วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หัวใจสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนา เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันอาทิตย์ที่ ๒ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

              

             วันนี้ หลวงพ่อจะขอพูดถึงปฏิรูปเทส ข้อที่ ๔ ในหัวข้อ "ธรรมะเป็นที่สบาย" เราได้ผ่านมาแล้วถึง ๓ หัวข้อ คือ อาวาสเป็นที่สบาย อาหารเป็นที่สบาย บุคคลเป็นที่สบาย และข้อสุดท้าย ธรรมะเป็นที่สบาย


การปรับตัวของพระพุทธศาสนา

             ปู่ย่าตาทวดของเรา เมื่อเวลารับเอาพระพุทธศาสนาจากประเทศอินเดียเข้ามาปักหลักในประเทศไทย ท่านต้องใช้ทั้งสติ ทั้งปัญญา เพื่อเอาหลักพระพุทธศาสนามาประยุกต์เป็นลำดับๆ ให้เหมาะสมกับคนทั้งประเทศไทย ตั้งแต่ปรับให้ เข้ากับสภาพดินฟ้าอากาศ ภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ทั้งยังปรับปรุงขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกินของคนไทย ให้พอเหมาะกับพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ นอกจากนี้ยังต้อง ฝึกคนแล้วฝึกคนอีก จนกระทั่งคนไทยเหมาะที่จะเข้าถึงธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

             การปรับตัวทั้งหมดนี้ คงใช้เวลาอยู่ไม่น้อย เพราะสภาพภูมิอากาศในเขตนี้เป็นเขตร้อนชื้น ไม่ว่าอะไรก็ตามที่อยู่ในเขตนี้ จะมีสภาพเน่าเปื่อยง่าย เพราะมันร้อนและชื้น จึงเหมาะแก่การเจริญเติบโตของพวกเชื้อรา แบคทีเรีย และจุลินทรีย์ นอกจากนี้ยังเป็นเขตที่มีปลวกชุกชุม บ้านเรือนแถบนี้ก็สร้างด้วยไม้ จึงเสี่ยงต่อการถูกปลวกกินและไฟไหม้ทำลายทรัพย์สิน

             เพราะฉะนั้น หลักฐาน เกี่ยวกับตำรับตำราต่างๆ ของประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงไม่ค่อยมี ประกอบกับคนไทยมีนิสัยขี้เกียจบันทึกอยู่แล้ว เลยยิ่งทำให้ไม่ค่อยมีหลักฐานประวัติศาสตร์ของชาติไทยสักเท่าไร ถ้าอยากรู้ก็ต้องไปศึกษาค้นคว้าจากประเทศอื่นๆ เช่น ของพม่าบ้าง มอญบ้าง จีนบ้าง


พระพุทธศาสนา ไม่ทิ้งหลักการ

             เนื่องจากในพระพุทธศาสนานั้น มีระบบ คำสอนที่เยี่ยมมาก คือเวลาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตรัสสอน ต้องแยกเป็น ๒ ส่วนให้ดี คือ ส่วนที่เป็นหลักการ และส่วนที่เป็นรายละเอียด

             ส่วนที่เป็นรายละเอียด เมื่อพระพุทธศาสนา เข้าไปสู่ประเทศไหน ก็สามารถปรับให้พอเหมาะกับขนบธรรมเนียมประเพณี ดินฟ้าอากาศ และนิสัยใจคอของคนในย่านนั้นๆ ได้ ดูเผินๆ ก็จะบอกว่า พระพุทธศาสนากลายพันธุ์ แต่พอเจาะลึกเข้า ไม่กลาย เพราะนั่นเป็นเพียงส่วนเปลือกนอก แต่ส่วนที่เป็นเนื้อแท้หรือหลักการของทุกนิกายทุกแห่งในโลกนี้ จะตรงกันเป๊ะไม่มีคลาดเคลื่อนเลย คือสอนเรื่องอริยสัจ ๔ มรรคมีองค์ ๘ และ กฎแห่งกรรมตรงกัน จะต่างกันแต่ขนบธรรมเนียมประเพณีน้อยใหญ่ ก็ปรับปรุงกันไป

             เหมือนอย่างจีวรของหลวงจีนกับพระภิกษุไทย ปัจจุบันนี้นุ่งห่มไม่เหมือนกัน ของไทยเราคลี่จีวรออกมาได้เป็นผืนไม่ต้องมีแขนมีขา ในขณะที่จีวรของหลวงจีน ได้กลายเป็นเสื้อคลุมไปแล้ว แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ มีการตัดผ้าเป็นตารางสี่เหลี่ยมแล้วเอามาต่อกัน

             หลักการนี้ได้มาจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงมอบหมายให้พระอานนท์ไปออกแบบจีวรมา เพราะฉะนั้นจีวรของพระภิกษุไม่ว่าจะอยู่ในประเทศไหน ต้องตัดผ้าเป็นตารางสี่เหลี่ยม แล้วเอา มาต่อกันเหมือนอย่างกับคันนา ที่ออกแบบอย่างนี้ เพื่อป้องกันขโมย ธรรมดาผ้าที่เป็นผืนย่อมมีราคา เป็นที่ต้องการของคนทั่วไป แต่ถ้าเอามาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเย็บกลับเข้าไปใหม่ ย่อมไม่มีใครอยากได้ นอกจากนี้ ยังดูแลรักษาง่าย ถ้าผ้าตรงไหนผุขาดไป ก็ตัดชิ้นนั้นออก แล้วเอาชิ้นใหม่มาปะแทน

             เพราะฉะนั้น การสอนธรรมะในพระพุทธศาสนา จึงมีหัวข้อธรรมะชัดเจนว่า ส่วนใดที่เป็นหลักการ และส่วนใดที่เป็นรายละเอียดซึ่งก็ไปปรับให้เหมาะภูมิภาค ตามขนบธรรมเนียมประเพณีกัน เพราะฉะนั้นคำสอนในพระพุทธศาสนา แม้ผ่านมา ๒,๕๐๐ กว่าปี ก็ยังรักษาได้คงทนดีเหลือเกิน แต่มีข้อแม้ว่า ผู้ศึกษาต้องศึกษาด้วยความระมัดระวังไม่มักง่าย


ทำอย่างไรธรรมะจึงเป็นที่สบาย

             ที่หลวงพ่อพูดมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะบอกว่า การที่ธรรมะจะเป็นที่สบายได้นั้น ต้องมีหลักการ กฎเกณฑ์อยู่พอสมควร กว่าธรรมะจะเป็นที่สบาย จะคงทนอยู่ในวัดใดวัดหนึ่ง ในประเทศใดประเทศหนึ่ง คงไม่ได้อยู่ลอยๆ

             ถามว่า การรักษาธรรมะให้ได้ จะรักษาอย่างไร คำตอบก็คือ เราต้องรักษาธรรมะให้เข้าไปอยู่ในใจคน ประเด็นสำคัญอยู่ตรงนี้

             ธรรมะจะเข้ามาอยู่ในใจได้นั้น ต้องเริ่มจากอ่านพระไตรปิฎก แล้วเอามาประพฤติปฏิบัติจนกระทั่งธรรมะเข้าไปอยู่ในใจ

             ยกตัวอย่าง ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า การทำทานรักษาศีลเป็นสิ่งดี แต่นั่นก็เป็นเพียงตัวหนังสืออยู่ในพระไตรปิฎก แต่จะดีจริงหรือไม่ ยังเป็นกลางๆ ต่อเมื่อใด เราให้ทานเพราะเห็นว่า สิ่งนี้ดีจริงๆ ทำให้ความตระหนี่หมดไป เกิดความสุขกายสบายใจขึ้นมา นั่นคือเราได้เริ่มปลูกฝังลงไปในใจว่า การให้ทานเป็นความดี ธรรมะเริ่มเข้าไปอยู่ในใจแล้ว

             ครั้นทำทานทำไปมากเข้าๆ จากแค่เข้าไปอยู่ในใจ คือเข้าใจถูกระดับหนึ่งแล้ว จนกลายเป็นนิสัยชอบให้ทาน

อย่างนี้จึงเรียกว่า เข้าไปอยู่ในใจ             ให้ทานหนักเข้าๆ ใจยิ่งผ่องใสขึ้น จนกระทั่ง เห็นบุญเป็นสายเกิดขึ้นในใจ เข้าแล้วไม่มีหลุดออกมาอีก

             พระพุทธศาสนาจะรุ่งเรืองอยู่ได้ ระดับ ธรรมะที่เข้าไปอยู่ในใจ ต้องเห็นเป็น "ดวงธรรม" ลอยขึ้นในศูนย์กลางกาย ธรรมะตัวจริงอยู่ตรงนี้ จึงเรียกว่า ธรรมะเป็นที่สบาย

             ธรรมะเป็นที่สบาย จึงหมายถึง ขบวนการอบรมถ่ายทอดธรรมะจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีก บุคคลหนึ่ง จนกระทั่งธรรมะเข้าไปอยู่ในใจ และเห็นเป็นดวงธรรมที่ลอยเด่นที่ศูนย์กลางกายนั่นเอง จะต้องมีขั้นตอนต่างๆ ดังนี้

             ขั้นตอนที่ ๑ มีผู้รู้และปฏิบัติธรรมได้อย่างดีเป็นต้นแบบต้นบุญ

             ขั้นตอนที่ ๒ บุคคลนั้นนำธรรมะไปถ่ายทอดให้คนอื่น

             ขั้นตอนที่ ๓ มีบุคคลมารับรู้ รับฟังธรรมะนั้น

             ขั้นตอนที่ ๔ บุคคลนั้นนำธรรมะไปไตร่ตรอง แล้วนำไปปฏิบัติ

             ขั้นตอนที่ ๕ บุคคลปฏิบัติได้ผล ก็พร้อมที่จะเป็นต้นแบบต่อไป

             ถ้าผิดพลาดขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ธรรมะก็ไม่เป็นที่สบาย ตกลงเวลาหาธรรมะจริง ๆ ไม่ใช่ไปหาที่วัด กลับต้องไปหาที่ตัวบุคคล ที่สามารถประพฤติปฏิบัติธรรมได้ ต้องมองกันตรงนี้


ธรรมเป็นที่สบายกับการเผยแผ

             มีคำอยู่คำหนึ่งที่คู่กับธรรมะเป็นที่สบายคือ คำว่า "การเผยแผ่"

             การเผยแผ่ คือ การนำธรรมะที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงค้นพบ แล้วตัวเองปฏิบัติได้ผล มาถ่ายทอดเข้าสู่ตัวบุคคล จนกระทั่งธรรมะเข้าไปอยู่ในใจของชาวโลก กลายเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีในบ้านในเมืองเขาไป มีการถ่ายทอดธรรมะจากคนหนึ่งไปสู่คนหนึ่ง หรือจากชั่วคนหนึ่งไปอีกชั่วคนหนึ่ง

             การที่ปัจจุบันนี้ มีหลวงพ่อ หลวงปู่ หลวงตา มากมายเป็นเนื้อนาบุญให้เรากราบไหว้ มีสถาปัตยกรรมทางพุทธศาสนามากมาย มีวัดวาอารามถึง ๓๐,๐๐๐ วัดทั่วประเทศ แสดงว่า การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศไทยเราดีมาเป็นพันๆ ปี


เหตุที่ธรรมะไม่เป็นที่สบาย

             มีคำถามว่า ถ้าพระพุทธศาสนาเผยแผ่ดีจริง ทำไมเดี๋ยวนี้พระภิกษุ สามเณรบวชลดลง และยังมีวัดร้างทั่วประเทศไทยถึง ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ วัด และ เมื่อไม่นานนี้ถึงกับมีข่าวคนฆ่าพระภิกษุ ทั้งที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ แต่ไม่เห็นชาวพุทธจะเดือดร้อนอะไรสักเท่าไร

             ก็ฟ้องว่า เมื่อก่อนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดีจริง แต่ตอนนี้ชักดีไม่จริงอย่างเมื่อก่อนเสียแล้ว ทำไมถึงดีไม่จริง แล้วจะแก้ไขอย่างไร

             หลวงพ่อจะขอเล่าเรื่องการเผยแผ่ของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เราฟัง พระองค์ตรัส เกี่ยวกับธรรมะเป็นที่สบาย หรือขั้นตอนในการเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้น มีอะไร อย่างไร ลองฟังดู

             เรื่องนี้อยู่ในธัมมัญญูสูตร ๗ ประการ คือ รู้จักเหตุ รู้จักผล รู้จักตน รู้จักประมาณ รู้จักกาล รู้จักชุมชน รู้จักบุคคล เราท่องกันได้ แต่ไม่ได้เอามาใช้งาน

             วันนี้ หลวงพ่อจะนำเอาข้อสุดท้าย คือ รู้จักบุคคลมาใช้งาน เพื่อให้มาวัดตัวเองว่า เราเป็นคนประเภทไหน มีธรรมะประจำตัวแค่ไหน อยู่ในระดับอะไร

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า เวลาจะดูบุคคลว่า ตอนนี้เป็นชาวพุทธจริงหรือไม่จริง หรือถ้าจริง จะจริงแค่ไหน ให้ลองดูว่า คนๆ นั้น

             ๑. อยากเห็นพระอริยะหรือไม่อยากเห็นพระอริยะ คนที่ไม่อยากเห็นพระ ท่านตั้งใจปฏิบัติธรรมก็เรื่องของท่าน ไม่เห็นเกี่ยวกับเรา อย่างนี้สอบตก ถ้าอยากเห็นพระก็สอบผ่าน มาดูข้อต่อไป

             ๒. อยากเห็นพระแล้ว อยากฟังเทศน์หรือ ไม่อยากฟัง ถ้าไม่อยากฟัง แต่จะมาขอหวย ขอน้ำมนต์ อย่างนี้ก็สอบตกไป พวกที่สอบได้ คืออยากฟังเทศน์

             ๓. พวกที่อยากฟังเทศน์แล้ว ตั้งใจฟังหรือ ไม่ตั้งใจฟัง ถ้าไม่ตั้งใจฟัง ก็สอบตกแล้ว ถ้าตั้งใจฟังก็สอบผ่านมาเจอข้อสอบต่อไป

             ๔. ตั้งใจฟังแล้ว ตั้งใจจำหรือไม่ตั้งใจจำ ถ้าใครตั้งใจฟัง แต่ไม่ตั้งใจจำ ก็หลุดไปอีกแล้ว ถ้าตั้งใจฟังด้วย แล้วก็มาตั้งใจจำด้วยก็สอบผ่าน มาดู ข้อสอบต่อไป

             ๕. ตั้งใจจำแล้ว ตั้งใจนำไปพินิจพิจารณาหรือไม่นำไปพินิจพิจารณา ใครที่นำไปพินิจพิจารณาก็สอบผ่าน พวกไม่นำไปพินิจพิจารณาก็สอบตก

             ๖. พิจารณาแล้ว นำมาปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติ บางคนตรองแล้ว แต่ตรองไว้โม้ ตรองไว้จับผิดคนอื่น หรือว่าตรองเพื่อปฏิบัติจนเห็นผลไปตามลำดับๆ อย่างนี้สอบผ่าน

             ๗. ปฏิบัติแล้ว ชักชวนคนอื่นปฏิบัติหรือ ไม่ชักชวน พูดง่ายๆ เป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเองแล้ว จะเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นด้วยไหม

             คนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องการเป็นผู้ที่ สอบผ่านมาถึงข้อสุดท้ายนี้ คือเป็นกัลยาณมิตรได้ทั้งตัวเองและผู้อื่น คือลูกพระพุทธเจ้าตัวจริง

             เมื่อเห็นการไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับ ๆ อย่างนี้ เราคงได้คำตอบว่า ทำไมเมื่อได้ข่าวพระภิกษุสามเณรโดนฆ่าตาย หรือวัดถูกเผามาตั้งหลายวัด ก็ยังมีคนเฉยเมย ไม่เห็นว่าอะไร ก็ฟ้องว่าตั้งแต่ ข้อต้นเลย แม้แต่พระภิกษุที่ประพฤติดีปฏิบัติชอบ ฉันก็ไม่อยากเจอ แล้วจะเอาธรรมะที่ไหนเข้าไปอยู่ในใจ นี่คือกลุ่มคนที่มีมากที่สุด และเป็นปัญหาอยู่ทุกวันนี้

             หย่อนมาอีกนิดหนึ่ง คือ กลุ่มคนที่อยากเห็นพระเหมือนกัน แต่ไม่ได้ไปเอาธรรมะ แต่จะไปเอาของขลัง เพราะฉะนั้นที่บอกว่าเมืองไทยเป็น ชาวพุทธ ขณะนี้คงเป็นพุทธในทะเบียน นี่คืออันตรายที่จ่อคออยู่ในประเทศไทย


จะช่วยให้ธรรมเป็นที่สบายได้อย่างไร

             แล้วจะแก้ไขอย่างไร เราก็ต้องหาบุคคลมาเป็นต้นแบบประเภทที่ทั้งตั้งใจฟัง ตั้งใจจำ ตั้งใจ ไปตรอง แล้วก็ปฏิบัติ อย่างน้อยต้องได้คนพวกนี้มาสืบทอดพระพุทธศาสนา ถึงจะถ่ายทอดไม่เป็น ก็ไม่เป็นไร ถ้าได้ในระดับนี้ บรรยากาศที่อบอุ่น ที่ชุ่มชื่นในบ้านเมืองก็จะเกิดขึ้นมา ประชาชนคนไทย ยังมองหน้ากันด้วยความปรารถนาดี ถ้าอย่างนั้นธรรมะเริ่มเป็นที่สบายแล้ว

             แต่ถ้าจะให้ได้ดี คนส่วนมากในประเทศไทย มีความจำเป็นว่า ต้องทั้งทุ่มเทปฏิบัติธรรม ทั้งชักชวนคนอื่นปฏิบัติธรรมด้วย คือต่างเป็นกัลยาณมิตรซึ่งกันและกันให้ได้ ถ้าอย่างนั้นพระพุทธศาสนาในบ้านเมืองไทยของเราก็ยังจะอยู่ต่อไปได้

             เพราะฉะนั้น ใครที่ไม่เคยชวน แม้คนในครอบครัวตัวเองมาวัดก็ตาม ไม่เคยทำหน้าที่กัลยาณมิตร ก็ต้องถือว่ายังเป็นผู้ที่ไม่รับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนา เป็นประเภทดูดาย และเป็นต้นเหตุแห่งความไม่มั่นคง เป็นต้นเหตุให้ธรรมะไม่เป็นที่สบาย

             มองภาพตรงนี้ให้ชัด แล้วไปถามตัวเองว่า ตอนนี้เราอยู่ ณ จุดไหน จะช่วยกันแก้ไขอย่างไร เราคงรู้ตัวเองแล้ว ไปดูใจตัวเอง อย่าให้ใครเขามาดูใจเราเลย

             สุดท้ายนี้ ให้ลูกหลวงพ่อทุกรูปทุกคน สามารถพึ่งพระรัตนตรัยให้เป็นสุข และให้สามารถเป็นที่พึ่งของพระพุทธศาสนาได้เต็มที่ ได้บารมีท่วมท้นทุกรูปทุกคนจงทุกประการเทอญ

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๑ ประจำเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล