DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙
มาฆบูชามหาสมาคม
ย้อนหลังไปประมาณ ๒,๖๐๐ ปี ในช่วงพรรษาแรก หลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และประกาศพระธรรมจนกระทั่งมีพระสาวกผู้ตรัสรู้ธรรมตามแล้ว มีเหตุการณ์สำคัญ คือ พระองค์ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ซึ่งวันนี้ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา ที่รู้จักกันดีในชื่อว่า วันมาฆบูชา
“มาฆบูชา” ย่อมาจาก “มาฆปูรณมีบูชา” หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะ หรือเดือน ๓ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (ราว ๆ เดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคม)ถ้าปีใดมีเดือนอธิกมาส คือ มีเดือน ๘ สองหนก็เลื่อนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๔
วันมาฆบูชา ได้ชื่อว่า จาตุรงคสันนิบาตเพราะมีเหตุการณ์ที่สำคัญเกิดขึ้น ๔ ประการ คือ
๑. วันนั้นเป็นวันเพ็ญเต็มดวง เสวยมาฆฤกษ์
๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
๓. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ได้อภิญญาทั้งสิ้น
๔. พระภิกษุเหล่านั้นเป็นผู้ได้รับการอุปสมบทแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการบวชจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยตรงทั้งสิ้น
จาตุรงคสันนิบาต คือ การประชุมใหญ่ของเหล่าพระขีณาสพ ถือเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ในอดีต แต่มีรายละเอียดที่ต่างกันในเรื่องของจำนวนครั้งที่ประชุมและจำนวนของพระภิกษุที่ประชุม เช่น
ยุคพระวิปัสสีพุทธเจ้ามีการประชุม ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ มีพระสาวกประชุมกัน ๖,๘๐๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๒ ประชุม ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๓ ประชุม ๘๐,๐๐๐ รูป
ยุคพระสิขีพุทธเจ้ามีการประชุม ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ประชุม ๑๐๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๒ ประชุม ๘๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๓ ประชุม ๗๐,๐๐๐ รูป
ยุคพระเวสสภูพุทธเจ้ามีการประชุม ๓ ครั้ง
ครั้งที่ ๑ ประชุม ๘๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๒ ประชุม ๗๐,๐๐๐ รูป
ครั้งที่ ๓ ประชุม ๖๐,๐๐๐ รูป
ยุคพระกกุสันธพุทธเจ้ามีการประชุมครั้งเดียว มีภิกษุร่วมประชุม ๔๐,๐๐๐ รูป
ยุคพระโกนาคมนพุทธเจ้ามีการประชุมครั้งเดียว มีภิกษุร่วมประชุม ๓๐,๐๐๐ รูป
ยุคพระกัสสปพุทธเจ้ามีการประชุมครั้งเดียว มีภิกษุร่วมประชุม ๒๐,๐๐๐ รูป
ในการประชุมใหญ่ครั้งแรกนั้น สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง คือ โอวาทปาฏิโมกข์ โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีตและที่พระสมณโคดมพุทธเจ้าทรงแสดงครั้งแรกในวันมาฆบูชาประกอบด้วยจาตุรงคสันนิบาตและแสดงตลอดปฐมโพธิกาล คือ ๒๐ พรรษาแรกนี้ (อรรถกถาแสดงไว้ว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดง “โอวาทปาฏิโมกข์” นี้ ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ตลอด ๒๐ พรรษาแรก หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง “อาณาปาติโมกข์” แทน) ถือเป็นหลักธรรมสำคัญในพระพุทธศาสนา ที่อาจเรียกได้ว่า “เป็นการประกาศตั้งศาสนา” ก็ได้ เพราะให้ทั้งอุดมการณ์หลักการ และวิธีการแก่ชาวพุทธ ดังนี้
อุดมการณ์
ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา
ขันติ คือ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา
พระพุทธเจ้าทั้งหลายกล่าวว่า นิพพานเป็นบรมธรรม
น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี
ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโตฯ
ผู้เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ
หลักการ
สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง ๑
กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี ๑
สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ๑
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
วิธีการ
อนูปวาโท อนูปฆาโต
การไม่กล่าวร้าย ๑ การไม่ทำร้าย ๑
ปาติโมกฺเข จ สํวโร
ความสำรวมในปาติโมกข์ ๑
มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในอาหาร ๑
ปนฺตญฺจ สยนาสนํ
ที่นั่งนอนอันสงัด ๑
อธิจิตฺเต จ อาโยโค
การประกอบความเพียรในอธิจิต ๑
เอตํ พุทฺธาน สาสนํฯ
นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จะเห็นได้ว่า ความครอบคลุมทั้งอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ที่ปรากฏอยู่ในโอวาทปาฏิโมกข์นี้เอง ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญที่ทำให้พระพุทธเจ้าต้องแสดงหลักธรรมนี้ในการประชุมครั้งใหญ่แก่พระสาวกและหากชาวพุทธทั้งหลายได้ยึดถือและนำไปปฏิบัติตาม ย่อมสามารถทำให้การประกาศสัจธรรมในพุทธศาสนาเป็นไปได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็งตรงตามเจตนารมณ์ของพระพุทธองค์
วันมาฆบูชาจึงเป็นวันที่นอกจากชาวพุทธทั้งหลายจะได้ไปสั่งสมบุญด้วยการตักบาตร ฟังเทศน์ ฟังธรรม และเวียนเทียนตามวัดวาอารามต่าง ๆ แล้ว ยังเป็นวันที่ชาวพุทธควรจะหันมาศึกษาหลักโอวาทปาฏิโมกข์กันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้เรียนรู้และทำ ความเข้าใจถึงวิธีเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ถูกต้อง และช่วยกันปกป้องพระพุทธศาสนาอย่างถูกวิธี หาใช่การแสดงความหวังดีต่อพระพุทธศาสนา โดยการแสดงความคิดเห็นต่าง ๆ ด้วยถ้อยคำว่าร้ายโจมตีดังที่ปรากฏในโลกออนไลน์ หรือทำกิจกรรมคัดค้านต่าง ๆ ที่ไม่เหมาะสม จนกลายเป็นการบั่นทอนต่อพระพุทธศาสนาดังเช่นในปัจจุบัน
กิจกรรมประจำภาคการศึกษาที่ ๑/๒๕๕๙
- รับสมัครและลงทะเบียนเรียน วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ - ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๙
- ขอเชิญร่วมสร้างปัญญาบารมีด้วยการถวายกองทุนการศึกษาแด่พระภิกษุ-สามเณร
ที่เรียน DOU กว่า ๖,๐๐๐ รูปทั่วโลก สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐๘-๑๔๒๘-๘๓๙๙
- ขอเชิญบริจาคหนังสือเรียน DOU เพื่อจัดทำห้องสมุดยืมเรียน วันจันทร์ - เสาร์
ที่ชมรมประสานงาน DOU สำนักการศึกษา วันอาทิตย์ ที่เสา N 26 สภาธรรมกายสากล