วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนที่ ๓ อริยสัจ ๔

 พระธรรมเทศนา

 

นักโทษแห่งวัฏสงสาร ตอนที่ ๓ อริยสัจ ๔

นักโทษแห่งวัฏสงสาร พระธรรมเทศนาโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

นักโทษแห่งวัฏสงสาร
พระธรรมเทศนาโดยพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
ในรายการ “โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่อง DMC
(Dhammakaya Media Channel) วันพฤหัสบดีที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔

อริยสัจ ๔
ความจริงที่สั่นสะเทือนวัฏสงสาร

    สิ่งที่ทำให้เจ้าของหรือผู้สร้างคุกนี้หวั่นไหวที่สุดก็คือ กลัวมนุษย์จะรู้ความจริง กลัวมนุษย์จะมองเห็นกิเลสในใจตนเอง กลัวมนุษย์จะถอนกิเลสออกจากใจได้สำเร็จ เพราะเมื่อใดที่กิเลสถูกถอนออกจากใจจนหมดสิ้น นั่นคือสภาวะแห่งการบรรลุนิพพาน มนุษย์ก็จะเป็นอิสระทันที พ้นจากสภาพการเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในวัฏสงสารที่ไม่มีวันสิ้นสุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือแหกคุกได้สำเร็จนั่นเอง 

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นบุคคลแรกที่สามารถกำจัดกิเลสออกจากพระทัยได้หมดสิ้นเด็ดขาด ด้วยการตรัสรู้อริยสัจ ๔ ทำให้ทรงประกาศอิสรภาพให้ตัวเองได้สำเร็จ เลิกเป็นบ่าวเป็นทาสของกิเลสอย่างถาวร

อริยสัจ ๔ คืออะไร ?
    อริยสัจ ๔ แปลว่า ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ๑ อริยสัจ ๔ เป็นธรรมแม่บทในพระพุทธ-ศาสนา ที่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงความจริงอันประเสริฐ คือ รู้-เห็นกิเลสและสามารถกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นจากใจได้ จึงหลุดพ้นจากการเป็นนักโทษในวัฏสงสารได้สำเร็จ

    อริยสัจ ๔ ประกอบด้วยความจริงของโลกและชีวิต ๔ ประการ ได้แก่

    ๑. ทุกข์ คือ ชีวิตนี้เป็นทุกข์
    ๒.    สมุทัย คือ สาเหตุแห่งทุกข์ ซึ่งเกิดจากการที่ใจถูกกิเลสบีบคั้นทำให้เกิดตัณหา คือ ความทะยานอยากไม่รู้จบ 
    ๓. นิโรธ คือ ภาวะที่กิเลสถูกกำจัดหมดสิ้นไปจากใจ จึงทำให้ทุกข์ดับโดยสิ้นเชิง
    ๔. มรรค คือ ข้อปฏิบัติที่สามารถกำจัดกิเลสได้สำเร็จมีอยู่ ๘ ประการ เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘

ความจริงอันประเสริฐ ๔ ประการ
ความจริงประการที่ ๑ คือ ชีวิตนี้เป็นทุกข์ 

    ใครก็ตามที่รู้ความจริงของชีวิตข้อแรกว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ แม้จะยังไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะ เพียงแค่ฟังแล้วนำไปคิดไตร่ตรองเท่านั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้วัฏสงสารนี้สะเทือนยิ่งกว่าแผ่นดินไหวพร้อมกันทั้งโลกเสียอีก ทั้งนี้เพราะเมื่อใดที่นักโทษรู้ตัวแล้วว่า ตนกำลังติดคุกอยู่ ความคิดที่จะแสวงหาหนทางออกจากคุกย่อมจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เมื่อคิดบ่อย ๆ ใคร่ครวญบ่อย ๆ ก็จะเกิดความเด็ดเดี่ยวในการตั้งเป้าหมายชีวิตขึ้นมาว่า

    “เป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของมนุษย์ คือ การกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไปด้วยตนเอง”

    เพียงแค่เกิดความคิดเช่นนี้ นักโทษก็เริ่มรู้สึกมีความปลอดภัยขึ้นมาระดับหนึ่งแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังจะก่อให้เกิดความฮึกเหิมกันไปทั้งคุก ทั้งวัฏสงสาร แต่ผู้คุมคุกก็คงเริ่มจะอยู่ไม่สุข เพราะรู้ว่านักโทษกำลังคิดจะกำจัดทุกข์ให้พ้นจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือคิดจะแหกคุกออกไปจากวัฏสงสารแล้ว 

    ดุจเดียวกับที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเห็นทุกข์จากเทวทูต ๓ คนแรก คือ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย แล้วทรงได้คิดว่า มนุษย์ทั้งโลกนี้ตกอยู่ในสภาพทุกข์เช่นเดียวกันทั้งหมดทั้งสิ้น มีหนทางใดที่จะกำจัดทุกข์นี้ได้บ้างหรือไม่ พอท่านได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ซึ่งเป็นสมณะเท่านั้น ก็ทรงตั้งเป้าหมายชีวิตเลยว่า เราเกิดมาเพื่อกำจัดทุกข์ให้หมดสิ้นไป จากนั้นท่านก็ทรงตัดสินพระทัยออกบวชเป็นสมณะ ใช้เวลาวิจัยค้นคว้าหาทางกำจัดทุกข์อยู่ ๖ ปีเต็ม จึงได้ทรงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรม-ศาสดาเอกของชาวโลก 

    ดังนั้น การได้รู้ความจริงว่าโลกและชีวิตนี้เป็นทุกข์ แม้จะยังไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะก็ตาม แต่ก็ถือว่าเป็นการรู้ความจริงอันประเสริฐ เพราะทำให้คิดตั้งเป้าหมายชีวิตได้ถูกต้อง และจะเป็นเหตุให้มีพรรคพวกคิดตั้งเป้าหมายตามอย่างกันไปทั้งโลก เกิดความสั่นสะเทือนไปทั่วทั้งวัฏสงสาร

ความจริงประการที่ ๒ คือ สาเหตุแห่งทุกข์ ได้แก่ ตัณหา คือ ความทะยานอยากไม่รู้จบ ซึ่งเกิดจากการที่ใจถูกกิเลสบีบคั้น

    ใครก็ตามที่รู้ความจริงของชีวิตข้อที่ ๒ ว่ากิเลสเป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เพราะคอยบังคับใจมนุษย์ให้คิดอยากไม่รู้จบ ซึ่งส่งผลให้อยากพูด อยากทำในทางผิด ๆ ร้าย ๆ จนกลายเป็นทางมาแห่งความทุกข์ต่าง ๆ นานาในชีวิต ก็ถือว่าได้รู้ความจริงอันประเสริฐประการที่ ๒ แล้ว

    ถึงแม้จะยังไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะว่า กิเลสมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร เพียงแค่รู้สาเหตุเท่านั้น     ก็จะทำให้เกิดความคิดที่จะแก้ทุกข์ได้ตรงจุดทันที นั่นคือ ถ้าอยากสิ้นทุกข์ ก็ต้องกำจัดกิเลสให้สิ้น 

    เพียงเกิดความคิดว่า จะกำจัดกิเลสอันเป็นสาเหตุแห่งทุกข์เท่านั้น ก็จะกลายเป็นการสั่นคลอนคุก กลายเป็นการสั่นสะเทือนทั้งวัฏสงสารได้เช่นกัน ยิ่งถ้ามนุษย์สามารถมองเห็นกิเลสได้เมื่อไร คุก คือวัฏสงสารนี้ก็แทบจะระเบิดออกเป็นเสี่ยง ๆ เลยทีเดียว 

    ด้วยเหตุนี้ การตรัสรู้ธรรมของพระองค์จึงเป็นการสั่นคลอนคุกอย่างยิ่ง เป็นการสั่นสะเทือนวัฏสงสารอย่างใหญ่หลวง เพราะพระองค์ย่อมเปิดเผยความลับให้ชาวโลกรู้ว่า กิเลสเป็นตัวการที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลายในโลก 

    ถ้าชาวโลกรู้ความจริงนี้ ก็จะพากันตั้งใจกำจัดกิเลสตามพระองค์ไปจนหมดสิ้น ซึ่งจะทำให้นักโทษแหกคุกหลบหนีออกไปได้เป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ “มาร” ต้องลุกขึ้นมาขัดขวางการตรัสรู้ธรรมอย่างสุดฤทธิ์สุดเดช ไม่ยอมให้พระองค์ไปรู้ไปเห็นความจริงนี้โดยง่าย 

    ยกตัวอย่างเช่น การผจญมารของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันตรัสรู้ธรรม ซึ่งเป็นเรื่องจริงของโลก ในช่วงเวลาก่อนการตรัสรู้นั้น มารกลัวเหลือเกินว่า พระองค์จะทรงค้นพบความจริงว่า ทุกข์ทั้งหลายของมนุษย์นั้นมีสาเหตุจากกิเลสที่ควบคุมใจ ดังนั้นมารจึงทุ่มเทสรรพกำลังเพื่อขัดขวางการตรัสรู้อย่างเต็มที่ โดยใช้วิธีการชั่วร้ายสารพัดที่เรียกว่า “วิชามาร”

    เริ่มตั้งแต่วิธีการที่ ๑ คือ ใช้อิทธิพลข่มขู่ ทั้งใช้พวกมากเข้าข่มขวัญ ใช้คำหยาบเข้าข่มขู่ ใช้ศัสตราวุธเข้าทำร้าย เพื่อให้พระองค์ทรงเกิดความรักตัวกลัวตาย จะได้เลิกการบำเพ็ญเพียรภาวนา แต่ก็ล้มเหลว

    เมื่อไม่ได้ผลก็ใช้วิธีการที่ ๒ คือ ใช้การทวงสิทธิ์ ทึกทักเอาว่าแผ่นดินตรงที่พระองค์นั่งสมาธิเป็นโพธิบัลลังก์นั้น เคยเป็นของมารมาก่อน เพื่อหาข้ออ้างในการขับไล่พระองค์ให้ลุกหนีไปจากโคนต้นพระศรีมหาโพธิ์ จะได้ล้มเลิกการบำเพ็ญเพียร แต่ก็ล้มเหลว

    เมื่อใช้ไม้แข็งไม่ได้ผลก็เปลี่ยนมาใช้ไม้อ่อนเป็นวิธีการที่ ๓ คือ ใช้กลมารยา โดยส่งธิดามารมาเย้ายวนหลอกล่อ หลังจากพระองค์ทรงตรัสรู้ธรรมแล้ว ด้วยหวังจะให้พระองค์กลับไปลุ่มหลง ต่อจากนั้นมารจะได้ใช้กิเลสควบคุมใจของพระองค์ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่ก็ต้องล้มเหลวกลับไปอีก

    การตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงลำพัง ยังทำให้คุกสั่นสะเทือน เพราะกลัวจะถูกเปิดโปงความจริงถึงขนาดนี้ ถ้าหากประชากรโลกทุกคนตรัสรู้ธรรมตามพระองค์ไปได้ทั้งโลก คุกคงแทบจะระเบิดเป็นเสี่ยง ๆ ทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้ก็มีข้อคิดว่า

    มารผู้เป็นต้นกำเนิดความชั่วกลัวการถูกเปิดโปงความลับในวัฏสงสารให้ชาวโลกรู้ความจริงฉันใด
    คนชั่วคนเลวทั้งหลายในโลกนี้ก็กลัวการถูกเปิดโปงความลับซึ่งเป็นความชั่วของตัวให้ชาวโลกรู้ความจริงฉันนั้น

    สำหรับพวกเราที่ได้รู้ความจริงเรื่องนี้ แม้จะยังไม่สามารถมองเห็นรูปร่างหน้าตาของกิเลส  ด้วยญาณทัสสนะก็ตาม แต่ก็ทำให้ชีวิตปลอดภัยขึ้นมากทีเดียว เพราะทำให้รู้จักฝึกควบคุมใจให้ผ่องใส ไม่ปล่อยให้กิเลสกำเริบเสิบสานบีบคั้นจิตใจได้โดยง่าย จึงทำให้ทุกข์ลดลง ใจก็สะอาดสงบมากยิ่งขึ้น ใจยิ่งสะอาดสงบเท่าไร ก็ยิ่งผ่องใสมากขึ้นเท่านั้น กิเลสจึงเข้าควบคุมได้ยาก ยังผลให้ใจใสได้นานขึ้น ความสุขก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ ๆ 

    ดังนั้น การได้รู้ความจริงว่า ทุกข์ทั้งหลายมีสาเหตุมาจากกิเลสที่บีบคั้นใจ แม้จะยังไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะก็ตาม ก็ต้องถือว่าได้รู้ความจริงอันประเสริฐ ทำให้สามารถแก้ปัญหาทุกข์ในเบื้องต้นได้ตรงกับสาเหตุที่แท้จริง และเมื่อฝึกควบคุมความอยากในใจอยู่เป็นนิจ ย่อมเป็นการซ้อมการกำจัดกิเลสในเบื้องต้นไปในตัวตามลำดับ ๆ เพียงเท่านี้ก็สร้างความมั่นใจได้มากทีเดียวว่า เราจะสามารถกำจัดกิเลสให้สิ้นไปได้จริง

ความจริงประการที่ ๓ คือ ทุกข์นี้ดับได้ด้วยการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้น

    ใครก็ตามที่รู้ความจริงของชีวิตข้อที่ ๓ ว่า ทุกข์ทั้งหลายดับได้ด้วยการกำจัดกิเลสออกจากใจให้สิ้นไปโดยเด็ดขาด แม้จะไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะ ก็ถือว่าได้รู้ความจริงอันประเสริฐเช่นกัน เพราะทำให้รู้ว่ากิเลสไม่ได้เป็นอมตะ แต่กิเลสมีวันที่จะถูกกำจัดให้หมดสิ้นไปได้อย่างเด็ดขาดโดยการบำเพ็ญอริยมรรคมีองค์ ๘ จนกระทั่งใจสามารถรวมเป็นหนึ่ง เข้าถึงธรรมภายในตน สามารถบรรลุความรู้แจ้ง หรือญาณไปตามลำดับ จนกระทั่งรู้แจ้ง “อาสวักขยญาณ” บรรลุภาวะแห่งนิพพาน คือ กิเลสและกองทุกข์ดับโดยสิ้นเชิง

    เพราะฉะนั้น บนเส้นทางชีวิตนักสร้างบารมีของเรา ไม่ว่าจะเกิดอุปสรรคใด ๆ ขึ้นก็ตาม ห้ามไถลออกนอกเส้นทางการสร้างบารมีเด็ดขาด ขอให้มั่นใจเถิดว่า ทุกข์ทั้งหลายดับได้ด้วยการกำจัดกิเลสออกจากใจให้สิ้นไปโดยเด็ดขาด ด้วยการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อย่างต่อเนื่อง ถูกวิธี อย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน 

    เนื่องจากกิเลสไม่ได้เป็นอมตะ กิเลสถูกกำจัดได้ ดังนั้นเราจึงต้องร่วมมือกันขยายความรู้เรื่อง วิธีกำจัดกิเลสให้กว้างไกล ให้รู้กันทั่วทั้งโลก ถ้าชาวโลกมีความรู้ตรงกัน มีความปรารถนาตรงกัน มีความพากเพียรเหมือนกัน ย่อมจะเกิดพลังหมู่ที่มีอานุภาพมหาศาลในการแหกคุกออกไปพร้อม ๆ กันโดยไม่มีสิ่งใดมายับยั้งขัดขวางได้

    ดังนั้น การได้รู้ความจริงว่า ทุกข์นี้ดับได้ด้วยการกำจัดกิเลสให้หมดสิ้นจากใจ แม้จะยังไม่เห็นด้วยญาณทัสสนะ ก็ต้องถือว่าได้รู้ความจริงอันประเสริฐ ย่อมทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะพากเพียรปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่อไปโดยไม่ย่อท้อ ในที่สุดก็จะสามารถกำจัดกิเลสได้เด็ดขาดสมปรารถนา..

                                    (อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 129 กรกฏาคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล