วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร ตอนที่ ๑๓ การหมุนธรรมจักรด้วยการเผยแผ่ตามยุทธศาสตร์ทิศ ๖

สร้างปัญญาเป็นทีม
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

สร้างปัญญาเป็นทีม
ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร
พระอัครสาวกเบื้องขวา ผู้เลิศด้วยปัญญา
ตอนที่ ๑๓ การหมุนธรรมจักรด้วยการเผยแผ่ตามยุทธศาสตร์ทิศ ๖

อยู่ในบุญ , วัดพระธรรมกาย , ธรรมกาย , วารสาร , หนังสือ , หนังสืออยู่ในบุญ , หนังสือธรรมะ , บุญ , หลวงพ่อธัมมชโย , หลวงพ่อทัตตชีโว , พระมงคลเทพมุนี , case study , ฝันในฝัน , สื่อธรรมะ , วิชชาธรรมกาย , ธรรมกายเจดีย์ , สวดธรรมจักร , ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร , world peace , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระพุทธเจ้า , พุทธพจน์ , คำสอนหลวงปู่ , คำสอนคุณยาย , คำสอนหลวงพ่อธัมมชโย , อยู่ในบุญเดือนกุมภาพันธ์2561 , สมาธิ , หยุดเป็นตัวสำเร็จ , พระพุทธศาสนา , 072 , หยุดใจ , ศูนย์กลางกายฐานที่ 7 , สร้างปัญญาเป็นทีม , สร้างปัญญาเป็นทีม ตามแบบฉบับของพระสารีบุตร ตอนที่ ๑๓ การหมุนธรรมจักรด้วยการเผยแผ่ตามยุทธศาสตร์ทิศ ๖ , หลวงพ่อทัตตชีโว

๓. การหมุนธรรมจักรด้วยการเผยแผ่ตามยุทธศาสตร์ทิศ ๖

       คำว่า ทิศ ๖ นี้ ไม่ใช่ทิศทางภูมิศาสตร์ (ตะวันออก ตะวันตก เหนือ ใต้) แต่คือทิศทางสังคม โดยแบ่งตามความสัมพันธ์ของกลุ่มคนรอบตัวเราออกเป็น ๖ กลุ่ม ได้แก่

๑) ทิศเบื้องหน้าของตน คือ พ่อแม่กับลูก
๒) ทิศเบื้องขวาของตน คือ ครูอาจารย์กับลูกศิษย์
๓) ทิศเบื้องหลังของตน คือ คู่ครอง (สามี-ภรรยา)
๔) ทิศเบื้องซ้ายของตน คือ มิตรสหาย
๕) ทิศเบื้องล่างของตน คือ เจ้านายกับลูกน้อง
๖) ทิศเบื้องบน คือ สมณะกับคฤหัสถ์

       เป้าหมายสูงสุดของทิศ ๖ ทางสังคมนี้ คือการดับทุกข์ดับกิเลสตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และอยู่ร่วมกันโดยวิธีฝึกฝนตนเอง พัฒนาตนเอง ผ่านการทำหน้าที่ประจำทิศทั้ง ๖ (รายละเอียดหาอ่านได้ในหนังสือคัมภีร์ปฏิรูปมนุษย์)

       ในช่วงแรกที่พระพุทธศาสนาเพิ่งเริ่มเผยแผ่ออกไป พระภิกษุยังมีอยู่จำนวนน้อย ทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนาจึงยังไม่บังเกิดขึ้น ต่อมาเมื่อพระอสีติสาวกช่วยกันทำงานเผยแผ่เชิงรุกอย่างเข้มแข็ง พระพุทธศาสนาเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ลูกศิษย์ลูกหาของท่านจึงมีเพิ่มมากขึ้นและกลายเป็นเครือข่ายทิศ ๖ อยู่รอบตัวของพระอสีติสาวกแต่ละรูป

   สำหรับในเรื่องนี้ การติดตามศึกษาประวัติการทำงานเผยแผ่ของพระสารีบุตรจะช่วยให้เรา เห็นภาพการรวบรวมคนดีเข้ามาเป็นเครือข่ายทิศ ๖ ในพระพุทธศาสนาได้ง่ายขึ้น...

       ในครั้งนั้น เมื่อคุณธรรมของพระสารีบุตรขจรขจายออกไปในหมู่สงฆ์และประชาชนทั่วชมพูทวีป ผู้มีศรัทธาในคุณธรรมของท่านจึงเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก การได้พบเห็นท่านได้ฟังธรรมจากท่าน ได้ทำบุญกับท่าน จึงถือว่าเป็นมหาโชคมหาลาภของชีวิต เพราะว่าท่านเป็นต้นแบบที่ดี เป็นแรงบันดาลใจที่ดี และเป็นกำลังใจที่ดีในการฝึกอบรมตนให้เป็นผู้มีปัญญามาก

     ใครที่ได้พบเห็นคุณธรรมของพระสารีบุตรก็ล้วนเกิดศรัทธาอยากฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่าน เพราะอยากจะเป็นผู้มีปัญญามากเหมือนอย่างท่าน คนที่อยู่ในวัยหนุ่ม ก็อยากบวชเป็นพระภิกษุ คนที่มีครอบครัวแลว้ ก็อยากส่งบุตรหลานมาบวชเป็นสามเณร คนที่บวชไม่ได้เพราะมีการงานทางโลกต้องดูแล ก็อยากจะเป็นกองเสบียงเลี้ยงลูกศิษย์ของท่าน

     ท่านจึงใช้คุณธรรมประจำตัวและการปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างเคร่งครัดในกิจวัตรประจำวันของท่านเป็นบทฝึกการสร้างปัญญาแก่คนรุ่นใหม่ ทำให้มีพระภิกษุรุ่นใหม่ สามเณรรุ่นใหม่ และมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ เพิ่มขึ้นในพระพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก โดยสามารถสรุปเป็นขั้นตอนการทำงานสร้างศาสนิกใหม่ของพระสารีบุตรโดยย่อได้ดังนี้

ขั้นตอนการทำงานสร้างศาสนิกใหม่ของพระสารีบุตร

         ๓.๑ รวบรวมลูกหลานตระกูลอุปัฏฐากเข้ามาบวชเป็นสามเณรรุ่นใหม่

         สามเณรที่พระสารีบุตรเป็นพระอุปัชฌาย์บวชให้ตั้งแต่เด็กนั้น มีอยู่ ๒ กลุ่ม

         กลุ่มแรก   คือ สามเณรที่เป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ เช่น วนวาสีติสสสามเณรสังกิจจสามเณร  บัณฑิตสามเณร สุขสามเณรสีวลีสามเณร (พระสีวลี) เป็นต้น

         กลุ่มที่สอง คือ สามเณรที่บวชตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ แต่ต้องได้รับการเลี้ยงดูฝึกฝนอย่างถูกต้องเคร่งครัดจึงจะเติบโตขึ้นมาเป็นพระภิกษุ พระภิกษุผู้บรรลุอรหัตผล เช่น พระราหุล พระกังขาเรวตะ เป็นต้น

         สามเณรกลุ่มแรก เมื่อเป็นพระอรหันต์แล้วท่านก็ดูแลตัวของท่านเองได้ ช่วยเหลืองานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ ไม่เป็นที่หนักแรงของพระอุปัชฌาย์อาจารย์แต่อย่างใด

         สามเณรกลุ่มที่สอง กลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากพระสารีบุตรตั้งแต่วันแรกด้วยความเอาใจใส่อย่างถูกต้อง เพราะสามเณรก็คือเด็ก จำต้องเร่งปรับตัวให้เข้ากับการดำรงชีวิตด้วยนิสัย ๔ เช่นเดียวกับพระภิกษุ ซึ่งเป็นเรื่องที่แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็ยังอดทนได้ยาก

         หากผู้ที่ดูแลมีปัญญาในการดูแลเด็กที่ละเอียดอ่อนไม่พอ จะสร้างผลเสียหายตามมามากมาย เช่น

         ๑) เขาจะให้การถ่ายทอดนิสัยเจ้าปัญญาแก่เด็กไม่เป็น โดยเฉพาะนิสัยแยกแยะได้ว่า วัตถุอุปกรณ์สิ่งใดจำเป็น สิ่งใดเป็นเพียงความต้องการ สิ่งใดเป็นส่วนเกินต่อชีวิตสมณะ

         ๒) เขาจะให้คำอธิบายเหตุผลในเรื่องโลกและชีวิต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของร่างกายในระดับที่เหมาะสมกับเด็กไม่เป็น

         ๓) เขาจะให้กำลังใจที่เหมาะสมกับจริตของเด็กแต่ละกลุ่มไม่เป็น

         ๔) เขาจะให้ความอบอุ่นปลอดภัยที่เหมาะสมแก่เด็กไม่เป็น

         ๕) เขาจะให้การดูแลสุขภาพตามวัยของเด็กไม่เป็น

         ๖) เขาจะให้การดูแลโภชนาการตามวัยของเด็กไม่เป็น

         ๗) เขาจะให้กรรมฐานที่เหมาะสมกับเด็กไม่เป็น

      เมื่อผู้ดูแลสามเณรขาดปัญญาในด้านการดูแลคนซึ่งละเอียดอ่อนเช่นนี้ ความหวังที่จะมีขุนพลแห่งกองทัพธรรมรุ่นใหม่เกิดขึ้นในพระพุทธศาสนาจึงเป็นไปได้ยาก เพราะเพียงแค่สามเณรกลายเป็นเด็กเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเอง ฉันภัตตาหารไม่เป็น นอนไม่เป็น ดูแลสมบัติพระศาสนาไม่เป็น เพียงเท่านี้ก็มากพอจะทำลายศรัทธาญาติโยมที่มีต่อพระพุทธศาสนาได้แล้ว เรื่องความหวังที่จะให้เป็นผู้สืบทอดรักษาพระธรรมคำสอนของพระบรมศาสดา    จึงไม่ต้องพูดถึง

      ดังนั้น การเลี้ยงดูสามเณรจึงต้องใช้ผู้ที่มีปัญญามาก1 เพราะคุณสมบัติของขุนพลกองทัพธรรมที่พระบรมศาสดาต้องการในขั้นต้นก็คือ ๑) มีศรัทธา ๒) มีสุขภาพแข็งแรง ๓) มีใจที่ซื่อตรง (ไม่โอ้อวด ไม่มีมารยา) ๔) มีความขยันบำเพ็ญเพียร ๕) มีปัญญาเห็นทุกข์

      ผู้ที่มีคุณสมบัติเช่นนี้ พระบรมศาสดาตรัสว่า เป็นผู้ที่บรรลุธรรมได้ไว หากพระองค์ทรงสอนตอนเช้า เขาก็จะบรรลุธรรมตอนเย็น ใช้เวลาเพียงครึ่งวันก็บรรลุธรรมแล้ว2

        ๓.๒ รวบรวมผู้มีปัญญาเข้ามาบวชเป็นภิกษุรุ่นใหม่

      เหตุปัจจัยที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผู้มีปัญญาตัดสินใจเข้ามาบวชเป็นภิกษุและศิษย์ของพระสารีบุตร คือ ๑) บุคลิกก่อให้เกิดศรัทธา ๒)การประลองปัญญา ๓) การเทศนาเผยแผ่ธรรม

บุคลิกก่อให้เกิดศรัทธา
        พระวังคีสะ เอตทัคคมหาสาวก ผู้เป็นเลิศด้านปฏิภาณ ท่านได้เล่าว่า ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของท่านเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อได้เห็นบุคลิกสงบสำรวมของพระสารีบุตรในขณะเดินบิณฑบาตยามเช้า ซึ่งท่านได้เล่า   ไว้ใน วังคีสเถราปทาน
3 ว่า

     “ในเวลาที่เรารู้เดียงสา ตั้งอยู่ในปฐมวัยเราได้พบพระสารีบุตรเถระในพระนครราชคฤห์อันรื่นรมย์ ท่านถือบาตร สำรวมดี ตาไม่ล่อกแล่ก พูดพอประมาณ แลดูชั่วแอก เที่ยวบิณฑบาตอยู่ ครั้นเราเห็นท่านแล้ว ก็เป็นผู้อัศจรรย์ใจ ได้กล่าวบทคาถาอันวิจิตร เป็นหมวดหมู่เหมือนดอกกรรณิการ์ที่ร้อยไว้แล้วท่านบอกแก่เราว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้นำโลกเป็นศาสดาของท่าน

       “ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรเถระผู้ฉลาดผู้เป็นนักปราชญ์นั้น ได้พูดแก่เราเป็นอย่างดียิ่งเราอันพระเถระผู้คงที่ให้ยินดีด้วยปฏิภาณอันวิจิตร เพราะทำถ้อยคำที่ปฏิสังยุตด้วยวิราคธรรม เห็นได้ยาก สูงสุด จึงซบศีรษะลงแทบเท้าของท่าน แล้วกล่าวว่า ขอได้โปรดให้กระผมบรรพชาเถิด”

      เมื่อพระสารีบุตรทราบความประสงค์ของวังคีสมาณพแล้ว จึงพาท่านไปบวชในสำนักพระบรมศาสดา โดยที่พระสารีบุตรไม่ต้องแสดงธรรมแม้แต่คำเดียว ซึ่งเป็นข้อคิดว่า ๑)ผู้มีปัญญาย่อมมองผู้มีปัญญาด้วยกันออกเสมอ ๒) บุคลิกน่าเลื่อมใสของผู้เป็นศิษย์ย่อมสะท้อนถึงการอบรมสั่งสอนของผู้เป็นอาจารย์

หลังจากที่พระบรมศาสดาทรงให้ท่านบวชกับพระนิโครธกัปปะผู้เป็นพระอุปัชฌาย์แล้วท่านก็มาเรียนกรรมฐานกับพระบรมศาสดา  ตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่นานนัก ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์


การประลองปัญญา
     ในสมัยพุทธกาล การประลองปัญญา    ด้วยการโต้วาทะระหว่างนักปราชญ์ที่นับถือต่างศาสนาถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวันโดยเฉพาะอย่างยิ่งตามเมืองหลวงของแคว้นใหญ่ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของเจ้าลัทธิหลากหลายศาสนา การโต้วาทะตามสถานที่สาธารณะจึงเกิดขึ้นได้ทุกเวลา ทั้งในเวลาเช้าตรู่ เวลาสายเวลาเย็น เวลาค่ำ แล้วก็เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากประชาชนในยุคนั้นเป็นอย่างมาก

     แต่เนื่องจากพระบรมศาสดาทรงประกาศชัดเจนว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาของพระองค์มิได้ประสงค์เพื่อความเป็นเจ้าลัทธิแข่งกับใครพระองค์ทรงประสงค์เพียงอย่างเดียว คือ การเผยแผ่ความรู้เรื่องการดับทุกข์ด้วยอริยมรรคมีองค์ ๘ ให้เป็นนิสัยแก่ประชาชนเท่านั้น เพราะเมื่อประชาชนมีความรู้ที่ถูกต้องแล้ว ก็ย่อมสามารถพิจารณาตัดสินได้เองว่า ควรเลือกเชื่อเลือกปฏิบัติตามคำสอนของผู้ใด

        อีกทั้งการรุกรานศาสนาอื่นด้วยวิธีการยกตนข่มท่าน โจมตีว่าร้ายผู้อื่น เบียดเบียนทำลายล้างผู้อื่น ก็ไม่ใช่แนวทางการเผยแผ่ของพระพุทธศาสนาอีกด้วย ซึ่งหากใครทำแบบนั้นก็ถือว่าผิดหลักวิธีเผยแผ่ที่พระบรมศาสดาให้ไว้ใน โอวาทปาฏิโมกข์4 (ไม่ว่าร้ายใคร ไม่ทำร้ายใครสำรวมในปาฏิโมกข์ รู้ประมาณในการบริโภคนั่งนอนในที่สงัด บำเพ็ญเพียรอธิจิต)

       ด้วยเหตุนี้ การประลองปัญญาที่เกิดขึ้นระหว่างพระพุทธศาสนากับลัทธิศาสนาอื่น จึงเกิดขึ้นจาก ๓ สาเหตุใหญ่ คือ

๑) มีผู้ประสงค์รุกรานจาบจ้วงพระพุทธศาสนา     
๒) มีผู้ประสงค์แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างเพื่อนต่างศาสนา
๓) มีผู้ประสงค์ตามหาอาจารย์ผู้มีปัญญามากกว่าตน

       โดยทั้ง ๓ ประการนี้ ล้วนเป็นกรณีที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้เพราะว่าเป็นการประลองปัญญาที่จัดขึ้นในสถานที่สาธารณะ ต้องโต้วาทะท่ามกลางสายตาของคนจำนวนมาก ต่างฝ่ายจึงต้องใช้เหตุผลมาหักล้างกันอย่างเต็มที่จนกว่าจะรู้ผลแพ้ชนะ ซึ่งจะยุติลงได้ก็ต่อเมื่อการให้เหตุผลของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความขัดแย้งกันเองจนตะแบงต่อไปไม่ได้ พวกที่ละทิ้งความเห็นผิดไม่ได้ ก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ล่าถอยกลับไปอย่างไร้ศักดิ์ศรี พวกที่ละทิ้งความเห็นผิดแต่เดิมได้ ก็ขอบวชเรียนในพระพุทธศาสนาต่อไป

     พระสารีบุตรเองเมื่อถึงคราวต้องประลองปัญญา ท่านก็หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน ซึ่งผู้ที่ท่านประลองปัญญาด้วยบ่อย ๆ ก็ไม่ใช่ใครอื่นโดยมากเป็นพวกปริพาชกจากลัทธิเก่าซึ่งท่านเคยบวชมาก่อนแล้วนั่นเอง

      เวลาประลองกัน ท่านก็ให้เกียรติอีกฝ่ายเป็นผู้ถามก่อน  เมื่อท่านตอบคำถามจนกระทั่งหมดภูมิรู้ของเขาแล้ว ท่านจึงเป็นฝ่ายถามกลับบ้าง เมื่อเห็นว่าอีกฝ่ายตอบไม่ได้ ท่านก็ไม่รุกรานต่อ ถือว่ามาแลกเปลี่ยนความรู้กันซึ่งหากผู้มาประลองนั้นมาด้วยความตั้งใจว่าหากได้พบกับผู้มีความรู้มากกว่าตนเมื่อไรจะขอฝากตัวเป็นศิษย์ เขาก็จะขอบวชกับท่านทันที

       ตัวอย่างเช่น ในกรณีของ พระกุณฑลเกสีเถรี5 ภิกษุณีผู้เลิศด้านการตรัสรู้โดยเร็วพลันก่อนบวชท่านเป็นปริพาชิกาผู้มีปัญญามาก โต้วาทะชนะมาตลอดทาง แต่เมื่อท่านประลองปัญญาพ่ายแพ้ต่อพระสารีบุตรแล้ว ก็ฝากตัวเป็นศิษย์ พระสารีบุตรจึงส่งท่านไปบวชในสำนักของภิกษุณี ต่อมาเย็นวันเดียวกัน ท่านก็มาฟังพระบรมศาสดาแสดงธรรม พระบรมศาสดาตรัสเทศน์ด้วยบทสั้น ๆ เพียง ๔ บท ท่านก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทันที

         ดังนั้น ผู้มีปัญญาจึงเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาด้วยการประลองปัญญาในลักษณะนี้


การเทศนาเผยแผ่ธรรม
  พระสารีบุตรมีชื่อเสียงด้านการแสดงธรรมเป็นอย่างมาก ได้รับคำชมเชยทั้งจากพระบรมศาสดาและพระอรหันต์ด้วยกันอย่างมากมายเพราะท่านแสดงธรรมด้วยเนื้อหาสาระที่จับใจคนฟังน้ำเสียงไพเราะกังวาน ยกใจผู้ฟังให้พ้นจากความมืดมิดคือนิวรณ์ ๕ กลับใจผู้ฟังจากมิจฉาทิฐิเป็นสัมมาทิฐิได้เป็นอัศจรรย์ทำให้ผู้ฟังมีธรรมะเป็นที่พึ่งในจิตใจ ดังที่พระบรมศาสดาตรัสชมไว้ใน ปวารณาสูตร
6 ว่า

         “สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต เป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา เป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริง เป็นผู้มีปัญญาไว เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาแหลมคม

      “สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบฉันใด สารีบุตรเธอก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม อันเราให้เป็นไปแล้ว ให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง”

      นอกจากนั้น แม้ในกาลที่ท่านปรินิพพานไปแล้ว ธรรมะที่ท่านเคยแสดงไว้เมื่อครั้งมีชีวิตก็ยังอยู่ในใจของผู้ฟังเสมอ ดังที่พระอานนท์กล่าวไว้ใน จุนทสูตร7 ว่า

      “ท่านพระสารีบุตรเป็นผู้กล่าวสอนให้รู้ชัดแสดงให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญให้รื่นเริง ไม่เกียจคร้านในการแสดงธรรมอนุเคราะห์เพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ข้าพระองค์ทั้งหลายมาตามระลึกถึงโอชะแห่งธรรม ธรรมสมบัติและการอนุเคราะห์ด้วยธรรมนั้นของท่านพระสารีบุตร”

      ด้วยเหตุนี้ ผู้ฟังที่ได้ฟังพระสารีบุตรแสดงธรรมในยุคนั้น จึงปรารถนาจะออกบวชในสำนักของท่านเป็นอันมาก เช่น กรณีของ พระสุนาคเถระ8 สหายเก่าในสมัยที่ท่านเป็นคฤหัสถ์พอได้ฟังท่านแสดงธรรมจบลง ก็เกิดศรัทธา   แรงกล้า ขอบวชเป็นลูกศิษย์ของท่าน และตั้งใจบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์ในสำนักของท่านเลยทีเดียว

       กรณี ครอบครัวของสังกิจจสามเณร9 ซึ่งเป็นตระกูลอุปัฏฐากของท่าน เมื่อตัวเองบวชไม่ได้ ก็ตั้งใจเลี้ยงดูเด็กชายเป็นอย่างดี พออายุครบ ๗ ขวบ ก็รีบพามาให้ท่านบวชเป็นสามเณรโดยไม่สนใจคำทำนายเมื่อแรกเกิดว่า “หากเด็กชายนี้อยู่ครองเรือน ญาติพี่น้องจะไม่รู้จักคำว่ายากจนไป ๗ ชั่วโคตร” แม้แต่นิดเดียว

     จากแนวทางการรวบรวมผู้มีปัญญาที่กล่าวมาทั้ง ๓ ประการนี้ คือ ๑) บุคลิกก่อให้เกิดศรัทธา ๒) การประลองปัญญา ๓) การเทศนาเผยแผ่ธรรม ย่อมแสดงให้เห็นว่า ผู้มีปัญญาเพียงได้เห็นบุคลิกของพระสารีบุตรเท่านั้น แม้ยังไม่ทันได้ฟังธรรมจากท่าน ก็เกิดศรัทธา   อยากบวชในพระพุทธศาสนาขึ้นมาแล้ว ยิ่งเมื่อได้สนทนาธรรม ยิ่งเห็นประจักษ์ในปัญญา     ของท่าน และถ้าหากได้ฟังท่านแสดงธรรมก็ย่อมจับใจไปตลอดชีวิต เพราะฟังแล้วแจ่มแจ้ง จูงใจ อาจหาญ ร่าเริง เบิกบาน ในการประพฤติปฏิบัติธรรม ทำให้อยากบวชเป็นลูกศิษย์ท่านนั่นเอง

 

 


1 วิ.มหาวิ. (ไทย) ๔/๘๔-๘๕/๑๒๓-๑๓๗, องฺ.ทสก.สามเณรสูตร (ไทย) ๒๔/๓๖/๘๗ คุณสมบัติภิกษุที่จะให้สามเณรอุปัฏฐากได้
2 ม.ม.โพธิราชกุมารสูตร (ไทย) ๑๓/๓๔๔-๓๔๕/๔๑๗-๔๑๙
3 ขุ.อป.วังคีสเถราปทาน (ไทย) ๓๓/๑๒๓-๑๒๘/๓๐๖-๓๐๗
4 ที.ม.มหาปทานสูตร (ไทย) ๑๐/๙๐/๕๐-๕๑
5 ขุ.ธ.อ.เรื่องพระกุณฑลเกสีเถรี (ไทย) ๔๑/๔๓๙-๔๔๕
6 สํ.ส.ปวารณาสูตร (ไทย) ๑๕/๒๑๕/๓๑๒-๓๑๓
7 สํ.ม.จุนทสูตร (ไทย) ๑๙/๓๗๙/๒๓๓
8 ขุ.เถร.อ.สุนาคเถรคาถา (ไทย) ๕๐/๔๑๐
9 ขุ.ธ.อ.สังกิจจสามเณร (ไทย) ๔๑/๔๖๖-๔๖๗

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๘๒ เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๑

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล