ผลการปฏิบัติธรรม
เรื่อง : พระบริบูรณ์ ธัมมวิชโช
อยากเข้าถึงพระธรรมกาย...ใจต้องหมั่นหยุดนิ่งไว้กลางกาย
เราทุกคนที่ได้มารู้จักวิชชาธรรมกาย ต่างก็ปรารถนาที่จะเข้าถึงพระธรรมกายกันทุกคน เพราะเราตระหนักดีว่า วิชชาธรรมกายเป็นวิชชาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นผู้ค้นพบในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ ด้วยการทุ่มเทชีวิตจิตใจ เอาชีวิตเป็นเดิมพันทำสมาธิภาวนา จนกระทั่งเข้าถึงพระธรรมกายซึ่งสถิตอยู่ ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ในตำแหน่งกลางท้อง เหนือสะดือ ๒ นิ้วมือ ซึ่งหัวใจสำคัญของการเข้าถึงพระธรรมกายก็คือ ต้องเอาใจมาหยุดนิ่งอย่างเบาสบายที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดเคลื่อน อย่างนี้ แค่นี้ เท่านั้น
ดังนั้นข้อใหญ่ใจความสำคัญก็คือ ถ้าวันนี้เรายังไม่เข้าถึงพระธรรมกายเสียที ก็ต้องย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เวลาของชีวิตส่วนใหญ่เราเอาใจไปวางไว้ที่ไหนหรือวางกับสิ่งใด เพราะถ้าเราวางไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างต่อเนื่องจริง ๆ เราย่อมได้พบของจริง ดังประสบการณ์ภายในของพระภิกษุสามเณรธรรมทายาทที่ท่านสามารถมองเห็นองค์พระได้แม้ในเวลาเช็ดเก้าอี้...
สามเณรธรรมทายาทภาณุพล สุปัตติ อายุ ๑๙ ปี
โครงการอุปสมบทหมู่ธรรมทายาทระดับอุดมศึกษา ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๔๑
“ก่อนมาบวช สามเณรเรียนอยู่ชั้นปีที่ ๑ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาพลศึกษา “ช่วงที่กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.๖ สามเณรได้ไปร่วมงานบวชพี่ชายที่วัดพระธรรมกาย ทำให้ได้รู้จักกับพี่ ๆ ชมรมพุทธฯ พี่ ๆ เล่าเรื่องพระเดชพระคุณหลวงปู่และวิชชาธรรมกายให้ฟัง ทำให้สามเณรอยากเดินตามรอยเท้าหลวงปู่ ทั้ง ๆ ที่ก็ไม่เคยรู้จักท่านมาก่อน ตอนนั้นไปค้นหาหนังสือทุกเล่มที่เกี่ยวกับหลวงปู่มาอ่าน อ่านแล้วก็ทำให้เชื่อ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ว่า วิชชาธรรมกายมีจริง หลวงปู่เข้าถึงจริง และทำให้ สามเณรมีความคิดอยากจะรื้อสัตว์ขนสัตว์บ้าง
“พอเข้าไปเรียนในระดับอุดมศึกษา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป วัน ๆ มีแต่เรียนว่างก็ไปเที่ยวและดื่มเหล้า บุญก็ไม่ค่อยได้ทำ วันหนึ่งพี่ชายของสามเณรชวนไปเข้าค่ายธรรมะ ดี-มาย-แคมป์ ๗ วัน ทำให้ได้รู้จักกับโครงการอบรมธรรมทายาท และตัดสินใจเข้ามาบวช ตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามาอยู่ในโครงการ สามเณรตั้งใจศึกษาธรรมะจากพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงอย่างยิ่งยวด สิ่งที่ชอบมากที่สุดในโครงการก็คือ ความสามัคคี ฉันเหมือนกัน จำวัดพร้อมกัน ทำเหมือนกันมีอะไรก็ช่วยเหลือกัน และพระอาจารย์ยังเน้นเรื่องการนั่งสมาธิเป็นพิเศษด้วย
“ในช่วงสายวันหนึ่ง สามเณรนั่ง แบบปรับร่างกายให้เข้าที่ ให้สมดุล ทำอย่างสบาย ๆ ผ่อนคลาย แล้วจึงหลับตาเบา ๆ นึกถึงบุญที่ได้สั่งสมมา ค่อย ๆ ภาวนา ‘สัมมา อะระหัง’ ไปเรื่อย ๆ ประมาณ ๑๐ นาที คำภาวนาก็หายไป ใจก็เงียบเหมือนเราไม่ได้นึกอะไรเลย อยู่ดี ๆ ก็เห็นแสงเป็นจุดเล็ก ๆ เหมือนดวงดาวบนท้องฟ้าหนึ่งดวง ดูดเราเข้าไป รู้สึกเหมือนลอยอยู่ท่ามกลางแสงที่สว่างมาก เท่ากับพระอาทิตย์เที่ยงวัน ๓ ดวง สามเณรรู้สึกสบาย มีความสุขอย่างบอกไม่ถูก มาถึงช่วงบ่ายของวันที่ ๑๖ เมษายน สามเณรได้ไปรับบุญเช็ดเก้าอี้ ๒,๐๐๐ กว่าตัว เพื่อเตรียมงานวันคุ้มครองโลก ตอนเช็ดเก้าอี้ สามเณรได้วางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ พร้อมกับภาวนา ‘สัมมา อะระหัง’ ไปด้วย เช็ดได้สัก ๒๐ ตัว สิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น อยู่ดี ๆ ก็เห็นองค์พระอยู่ในท้อง ท่านใสยิ่งกว่า แก้ว สามเณรก็เช็ดไปเรื่อย ๆ ยิ่งเช็ด ยิ่งเห็นชัด พอหลับตาท่านก็ ขยายคลุมตัว ๒ ชั้น ทำให้อยากเช็ดไปเรื่อย ๆ ไม่อยากหยุดเลย ใน คืนนั้นสามเณรก็นั่งสมาธิอีก ก็เห็นแสงเป็นจุดเล็ก ๆ คล้ายดวงดาวบน ท้องฟ้า ๑ ดวง อยู่ตรงกลางท้อง พอมองผ่าน ๆ ก็รู้สึกเหมือนแสงจะ ดูดเข้าไป พอปล่อยก็รู้สึกปลอดโปร่ง ตัวเบาเหมือนจะลอยได้ สามเณรอยู่ในแสงนั้นสักพัก จู่ ๆ องค์พระก็ผุดขึ้นมาจากแสงสว่าง นั่งหันหน้าไปทางเดียวกันและขยายคลุมตัว สามเณรมีความสุขมากที่สุดเลย
“ในวันที่ไปเดินธุดงค์ธรรมชัยไปพัฒนาวัดร้างให้เป็นวัดรุ่งที่จังหวัดขอนแก่น ในวันที่สองของการเดิน ช่วงแวะพักที่ วัดป่าปภาโส หลังจากที่ฉันปานะเสร็จ สามเณรรีบไปนั่งสมาธิทันที ภาวนา ‘สัมมา อะระหัง’ ได้ไม่ถึง ๒ นาที ใจก็หยุด เห็นแสงสว่างที่กลางท้อง สักพักก็เปลี่ยนเป็นองค์พระใสเหมือนแก้ว พอถึงเวลาเดินก็มององค์พระในกลางท้องไปเรื่อย ๆ ยิ่งก้าว ยิ่งปลื้ม ตอนนี้ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน เห็นองค์พระตลอด ทำให้สามเณรได้รู้ว่า ความสุขที่แท้จริงไม่ได้อยู่ที่ไหนไกลเลย แต่อยู่ในตัวเรานี่เอง”