วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ​สงครามคีย์บอร์ด

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC


สงครามคีย์บอร์ด

​สงครามคีย์บอร์ด

มีความเห็นอย่างไรต่อความรุนแรงของสงครามคีย์บอร์ด?
    มนุษย์ทุกคนยังมีกิเลสอยู่ แต่สิ่งที่ช่วยให้เราควบคุมกิเลสในตัวได้ ไม่ว่าจะเป็นความโลภ ความโกรธ หรือความหลงก็ตาม หลัก ๆ มี ๓ อย่าง คือ 
๑. พลังขับเคลื่อนทางศีลธรรม เช่น ความกลัวบาป รักบุญ จึงไม่กล้าไปทำสิ่งที่ผิด ๆ 
๒. พลังขับเคลื่อนทางครอบครัว เช่น ทำไม่ดีแล้วกลัวพ่อแม่จะไม่สบายใจ ไม่เอาดีกว่า
๓. พลังขับเคลื่อนทางสังคม พลังทางสังคมช่วยควบคุมเราได้เหมือนกัน เพราะเรากลัวสังคมจะไม่ยอมรับ กลัวคนอื่นมองเราไม่ดีไม่ว่าจะเป็นคนในชุมชน เพื่อนร่วมงาน หรือเพื่อนในโรงเรียน ในมหาวิทยาลัย ฯลฯ

     แต่ในสังคมออนไลน์เราสามารถปกปิดตัวเองไม่ให้คนอื่นรู้ว่าเราคือใคร เราไม่ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองโพสต์เท่าไรนัก เพราะเราใช้นามแฝงได้ คนอื่นไม่รู้ว่าเราเป็นใครเราจึงเห็นการใช้คำหยาบ ๆ คาย ๆ ที่ไม่ใช้กันในชีวิตจริง เพราะว่ากลัวเสียภาพลักษณ์ แต่พอเข้าไปในโลกออนไลน์แล้ว อยากจะพูดจะทำอะไรก็เต็มที่ไปเลย รวมทั้งความรับผิดชอบต่อครอบครัวก็ไม่ค่อยมีด้วย เพราะว่าไม่ได้แสดงตัวตน เพราะฉะนั้นแรงควบคุมทางสังคมจึงอ่อนลง เหลือแค่แรงควบคุมทางศีลธรรมเป็นหลัก จากที่มี ๓ แรงคอยควบคุมอยู่ ก็เหลือแค่แรงเดียว เมื่อพลังที่คอยควบคุมอยู่อ่อนแรงลง ศัพท์ที่ดูเถื่อน ๆ ที่ปกติในชีวิตประจำวันไม่ใช้กัน จึงนำมาใช้ในสังคมออนไลน์

      ส่วนในสังคมออนไลน์ที่มีการแสดงตัวตนนั้นก็มีแค่เรากับเพื่อน ๆ เพื่อนก็รู้ว่าเราเป็นใคร แล้วทำไมถึงยังมีการใช้ถ้อยคำที่ดิบ ๆกว่าที่สังคมปกติใช้นิดหนึ่ง นี้เป็นเพราะความคุ้นเคยกันด้วย และสังคมออนไลน์มันก็แทรกอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา แม้กำลังทำงานอยู่ก็สามารถพิมพ์อะไรลงไปได้ แต่พิมพ์ยาว ๆ ไม่สะดวก เราจึงไม่ได้ประดิดประดอยถ้อยคำให้สวยหรู หรือบางทีพอเจออะไรปุ๊บ เราก็ต้องการแสดงความรู้สึกออกไปตอนนั้น จึงพิมพ์ออกไปเลย คำศัพท์ที่ใช้จึงสั้นลง ความไพเราะและความสุภาพก็หย่อนลงไปด้วยนอกจากนี้การที่ต้องแสดง Status บ่อย ๆ ว่ากำลังทำอะไรอยู่ คิดอะไรอยู่ ก็คือการเอาสิ่งที่อยู่ในความคิดของเราออกมาด้วย ซึ่งเหมือนกับเป็นการเปลือยตัวเองออกมา ก็เลยเกิดอาการอย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ที่มาที่ไปเป็นอย่างนี้


ปัจจุบันนี้ต่างคนต่างพูดคุยกับเพื่อนออนไลน์มากกว่าคนที่อยู่ด้วยกันแบบนี้จะมีผลต่อการปฏิสัมพันธ์กันไหม?
      มีผลมากเลย ปกติคนเราต้องการความเป็นหนึ่ง ถ้าเราไปอยู่กับใครแล้วเขาไม่สนใจเหมือนเราเป็นอากาศธาตุ เรารู้สึกอย่างไรคนเราปกติเวลาเจอกันก็ต้องพูดคุยกัน แม้บางคนพูดน้อยแต่เขาก็ไม่ได้แบ่งความสนใจไปให้คนอื่น แต่ทันทีที่มีสังคมออนไลน์เข้ามาโดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือที่ติดตัวไปทุกที่ พอมีอะไรเข้ามาหน่อยต้องมานั่งกด ๆ นั่นหมายถึงว่า ระหว่างที่เรากำลังอยู่กับคนนั้น มีใครก็ไม่รู้แทรกตัวเข้ามาในโลกออนไลน์ แล้วดึงความสนใจและเวลาของเราไปอยู่กับเขาแทน ลองคิดดูสิว่า คู่สนทนาที่นั่งอยู่กับเราเขาจะรู้สึกอย่างไร

     เขาจะรู้สึกทันทีว่า เราไม่เห็นความสำคัญของเขา ไม่ให้เกียรติเขา เรากำลังปันใจไปอยู่กับใครก็ไม่รู้ ความรู้สึกอย่างนี้เป็นความรู้สึกที่ไม่ดี การทำแบบนี้จึงมีผลเสียมาก และจะทำให้เราเกิดความคุ้นเคยด้วย วันไหนไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ เราจะรู้สึกว่าขาดอะไรไป

     เคยมีแบบสอบถามที่อเมริกาให้เลือกระหว่างโทรศัพท์มือถือกับเพื่อน พบว่าคนส่วนใหญ่เลือกโทรศัพท์ ถ้าไม่มีโทรศัพท์รู้สึกว่าชีวิตโหวงเหวง กลายเป็นว่าความคุ้นเคยที่เรามีให้โทรศัพท์มือถือเหนือกว่าความคุ้นเคยกับตัวบุคคลจริง ๆ ไปแล้ว โทรศัพท์กลายเป็นเพื่อนคู่ชีวิตของเราแทน ซึ่งต้องขอบอกว่า “มันเกินเลยไปแล้ว” เราควรหาจุดที่พอดีกันเสียทีไม่อย่างนั้นมันจะทำลายชีวิตจริงของเรา ลองคิดดูว่า เวลาเราทำงานอยู่ เดี๋ยวก็มีเสียงดังขึ้นมา กำลังจะขีดจะเขียนอะไรก็ต้องหยุด ระหว่างหยุดแค่แป๊บเดียวเพื่อมาดูโทรศัพท์ สมาธิเราเสียไปแล้ว ยิ่งถ้ากดโทรศัพท์ต่อไปก็เสียเวลาเข้าไปอีก พอกลับมาทำงานได้อีก ๕ นาที ๑๐ นาที มีเสียงเข้ามาอีกแล้ว ประสิทธิภาพในการทำงานจะลดลงไปมากเลย

     แต่โลกออนไลน์ก็มีประโยชน์มากถ้าใช้เป็น เพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่ดี และช่วยในการสื่อสารได้ดี เช่น ที่วัดมีการอบรมมากมาย มีครูบาอาจารย์กลุ่มนั้นกลุ่มนี้เข้ามา มีจุดอบรมเป็นร้อยจุด จึงมีการตั้งวงแชตโดยใช้โปรแกรม Line เวลาใครทำงานแล้วเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็เอาข้อมูลมาแชร์กัน หรือใครเจอเทคนิคดี ๆ ก็เอามาแชร์กัน ถ้าส่วนกลางต้องการแจ้งข้อมูลอะไรก็ส่งไปในวง Line ทุกคนก็จะรู้ได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดเวลาในการส่งข่าวสารได้มหาศาล แต่ถ้าหากใช้ไม่เป็นก็มีโทษมหาศาลเหมือนกัน ดังที่โบราณกล่าวไว้ว่า สิ่งใดมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์


การแชตสิ่งที่ไม่มีสาระหรือใช้คำพูดหยาบคายถือว่าผิดศีลหรือไม่?
     ในการสื่อสารไม่จำเป็นต้องใช้เสียงอย่างเดียว จะเขียนเป็นตัวหนังสือก็ได้ แต่ถ้าเขียนสิ่งที่ไม่จริงก็เหมือนกับการพูดนั่นแหละถ้าเป็นเรื่องโกหกก็ผิดศีล หรือถ้าเป็นคำหยาบก็ผิด ไม่ว่าพูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบพูดเพ้อเจ้อ ผิดศีลทั้งนั้น ถ้าสื่อสารออกไปแล้วคู่สนทนารู้เรื่อง และเราก็มีเจตนาด้วย แบบนี้ผิดศีลแน่ ถ้าเราไม่ตั้งใจแต่ไปกระทบเขาโดยไม่เจตนา ก็ยังไม่ผิดศีล แต่ผิดธรรม และจะทำให้มีวิบากกรรม คือ ต่อไปจะมีคนอื่นมาทำ ให้เราเจ็บใจหรือเดือดร้อนใจโดยไม่เจตนาได้เหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องตั้งสติดี ๆ

    เคยอ่านในพระไตรปิฎกพบเรื่องราวว่ามีชาวประมงไปจับปลาได้ตัวหนึ่ง เป็นปลาตัวใหญ่สีทองสวยงามมาก แต่พออ้าปากมีกลิ่นเหม็นหึ่งไปทั้งเมือง เพราะวิบากกรรมในอดีตที่เคยไปตำหนิบุคคลที่มีศีลมีธรรม

    ในปัจจุบัน ใครที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กไปแสดงความคิดเห็นด้วยถ้อยคำที่หยาบคายล่วงเกินผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีศีลมีธรรมสูงซึ่งสิ่งที่แสดงออกไปนั้นสามารถกระจายออกไปได้กว้างขวางทั่วทั้งโลก เพราะโลกออนไลน์ไม่มีขอบเขต เห็นอย่างนี้แล้วก็ไม่น่าแปลกใจหรอกว่า ทำไมปลาในครั้งพุทธกาลอ้าปากทีหนึ่งเหม็นทั้งเมือง ใครใช้โลกออนไลน์ในทางที่เป็นโทษแล้วละก็ ภพต่อไปอ้าปากทีหนึ่งอาจจะเหม็นทั้งโลกเลยก็ได้ ตามวิบากกรรมที่ตัวเองได้ทำเอาไว้

 

ทุกวันนี้จะเห็นว่าหลาย ๆ คนขยันตั้ง Status จะทำอะไรก็ต้องเขียนบอกให้คนอื่นรู้ มีความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?
     เรื่องนี้เป็นเพราะคนเรามีความรู้สึกเหงาแต่ก่อนในสังคมเกษตรกรรม คนเราอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ต่อมาเป็นสังคมอุตสาหกรรมก็อยู่กันแบบครอบครัวเดี่ยว มีพ่อ แม่ และลูก ๒-๓ คน เป็นครอบครัวเล็ก ๆ พ่อแม่ก็งานยุ่งลูกก็อยู่กับเพื่อนบ้างอะไรบ้าง พอมาเป็นยุคข้อมูลข่าวสารอย่างนี้ แต่ละคนกลายเป็นปัจเจกชนไปเลย คือ อยู่ตัวคนเดียว ก็เลยต้องเข้าไปหาโลกออนไลน์ โดยมีวิธีแก้เหงาก็คือสื่อสารกับเพื่อนในวงการออนไลน์ แล้วเล่าสิ่งที่ตัวเองกำลังทำอยู่ กำลังคิดอยู่ ขนาดไปรับประทานอาหารก็ยังถ่ายรูปกับข้าวไปโชว์ในโลกออนไลน์ ไปไหนมาไหนก็ต้องบอก ซึ่งไม่รู้ว่าจะไปบอกเขาทำไม จริง ๆ แล้วเป็นการแสดงถึงความเหงาในใจของคนนั่นเอง

       วิธีแก้เหงาง่าย ๆ ก็คือ การหลับตาเบา ๆ ทำใจให้เป็นสมาธิตั้งมั่นอยู่ที่ศูนย์กลางกาย ฐานที่ ๗ อยู่กับตัวเราเอง แล้วเราก็จะพบว่าการอยู่คนเดียว หลับตาสบาย ๆ วางใจนิ่ง ๆอยู่กับพระรัตนตรัยภายใน ไม่เหงาเลย ใจจะอิ่มเอมและมีความสุขสดชื่นในโลกออนไลน์ การคลายเหงาด้วยวิธี

      สื่อสารกับเพื่อนอย่างนั้นเหมือนคนที่กระหายน้ำ แล้วไปดื่มน้ำทะเลแก้กระหาย แต่พอกลืนลงไปกลับกระหายยิ่งกว่าเก่า เพราะว่ามันเค็มแต่ถ้านั่งหลับตาเบา ๆ แล้ว เราจะอิ่มใจ เหมือนเราแก้กระหายด้วยการดื่มน้ำที่ใสบริสุทธิ์

      การรู้จักสร้างความสงบใจจึงถือเป็นยาที่สำคัญมาก ๆ สำหรับการรับข้อมูลข่าวสารที่กำลังจะท่วมตัวเรา และแย่งชิงเวลาของเราไปจนกระทั่งความเป็นส่วนตัวแทบจะไม่มีเลยบางคนกลางคืนไม่กล้าปิดโทรศัพท์อย่างมากปิดเสียง ตี ๑ ตี ๒ ลุกไปเข้าห้องน้ำยังอุตส่าห์เปิดดูว่ามีใครส่งอะไรเข้ามาหรือเปล่า บางทีไม่นอนเลย นั่งกดดูอะไรต่อไปอีก ชีวิตความเป็นส่วนตัวรวมทั้งเวลานอนยังไม่มีเลย เพราะฉะนั้นต้องจัดสรรให้พอดี และรู้จักการสงบจิตตัวเองด้วยการทำสมาธิ แล้วเราจะเอาตัวรอดได้อย่างดีในสังคมยุคออนไลน์

 

วิธีสื่อสารออนไลน์ให้สร้างสรรค์ควรทำอย่างไร และจะทราบได้อย่างไรว่าสิ่งใดควรหรือไม่ควรกระทำ?
     ให้คิดง่าย ๆ อย่างนี้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะโพสต์ลงไปนั้น คนอื่นเขาอยากรู้หรือเปล่า เรากำลังโพสต์สนองความต้องการของเราหรือว่าโพสต์สิ่งที่มีประโยชน์ ให้ยึดหลักว่าหนทางแห่งความสำเร็จต้อง Outside In ไม่ใช่ Inside Out

       Inside Out คือ การเอาตัวเองเป็นที่ตั้งอยากจะพูดหรืออยากจะทำอะไรก็ถือเอาตัวเองเป็นใหญ่ แบบนี้จะมีปัญหาเยอะ แต่คนที่ Outside In คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างนี้จะประสบความสำเร็จในชีวิต ใครก็รัก เพราะว่าเข้าใจเขา

     บางคนโพสต์ว่าเข้าห้องน้ำแล้ว ทานข้าวแล้ว นอนแล้ว คนอื่นเขาไม่เห็นจะอยากรู้อะไรขนาดนั้น เราไปบอกให้ชาวบ้านรู้ทำไม แต่ถ้าเราไปเจออะไรดี ๆ ไปเจอคำคมหรือข้อคิดที่น่าสนใจ แล้วให้สิ่งดี ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเขาอย่างนี้เราจะกลายเป็นคนที่มีเพื่อนเยอะ เพราะเขารู้สึกว่ามาดูแล้วมีประโยชน์

      ในปัจจุบันนี้ คนทุกคนสามารถเป็นสื่อมวลชนได้ นำเสนอเรื่องราวเข้าไปใน Social Media ได้ พอเป็นอย่างนี้เราต้องระวังนิดหนึ่งอย่าเอาเรื่องไม่ดีออกไป ถ้านำเสนอแต่เรื่องไม่ดีก็เหมือนว่าเรากำลังขับเคลื่อนสังคมให้ไปในทางที่เป็นลบ แต่ถ้าทุกคนรู้จักควบคุมตัวเองให้ดีว่า เราจะไม่เติมฟืนเติมไฟเข้าไปในกองเพลิงใหญ่ แต่จะช่วยถอนฟืนออกมา แล้วก็ให้สิ่งดี ๆ แก่สังคมออนไลน์ แบบนี้เราก็จะเป็นคนที่มีส่วนในการพัฒนา Social Media เหล่านี้ให้เป็นสื่อที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๐ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล