ทรงประกาศอริยสัจสี่ ฝ่ายภิกษุผู้เลี้ยงดูบิดามารดา ได้น้อมใจไปตามกระแสพระดำรัสด้วยใจที่สงบนิ่ง ในที่สุดก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นพระอริยบุคคลชั้นต้นในพระพุทธศาสนา
|
|
เรื่องสุวรรณสามโพธิสัตว์นี้ เป็นแบบอย่างให้เราได้ทราบถึงการบำเพ็ญเมตตาบารมี ซึ่งเมื่อบุคคลใดได้เจริญเมตตาภาวนา อย่างสม่ำเสมอแล้ว ย่อมทำให้เป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีภัยต่อใคร แม้เหล่าสัตว์ร้าย ที่พูดคุยกันไม่รู้เรื่อง เมื่อได้สัมผัสกระแสแห่งความเมตตา แล้วก็ยังกลับเชื่อง ไม่มีจิตคิดเบียดเบียนกัน
การเจริญเมตตานั้น เป็นการบำเพ็ญบุญอย่างหนึ่ง ซึ่งเมื่อเจริญอย่างต่อเนื่อง ก็จะกลั่นตัวเองเป็นบารมี แถมยังมีอานุภาพ คุ้มครองป้องกันภัยในปัจจุบัน ทำให้หลับก็เป็นสุข ตื่นก็เป็นสุข เป็นที่รักของมนุษย์ เทวดา และสัตว์ทั้งหลาย เมื่อจะละโลกก็มีอานิสงส์ทำให้จิตผ่องใส ส่งให้ไปเกิดในเทวโลกได้
ตัวเรารักตนเอง ปรารถนาความสุขความเจริญให้แก่ตัวเราเองเช่นไร เราก็นึกแผ่ขยายความรัก ความปรารถนาดีไปยังบุคคลอื่นเช่นเดียวกัน ชีวิตของเราจะได้เจริญขึ้นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะบุคคลผู้เป็นที่รักของมหาชนนั้น จะประกอบกิจการงานสิ่งใด ก็ย่อมได้รับการช่วยเหลือค้ำจุน จะสั่งสมบุญสร้างบารมี ก็จะมีผู้คอยสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จอย่างง่ายๆ และจะมีความสุขความเจริญอย่างต่อเนื่อง ตราบวันเข้าถึงบรมสุขคือพระนิพพาน