บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๑)
สืบเนื่องจากวันขึ้นปีใหม่ พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา มีพิธีเปิดม่านมงคลบรมจักรพรรดิโบสถ์พระไตรปิฎกแรกของโลก เพื่อเป็นสถานที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก อันเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ที่ได้บันทึกคำว่า “ธรรมกาย” ไว้ให้ชาวโลกได้เรียนรู้ ซึ่งนักวิชาการด้านภาษาศาสตร์เองก็ให้นัยสำคัญเกี่ยวกับคำว่า “ธรรมกาย” เอาไว้ว่า เมื่อประเทศไทยซึ่งรับอิทธิพลด้านพุทธศาสนาและภาษาจากประเทศอินเดียมีการบันทึกคำว่าธรรมกายทับศัพท์ในภาษาไทยเอาไว้1 ประเทศอื่น ๆ ที่นับถือพระพุทธศาสนาและได้รับอิทธิพลทางภาษาจากอินเดีย เช่น ภาษาบาลี สันสกฤต ปรากฤต และคานธารีก็น่าจะมีการบันทึกคำว่าธรรมกายทับศัพท์ด้วยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI)จึงถือเอาข้อสังเกตนี้เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องสืบค้นและพิสูจน์ โดยเริ่มต้นกันที่ประเทศกัมพูชา เพราะเป็นแหล่งพื้นที่ทำงานวิจัยภาคสนามของทางสถาบันฯ อยู่แล้ว การลงภาคสนามในครั้งนี้ ผู้เขียนได้พบกับเครือข่ายนักวิชาการ ครูภูมิปัญญาท้องถิ่น และผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key Informant) หลายท่าน ซึ่งบางท่านมีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องธรรมกายอยู่แล้ว โดยท่านแรกที่เราได้เข้าไปพบและสอบถามคือ ฯพณฯ สุวรรณิก (H.E. Prof Sin Sovannik) ข้าราชการผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงธรรมการ ท่านเป็นที่ยอมรับในวงวิชาการว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาและอารยธรรมในประเทศกัมพูชาอีกท่านหนึ่ง และท่านยังเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวของประธานอำนวยการสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยอีกด้วย ในโอกาสนี้ท่านได้พาทีมงานของเราไปพบท่านพระครูสังฆปาลมุนี วัดลังกา ซึ่งเป็นนักอนุรักษ์หนังสือโบราณประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ประเพณี และกิจการคณะสงฆ์ ทำให้เราได้รับรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์กัมพูชาในหลาย ๆ ส่วนเป็นอย่างดี ที่สำคัญในครั้งนี้ท่านได้ช่วยทีมงานสืบค้นข้อมูลในพระไตรปิฎกฉบับกัมพูชาที่แปลมาจากภาษาบาลี ทำให้เราได้พบว่าธรรมกายมีปรากฏอยู่ในเล่มที่ ๑๘ จากพระไตรปิฎกฉบับกัมพูชาทั้งหมด ๑๑๐ เล่ม2 ดังนั้นทางสถาบันฯ ได้ประสานให้คุณก๊กอาน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเขมรโบราณของสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบุรพทิศ (EFEO) ณ ที่ทำการในเขตวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม (คุณก๊กอานเคยร่วมงานกับทางสถาบันฯ มานานกว่าสิบปี) ทำให้เราสามารถค้นพบคำว่า “ธรรมกาย” อีก ๓ แห่งในพระไตรปิฎกฉบับกัมพูชา คือ เล่มที่ ๗๒, ๗๓ และ ๗๖3 ครบถ้วนตรงตามพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย
นอกจากนี้ ทีมงานสถาบันฯ ยังได้รับผลดีเกินคาด เมื่อได้มีการปรึกษาหารือ ประชุมกลุ่มย่อยกับท่านพระครูสังฆปาลมุนี ฯพณฯ สุวรรณิก คุณก๊กอาน และคุณสุเพียบ ทำให้ได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกที่กล่าวถึงประวัติศาสตร์การชำระพระไตรปิฎกชุดแรกของกัมพูชาโดยคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเป็นนักปราชญ์ทั้งฝ่ายสงฆ์และฝ่ายคฤหัสถ์ และจากการพูดคุยปรึกษาหารือกันเพิ่มเติม จึงได้มีการยกประเด็นไปถึงความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาในอดีตของกัมพูชา จากนั้น ฯพณฯ สุวรรณิกจึงได้นำหนังสือจารึกนครวัด (Inscriptions Modernes D’Angkor) ที่ระบุถึงการทำบุญกุศลทั่วไปของชาวพุทธโบราณระหว่างพุทธศักราช ๒๑๐๙-๒๒๙๐ โดยศาสตราจารย์เสาวรส เปา (Saveros Pou) ได้ปริวรรตและแปลเป็นภาษากัมพูชา รวมถึงการค้นหาในงานแปลจารึกของดอกเตอร์วง โสธีระ หัวหน้าภาควิชาจารึกและประวัติศาสตร์เขมร มหาวิทยาลัยแห่งชาติ กรุงพนมเปญ และจากหนังสือทางวิชาการอีกหลายเล่ม ทำให้ ฯพณฯ สุวรรณิกอ่านพบคำว่า “พระธรรมกาย” จากนั้นทีมงานวิจัยฯ จึงช่วยกันตามหาจารึกต้นฉบับดังกล่าวอยู่เป็นเวลา ๒-๓ วัน แต่ก็ไม่พบ และด้วยนัยสำคัญของคำว่า “จารึกนครวัด” ผู้เขียนและทีมงานวิจัยจึงตัดสินใจเดินทางไปลงพื้นที่จริง เพื่อค้นหาคำว่าพระธรรมกายที่ปราสาทนครวัดโดยตรงโดยก่อนเดินทางไปที่นครวัด ทางทีมงานก็ได้สืบหาข้อมูลประวัติความเป็นมาอีกครั้งโดยที่คุณสุเพียบ (สุภาพ) และคุณก๊กอาน ได้แนะนำให้ทีมงานฯ ไปพบกับ ดร.ฌอม กลเธีย ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑสถานพระนโรดมสีหนุ (Preah Norodom Sihanouk-Angkor Museum)
พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวถือเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีความสำคัญมากแห่งหนึ่ง เพราะเป็นสถานที่เก็บรักษาโบราณวัตถุหรือสิ่งของที่ได้จากการขุดค้นพบจำนวนมากมายถึง ๒๗๔ ชิ้น นำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวร ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าบรรดาศิลปวัตถุและโบราณวัตถุส่วนใหญ่ที่เก็บรักษาไว้นั้นเป็นศิลปวัตถุโบราณทางพระพุทธศาสนามากถึงร้อยละ ๘๐ โดยมีพระพุทธรูปนั่งสมาธิปางนาคปรกอยู่จำนวนมาก จากการขุดพบที่ปราสาทบันเตียคะได (แปลว่า ศาลาที่ทำการตัดสินคดีความ) และพิพิธภัณฑ์แห่งนี้สนับสนุนทุนการจัดสร้างโดยประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ๑๐ กว่าปีที่ผ่านมา
การได้มาพบกับ ดร.ฌอม กลเธีย ครั้งนี้ ทำให้เราได้ข้อมูลที่ใกล้ความเป็นจริงมากขึ้น เพราะในห้องสมุดของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีหนังสือ The Inscriptions of Angkor Watที่มีสำเนาภาพถ่ายจารึก และทำให้ทีมงานได้พบคำว่า “พระธรรมกาย” ในสำเนาภาพถ่าย
แผ่นที่ ๙ (IMA. 9) ของปราสาทนครวัด ชัดเจนตามที่ ฯพณฯ สุวรรณิกได้แนะนำไว้ แต่ทีมงานก็ยังไม่มั่นใจว่า ต้นฉบับจารึกของจริงจะยังคงอยู่ที่ปราสาทนครวัดหรือถูกโยกย้ายไปเก็บรักษาที่กรุงพนมเปญ ซึ่งมีจารึกอยู่ในความดูแลมากกว่าพันชิ้น
อย่างไรก็ตาม ทางทีมงานก็มุ่งหน้าไปยังปราสาทนครวัด เพื่อลงพื้นที่จริง (Field Research) และในที่สุดทีมงานก็ได้พบต้นฉบับของจริงในพื้นที่ และทำให้ทราบว่าในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๗ นั้น เป็นช่วงที่พระพุทธศาสนากำลังเจริญรุ่งเรือง ที่ปราสาทนครวัดเคยเป็นสถานที่สำคัญในการจัดงานบุญทางพระพุทธศาสนา และในเสาศิลาจารึกหลักที่ ๙ นี้ ยังปรากฏหลักฐานของคำว่า “พระธรรมกาย” อยู่อย่างชัดเจน โดยที่การจารึกคำว่าพระธรรมกายดังกล่าวนั้น ไม่ใช่เพียงการจารึกไว้บนแผ่นศิลาเหมือนที่พบในแหล่งอื่นในโลก แต่เป็นการจารึกใน “เสาหลัก” (Grand Column) หนึ่งใน ๑๐๐ เสาของปราสาทนครวัดดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่ง
การลงพื้นที่ศึกษาของผู้เขียนและคณะทำงานในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นสิ่งที่คุ้มค่ายิ่งและได้ผลดีเกินคาดเพราะทำให้เราได้พบกับนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ และครูภูมิปัญญาชาวเขมรหลายท่าน ทำให้เข้าถึงแหล่งข้อมูลชั้นปฐมภูมิและทุติยภูมิของคำว่าธรรมกาย ดังนั้น ทางสถาบันฯ จึงตั้งใจที่จะศึกษาค้นคว้าหลักฐานธรรมกายในพื้นที่นี้ต่อไป โดยเฉพาะการศึกษาในรายละเอียดเชิงลึกของจารึกนครวัดที่มีอยู่ถึง ๔๐ หลัก ทางสถาบันฯ จึงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อหาคำตอบที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะการศึกษาความเชื่อมโยงของคำว่า “ธรรมกาย” ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ดังนั้น ทางทีมงานจึงลงพื้นที่ย้อนรอยประวัติศาสตร์อาณาจักรฟูนันและอาณาจักรเจนละ4 ซึ่งมีเวลาทำการสำรวจเบื้องต้นเท่านั้น ดังรูปภาพประกอบ และคงจะมีผลงานวิจัยออกมานำเสนอในตอนต่อไป
ความสำเร็จของการศึกษาวิจัยหลักฐานธรรมกายของสถาบันฯ ทั้งที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคตนั้น จะเป็นเครื่องยืนยันถึงความมีอยู่จริงของธรรมกาย ช่วยยืนยันถึงคุณค่าของวิชชาธรรมกายที่พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ค้นพบว่าเป็นสิ่งที่ดีจริง และช่วยยืนยันถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลขององค์ผู้สถาปนาสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย ที่ท่านได้มอบนโยบายมาโดยตลอด ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการปักหลักในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายให้ขจรขจายไปทั่วโลก เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ
ในท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอน้อมนำบุญทุก ๆ บุญที่ได้กระทำมาด้วยดีแล้ว รวมกับบุญที่ตั้งใจสืบสานงานสืบค้นหลักฐานธรรมกายนี้จงเป็นบุญใหญ่แผ่ไปถึงพุทธศาสนิกชนและสาธุชนทุก ๆ ท่าน ให้มีดวงปัญญาที่สว่างไสวรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ติดตามตามติดพระเดชพระคุณหลวงปู่ฯ และมหาปูชนียาจารย์ทุกท่านไปจนตราบเท่าเข้าถึงที่สุดแห่งธรรมเทอญฯ
ขอเจริญพร
1 คำว่าธรรมกายในพระไตรปิฎกบาลีอักษรไทยและในพระไตรปิฎกภาษาไทยนั้นมีปรากฏอยู่ด้วยกัน ๔ แห่ง ได้แก่
๑) ในพระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค อัคคัญญสูตร เรื่องวาเสฏฐะ ภารทวาชะ ๒) ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย อปทาน พุทธวรรคที่ ๑ ปัจเจกพุทธาปทาน ว่าด้วยเหตุให้สำเร็จเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
๓) ในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน โสภิตวรรคที่ ๑๔ อัตถสันทัสสกเถราปทานที่ ๗ ว่าด้วยผลแห่งการชมเชยพระพุทธเจ้า และ
๔) ในพระสุตตันตปิฎก อปทาน เอกุโปสถวรรคที่ ๒ บุพจริยาของพระมหาปชาบดีโคตมีเถรี
2 พระไตรปิฎกฉบับกัมพูชาของเดิมจารลงบนใบลาน แต่ฉบับที่เราค้นพบคำว่าธรรมกายนี้ เป็นการจัดพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการชำระโดยบัณฑิตนักปราชญ์ในปี ๒๔๗๒ โดยมีสมเด็จพระธมฺมลิขิต ละเวียแอม เป็นประธานในการชำระพระไตรปิฎก การชำระใช้เวลาทั้งสิ้น ๓๐ ปี จัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ในพนมเปญ เริ่มทยอยพิมพ์ฉบับแรกปี ๒๔๗๔ และพิมพ์ฉบับสุดท้ายในปี ๒๕๑๒ จำนวนทั้งสิ้น ๑๑๐ เล่ม นับว่าเป็นพระไตรปิฎกที่มีความละเอียดรอบคอบและเอาใจใส่พิถีพิถันของนักปราชญ์ในการตรวจชำระเป็นอย่างมาก
3 คำว่า ธรรมกาย ในพระไตรปิฎกฉบับกัมพูชา เล่มที่ ๑๘ อัคคัญญสูตร หน้าที่ ๑๗๐ เล่มที่ ๗๒ ปัจเจกพุทธาปทานหน้าที่ ๓๙ เล่มที่ ๗๓ อัตถสันทัสสกเถราปทาน หน้าที่ ๖๐ เล่มที่ ๗๖ มหาปชาบดีโคตมีเถริยาปทาน หน้าที่ ๔๘
4 อาณาจักรฟูนัน พุทธศตวรรษที่ ๖-๑๑ อาณาจักรเจนละ พุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