วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ มงคล ที่ 15 บำเพ็ญทาน

 

มงคลที่ ๑๕  บำเพ็ญทาน

มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 

ต้นไม้ที่ให้ผลและร่มเงา 

นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นไม้มีประโยชน์แล้ว 

ย่อมได้รับการดูแลใส่ปุ๋ยพรวนดินยิ่งๆ ขึ้นไปอีกฉันใด

ผู้ที่รู้จักให้ทาน นอกจากจะได้ชื่อว่าเป็นคนมีประโยชน์แล้ว ย่อมได้รับการยกย่องสรรเสริญ

ช่วยเหลือสนับสนุน จากคนทั้งหลายอีกฉันนั้น

 

ทาน คือ อะไร ?

            ทาน แปลว่า การให้  หมายถึง การสละสิ่งของของตน เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ

            การให้ทาน เป็นพื้นฐานความดีของมนุษยชาติ และเป็นสิ่งที่ขาดเสีย มิได้ในการจรรโลงสันติสุข

            พ่อแม่  ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่เลี้ยงเรามา เราเองก็ตายเสียตั้งแต่เกิดแล้ว

            สามีภรรยา  หาทรัพย์มาได้ไม่ปันกันใช้ ก็บ้านแตก

            ครูอาจารย์ ถ้าไม่ให้ทาน คือไม่ถ่ายทอดวิชาความรู้แก่เรา  เราก็โง่ดักดาน

            คนเรา  ถ้าโกรธแล้วไม่ให้อภัยทานกัน โลกนี้ก็เป็นกลียุค

            ชีวิตของคนเราจึงดำรงอยู่ได้ด้วยทาน  เราโตมาได้ก็เพราะทาน  เรามีความรู้ในด้านต่างๆ ก็เพราะทาน  โลกนี้จะมีสันติสุขได้ก็เพราะทาน  การให้ทานจึงเป็นสิ่งจำเป็น และมีคุณประโยชน์อย่างใหญ่หลวงต่อมนุษยชาติ

 

ประเภทของทาน

            ๑.        อามิสทาน คือการให้วัตถุสิ่งของเป็นทาน

            ๒.        ธรรมทานหรือวิทยาทาน คือการให้ความรู้เป็นทาน ถ้าเป็นความรู้ทางโลก เช่น ให้ศิลปวิทยาการต่างๆ เรียกว่า วิทยาทาน หากเป็นความรู้ทางธรรม เช่น สอนให้ละชั่ว ประพฤติดี ทำใจให้ผ่องใส เรียกว่า ธรรมทาน

            ๓.        อภัยทาน คือการสละอารมณ์โกรธเป็นทาน ให้อภัย ไม่จองเวร สละอารมณ์โกรธพยาบาทให้ขาดออกจากใจ

            การให้ธรรมะเป็นทาน ถือว่าเป็นการให้ทานที่ได้บุญสูงสุด มีคุณค่า กว่าการให้ทานทั้งปวง เพราะทำให้ผู้รับมีปัญญารู้เท่าทันโลก เท่าทันกิเลส สามารถนำไปใช้ได้ไม่รู้จักจบสิ้น  ทั้งชาตินี้และชาติต่อๆ ไป  ส่วนทานชนิดอื่นๆ ผู้รับได้รับแล้วไม่ช้าก็หมดสิ้นไป

 

“สพฺพทานํ ธมฺมทานํ ชินาติ

การให้ธรรมทาน ชนะการให้ทั้งปวง”

ขุ. ธ. ๒๕/๓๔/๖๓
 

มงคล ที่ 15 บำเพ็ญทาน มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า


จุดมุ่งหมายของการให้ทาน

            ๑.        ให้เพื่อทำคุณ เป็นการให้เพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจกัน ให้เพื่อให้ผู้รับนิยมชมชอบในตัวผู้ให้ ไม่ได้มุ่งเพื่อเป็นบุญ เช่น คนที่สมัครผู้แทนฯ ถึงเวลา หาเสียงทีก็เอากฐิน ผ้าป่า ไปทอด ๑๐ วัด ๒๐ วัด  ไปสร้างสะพาน  สร้างถนน เพื่อให้ชาวบ้านเห็นว่าตนเป็นคนใจบุญ จะได้ลงคะแนนเสียงให้ตน หรือบางคนรักพี่สาวเขา ก็เลยเอาขนมไปฝากน้องชาย การให้อย่างนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อผลประโยชน์  เพื่อให้ผู้รับรักตัวผู้ให้  การทำเช่นนี้ถ้าถามว่าได้บุญไหม  ก็เห็นจะต้องตอบว่า  ได้เหมือนกันแต่น้อยเหลือเกิน  ได้ไม่เต็มที่  การให้ที่จะได้บุญมากนั้น ต้องให้เพื่ออนุเคราะห์  และสูงขึ้นไปอีกคือให้เพื่อบูชาคุณ

            ๒.        ให้เพื่ออนุเคราะห์ เป็นการอุดหนุนเอื้อเฟื้อกัน ให้ด้วยความเมตตากรุณา เช่น พ่อแม่ให้อาหารแก่ลูก ครูอาจารย์ให้ความรู้แก่ศิษย์ ผู้มีทรัพย์บริจาคทรัพย์เพื่อเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่ยากจน เป็นต้น

            ๓.        ให้เพื่อบูชาคุณ เมื่อมีผู้ปรารถนาดีต่อเรา เมตตากรุณา ช่วยเหลือ         อุปการะเรา เช่น พ่อแม่ ครูอาจารย์ เราก็แสดงความเคารพนบนอบท่านด้วย  กาย วาจา ใจ  บูชาคุณท่านด้วยทรัพย์สินตามกำลัง ยามท่านเจ็บป่วยก็ช่วย พยาบาลรักษา ไม่ละทิ้งท่านทั้งในยามสุขและยามทุกข์ นอกจากนี้บุคคลที่ควรบูชาคุณ คือพระภิกษุสามเณรผู้ทรงคุณธรรม เป็นผู้ชี้ทางสันติสุขแก่โลก ให้รู้จักบาปบุญคุณโทษ เป็นธุระคอยสั่งสอนอบรมแนะนำประชาชนให้พ้นทุกข์ เราก็บูชาท่านด้วยปัจจัยสี่ เพื่อให้ท่านมีกำลังบำเพ็ญสมณธรรมและบำเพ็ญประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์ตามสมณวิสัยได้เต็มที่

 

ข้อเตือนใจ

            คนเราเมื่อตายไปแล้ว ทรัพย์สมบัติแม้แต่เข็มเล่มเดียวก็ไม่สามารถนำติดตัวไปได้ วิธีเดียวเท่านั้นที่จะนำทรัพย์ติดตัวไปได้ คือการนำทรัพย์นั้นไป         ทำทาน

            ทานเป็นประโยชน์แก่ผู้มีชรา (ความแก่) พยาธิ (ความเจ็บ) มรณะ (ความตาย) เผาผลาญอยู่  ถ้ารู้จักขนทรัพย์ออกด้วยทาน ทรัพย์นั้นย่อม   เป็นประโยชน์แก่เขาได้ ทรัพย์ที่บำเพ็ญทานแล้วชื่อว่าขนออกแล้ว ดูเถอะ เจ้าของเรือนที่ถูกไฟไหม้ ทรัพย์ใดที่ขนออกได้ก็เป็นประโยชน์แก่เขา ส่วน ทรัพย์ใดที่ขนออกไม่ได้ก็ต้องถูกไฟไหม้อยู่ในเรือนนั่นเอง

 

ทานที่ให้แล้วไม่ได้บุญ

            ๑.        ให้สุรายาเสพย์ติด  เช่น บุหรี่ เหล้า ฝิ่น กัญชา ยาบ้า ฯลฯ

            ๒.        ให้อาวุธ  เช่น เขากำลังทะเลาะกัน ยื่นปืน ยื่นมีดให้

            ๓.        ให้มหรสพ  เช่น พาไปดูหนังดูละคร ฟังดนตรี เพราะทำให้กามกำเริบ

            ๔.        ให้สัตว์เพศตรงข้าม  เช่น หาสุนัขตัวเมียไปให้ตัวผู้  หาสาวๆ ไป ให้เจ้านาย ฯลฯ

            ๕.        ให้ภาพลามก  รวมถึงหนังสือลามกและสิ่งยั่วยุกามารมณ์ทั้งหลาย

 

วิธีทำทานให้ได้บุญมาก

            การทำทานให้ได้บุญมาก ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ

            ๑.        วัตถุบริสุทธิ์ ของที่จะให้ทานต้องเป็นของที่ตนได้มาโดยสุจริตชอบธรรม  ไม่ได้คดโกงหรือเบียดเบียนใครมา

            ให้ทานด้วยน้ำพริกผักต้มที่ได้มาโดยบริสุทธิ์ ได้กุศลมากกว่าให้อาหารโต๊ะจีนราคาตั้งพันด้วยเงินทองที่ได้มาโดยไม่บริสุทธิ์

            ๒.        เจตนาบริสุทธิ์ คือมีเจตนาเพื่อกำจัดความตระหนี่ของตน ทำเพื่อเอาบุญ ไม่ใช่เอาหน้าเอาชื่อเสียง ไม่ใช่เอาความเด่นความดังความรัก จะต้องมีเจตนาบริสุทธิ์ทั้ง ๓ ขณะ คือ

            -           ก่อนให้ก็มีใจเลื่อมใสศรัทธาเป็นทุนเดิม  เต็มใจที่จะทำบุญนั้น

            -           ขณะให้ก็ตั้งใจให้  ให้ด้วยใจเบิกบาน

            -           หลังจากให้ก็มีใจแช่มชื่น  ไม่นึกเสียดายสิ่งที่ให้ไปแล้ว

            ๓.        บุคคลบริสุทธิ์ คือเลือกให้แก่ผู้รับที่เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ มีความสงบเรียบร้อย ตั้งใจประพฤติธรรม โดยทั่วไปแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนว่า พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก แต่ถึงกระนั้นก็ทรงสอนให้เลือก ถ้าจะนิมนต์พระภิกษุเฉพาะเจาะจง ก็ให้นิมนต์พระที่เคร่งครัดในสิกขาวินัยน่าเลื่อมใส ถ้าจะนิมนต์พระไม่เฉพาะเจาะจง ให้สมภารจัดให้ ก็ให้เลือกนิมนต์จากหมู่สงฆ์ที่ประพฤติสิกขาวินัยเคร่งครัด สำหรับผู้ให้ทานคือตัวเราเอง ก็ต้องมีศีลบริสุทธิ์  จึงจะได้บุญมาก จะเห็นว่าทุกครั้งที่เราจะถวายสังฆทาน พระท่านจะให้ศีลก่อน เพื่อว่าอย่างน้อยที่สุดในขณะนั้นเรายังมีศีล ๕ ครบ  จะได้เกิดบุญกุศลเต็มที่

 

ผลของทาน

            การให้ทานเป็นเรื่องของความชุ่มเย็น ผู้ที่ให้ทานอยู่เสมอย่อมมีใจผ่องใสเยือกเย็น หมู่ชนที่นิยมการให้ทานย่อมไม่มีความเดือดร้อนใจ เนื่องจากต่างคนต่างมีอัธยาศัยไมตรีถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน อนึ่ง  ผลบุญจากการให้ทานจะสะสมอยู่ในใจของเรา ทำให้มีอำนาจมีพลังสามารถดึงดูดทรัพย์ได้ ถ้าใครสั่งสมการให้และการเสียสละมามากจะมีพลังดูดทรัพย์มาก ถ้าใครมีใจตระหนี่มีความโลภมาก จะมีพลังดูดทรัพย์น้อย โบราณท่านจึงกล่าวไว้ว่าคนทำทานมามากจะทำให้รวย แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ยังทรงยกย่องทานไว้หลายลักษณะ ดังนี้

 

คนควรให้ในสิ่งที่ควรให้

ขุ. ชา. สตฺตก. ๒๗/๑๐๑๒/๒๑๗
 

การเลือกให้ทานพระสุคตสรรเสริญ

ขุ. ชา.อฏฐก. ๑๗/๑๑๘๔/๒๔๙
 

คนพาลเท่านั้นที่ไม่สรรเสริญการให้ทาน

ขุ. ธ. ๒๕/๒๓/๓๘
 

เมื่อมีจิตเลื่อมใสแล้วทักษิณาทานหาชื่อว่าเป็นของน้อยไม่

ขุ. วิ. ๒๖/๔๗/๘๒
 

บุญของผู้ให้ย่อมเจริญก้าวหน้า

ขุ. อุ. ๒๕/๑๖๘/๒๑๕
 

ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

สํ. ส. ๑๕/๘๔๕/๓๑๖
 

ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก

องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๓๕/๔๓
 

ผู้มีปัญญาให้ความสุขย่อมได้รับความสุข

องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๓๗/๔๕

 

ผู้ให้อาหารชื่อว่าให้กำลัง

ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ

ผู้ให้ยานพาหนะชื่อว่าให้ความสุข

ผู้ให้ประทีปโคมไฟชื่อว่าให้จักษุ

ผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ให้ธรรมทานชื่อว่าให้อมฤตธรรม

(กินททสูตร) สํ. ส. ๑๕/๑๓๘/๔๔

 

ผู้ให้ของที่พอใจ  ย่อมได้ของที่พอใจ

ผู้ให้ของที่เลิศ  ย่อมได้ของที่เลิศ

ผู้ให้ของที่ดี  ย่อมได้ของที่ดี

ผู้ให้ของที่ประเสริฐ  ย่อมเข้าถึงฐานะอันประเสริฐ

นระใดให้ของที่เลิศ  ให้ของที่ดี  และให้ของที่ประเสริฐ

นระนั้นจะเกิด ณ ที่ใดๆ ย่อมมีอายุยืน มียศ ณ ที่นั้นๆ

(มนาปทายีสูตร)          องฺ. ปญฺจก. ๒๒/๔๔/๕๖

 

อานิสงส์การบำเพ็ญทาน

            ๑.        เป็นที่มาของสมบัติทั้งหลาย

            ๒.        เป็นที่ตั้งแห่งโภคทรัพย์ทั้งปวง

            ๓.        ผู้ให้ย่อมได้รับความสุข

            ๔.        ผู้ให้ย่อมเป็นที่รักของคนหมู่มาก

            ๕.        ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้

            ๖.        ทำให้เป็นผู้มีเสน่ห์

            ๗.        ทำให้เป็นที่น่าคบหาของคนดี

            ๘.        ทำให้เข้าสังคมได้คล่องแคล่ว

            ๙.        ทำให้แกล้วกล้าอาจหาญในทุกชุมชน

            ๑๐.      ทำให้มีชื่อเสียงเกียรติคุณดี

            ๑๑.      แม้ตายแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์ ฯลฯ

 

 

หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

 โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย

มงคลชีวิต

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล