ต้นบัญญัติมารยาทไทย
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
ต้นบัญญัติมารยาทไทย
ตอนที่ ๖ หมวดธรรมว่าด้วยมารยาทในการรับประทานอาหาร
หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต (ข้อ ๑)
บางคนมารยาทในการนั่ง ยืน เดิน ตลอดจนการนุ่งห่มเรียบร้อยสง่างามดีมาก แต่มาพลาดในหมวดที่ ๒ คือ มารยาทในการรับประทานอาหารไม่ค่อยน่าดู เพื่อนฝูงพากันตั้งข้อรังเกียจแต่เนื่องจากไม่รู้ตัวจึงนึกน้อยใจว่า “...เวลาใช้งานละก็เรียกหาไม่ให้คลาดสายตาไปเชียว แต่พอถึงเวลากินกลับลืมเราเสียนี่…”
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ทรงบัญญัติพระวินัยว่าด้วยการบิณฑบาตและการขบฉันภัตตาหารของพระภิกษุไว้ถึง ๓๐ ข้อ ซึ่งเต็มไปด้วยเหตุผล แม้ฆราวาสก็ควรใส่ใจศึกษาและยึดแนวปฏิบัติอย่างเดียวกันนี้
ข้อ ๑ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพ”
ข้อนี้ทรงสอนให้เคารพในบุคคลผู้ให้ และเคารพในของที่เขาให้ ไม่แสดงอาการดูหมิ่นหรือรับมาอย่างเสียไม่ได้ ชวนให้เข้าใจว่า เมื่อพ้นหน้าเขาแล้วท่านคงเททิ้งหรือไม่ยอมฉัน
ธรรมดามีอยู่ว่า พระภิกษุที่บวชใหม่บางรูป ท่านเพิ่งมาจากตระกูลที่ร่ำรวย ยังแก้ไขตัวเองในหลาย ๆ เรื่องไม่สำเร็จ บางท่านที่ยังติดรสอาหารอยู่จึงมักจุกจิกเลือกอาหาร ญาติโยมเห็นแล้วก็อย่านึกตำหนิท่านเลย บวชใหม่ก็อย่างนี้แหละ ต้องปล่อยเวลาให้ท่านฝึกตัวอีกสักพัก
การแก้ไขเรื่องติดรสอาหารนี้ไม่ใช่ของง่ายบางท่านใช้เวลานานหลายปี ในการศึกษาทางธรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางหลักสูตรของพระภิกษุไว้ ๔ ระดับ เช่นเดียวกับการศึกษาทางโลก แต่ช่วงเวลาการศึกษาอบรมในแต่ละระดับยาวนานกว่า
ชีวิตทางโลก เมื่อเราเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปีแรกเรียกว่า Freshy หรือน้องใหม่ ตอนนั้นเราทำอะไรผิดพลาดไปบ้างรุ่นพี่ก็ยังให้อภัยตักเตือนแล้วก็แล้วกันไป เพราะเห็นว่ายังต้องการเวลาเพื่อปรับตัวอีกสักพัก แต่พอขึ้นปี ๒ เรียกว่า Sophomore ตอนนี้ถ้าทำผิดต้องถูกตำหนิถูกลงโทษแล้ว เพราะถือว่าควรจะปรับตัวได้พอประมาณ พอปี ๓ เรียกว่า Junior ปี ๔ เรียกว่า Senior คราวนี้ถ้าเผลอทำผิดระเบียบ ผิดวินัย ต้องถูกลงโทษหนักขึ้นตามลำดับ ไม่มีการรอลงอาญาแล้ว
ในทางพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน ผู้ที่เข้ามาบวชใหม่ในปีแรกเรียกว่า พระนวกะ มีฐานะเป็นเสมือนน้องใหม่ แต่ช่วงเวลาการเป็นน้องใหม่ของท่านไม่ใช่ปีเดียว โดยเฉลี่ยก็ ๕ ปี แม้มีเวลาฝึกตัวนานอย่างนี้ใช่ว่าจะแก้ไขนิสัยที่ไม่ดีได้หมด อย่างมากก็ได้เพียงอย่างสองอย่าง
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น? ก็ไม่ต้องไปถามใครถามตัวเราเองนี่แหละ เรารู้ไหมว่านอนตื่นสายไม่ดี...รู้ ใคร ๆ ก็รู้ แล้วทำไมไม่พยายามแก้ไขก็พยายามแก้ไขจนนาฬิกาปลุกพังไปหลายเรือนแล้วก็ยังไม่ค่อยสำเร็จ นิสัยไม่ดีอื่น ๆ ก็เช่นกันใครที่กำลังใจเข้มแข็งก็แก้ได้เร็ว แต่ใครที่กำลังใจอ่อนปวกเปียกต้องใช้เวลามากหน่อยอย่างไรก็ดี ท่านว่าควรแก้ไขตัวเองให้ได้ภายในเวลา ๕ ปี
พ้นช่วงเวลาการเป็นพระนวกะเข้าพรรษาที่ ๖-๑๐ เรียกว่า พระมัชฌิมะ มัชฌิม แปลว่าปานกลาง มีเกณฑ์ว่าน่าจะแก้ไขตัวเองได้สักครึ่งค่อนแล้ว พรรษาที่ ๑๑-๒๐ เรียกว่าพระเถระ เกินกว่านั้นตั้งแต่พรรษาที่ ๒๑ เป็นต้น ไปเรียกว่า พระมหาเถระ ถือเป็นพระผู้ใหญ่ระดับครูบาอาจารย์ ความสำรวมระวังของท่านก็มากขึ้นเป็นลำดับ แต่ถึงอย่างนั้นตราบใดที่ยังไม่หมดกิเลส ท่านก็ยังมีโอกาสทำผิดพลาดพลั้งเผลอในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ บ้างเป็นธรรมดา
ในเรื่องของการติดรสอาหารนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าถึงการบิณฑบาตครั้งแรกและการเอาชนะใจของพระองค์เองว่า “…ครั้งนั้นเราเสด็จออกจากวัง ทรงม้าข้ามแคว้นไปตามลำดับ รุ่งขึ้นเช้าก็ปลงผม อธิษฐานบวชเองเสร็จแล้วจึงออกบิณฑบาต เราได้รับอาหารจากชาวบ้านป่า ได้มาแล้วก็ฉันไม่ลง…
ทรงเล่าว่าเคยเสวยแต่อาหารดี ๆ ในวังปุบปับมาเจออาหารแบบชาวบ้านซึ่งไม่ประณีตเห็นแล้วฉันไม่ได้ มันเขละขละเหมือนอาเจียนต้องทรงนั่งพิจารณาอยู่นานกว่าจะตัดสินใจฉันเข้าไปได้ นี่ขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งทรงมีกำลังใจเข้มแข็งมากยังต้องทรงพิจารณาแล้วพิจารณาอีก เพราะฉะนั้นสงสารพระบวชใหม่กันบ้างเถิด อย่าค่อนขอดจ้องจับผิดท่านเลย
อย่างไรก็ตาม ที่ใจคอเด็ดเดี่ยวจริง ๆ ก็มี เช่น ในอดีตมีพระอรหันต์รูปหนึ่ง ท่านปลงใจในเรื่องอาหารได้อย่างน่าเลื่อมใสมาก มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งท่านออกบิณฑบาต พบขอทานคนหนึ่งกำลังนั่งรับประทานอาหารอยู่ริมทางธรรมเนียมการรับประทานอาหารของชาวอินเดียสมัยนั้นเขาเอาอาหารใส่รวมกันในถาดเพียงถาดเดียว ส่วนมากเป็นอาหารแห้ง ๆ มีอะไรก็คลุก ๆ เข้าด้วยกัน ไม่แบ่งเป็นจาน ๆ อย่างพวกเรา เวลารับประทานก็นั่งล้อมวงรับประทานพร้อมกันทั้งครอบครัว ช้อนก็ไม่ใช้ ใช้มือหยิบอาหารใส่ปากเลย
ขอทานคนนี้เป็นโรคเรื้อนงอมแงม นิ้วมือแต่ละข้อแทบจะหลุดทั้งนั้น แต่ถึงแม้ยากจนเขาก็ใจบุญ พอเห็นพระอรหันต์บิณฑบาตตรงมา ก็ดีใจว่าวันนี้จะได้ถวายทาน รีบเอามือกวาดอาหารในถาดกันไว้เป็นแถบ ๆ ว่าแถบนี้ยังไม่ได้กิน แถบโน้นกินแล้ว จากนั้นก็ยกถาดขึ้นสาธุท่วมหัว นิมนต์พระอรหันต์ให้รับบาตร
พระอรหันต์รูปนี้รับอาหารของขอทานโดยไม่แสดงอาการรังเกียจเลย แม้เขาจะเอานิ้วขี้เรื้อนทั้ง ๕ นิ้วหยิบอาหารใส่บาตร และบังเอิญนิ้วหนึ่งเกิดขาดหลุดลงไปในบาตร
ถ้าเป็นเราคงไม่ปล่อยจนได้ของแถมอย่างนี้หรอก แค่เห็นนิ้วร่องแร่งก็ปิดฝาบาตรเดินหลีกไปแล้ว แต่พระอรหันต์ท่านมีเมตตาสูงท่านหมดกิเลสแล้ว เขาแถมนิ้วมือให้นิ้วหนึ่งท่านก็ไม่ว่ากระไร เท่านั้นยังไม่พอ ท่านยังตั้งใจฉลองศรัทธาของขอทานขี้เรื้อนอย่างเต็มที่หวังให้เขาได้บุญมาก ๆ ทันตาเห็น จะได้หมดเวรเป็นขอทานเสียที
