เรื่องน่ารู้
เรื่อง : Tipitaka (DTP)
ยุคการจารึก
คัมภีร์ใบลาน
มรดกธรรมจากพุทธกาล
การสืบทอด คำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในยุคแรกมีจุดเริ่มต้นจากการสวดทรงจำของเหล่าพุทธสาวก ถ่ายทอดจากครูสู่ศิษย์ ที่เรียกว่า มุขปาฐะ จนกาลผ่านมาถึงประมาณปี พ.ศ. ๔๐๐ เศษ ในสมัยพระเจ้าวัฏฏคามินีอภัย แห่งประเทศศรีลังกา ทรงเล็งเห็นว่าในภาวะสงคราม หากพระไตรปิฎกถูกเก็บรักษาโดยการทรงจำเพียงอย่างเดียว อาจทำให้คำสอนสูญสิ้นไปได้ จึงโปรดให้เริ่มมีการบันทึกพระไตรปิฎกโดยการจารจารึกเป็นตัวอักษรขึ้น นับเป็นจุดเริ่มต้นของการสืบทอดคำสอนด้วยใบลานนับแต่นั้นเป็นต้นมา
เนื่องจากเดิมคัมภีร์บาลีสืบทอดต่อกันมาด้วยมุขปาฐะ ภาษาบาลีจึงไม่มีตัวอักขระ เป็นเพียงเสียงเท่านั้น ดังนั้นการจารจารึกคัมภีร์บาลี จึงใช้ตัวอักขระของท้องถิ่นต่าง ๆ แต่ออกเสียงตรงกันซึ่งอาจแบ่งเป็น ๔ สายจารีตใหญ่ คือ คัมภีร์ใบลานอักษรสิงหล อักษรพม่า อักษรขอม และอักษรธัมม์ (ล้านนา)
คัมภีร์ใบลานของแต่ละสายจารีตมีลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกัน แต่มีส่วนประกอบหลัก ๆ คือ ผ้าห่อ สายสนอง ไม้ประกับ และฉลากหนังสือใบลาน (Colophon)
ส่วนประกอบของคัมภีร์ใบลาน
ผ้าห่อ
สายสนอง
ไม้ประกับ
ใบลาน
ไม้ประกับ
ฉลากหนังสือใบลาน
ภาพเปรียบเทียบทางกายภาพ
ใบลานอักษรสิงหล – กว้างและยาวที่สุด
ใบลานอักษรพม่า – กว้างกว่าใบลานอักษรขอมและธัมม์ (ล้านนา) แต่สั้น
ใบลานอักษรขอม – ไม่กว้างแต่ยาว
ใบลานอักษรธัมม์ ( ล้านนา) – ไม่กว้างแต่ยาว
ตารางเปรียบเทียบคัมภีร์ใบลานของแต่ละสายจารีต
แม้ว่าพระธรรมคำสอน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จะได้รับการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ใบลาน ก็เป็นวัสดุที่มีอายุจำกัดเพียงไม่กี่ร้อยปี โดยเฉพาะสภาพอากาศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่เอื้อต่อ การเก็บรักษา จึงต้องมีการคัดลอกขึ้นใหม่อยู่เนือง ๆ ก่อนที่คัมภีร์เดิมจะผุกร่อนไปตามกาลเวลา ทั้งนี้การ คัดลอกคัมภีร์ใบลานต้องอาศัยระยะเวลาและความชำนาญของผู้จาร ที่ต้องมีความรู้ด้านอักขระโบราณ สามารถอ่านและเขียนได้ จึงจะจารได้อย่างถูกต้องและสวยงาม แต่ในปัจจุบันเนื่องจากผู้เชี่ยวชาญด้าน อักขระโบราณมีจำนวนน้อยลง ประกอบกับเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ทันสมัยได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทำให้คัมภีร์ใบลานอันทรงคุณค่าจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย ถูกทำลาย หรือสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย คัมภีร์บางส่วนที่หลงเหลืออยู่ก็ถูกเก็บไว้ตามหอไตร พิพิธภัณฑ์ หรือห้องสมุดโดยไม่มีการนำมาศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง
เพื่อเป็นการอนุรักษ์มรดกธรรมอันล้ำค่าให้คงอยู่คู่อนุชนรุ่นหลัง และเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้าพระสัทธรรมคำสอน โครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย จึงได้ทำการรวบรวม อนุรักษ์ และถ่ายภาพคัมภีร์ใบลานทั้ง ๔ สายจารีต ไว้เป็นข้อมูลดิจิทัลด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ซึ่งมีคุณภาพดีกว่าภาพถ่ายไมโครฟิล์มในอดีต สามารถเก็บไว้ใช้เป็นข้อมูลปฐมภูมิสำหรับการศึกษาค้นคว้า และไม่ว่ากาลเวลาจะผ่านไปอีกนานเท่าใด ภาพถ่ายคัมภีร์ใบลานเหล่านี้จะยังคงเป็นมรดกธรรมจากพุทธกาลอันทรงคุณค่าสืบไป
การเปรียบเทียบ ภาพดิจิทัลที่ถ่ายโดยโครงการพระไตรปิฎก วัดพระธรรมกาย กับภาพไมโครฟิล์มทั่วไป ภาพดิจิทัล (ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๑๐ “มหาปทานสูตร” หน้า ๘-๑๐)
สำหรับผู้ที่สนใจเข้าชมคัมภีร์ใบลานทั้ง ๔ สายจารีต สามารถไปชมได้ที่นิทรรศการ
“การสืบทอดพุทธธรรมจากพุทธกาลสู่โลกปัจจุบัน” ที่เสา N 24 (ฒ ๒๔) สภาธรรมกายสากล ทุกวันอาทิตย์