วันเด็ก
เรื่อง : พราวน้ำเพชร
วันที่เด็กรอคอย
การมองโลกในแง่ดีและมีแนวคิดในเชิงบวกเป็นปัจจัยสำคัญต่อ “ความสุข” ของคนเรา และเป็นพลังมหาศาลที่เกื้อหนุนให้เกิดความสำเร็จในชีวิต อีกทั้งยังเป็นจุดกำเนิดของความคิดสร้างสรรค์มากมายบนโลกใบนี้
การจัดงานวันเด็กเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่จะเติมพลังบวกลงในใจของกล้าต้นน้อย ให้เติบโตแข็งแรงสมบูรณ์ทั้งกายและใจ จะได้เติบใหญ่ไปเป็นต้นไม้ที่ให้ความร่มเย็นแก่ครอบครัวสังคม และประเทศชาติต่อไปในอนาคต
๕ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “วันเด็ก”
๑. ใครเป็นผู้ริเริ่มจัดงานวันเด็ก ?
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ เกิดปฏิญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติทำให้ทั่วโลกเกิดความตื่นตัวและเห็นพ้องต้องกันว่าควรให้ความสำคัญแก่เด็กมากขึ้นในปีนั้นประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกว่า ๔๐ ประเทศจึงจัดงานฉลองวันเด็กแห่งชาติ โดยกำหนดจัดในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม
๒. งานวันเด็กครั้งแรกในประเทศไทยจัดขึ้นเมื่อไร ?
จัดครั้งแรกเมื่อวันจันทร์ที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ทางการมีมติเปลี่ยนแปลงวันเด็กแห่งชาติไปเป็นวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคม เนื่องจากเดือนตุลาคมเป็นฤดูฝน เด็กไม่สะดวกไปร่วมงาน และวันจันทร์เป็นวันทำงานของผู้ปกครอง จึงไม่สะดวกที่จะพาเด็กไปร่วมงาน
งานวันเด็กในวันเสาร์ที่สองของเดือนมกราคมจัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๐๘ (พ.ศ.๒๕๐๗ ไม่มีงานวันเด็ก เพราะขณะประกาศเปลี่ยนแปลงเลยวันเด็กที่กำหนดใหม่ไปแล้ว)
๓. คำขวัญวันเด็กครั้งแรกของไทยมีขึ้นเมื่อไร ?
คำขวัญ “วันเด็ก” เป็นคำขวัญที่นายกรัฐมนตรีมอบให้เด็กไทย เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ โดยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ให้คำขวัญว่า “จงบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและส่วนรวม” สำหรับคำขวัญวันเด็กแห่งชาติประจำปีนี้ก็คือ “รู้คิด รู้เท่าทัน สร้างสรรค์เทคโนโลยี” โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
๔. อะไรคือวัตถุประสงค์ของวันเด็กแห่งชาติ ?
วัตถุประสงค์ของวันเด็กแห่งชาติ คือ เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของเด็กสนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ, เพื่อให้เด็กยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข, เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตนและอยู่ในระเบียบวินัยอันดี และเพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก
๕. ของขวัญวันเด็กที่เด็กต้องการมากที่สุดคืออะไร ?
จากผลสำรวจของ องค์กรนิวกราวด์ (Newground) องค์กรที่ศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรในอนาคต พบว่าของขวัญที่เด็กอยากได้อันดับแรกก็คือ อยากได้การรับฟังและความเข้าใจ อันดับสอง คือ เงิน
เด็ก ๆ เฮ !! เที่ยวงานวันเด็กที่วัดพระธรรมกาย
วันเด็กแห่งชาติปีนี้ เด็ก ๆ พากันเฮฮาเมื่อคณะสงฆ์จังหวัดปทุมธานีร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่ายบวร จัดงานวันเด็กแห่งชาติจังหวัดปทุมธานี ประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแก่วันเด็กแห่งชาติ และเพื่อสนองนโยบายของมหาเถรสมาคมในการขับเคลื่อนโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ และชุมชนคุณธรรมเชิงคุณภาพ โดยมีแนวคิดเก๋ ๆ และสร้างสรรค์ว่า “เก่ง ดี มีศีล ๕ มุ่งหน้า Thailand 4.0”
บรรยากาศสดใส คึกคัก มีชีวิตชีวาของงานวันเด็กเริ่มตั้งแต่ช่วงสายของวันเสาร์ที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ณ อาคารสำนักงานใหญ่ (หลังเดิม-โถงช้างฯ) วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมีเด็ก เยาวชน และผู้ปกครองเข้าร่วมงานนับหมื่นคน
เวลา ๑๓.๐๐ น. มีพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความเมตตาจากพระเดชพระคุณพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และได้รับเกียรติจากคุณนิติชัย วิริยานนท์ นายอำเภอคลองหลวง ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เป็นประธานฝ่ายฆราวาส
กิจกรรมที่สร้างรอยยิ้มและความตื่นเต้นสุด ๆ ในงานก็คือ การจับฉลากลุ้นของขวัญ นอกจากนี้ยังมีนิทรรศการ “เก่ง ดี มีศีล ๕ มุ่งหน้า Thailand 4.0”/ ภาพยนตร์ ๓ มิติเรื่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผจญมาร และละครฟื้นฟูศีลธรรมเรื่องรักแลกภพ/ ฐานกิจกรรมความรู้กึ่งบันเทิง “ความดีสากล” เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่มีทั้งสาระและความบันเทิงได้ใจเด็กและผู้ปกครองไปเต็ม ๆ แถมด้วยอาหาร-เครื่องดื่มจากผู้ใหญ่ใจดีกว่า ๑๐๐ ร้านมามอบความอิ่มอร่อยแบบไม่อั้น
งานวันเด็กที่วัดพระธรรมกายปีนี้สิ้นสุดลงด้วยความประทับใจของทุก ๆ ฝ่าย ทั้งเด็กผู้ปกครอง ผู้ใหญ่ใจดี และผู้สนับสนุนการจัดงานทุกท่าน แล้วพบกันใหม่วันเด็กแห่งชาติปีหน้า
ทั้งในอดีตและอนาคต “วันเด็ก” ก็คือวันเวลาแห่งความสุขสนุกสนานที่เด็ก ๆ รอคอยและถึงแม้ว่าเด็กทุกคนมีโอกาสฉลองวันเด็กแค่สิบกว่าครั้งก่อนที่วัยเยาว์จะผ่านไปก็ตาม แต่ความสุขและประสบการณ์ดี ๆ ที่พวกเขาได้รับรวมทั้งความรู้สึกว่าตนเป็นที่รักและมีคุณค่า จะเป็นต้นธารของพลังบวกและสิ่งดี ๆ ที่จะเกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย อาทิ ความรัก ความเมตตาความเข้าใจ และการเห็นคุณค่าของเพื่อนมนุษย์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในภายหน้า