ตักบาตรพระ ๒ ล้านรูป
เรื่อง : ใจแก้ว
สมดุลชีวิต
ทฤษฎีการบริหารชีวิตที่มีชื่อเสียงของ ศ.ดร.โลทาร์ เจ.ไซแวร์ท ชาวเยอรมัน กล่าวไว้ว่า มนุษย์ควรบริหารชีวิตให้สมดุลทั้ง ๔ ด้าน คือ ด้านจิตใจ,การงาน, สุขภาพ, สังคมและครอบครัว แต่ปัจจุบันเรามักเน้นไปที่การงาน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากเราทุ่มทำงานอย่างเดียว อาจทำให้อีก ๓ ด้านล้มเหลว และในที่สุดจะก่อให้เกิดปัญหาจนกระทั่งไม่สามารถทำงานได้ดีดังที่ตั้งใจ ดังนั้นเพื่อให้ชีวิตสมดุลมากขึ้น เราควรแบ่งเวลาไปดูแลด้านอื่นด้วย ซึ่งวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ก็คือ การไปทำบุญตักบาตรในโครงการตักบาตรพระ ๒,๐๐๐,๐๐๐ รูปฯ เพราะการตักบาตรช่วยพัฒนาจิตใจเราให้คุ้นเคยกับการเสียสละ การแบ่งปัน และก่อให้เกิดความสุขใจในฐานะผู้ให้ นอกจากนี้การได้เห็นพระจำนวนมาก ๆ ยังช่วยให้จิตใจเราชุ่มชื่นเบิกบาน และที่สำคัญการพาครอบครัวไปทำบุญร่วมกันยังช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องไปถึงความสัมพันธ์ในสังคมอีกด้วย ดังนั้นการไปตักบาตรจึงมิได้มีความหมายแค่การไปทำบุญเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างสมดุลชีวิตทั้งในด้านจิตใจ สังคมและครอบครัวได้อีกด้วย
ตักบาตรพระ ๑,๔๒๐ รูป กรุงเทพมหานคร (มหาวิทยาลัยรามคำแหง)
เมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ ชมรมพุทธศาสตร์และวัฒนธรรมไทย มหาวิทยาลัยรามคำแหง และชมรมเครือข่ายภาคี จัดพิธีตักบาตรพระ ๑,๔๒๐ รูป ขึ้น ณ ลานพ่อขุนรามคำแหง โดยได้รับความเมตตาจากพระอาทรปริยัติกิจ เลขานุการเจ้าคณะเขตบางกะปิ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดเทพลีลา เป็นประธานสงฆ์ และได้รับเกียรติจาก ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
การตักบาตรในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อฉลองครบ ๔๐ ปี ชมรมพุทธศาสตร์และวัฒนธรรมไทย และยังเป็นการรวมพลังชาวพุทธส่งกำลังใจไปช่วยเหลือพุทธบุตร ๓๒๓ วัด ๔ จังหวัดภาคใต้อีกด้วย
ตักบาตรพระ ๑,๒๕๐ รูป จังหวัดนครศรีธรรมราช
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๖ พุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชร่วมกันทำบุญตักบาตรแด่พระภิกษุสงฆ์ ๑,๒๕๐ รูป เนื่องในวันมาฆบูชา ณ บริเวณถนนราชดำเนิน หน้าวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร โดยมีพระเทพวินยาภรณ์เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช (ธ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
การตักบาตรครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมมหากุศลที่เป็นประวัติศาสตร์ของจังหวัดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นกิจกรรมที่ชาวนครศรีธรรมราชเห็นว่าควรจัดอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกหลานได้สืบสานประเพณีตักบาตรกันต่อไปตราบนานเท่านาน..