ท่านรับบาตรแล้วก็ตรงไปที่ร่มไม้ใกล้ ๆลงนั่งแล้ววางบาตรไว้ข้างหน้า หยิบนิ้วขี้เรื้อนนั้นโยนทิ้งเหมือนเป็นเศษไม้เศษผงธรรมดา แล้วท่านก็หยิบอาหารขึ้นฉันหน้าตาเฉย ฝ่ายขอทานเห็นแล้วก็ดีอกดีใจยกใหญ่ ท่านเป็นพระอรหันต์ท่านทำใจได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็ยากอยู่ ชาวบ้านทั่วไปพอตักบาตรก็อยากให้พระฉันของที่ตนถวายกับข้าวจะประณีตหรือไม่ประณีต เหมาะกับวัยกับสังขารของท่านหรือไม่ ก็ไม่ค่อยคำนึงถึง ถ้าท่านเผลอแสดงอาการไม่อยากได้ เขาก็เสียใจ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์ในการรักษาศรัทธาของญาติโยมไว้ จึงทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นมาว่า เมื่อออกบิณฑบาตต้องรับอาหารโดยไม่คำนึงว่าอาหารนั้นจะประณีตหรือไม่ เมื่อรับแล้วต้องฉัน ห้ามเอาไปเททิ้งถือเป็นมารยาทอย่างหนึ่งของพระภิกษุ
ก็ขอฝากกับพวกเราว่า ตั้งแต่เด็กจนโตมาถึงขนาดนี้ เราล้วนมีเพื่อนรักเพื่อนสนิทกันมาแล้วทั้งนั้น เพื่อนบางคนก็ยากจนกว่าเรา บางคนก็เท่าเรา คนที่รวยกว่าเราก็มี เรื่องความรวยความจนนี้ช่วยกันไม่ได้จริง ๆ เป็นเรื่องของบุญของบาปข้ามภพข้ามชาติมา คบเป็นเพื่อนกันแล้วไม่ควรรังเกียจว่า คนนี้จนคบไว้เป็นบริวารไว้ใช้งานเท่านั้น ไม่อยากสนิทสนมถึงขนาดตามไปกินข้าวกินปลาที่บ้าน ครั้นเขาชวนก็บ่ายเบี่ยงหรือไปแล้วก็กินไปติไป เดี๋ยวจะเสียน้ำใจกันเปล่า ๆ มีอย่างไรก็กินอย่างนั้น ประสาจนเพราะเราเองแม้จะรวยก็ไม่รู้หรอกว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เคราะห์หาม ยามร้าย บ้านเราอาจถูกไฟไหม้หรือถูกไล่ออกจากงานกลางคันถึงเวลานั้นเราอาจจนกว่าเขาก็ได้
เพราะฉะนั้น นิสัยดูถูกคนอย่าให้เกิดมีขึ้นได้ คบคนให้มองที่คุณธรรมดีกว่า ถ้าเขานิสัยดี คุณธรรมดี แม้ยากจนเพียงไรก็รักษาน้ำใจเขาไว้เถิด ใครทำอย่างนี้ได้ก็ถือว่ามีมนุษยสัมพันธ์ดีเยี่ยม หน้าที่การงานทุกอย่างจะคล่องตัวไปหมด
เรื่องอาหารชนิดกลืนไม่ลงนี้ หลวงพ่อเจอหลายครั้ง มาเป็นพระแล้วก็ยังเจอ ก็ทน ๆกันไป ไม่แสดงออกนอกหน้า ถ้าไม่หัดอดทนอย่างนี้ก็สร้างวัดไม่สำเร็จ บางอย่างเราจำเป็นต้องทำ แม้ต้องฝืนก็ต้องทน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้ก็เพื่อฝึกให้พระภิกษุหัดข่มใจ ละความอยาก ความเอาแต่ใจไม่ว่าจะเป็นอาหารของคนจน คนรวย อาหารประณีตไม่ประณีต อย่าไปแสดงอาการรังเกียจรังงอนอะไรเชียว เราฉันเพื่ออยู่ ไม่ใช่อยู่เพื่อฉัน
จากบัญญัติพระวินัยที่ว่า เราจักรับบิณฑบาตโดยเคารพนี้ ในที่สุดก็มาเป็นหลักมนุษยสัมพันธ์ง่าย ๆ ขั้นต้นในชีวิตประจำวันว่าเราจะไม่เป็นคนเห็นแกกิ่น ไม่เลือกอาหาร คือ จะกินเพื่ออยู่ไม่ใช่อยู่เพื่อกิน แต่ถ้าคนไหนไม่ยอมที่จะอดทนนอกจากจะไม่ได้เพื่อนเพิ่มแล้ว ยังเพาะศัตรูเพิ่มขึ้นมาอีก
(อ่านต่อฉบับหน้า)