เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
เมื่อสถานการณ์ในวัฏสงสารเป็นอย่างนี้ ก็มีคำถามตามมาอีกว่า เราจะมีหลักประกันในการได้เกิดในปฏิรูปเทส ๔ และสามารถประคับประคองตนเองให้อยู่ในเส้นทางการสร้างบารมีได้ตลอดรอดฝั่งดั่งเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้อย่างไร
ความแน่นอนในการจะได้เกิดในปฏิรูปเทส ๔นั้น ขึ้นอยู่กับหลักการ ๓ ข้อ คือ
๑) ต้องมีธรรมะเป็นหลักยึดประจำใจ
๒) ต้องอิจฉาใครไม่เป็น
๓) ต้องทุ่มชีวิตสร้างบารมี
ผู้ที่ตั้งใจฝึกฝนอบรมตนเอง ทำความดีบนพื้นฐานหลัก ๓ ข้อนี้เท่านั้น ถึงจะมีโอกาสได้ไปเกิดในปฏิรูปเทส ๔ และอยู่บนเส้นทางการสร้างบารมี ดั่งเช่นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงทำไว้ให้ดูเป็นต้นแบบ
๑) ต้องมีธรรมะเป็นหลักยึดประจำใจ
พระพุทธองค์ทรงสอนให้เราเอาธรรมะเป็นหลักยึดประจำใจ แต่ธรรมะนั้นอยู่ในบุคคล การที่ใครก็ตามจะมีธรรมะ เป็นหลักยึดประจำใจได้ จึงต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการ คือ
๑.๑) ตนเองต้องตั้งใจศึกษาและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์
๑.๒) ตนเองต้องยึดเอาบุคคลผู้มีธรรมะฝังแน่นประจำใจมาเป็นหลักยึดในการสร้างความดี
ที่ต้องอาศัยเหตุ ๒ ประการนี้ ก็เพราะการที่เราจะมีธรรมะเป็นหลักยึดประจำใจไปได้ตลอดรอดฝั่ง ไม่ใช่แค่การศึกษาพระธรรมคำสอนของพระองค์จนขึ้นใจ ธรรมะจะเกิดขึ้นในตัวได้ต้องลงมือสร้างความดีอย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่การสร้างความดีต้องใช้กำลังใจหักดิบจากความชั่วอยู่เป็นปกติ แต่กำลังใจเป็นของคนเรานั้น มันขึ้นๆ ลงๆ ได้ การที่กำลังใจในการทำความดีของเราจะคงอยู่และเพิ่มพูนต่อไปได้ จึงต้องยึดเอาบุคคลที่มีธรรมะฝังแน่นอยู่ในใจ มาเป็นต้นแบบในการทำความดีตามท่านไป เมื่อเราได้ทำความดีอย่างต่อเนื่องจนเป็นปกตินิสัย เราก็จะไม่หลุดออกไปจากปฏิรูปเทส ๔ ธรรมะก็จะเพิ่มพูนขึ้นในตัวเรา ทำให้เราไม่หลุดไปจากเส้นทางการสร้างบารมี
ตัวอย่างในเรื่องนี้คือ สมัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาบังเกิดเป็นสุเมธดาบส เมื่อได้ทอดตัวเป็นสะพานให้พระทีปังกรและเหล่าพระอรหันต์เดินข้ามโคลนตมไป ก็ได้รับพยากรณ์จากพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า อีก ๔ อสงไขยกับแสนมหากัป ท่านจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งชื่อว่า พระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้า สุเมธดาบสดีใจมาก คิดว่าความเพียรของตนนั้นใกล้ประสบความสำเร็จแล้ว ท่านดีใจเหมือนกับว่าจะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในวันพรุ่งนี้
ชาวเมืองในที่นั้นเมื่อได้ยินพุทธพยากรณ์แล้วต่างก็มีจิตยินดี พวกแรกที่สั่งสมความดีมาเต็มที่แล้ว ก็อธิษฐานจิตนึกถึงบุญบารมีที่เต็มเปี่ยมของตนแล้ว ก็ได้บรรลุธรรมตามกำลังของตนตามพระทีปังกรสัมมาสัมพุทธเจ้าไป
อีกพวกเมื่อรู้ตัวว่ายังสั่งสมความดีมาไม่พอ จึงตั้งจิตอธิษฐานว่าเมื่อไม่ทันพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นี้แล้ว ก็ขอติดตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อไป คิดดังนั้นแล้วจึงพากันบูชาสุเมธดาบสด้วยดอกไม้
ในที่นั้นมีลูกสาวพราหมณ์คนหนึ่ง ชื่อนางสุมิตรา ได้นำดอกบัวมา ๘ กำ แล้วตั้งจิตอธิษฐานว่า ดอกบัว ๕ กำถวายแด่สุเมธดาบส ส่วน ๓ กำเป็นส่วนของตน ด้วยบุญนี้ขอให้มีผลเสมอกัน คือ หากสุเมธดาบสสร้างบารมี ไปถึงไหนก็ขอให้ตนได้อย่างนั้นด้วย ตั้งแต่นั้น นางก็ได้ติดตามสร้างบารมีกับสุเมธดาบสไปทุกชาติ ชาติสุดท้ายจึงมาเป็นพระนางพิมพา และได้บรรลุธรรมตามไปด้วย
จากเหตุการณ์ตรงนี้ ความจริงแล้วต้องเอาธรรมะ คือ พระนิพพานเป็นตัวตั้ง แต่ถ้าธรรมะยังไม่แก่กล้าพอ ก็ต้องยึดบุคคลที่มีธรรมะ แก่กล้ายิ่งกว่ามาึยึึดเป็นหลัก ในการทำความดีตามท่านไป นี้ก็เป็นตัวอย่างของความฉลาดในการผูกใจ ไว้กับธรรมะโดยผ่านตัวบุคคลผู้มีธรรมะมั่นคง
๒) ต้องอิจฉาใครไม่เป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงชี้ให้เห็นว่า เวลาที่เราเห็นใครที่เขามีความพร้อม ทั้งเงินทอง อำนาจ ชาติตระกูลที่ดี มีชื่อเสียงโด่งดัง เฉลียวฉลาดรอบรู้ ก็อย่าไปคิดอิจฉาริษยา ให้บอกตัวเองว่าในอดีตชาติ เราก็เคยเป็นอย่างนี้มาเหมือนกัน
แต่เมื่อเรามีคุณสมบัตินั้นแล้ว กลับเกิดความประมาท นำสิ่งที่มีไปใช้ในทางที่ผิด ทำให้ชีวิตต้องตกต่ำ กว่าจะได้มาเป็นตัวเราที่มีโอกาสมาสร้างความดีอย่างนี้ ชีวิตก็ย่ำแย่มามาก
ส่วนผู้ที่เขามีสิ่งดีๆ อย่างนี้ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ และคุณสมบัติ ก็เพราะเขาตั้งใจทำความดีของเขามา ถ้าเขานำไปใช้ทำความชั่ว ชีวิตหลังจากนี้อาจจะแย่ยิ่งกว่าที่เราเคยเป็นมา แต่ถ้าเขานำไปทำความดี ชีวิตของเขาก็จะดียิ่งๆ ขึ้นไปกว่านี้
คนที่อิจฉาใครไม่เป็นนั้น นอกจากใจจะไม่แคบเพราะความอิจฉานั้น ในทางตรงกันข้ามแล้ว ก็กลายเป็นคนที่ขวางการทำความดีใครไม่เป็น นอกจากขวางไม่เป็นแล้ว ถ้าเห็นใครทำความดีแล้ว จะรีบเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำความดีทุกครั้ง เพราะรู้แล้วว่าความดียิ่งทำมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มพูนความดีให้แก่ตนเองมากขึ้นเท่านั้น
เมื่อเราคิดได้อย่างนี้แล้ว จะไม่โลภอยากได้ของใคร และจะอิจฉาใครไม่เป็น เพราะรู้แล้วว่าผลดี ผลชั่ว ที่เกิดขึ้นแก่ตัวเราทั้งหมดนี้ ขึ้นอยู่กับความตั้งใจทำความดีของเราเท่านั้น
ชาตินี้ตั้งใจฝึกให้มีธรรมะฝังแน่นอยู่ในใจให้ได้ ฝึกแล้วฝึกอีกยังไม่พอ ต้องดูว่าใครที่ฝึกได้ดีกว่าเรา เข้าใจธรรมะมากกว่าเรา ก็ให้ติดตามสร้างความดีกับบุคคลนั้นไป เมื่อมองภาพนี้ชัดแล้ว ก็จะเอาตัวรอดได้ ไม่หลุดไปจากปฏิรูปเทส ๔ และเส้นทางการสร้างบารมีดั่งเช่นพระพุทธองค์อย่างแน่นอน นั่นก็เพราะว่าเราอิจฉาใครไม่เป็น
๓) ต้องทุ่มชีวิตสร้างบารมี
ความหมายของคำว่า บารมี มี ๒ นัย
นัยที่ ๑ บารมี หมายถึง นิสัยการเอาชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี เพื่อแก้ไขสันดานไม่ดีที่เป็นโปรแกรม ข้ามชาติติดตัวมา ให้กลายเป็นนิสัยที่ดีเยี่ยม
นัยที่ ๒ บารมี หมายถึง บุญที่มีคุณภาพพิเศษๆ เพราะเป็นบุญที่เกิดจากการทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันในการทำความดี
คำถามที่ถามว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า บังเกิดขึ้นนับพระองค์ไม่ถ้วนแล้ว ทำไมเราจึงยังงุ่มง่ามติดอยู่ในวัฏสงสารนี้ ก็เพราะเราเกิดมาเจอปฏิรูปเทส ๔ ก็ไม่รู้จักว่าเป็นปฏิรูปเทส ๔ เกิดมาเจอบุคคลที่เป็นสัมมาทิฏฐิก็ทำเฉยเมย ไม่ว่าท่านจะทำอะไรก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของท่าน เราก็ไม่เข้าไปหา ไม่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทำให้ห่างจากบุคคลที่ธรรมะฝังแน่นประจำใจออกไปเรื่อย ๆ
เมื่อห่างกันไปเรื่อยๆ สิ่งที่ขาดไปจากชีวิต ก็คือ นิสัยทุ่มชีวิตสร้างความดี ในระดับที่สามารถ ปราบกิเลสในตัวได้เด็ดขาด สามารถบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ เมื่อขาดนิสัยทุ่มชีวิต ทำความดี ก็เท่ากับว่า ชีวิตเราขาดธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ในการทำความดีเสียแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ เดี๋ยวก็ต้องจับแง่คิดผิด ไปอิจฉาริษยาชาวบ้าน ไปขัดขวางการทำความดีของคนดี ในที่สุด ก็พลัดไปเกิดในถิ่นที่ไม่ใช่ปฏิรูปเทส ๔ และไม่ได้พบบุคคลผู้มีธรรมะฝังแน่นในการทำความดี เป็นเหตุให้ประมาทในการดำเนินชีวิตได้โดยง่าย ก่อกรรมทำชั่วได้โดยง่าย ต้องตกนรกหมกไหม้ ประสบความทุกข์สารพัดไม่สิ้นสุด ต้องติดอยู่ในสังสารวัฏนี้ต่อไป
เพราะฉะนั้น เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ก็อย่าได้ประมาทในชีวิต ชาตินี้ไม่ว่าจะได้เกิดหรือไม่ได้เกิดในปฏิรูปเทส ๔ ก็ตาม ขอให้ตั้งใจสร้างความดีกันต่อไป อย่างชนิดเอาชีวิตเป็นเดิมพัน อย่าอิจฉาริษยาใคร หากมีเรื่องกระทบกระทั่งกันบ้างก็ให้อดทน ให้คิดว่าเราคงเคยทำกับคนอื่นมาอย่างนี้ จึงต้องมารับผลที่เคยทำไว้ เมื่อเราคิดได้อย่างนี้ก็จะปลงตก แล้วก็ตั้งใจสร้างบารมี
เอาบุคคลผู้มีใจฝังแน่นด้วยธรรมะ เป็นหลักยึดในการสร้างบุญบารมีตามท่านไป ความประมาทในชีวิต ที่จะทำผิดพลาดต่างๆ นานา ย่อมเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสิ่งแวดล้อมที่ดีตีกรอบไว้ให้หมดแล้ว นั่นก็เท่ากับว่า เราจะได้เกิดในปฏิรูปเทส ๔ และอยู่บนเส้นทางการสร้างบารมี ไปได้ตลอดรอดฝั่งอย่างแน่นอน
คนที่มองชีวิตในสังสารวัฏได้ทะลุปรุโปร่งเข้าใจอย่างนี้ แล้วตั้งใจสร้างบารมีให้เต็มที่บนหลักการ ๓ ข้อนี้ คือ ๑) ต้องมีธรรมะเป็นหลักยึดประจำใจ ๒) ต้องอิจฉาใครไม่เป็น ๓) ต้องทุ่มชีวิตสร้างบารมี นี่คือคนที่ไม่ประมาทในเส้นทางการสร้างบารมีอย่างแท้จริง