ชวนอ่าน
เรื่อง : มาตา
ปรากฏการณ์ อัศจรรย์ บนรันเวย์
ในยุคล่าอาณานิคมช่วงที่อังกฤษเข้ายึดครองประเทศเมียนมานั้น สถาบันชาติเมียนมาปั่นป่วนระส่ำระสายอย่างหนัก สถาบันกษัตริย์ก็ล่มสลายคงเหลือแต่สถาบันศาสนาเท่านั้น ที่อยู่เป็นที่พึ่งของประชาชน และกลายเป็นป้อมปราการที่แข็งแกร่งของพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
อะไรที่ทำให้สถาบันศาสนาก้าวข้ามวิกฤตการณ์มาได้ ?
คำตอบก็คือ “ศรัทธา” ของชาวเมียนมาที่มีต่อพระพุทธศาสนานั้น มีความเหนียวแน่นชนิดที่กองกำลังทางทหารหรือสรรพาวุธใด ๆไม่สามารถทำลายลงได้
สิ่งหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นศรัทธาของชาวเมียนมาที่มีต่อพระพุทธศาสนาก็คือ ธรรมเนียมการถอดรองเท้าเข้าวัด ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวเมียนมาทุกคนไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ชายหรือหญิง ต่างพากันปฏิบัติทุกครั้งเมื่อไปวัด
สิ่งนี้เป็นสำนึกร่วมที่ฝังอยู่ในจิตวิญญาณของชาวเมียนมา ที่หล่อหลอมกันมาโดยไม่ต้องตราเป็นตัวบทกฎหมายใด ๆ
เรื่องการถอดหรือไม่ถอดรองเท้านี้ ไม่ใช่เรื่องล้อเล่น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๑ เคยเกิดเหตุการณ์ที่เรียกกันว่า “Footwear Controversy” หรือ “กบฏเกือก” เป็นการร่วมกันประท้วงต่อต้านชาวอังกฤษที่ไม่ยอมถอดรองเท้าเวลาเข้าเขตวัด ซึ่งถือเป็นการขัดต่อประเพณีและเหยียบย่ำจิตใจชาวพุทธเมียนมาอย่างรุนแรง
ผลจากกบฏเกือกทำให้ชาวอังกฤษยอมถอดรองเท้าเข้าวัด และเป็นแบบแผนต่อ ๆ กันมาจนถึงปัจจุบันว่า ผู้คนเชื้อชาติศาสนาใดก็ตามหากเข้าไปในบริเวณวัดจะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าทุกคน
นอกจากเรื่องนี้แล้ว ชีวิตประจำวันของชาวเมียนมาก็ผูกพันอยู่กับบุญกุศล พวกเขาจะตื่นก่อนรุ่งสาง แล้วไปรวมตัวกันที่วัด เพื่อสวดมนต์ นั่งสมาธิ ตักบาตร ก่อนไปทำงาน และเมื่อเลิกงานแล้ว ก็กลับมาบูชาเจดีย์ สวดมนต์ นั่งสมาธิ ช่วยกันทำความสะอาดลานวัด ลานเจดีย์ แล้วจึงกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความเป็นชาวพุทธเมียนมาซึ่งโดดเด่นกว่าใคร ๆ ในโลก
ด้วยความรัก ความเชื่อ และความศรัทธา ที่ชาวพุทธเมียนมาและไทยมีต่อสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนานี้เอง ที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์และความเข้าใจกันระหว่างประชาชนของทั้ง ๒ ประเทศ ทำให้ทั้ง ๒ ฝ่าย พร้อมที่จะร่วมมือกันสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองแก่พระศาสนาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนความรู้ การแลกเปลี่ยนวิธีการเผยแผ่พระศาสนา รวมถึงการทำกิจกรรมทางศาสนาร่วมกัน เช่น การตักบาตร ๒ แผ่นดินที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลเมืองมัณฑะเลย์กับมูลนิธิธรรมกายและองค์กรภาคีเครือข่ายอีกกว่า ๓๐ องค์กร
มิงกะลาบา มัณฑะเลย์ -- มัณฑะเลย์เป็นเมืองหลวงแห่งราชวงศ์สุดท้ายของเมียนมาก่อนที่จะตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ เป็นเมืองใหญ่อันดับสองรองจากนครย่างกุ้ง อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่มีทั้งท่าเรือและท่าอากาศยานนานาชาติ
ในเมืองมัณฑะเลย์มีประชากรที่นับถือศาสนาพุทธประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ มีพระสงฆ์ถึง ๑ แสนรูป และมีวัดวาอารามมากมาย อาทิ วัดมหามุนี ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระมหามัยมุนี ๑ ใน ๕ สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุดของเมียนมาและเป็นพระพุทธรูปที่ชาวเมียนมาถือว่ามีชีวิตจึงเป็นที่มาของการทำพิธีล้างพระพักตร์พระพุทธรูปทุกเช้ามาจนกระทั่งทุกวันนี้
นอกจากนี้ยังมีวัดมหากันดายงซึ่งเป็นสถานที่ศึกษาพระไตรปิฎกของพระสงฆ์นานาชาติประมาณ ๑,๐๐๐ รูป วัดกุโสดอว์ ซึ่งมีศิลาจารึกข้อความจากพระไตรปิฎกเป็นภาษาเมียนมา และยังมีวัดที่เก่าแก่อีกเป็นจำนวนมาก
งานตักบาตรครั้งใหญ่ในมัณฑะเลย์จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยนิมนต์พระสงฆ์เมียนมา ๑๐,๐๐๐ รูป มาบิณฑบาต ครั้งที่สองนิมนต์พระ ๒๐,๐๐๐ รูป จัดพิธีเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม ที่ผ่านมาทั้งนี้เพื่อสืบสานพุทธประเพณีตักบาตรของชาวพุทธ, เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง ๒ ประเทศให้แน่นแฟ้นขึ้น, สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคณะสงฆ์เถรวาทในภูมิภาคอาเซียน และส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะพระภิกษุ-สามเณรในเมืองมัณฑะเลย์
งานตักบาตรครั้งที่สองนี้ ทีมงานวางแผนงานล่วงหน้าถึง ๓ เดือน เพื่อให้งานออกมาดีที่สุดและเมื่อใกล้วันงานก็มีอาสาสมัครทั้งชาวไทยและเมียนมาจำนวนมากมายลงพื้นที่เตรียมงาน อาทิ เตรียมพื้นที่เดินบิณฑบาต เตรียมห้องน้ำจัดเก้าอี้ ปูเสื่อ-พรม-ผ้ากระสอบ ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ก็มีการฝึกทีมงานอาสาสมัครชาวเมียนมา ทั้งในเรื่องการเตรียมงาน การปฏิบัติงาน และการเก็บงาน ฯลฯ ซึ่งในอนาคตอาสาสมัครเหล่านี้ ซึ่งมีทั้งชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา จะสามารถนำ know-how นี้ไปจัดงานบุญเองได้
เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ตั้งแต่เวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. พุทธศาสนิกชนผู้ใฝ่ในบุญฝ่าอากาศหนาวเย็นทยอยเข้าสู่พื้นที่จัดงาน คือ บริเวณรันเวย์ของสนามบิน Chanmyatazi ซึ่งเป็นสนามบินเก่า และถึงแม้ว่าหลายคนเดินทางออกจากบ้านมาตั้งแต่ตีสามตีสี่ก็ตาม แต่ก็ไม่มีความเหนื่อยล้าปรากฏให้เห็น ใบหน้าที่ฉาบทาด้วยทานาคามีแต่รอยยิ้มและเสียงทักทายพูดคุยกันด้วยความเบิกบาน
เมื่อมองไปบนปะรำพิธีจะเห็นพระมหามัยมุนี (องค์จำลอง) ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ประดิษฐานเด่นเป็นสง่า ด้านล่างมีพระสงฆ์เมียนมา ๒๐,๐๐๐ รูป พระสงฆ์ไทย ๑๐๐ รูป และมหาชนชาวพุทธหลายหมื่นคนเรียกได้ว่าเป็นภาพอัศจรรย์ที่สร้างสรรค์โดยชาวพุทธยุคนี้
พิธีกรรมเริ่มเมื่อเวลา ๐๖.๓๐ น. โดยประธานพิธีชาวเมียนมาจุดเทียนธูปบูชาพระรัตนตรัยตามด้วยพิธีกล่าวคำแสดงตนเป็นพุทธมามกะกล่าวคำอาราธนาศีล นั่งสมาธิ ตามด้วยพิธีกล่าวคำ ถวายภัตตาหาร ไทยธรรม คิลานเภสัชยานพาหนะ กล่าวคำอธิษฐานจิต และสวดมนต์ร่วมกัน
จากนั้น คณะสงฆ์แปรแถวบิณฑบาตส่วนสาธุชนก็พากันนำข้าวสาร อาหารแห้งยารักษาโรค สบู่ ยาสีฟัน และเครื่องอุปโภคอื่น ๆ บรรจงใส่ลงในบาตรด้วยใบหน้าอิ่มบุญและบางคราก็มีน้ำตาปรากฏให้เห็น
พิธีตักบาตรในวันนี้ ได้รับความเมตตาจากพระภาวนาธรรมวิเทศ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ประเทศไทย เป็นประธานสงฆ์ฝ่ายไทย นอกจากนี้ยังมีพระมหาเถระผู้นำองค์กรพุทธนานาชาติจาก ๑๑ ประเทศ คือ ไทย จีน เมียนมา กัมพูชา เวียดนาม เนปาล อินเดีย ศรีลังกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และไต้หวันเมตตาไปเป็นเนื้อนาบุญด้วย
งานบุญตักบาตรเชื่อมสายใย ๒ แผ่นดินผ่านพ้นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ราบรื่นท่ามกลางความปีติยินดีและประทับใจของทุกฝ่าย ซึ่งต่างมีความปรารถนาที่จะมาพบกันใหม่ในงานตักบาตรคราวหน้า...
การตักบาตรครั้งนี้ เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ที่เกิดขึ้นโดยชาวพุทธทั้ง ๒ ประเทศ ซึ่งมีความปรารถนาตรงกันที่จะสร้างบุญกุศลและสืบทอดพุทธประเพณีเอาไว้ อีกทั้งยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างคณะสงฆ์เมียนมา-ไทย รวมทั้งเป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประชาชนของทั้ง ๒ ประเทศด้วย และที่สำคัญยังเป็นการแสดงให้ประชาคมโลกเห็นถึงพลังศรัทธาอันยิ่งใหญ่ และจุดมุ่งหมายร่วมกันของชาวพุทธทั่วโลก ที่จะสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนยาวนานตลอดไป