วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การพัฒนาคนด้วย "ปัญญา ๓ ฐาน"

ทันโลกทันธรรม

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (MD.; Ph.D.) จากรายการทันโลกทันธรรม ออกอากาศทางช่อง DMC

 




 

         หลักในการพัฒนาบุคคลในยุคนี้มีอยู่มากมาย และมีการนำเสนออีกหลักหนึ่งโดย ดร.วรพัฒน์ ภู่เจริญ ท่านเสนอวิธีพัฒนาบุคลากรในองค์กรด้วย หลัก "ปัญญา ๓ ฐาน"Ž และที่น่าสนใจคือ หลักปัญญา ๓ ฐานนี้ ท่านเอามาจากหลักธรรมในพระพุทธศาสนา คือเรื่องของศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งรายละเอียดของ ปัญญา ๓ ฐานŽ คือ ฐานกาย เป็นเรื่องของศีล ฐานใจ เป็นเรื่องของสมาธิ และ ฐานที่ ๓ ฐานความคิด เป็นเรื่องของปัญญา

         ข้อแรก ศีล (ฐานกาย) คือเรื่องความมีวินัยทางกายและวาจานั่นเอง เพราะฉะนั้น อาตมาจึงอยากจะใช้คำว่าฐานวินัย ซึ่งคลุมทั้งกายและวาจา ฐานวินัยนี้ ในแง่ของการทำงานก็คือให้เป็นคนที่มีวินัยในตัวเองและมีความรับผิดชอบ ถ้าในแง่ขององค์กรก็คือเป็นองค์กรที่รับผิดชอบ เช่น สินค้าที่ผลิตออกมาการันตีคุณภาพได้ ไม่มีการปลอมปน ปลอมแปลง ไม่ทำแบบกรณีที่เอาเมลามีนมาผสมใน นมของจีน ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่รับผิดชอบ ทำแล้ว เสียหายทั้งบริษัทจนถึงกับล้มละลาย เพราะคนไม่กล้าซื้อผลิตภัณฑ์นมจากบริษัทนี้อีกต่อไป และยังเสียหายไปถึงประเทศจีนอีกด้วย จะเห็นได้ว่าหากขาดความรับผิดชอบเมื่อไร ความเสียหายก็จะเกิดขึ้น มากมาย เพราะฉะนั้นจะต้องปลูกฝังความรับผิดชอบ ให้กับบุคลากรทั้งบริษัท เพราะบริษัทเกิดมาจากบุคลากรในบริษัทแต่ละคนมารวมกัน ถ้าทุกคนมีวินัย มีความรับผิดชอบในตัวเอง และมีความซื่อสัตย์ บริษัทนั้นก็เป็นที่ไว้ใจได้

         ข้อที่ ๒ สมาธิ (ฐานใจ) คือเรื่องของความเพียรชอบ มีสติชอบ สมาธิชอบ โดยย่อก็คือให้เป็น คนที่ขยันพัฒนาตนเองตลอด เพราะความขยันหรือ ความเพียรชอบ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขยายความออกเป็น ๔ อย่าง คือ


         ๑. สิ่งไม่ดีในตัวเราที่มีอยู่ ให้เลิก ให้ทิ้งไป
         ๒. สิ่งไม่ดีที่ยังไม่มี ก็ควรป้องกันไม่ให้เกิดขึ้น
         ๓. สิ่งดี ๆ ที่ยังไม่มีในตัวเรา ก็ให้พยายาม ทำให้เกิดขึ้น
         ๔. สิ่งดี ๆ ที่มีอยู่แล้ว ก็ทำให้เจริญก้าวหน้า ยิ่ง ๆ ขึ้นไป

         พูดง่าย ๆ ก็คือการพัฒนาตนเองนั่นเอง ลดสิ่งไม่ดีแล้วเพิ่มพูนสิ่งดี ๆ เพิ่มพูนความรู้ความสามารถของตนให้มากขึ้น แล้วก็ต้องมีสติ มีความรู้ตัว และทำสมาธิได้ หัวใจรวมของข้อนี้ก็คือเรื่องสมาธินั่นเอง ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องที่ฝรั่งสนใจมาก เพราะเขาพบว่า เมื่อนั่งสมาธิแล้ว อะไร ๆ ก็ดีขึ้นมาก เอาใจหยุดนิ่ง ๆ อย่างเดียว ทุกอย่างดีขึ้นอย่าง เห็นได้ชัด เพราะทั้งศีล สมาธิ และปัญญา จริง ๆ แล้วก็อยู่ที่ใจนั่นเอง

         เคยมีพระภิกษุรูปหนึ่งในครั้งพุทธกาล บอก ว่าวินัยสงฆ์มีเยอะเหลือเกิน เป็นร้อย ๆ ข้อ รักษาไม่ไหว จะไปขอลาสิกขากับพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสถามว่า ถ้าให้รักษาข้อเดียวไหวไหมŽ พระรูปนั้นกราบทูลว่า ไหวŽ "พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นให้เธอรักษาใจ เพราะเมื่อเธอรักษาใจของเธอได้ ศีล สมาธิ ปัญญาจะเกิดขึ้นเอง" แล้วพระวินัยทุกข้อจะสมบูรณ์Ž ท่านก็ตั้งใจรักษาใจของ ท่านเต็มที่ สุดท้ายก็สามารถบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้ เรื่องนี้ชี้ให้เห็นได้ชัดว่า การรักษาใจให้สงบ ให้ หยุด ให้นิ่ง เป็นหัวใจของความสำเร็จทุกอย่าง

         เพราะฉะนั้น ผู้ที่อยากมีความก้าวหน้าในชีวิต และบริษัทที่อยากให้บุคลากรมีคุณภาพ ก็ให้พวกเขา นั่งหลับตาทำสมาธิตามหลักที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า สอนไว้ แล้วทุก ๆ อย่างจะดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ

         ข้อที่ ๓ ปัญญา (ฐานความคิด) แบ่งได้ ๒ อย่าง

         ๑. เรื่องความเห็น มีสัมมาทิฐิ ความเห็นชอบ
         ๒. เรื่องความคิด มีสัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ

         ความเห็นกับความคิดต่างกันอย่างไร ความเห็นเป็นตัวชี้ทิศ เป็นกรอบว่าเราจะไปในทิศทางไหน ส่วนความคิดเป็นการคิดเรื่องรายละเอียดตามกรอบ นั้น ถ้าวางกรอบผิด วางทิศทางผิด เช่น วางทิศทาง ไว้ว่าจะต้องเป็นโจร พอวางกรอบอย่างนี้แล้ว ความ คิดจะเป็นไปในทางที่เป็นโทษหมดเลย เพราะว่าทิศทางผิดตั้งแต่แรก เช่น คิดว่าทำอย่างไรจะไปขโมยพาสเวิร์ด แล้วก็เอาเงินจากบัญชีธนาคารของคนอื่นมาได้ อย่างนี้ยิ่งเก่งเท่าไรก็ตาม ใช้ความคิด มากเท่าไรก็ตาม ก็จะเป็นไปในทางที่ผิดหมดเลย เพราะฉะนั้นต้องมีสัมมาทิฐิ มีความเห็นชอบ เป็น การวางกรอบความคิดที่ถูกต้องไว้ก่อน จากนั้นก็ใช้ ความคิดที่ถูกต้องเติมเข้าไปในรายละเอียด ทุกอย่าง ก็จะสมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ฐานเรื่องปัญญาต้องประกอบด้วย ๒ อย่าง คือ ความเห็นและความคิด จึงจะครบถ้วนบริบูรณ์

 



 

         นี้คือปัญญา ๓ ฐาน หรือการพัฒนาตนเอง ๓ ฐาน ตามหลักของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

         แล้วจะต้องมีกิจกรรมอะไรมารองรับ จึงจะสามารถพัฒนาทั้ง ๓ อย่างนี้ขึ้นมาได้ "สิ่งที่ต้องทำคือ เราจะต้องมีความสม่ำเสมอในกิจกรรมที่สร้างให้เกิดวินัย สมาธิ และปัญญา เราจะพบว่า ตำราบริหารมีมาก แต่ละอย่างที่ยกมาดี ๆ ทั้งนั้น แต่หัวใจคือจะต้องทำอย่างเอาจริงเอาจังและสม่ำเสมอ" ในกรอบของศีล สมาธิ ปัญญา จึงจะเกิดผลดี เพราะเมื่อทำอย่างสม่ำเสมอจะกลายเป็นนิสัย ทั้งนิสัยส่วนตัวและนิสัยขององค์กร เป็นสิ่งที่ทุกคน ทำจนคุ้นเคยเป็นอัตโนมัติ ที่เรียกว่าวัฒนธรรม องค์กร สมาชิกใหม่เข้ามาก็จะถูกหลอมกลืนเข้าไปสู่วัฒนธรรมนี้ด้วย เมื่อทำจนเป็นนิสัยแล้ว ก็จะทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อย ๆ

         การใช้เรื่องเล่าก็เป็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมาก พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ใช้เรื่องเล่าเป็นวิธีการหลักในการเผยแผ่ธรรมะในพระพุทธศาสนา ถ้าใครเคยอ่านพระไตรปิฎกจะพบว่า ทั้งพระวินัยและพระสูตร จริง ๆ แล้วคือประมวลเรื่องเล่านั่นเอง หลักธรรมแต่ละเรื่องจะมีที่มาที่ไป เล่าท้องเรื่องก่อน แล้วก็มาถึงหัวใจคือหลักธรรม เพราะฉะนั้น เรื่องเล่าจึงมีความสำคัญ เป็นตัวอย่างและแรงบันดาลใจให้คนอยากจะทำตาม

         ฉะนั้น จะให้ผู้บริหารมาเล่าเรื่องเร้าใจ เพื่อจูงใจให้เกิดพลังทำสิ่งที่องค์กรปรารถนาก็ได้ ให้สมาชิกช่วยกันเล่าก็ได้เหมือนกัน เพราะเรื่องเล่าเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และจะซึมซับเข้าไปโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเล่าครั้งเดียวแล้วเลิก อะไรจะเกิดขึ้น ก็หวือหวา ชั่วคราวแล้วก็หายไป แต่ถ้ามีเรื่องเล่าจากคนนั้น คนนี้ เรื่องนั้นเรื่องนี้สม่ำเสมอทุกวัน ก็จะค่อย ๆ ซึมซับจนกระทั่งเป็นนิสัย แล้วจะกลายเป็นวัฒนธรรม องค์กรขึ้น

         หรืออาจจะใช้ระบบการให้คุณให้โทษในองค์กรก็ได้ เพราะระบบการให้คุณให้โทษถ้าหาก ทำอย่างชัดเจน แล้ววางเป็นกรอบกติกาที่ทุกคน รับรู้รับทราบพร้อมกันว่า ถ้าทำตามทิศทางนั้นจะ ได้ประโยชน์ แต่ถ้าออกนอกทิศทางก็จะเกิดโทษ อย่างนี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้คนอยากจะไปในทิศทาง นั้น และจะมีแนวโน้มอยู่ในกรอบขององค์กร

         หรือจะอยู่ในรูปแบบของกิจกรรม เพราะถ้าลงรายละเอียดแล้วจะพบว่าการพัฒนาองค์กรมีรูปแบบหลากหลายมาก จะไปออกกำลังกายด้วยกันก็ได้ หรือบางบริษัทโดยเฉพาะของญี่ปุ่นตอนเช้าก่อนเริ่มงาน บางครั้งจะให้พนักงานเต้นแอโรบิกหรือออกกำลังกายร่วมกันสัก ๕ นาที ๑๐ นาที แล้วก็เริ่มงาน ในภาคปฏิบัติจริง บางทีไม่ใช่เรื่องของศีลล้วน ๆ สมาธิล้วน ๆ หรือปัญญาล้วน ๆ แต่เป็นลักษณะผสม ขอเพียงให้ภาพรวมอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องก็ใช้ได้ แต่ขอให้ทำอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ต่อเนื่อง จนกระทั่งเป็นนิสัยขององค์กร เป็นนิสัยของสมาชิกในองค์กร แล้วจะเกิดผลดี นี้คือหัวใจของความสำเร็จที่บางครั้งคนมองข้ามไป ถ้าจับหลัก ตรงนี้ได้แล้ว จะเอาหลักธรรมแต่ละหัวข้อมาใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ และหากเข้าใจอย่างนี้แล้ว จะพบ ว่าเวลาไปอ่านตำรา บริหารหรือตำราพัฒนาบุคลากร กี่เล่มก็ตาม ก็จะไม่งง

         ให้เราพิจารณาว่า เนื้อหาของกิจกรรมที่จะทำ สอดคล้องกับหลักศีล สมาธิ ปัญญาไหม เป็น การเพิ่มพูนความพร้อมเพรียง ความซื่อสัตย์ ความ มีวินัย รับผิดชอบของสมาชิกในองค์กรนั้น ๆ หรือเปล่า ทำให้สมาชิกในองค์กรใจนิ่งขึ้น มีความขยันหมั่นเพียร อยากจะพัฒนาตัวเองมากขึ้นหรือเปล่า มีสติในการทำงานมากขึ้นหรือเปล่า ทำให้ สมาชิกในองค์กรนั้น มีความเห็นที่ถูกต้องดีงามหรือ เปล่า กรอบความคิดถูกต้องไหม รู้จักใช้ความคิด ให้งานทุกอย่างสำเร็จตามเป้าด้วยหรือเปล่าหากอยู่ในกรอบนี้ใช้ได้ทั้งนั้นทุกกิจกรรม และให้เลือกกิจกรรมที่เหมาะสมกับลักษณะขององค์กร เพราะแต่ละองค์กรมีงานต่างกัน และลักษณะงานของแต่ ละหน่วยงานก็ไม่เหมือนกัน ลักษณะของบุคลิก ผู้บริหารก็ไม่เหมือนกัน ให้ดูจากสภาพความเป็นจริง ว่า ลักษณะงานของบริษัทเป็นอย่างไร สภาพชุมชน แวดล้อมเป็นอย่างไร ผู้คนในบริษัทตั้งแต่ผู้บริหารถึง พนักงานมีธรรมชาติอย่างไร กิจกรรมไหนเหมาะกับ สภาวะขององค์กรนั้น ๆ ก็เลือกได้เลย ขอเพียงให้ทำอย่างจริงจัง สม่ำเสมอ และต่อเนื่อง ผลดีจะเกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ นี้คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ในภาคปฏิบัติที่ให้ผลดีในปัจจุบันทันตาเห็น แล้วให้ทำ ไปอย่างต่อเนื่อง ตั้งใจนั่งสมาธิอย่างจริงจัง ผลดี จะเกิดขึ้นในชาติหน้าด้วย สุดท้ายยังสามารถหมด กิเลสและเข้าพระนิพพานได้

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล