อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา (ตอนที่ ๓๒)
ตอนที่ ๓๒ : เหตุการณ์สังคายนา...ก่อนการสังคายนา
ภายหลังจากที่พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงดับขันธปรินิพพานไป ได้ปรากฏเหตุการณ์สำคัญในพระพุทธศาสนา ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานล่วงไป ๓ เดือน นั่นคือ การรวบรวมพระธรรมวินัยของพระอรหันตเถระ ๕๐๐ รูป หรือที่เรามักเรียกว่า ปฐมสังคายนา โดยมี พระมหากัสสปะ เป็นประธาน
โดยทั่วไป เรามักได้ยินถึงสาเหตุของการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งนี้ว่า เกิดจากการที่ภิกษุรูปหนึ่งที่ชื่อว่า สุภัททะ กล่าวจาบจ้วงพระศาสดา (วิ.จู. ๗/๔๓๗/๓๗๖ ไทย.มจร) แต่อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับแนวความคิดในเรื่องการรวบรวมพระธรรมวินัยนั้น ได้มีมาตั้งแต่ครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ โดยมี พระสารีบุตร เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ
ใน พระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ เวรัญชกัณฑ์ ได้กล่าวถึงการที่พระสารีบุตรได้เกิดดำริขึ้นว่า “พรหมจรรย์ (พระศาสนา) ของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่ไม่นาน ของพระพุทธเจ้าพระองค์ไหนดำรงอยู่นาน” จึงได้นำดำรินี้ไปเข้าเฝ้าพระศาสดา อีกทั้งยังทูลถามถึง “สาเหตุที่ทำให้พระศาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ดำรงอยู่ได้นานและไม่ได้นาน” ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงถึงสาเหตุที่ทำให้พระศาสนาของพระพุทธเจ้าดำรงอยู่ไม่นาน เพราะ “ทรงผ่อนคลายที่จะแสดงธรรมโดยพิสดาร (อธิบายความโดยละเอียด) และมิได้ทรงบัญญัติสิกขาบทไว้แก่พระสาวก” (วิ.มหา. ๑/๑๘-๒๐/๑๐-๑๒ ไทย.มจร)
ใน พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร ได้กล่าวถึง การที่พระสารีบุตรได้ปรารภเหตุที่พวกนิครนถ์วิวาทกันในเรื่องคำสอนของนิครนถ์นาฏบุตรผู้เป็นอาจารย์ ซึ่งได้ถึงแก่กรรมลงไม่นาน ท่านจึงได้แสดงธรรมโดยรวบรวมไว้เป็นหมวด ๆ ตั้งแต่หมวด ๑ ถึงหมวด ๑๐ โดยมีพระศาสดาทรงแสดงสาธุการด้วยพุทธดำรัสว่า “ดีละ ดีละ ดีแท้ สารีบุตร ที่เธอกล่าวสังคีติปริยาย (แนวทางแห่งการสังคายนา) แก่ภิกษุทั้งหลาย” (ที.ปา. ๑๑/๒๙๖-๒๔๗/๓๔๙-๓๖๖ ไทย.มจร)
แม้เหตุการณ์ทั้งสองนี้ จะไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นการทำสังคายนาเพื่อรวบรวมพระธรรมวินัย แต่ก็ทำให้เราเห็นถึง สาเหตุที่ทำให้พระศาสนาของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ดำรงอยู่ได้นานและไม่ได้นาน และนั่นคือ ความสำคัญของการทำสังคายนา หรือการรวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นปึกแผ่น ซึ่งเราจะได้กล่าวถึงเหตุการณ์สังคายนาภายหลังพุทธปรินิพพาน หรือ การสังคายนาอย่างเป็นทางการ ในลำดับต่อไป