อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อานิสงส์การจุดประทีป ถวายเป็นพุทธบูชา
“ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่ง” (มงคลสูตร)
การบูชา คือ การแสดงออกในลักษณะของความเลื่อมใสศรัทธา มีการยกย่องเชิดชูทั้งทางกาย วาจา และใจ ด้วยความนอบน้อมทั้งต่อหน้าและลับหลัง การแสดงต่อหน้าเป็นการแสดงออกถึงความเคารพและตระหนักในคุณธรรมความดีของบุคคลที่เราบูชาอย่างจริงใจ ส่วนการแสดงอาการบูชาลับหลังเป็นการเตือนใจตัวเราเอง ให้ผูกใจไว้กับคุณธรรมอันสูงส่งของท่าน ก่อให้เกิดความรู้สึกอยากจะฝึกตัวให้ได้อย่างท่าน เป็นการยกใจของเราให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ การบูชาเป็นกุศโลบายในการฝึกฝนใจที่ยังหยาบกระด้าง ยังไม่อาจยอมรับคุณธรรมของใคร ให้กลับกลายเป็นผู้มีอัธยาศัยอ่อนโยน ใจละเอียดอ่อนและนุ่มนวลตามท่านด้วย
โดยเฉพาะการได้บูชาบุคคลผู้ควรบูชาผู้กระทำการบูชาย่อมได้รับสิ่งที่เป็นสิริมงคลเข้ามาสู่ตัว เพราะผู้บูชาย่อมได้รับการบูชาตอบการเลือกนับถือและบูชาบุคคลผู้ควรบูชากราบไหว้ ซึ่งเปรียบเสมือนวีรบุรุษในหัวใจของเรานั้น ควรจะเป็นผู้อุดมไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา เพราะถ้าหากบูชาโดยไม่ใช้ปัญญาก็จะกลายเป็นความงมงาย
ปัจจุบันมีการเคารพกราบไหว้บูชาในสิ่งที่ไม่ใช่ที่พึ่งที่ระลึก เช่น เห็นต้นไม้ต้นใหญ่ ๆก็นำผ้าแดงไปพันรอบ ๆ ผู้คนสัญจรผ่านไปมาก็ทึกทักไปเองว่า นี้คือต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไปเจอจอมปลวกก็เข้าใจผิดว่า คงมีเจ้าป่าเจ้าเขาสิงสถิตอยู่ด้านใน บางคนเห็นสัตว์เดียรัจฉาน เช่น ควายที่มีเขายาว ๆ ก็นึกว่าเป็นสัตว์นำโชคอุตส่าห์เดินทางนำสิ่งของไปบูชาพร้อมกับอ้อนวอนขอหวยบ้าง ขอให้ตนเองประสบโชคดีมีชัยบ้าง ทั้ง ๆ ที่มันเป็นเพียงแค่สัตว์เดียรัจฉาน นี้เป็นความเชื่อแบบงมงายไม่ใช่การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา
บุคคลผู้ควรบูชา คือ บุคคลที่มีคุณธรรมความดีควรค่าแก่การระลึกนึกถึงตั้งแต่เป็นผู้อุดมไปด้วยศีล สมาธิ ปัญญา คือ มีกาย วาจา ใจบริสุทธิ์ ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เป็นผู้มีจิตใจมั่นคง ประกอบไปด้วยความเมตตา และมีปัญญาสามารถชี้เส้นทางในการดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย บอกเส้นทางสวรรค์ นิพพาน ให้แก่เราได้อีกด้วย ถ้านำใจไปวางไว้กับผู้ที่ควรบูชาอย่างนี้แล้วเชื่อมั่นและวางใจได้แน่นอนเลยว่า เราจะพบกับความสุข ความสำเร็จ และสมปรารถนาในทุกสิ่ง
ปูชนียบุคคลผู้ควรบูชาที่สุด ได้แก่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นสุดยอดของนักปราชญ์บัณฑิตทั้งทางโลกและทางธรรมทางโลก.. พระองค์ทรงสำเร็จศิลปวิทยา ๑๘ สาขา ส่วนทางธรรม.. ทรงบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ พระปัญญาธิคุณของพระองค์จึงยอดเยี่ยมกว่าใครในโลก ทรงสมบูรณ์ด้วยพระบริสุทธิคุณ คือห่างไกลจากอาสวกิเลสทั้งหลาย พระองค์ทรงตัดภพตัดชาติ ตัดขาดจากเครื่องข้องในภพทั้งปวงแล้ว ความบริสุทธิ์ของพระองค์กลั่นตัวกันมากเข้าจนกลายเป็นบารมี เป็นรัศมี เป็นฉัพพรรณรังสีที่สว่างไสวบางพระองค์สามารถเปล่งพระรัศมีไปทั่วหมื่นโลกธาตุ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงมีมหากรุณาธิคุณแนะนำสรรพสัตว์ให้หลุดพ้นจากห้วงทุกข์ในสังสารวัฏ พระพุทธองค์จึงทรงเป็นบุคคลผู้ควรบูชาที่สุด
การแสดงออกที่บ่งบอกถึงการบูชาพระพุทธเจ้า มี ๓ ทาง คือ ทางกายกรรมไม่ว่าจะเดิน ยืน นั่ง นอน หรือประกอบภารกิจใด ๆ หากอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้าหรือสิ่งที่เป็นตัวแทนหรือเนื่องด้วยพระพุทธองค์ เช่น รูปปั้น พระปฏิมากร ภาพถ่าย เราควรต้องมีความเคารพยำเกรง นอบน้อมกราบไหว้ไม่แสดงอาการลบหลู่ ควรประดิษฐานไว้ในที่เหมาะสม พร้อมหาดอกไม้ธูปเทียนไปสักการะเพื่อเป็นอามิสบูชา ทางวจีกรรม ควรหาโอกาสสวดมนต์สรรเสริญคุณความดีของพระรัตนตรัยเป็นประจำ ทางมโนกรรม เราควรหมั่นตามระลึกนึกถึงคำสอนของพระพุทธองค์ ส่งใจไปถึงท่าน ให้เป็นผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์เวลานั่ง ธรรมะก็ให้ตรึกระลึกถึงพุทธคุณเจริญพุทธานุสติ อานิสงส์นี้จะทำให้เราแคล้วคลาดจากภยันตรายทั้งปวง เพราะพุทธานุภาพเป็นอานุภาพที่ไม่มีประมาณ การหมั่นส่งใจไปถึงผู้รู้ ผู้มีอานุภาพเช่นนี้ ถือเป็นการบูชาด้วยมโนกรรม
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ จะทำให้เราเข้าถึงตัวจริงของพระพุทธเจ้าที่อยู่ภายใน คือ พระธรรมกาย ซึ่งเป็นพุทธรัตนะ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริงของพวกเราทุกคน ถ้าเรานำใจมาวางไว้ในกลางพุทธรัตนะนี้ได้ ทุกข์ทั้งหลายที่มีอยู่ก็จะมลายหายสูญไป ความสุขที่มีอยู่แล้วจะยิ่งเพิ่มพูนมากขึ้นอีก ถ้าทำได้อย่างนี้ ท่านเรียกว่า ถูกเนื้อแท้ของพระพุทธศาสนาเป็นสุดยอดของปฏิบัติบูชา จึงสมควรอย่างยิ่งที่พวกเราเหล่าพุทธศาสนิกชนควรจะหาโอกาสบูชาบุคคลผู้เลิศที่สุด คือ พระพุทธเจ้าแล้วเราจะได้อานิสงส์ใหญ่ บุญนั้นจะส่งผลให้เราได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ดังเช่นพระเอกทีปิยเถระ ที่ท่านได้บูชาพระพุทธเจ้าในกาลก่อน บุญนั้นจึงส่งผลให้ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ภพชาติในอดีต ท่านได้เกิดในสมัยที่พระพุทธเจ้าพระนามว่าสิทธัตถะดับขันธปรินิพพานแล้ว เหล่ามนุษย์และเทวาต่างบูชาพระสรีระของพระองค์ด้วยเครื่องสักการบูชาชั้นเลิศ ทั้งดอกไม้ธูปเทียน เพชรนิลจินดารัตนชาติต่าง ๆ แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่าแต่เมื่อเปรียบกับพระองค์ที่ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติแล้วเทียบกันไม่ได้เลยเพราะฉะนั้นใครมีแก้วแหวนเงินทองหรือของมีค่า ต่างพากันนำออกมาบูชาพระพุทธองค์ด้วยความเคารพเลื่อมใสเป็นที่สุด
วันนั้น มาณพหนุ่มคนหนึ่งตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์จึงคิดหาวิธีที่จะบูชาพระสรีระของพระพุทธองค์เขาได้จุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชาอยู่ใกล้พระจิตกาธานของพระพุทธเจ้า โดยจุดประทีปดวงเดียวให้สว่างไสวจนกว่าพระอาทิตย์จะขึ้นพร้อมส่งใจไปถึงพระพุทธเจ้า เจริญพุทธานุสติมีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์อยู่ตลอดเวลา
ด้วยกรรมที่ทำไว้ดีแล้วในครั้งนั้นเมื่อละโลกได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เป็นเทพบุตรชื่อว่า เอกทีปะ มีประทีปแสนดวงส่องสว่างอยู่ในวิมานตลอดเวลา วิมานของท่านจึงสวยงามสว่างไสวเป็นพิเศษ รัศมีกายของท่านแผ่ซ่านออกไปทั่วทุกทิศทุกทางเหมือนพระอาทิตย์ที่กำลังส่องแสงตลอดเวลา ที่น่าอัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ ท่านสามารถมองเห็นได้ตลอดด้วยมังสจักษุ คือ ตาเนื้อ และสามารถมองทะลุฝากำแพงและภูเขาโดยรอบได้ถึงร้อยโยชน์ท่านได้เสวยสุขในเทวโลกถึง ๗๗ ครั้ง เป็นจอมเทพในสวรรค์อีก ๓๑ ครั้ง เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราช ๒๘ ครั้ง แล้วยังได้เป็นพระเจ้าประเทศราชอันไพบูลย์อีกมากมาย
ครั้นถึงภพชาตินี้ เมื่อจุติจากเทวโลกแล้ว ท่านได้มาบังเกิดในครรภ์ของมารดา แม้ยังอยู่ในครรภ์ของมารดาก็สามารถมองเห็นได้ตลอด ครั้นอายุเพียง ๔ ขวบ บุญนั้นส่งผลให้ท่านได้ออกบวชเป็นสามเณร บวชไม่ถึงครึ่งเดือน ก็สามารถปฏิบัติธรรมหมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ผู้มีทิพยจักษุ ท่านบอกว่าที่ท่านมองเห็นได้ไกลไม่ติดขัด ไม่เห็นความมืดเลยนั้น เป็นเพราะผลของการถวายประทีปเพียงดวงเดียวเพื่อเป็นพุทธบูชา
เราจะเห็นได้ว่า บุญจากการบูชาพระพุทธเจ้าเป็นบุญใหญ่ มีอานิสงส์จักนับจักประมาณมิได้ โดยเฉพาะบุญพิเศษที่เราจะได้ร่วมกันจุดโคมมาฆประทีปนับแสนดวงเป็นพุทธบูชาที่ลานธรรมมหาธรรมกายเจดีย์ก็ดีจุดวิสาขประทีปเนื่องในวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพานของพระพุทธองค์ก็ดีจุดประทีปถวายเป็นพุทธบูชาเนื่องในวันพระ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำก็ดี หรือจุดประทีปบูชามหาธรรมกายเจดีย์ทุก ๆ วันก็ดี นับเป็นบุญที่จะทำให้เราสมบูรณ์พร้อมทั้งมังสจักขุ ทิพพจักขุ สมันตจักขุ ธรรมจักขุ และปัญญาจักขุ มีดวงปัญญาสว่างไสว เป็นนักปฏิบัติธรรมประเภทสุขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา คือ ปฏิบัติสะดวกบรรลุธรรมได้อย่างง่ายดายไปทุกภพทุกชาติกระทั่งได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน