มงคล ที่ ๒๖ ฟังธรรมตามกาล
มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
กระจกเงาสามารถสะท้อนให้เห็นความสวยงาม
หรือขี้ริ้วของร่างกายเราได้ฉันใด
การฟังธรรมตามกาล
ก็สามารถสะท้อนให้เห็นถึงความดีงาม
หรือความบกพร่องในตัวเราได้ฉันนั้น
การฟังธรรมตามกาลหมายถึงอะไร ?
การฟังธรรมตามกาล คือการขวนขวายหาเวลาไปฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนจากผู้มีธรรมะ เพื่อยกระดับจิตใจและสติปัญญาให้สูงขึ้น โดยเมื่อฟังธรรมแล้วก็น้อมเอาคุณธรรมเหล่านั้น มาเป็นกระจกสะท้อนดูตนเองว่า มีคุณธรรมนั้นหรือไม่ จะปรับปรุงคุณธรรมที่มีอยู่ให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปได้อย่างไร
เช่น เมื่อได้ฟังธรรมเรื่องความกตัญญูแล้ว ก็นำเรื่องนี้มาสำรวจดูใจของ ตนเองทันทีว่า เรามีความกตัญญูไหม ถ้ามี มีมากน้อยเพียงไร เมื่อฟังธรรมแล้วสำรวจดูจะรู้ทันทีว่า เราขาดอะไรไป จะปรับปรุงแก้ไขอย่างไรจึงจะดี
กาลที่ควรฟังธรรม
๑. วันธรรมสวนะ คือวันพระนั่นเอง เฉลี่ยประมาณ ๗ วัน/ครั้ง ทั้งนี้เพราะธรรมดาคนเราเมื่อได้ฟังเทศน์ฟังธรรม ฟังคำสั่งสอนตักเตือนจากพ่อแม่ ครูอาจารย์ ใหม่ๆ ก็ยังจำได้ดีอยู่ แต่พอผ่านไปสัก ๗ วัน ชักจะเลือนๆ ครู อาจารย์บอกให้ขยันเรียน ขยันไปได้ไม่กี่วันชักจะขี้เกียจอีกแล้ว เพราะฉะนั้น ๗ วัน ก็ไปให้ท่านกระหนาบ ย้ำเตือนคำสอนเสียครั้งหนึ่ง
๒. เมื่อจิตถูกวิตกครอบงำ คือเมื่อใดก็ตามที่มีความคิดไม่ดีเกิดขึ้นในใจของเรา ทำให้ใจขุ่นมัว เศร้าหมอง ฟุ้งซ่าน เมื่อนั้นให้รีบเร่งไปฟังธรรม จะเช้า จะสาย จะบ่าย จะเย็น วันโกน วันพระ หรือวันอะไรก็ตาม ไม่เกี่ยงทั้งนั้น ไม่ต้องรอ
ความคิดที่ทำให้ใจของเราเศร้าหมอง แบ่งได้เป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
๒.๑ เมื่อกามวิตกกำเริบ คือเมื่อใจของเราฟุ้งซ่านด้วยเรื่องเพศ เรื่อง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ห่วงหาอาลัยอาวรณ์ต่อสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ
๒.๒ เมื่อพยาบาทวิตกกำเริบ คือเมื่อใจของเราถูกความโกรธเข้าครอบงำ เกิดความรู้สึกอยากล้างผลาญทำลายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็น การคิดผลาญทรัพย์ ผลาญชีวิต หรือผลาญเกียรติยศศักดิ์ศรี ก็ตาม
๒.๓ เมื่อวิหิงสาวิตกกำเริบ คือเมื่อใดที่ใจของเราเกิดความคิดอยากจะเบียดเบียนผู้อื่น คิดจะเอาเปรียบ คิดจะกลั่นแกล้งรังแกเขา
เมื่อใดที่ความคิดทั้ง ๓ ประเภทนี้เกิดขึ้น ให้รีบไปฟังธรรม อย่ามัวชักช้า มิฉะนั้นอาจไปทำผิดพลาดเข้าได้
๓. เมื่อมีผู้รู้มาแสดงธรรม คือเมื่อมีผู้มีความรู้มีความสามารถและมีธรรมมาแสดงธรรมให้รีบไปฟัง เพราะบุคคลเช่นนี้หาได้ยากในโลก ต้องรอให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลกก่อน แล้วต้องตั้งใจศึกษาธรรมของพระองค์ให้เข้าใจแตกฉาน เท่านั้นยังไม่พอ จะต้องมีความสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้อีกด้วย ดังนั้นเมื่อมีโอกาสเช่นนี้เราต้องรีบไปฟังธรรมจากท่าน
คุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี
“อานนท์ การแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง ไม่ใช่ของง่ายเลย ผู้ที่จะแสดงธรรมให้คนอื่นฟัง จะต้องอยู่ในธรรมถึง ๕ ประการ”
นี่คือพุทธวจนะที่ตรัสแก่พระอานนท์ ถึงคุณสมบัติของผู้แสดงธรรมที่ดี ๕ ประการ คือ
๑. ต้องแสดงธรรมไปตามลำดับของเรื่อง ไม่วกวน ไม่กระโดดข้ามขั้นข้ามตอน แสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับ ซึ่งผู้ที่จะแสดงเช่นนี้ได้จะต้อง
๑.๑ มีความรู้จริง รู้เรื่องที่จะเทศน์จะสอนดีพอที่จะทราบว่าอะไรควรพูดก่อน อะไรควรพูดทีหลัง
๑.๒ มีวาทศิลป์ มีความสามารถในการพูด มีจิตวิทยาในการถ่ายทอด รู้สภาพจิตใจของผู้ฟังว่า ควรรู้อะไรก่อนอะไรหลัง
๑.๓ ต้องมีการเตรียมการ วางเค้าโครงเรื่องที่จะแสดงล่วงหน้า ทำอะไรมีแผน ไม่ดูเบา ไม่ใช่เทศน์ตามอำเภอใจ
ต้องมีองค์ประกอบ ๓ อย่างนี้ จึงจะแสดงธรรมลุ่มลึกไปตามลำดับได้
๒. ต้องแสดงธรรมอ้างเหตุอ้างผลให้ผู้ฟังเข้าใจได้ ผู้แสดงจะต้องเข้าใจเรื่องที่จะแสดงอย่างปรุโปร่ง ไม่ใช่ท่องจำเขามาพูด เวลาแสดงธรรมก็อ้างเหตุอ้างผล ยกตัวอย่างประกอบ แยกแยะให้เห็นอย่างชัดเจนแจ่มแจ้งได้ เมื่อผู้ฟังสงสัยซักถามจุดไหนประเด็นไหนก็ชี้แจงให้ฟังได้
๓. ต้องแสดงธรรมด้วยความหวังดีต่อผู้ฟังอย่างจริงใจ มีความเมตตากรุณาอยู่เต็มเปี่ยมในใจ ถ้าพูดไปแล้วผู้ฟังยังไม่เข้าใจ ยังตามไม่ทัน สติปัญญายังไม่พอ ก็ไม่เบื่อหน่าย ไม่ละทิ้งกลางคัน แม้จะพูดซ้ำหลายครั้งก็ยอม มีความหวังดีต้องการให้ผู้ฟังรู้ธรรมจริงๆ มุ่งทำประโยชน์แก่ผู้ฟังเต็มที่ ไม่ใช่พูดแบบขอไปที
๔. ต้องไม่แสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ คือไม่เห็นแก่ชื่อเสียงคำสรรเสริญเยินยอ ลาภสักการะ ไม่ว่าการแสดงธรรมนั้นจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ จะมีคนมาฟังมากน้อยเท่าไรก็ไม่ถือเป็นอารมณ์ แสดงธรรมอย่างเต็มที่ ไม่ใช่ว่างานของคนใหญ่คนโตก็แสดงอย่างเต็มที่ แต่งานของคนธรรมดาสามัญก็แสดงกะล่อมกะแล่มไม่เป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าผู้ใดแสดงธรรมเพราะเห็นแก่ลาภ ผู้นั้นก็เป็นเพียงลูกจ้างของคนฟัง กระแสเสียงที่แสดงก็มักจะเต็มไปด้วยการประจบประแจงเจ้าภาพซึ่งเป็นนายจ้าง ลงได้เอาอามิสมาเป็นเจ้าหัวใจแล้วละก็เป็นใช้ไม่ได้ทีเดียว
๕. ต้องไม่แสดงธรรมกระทบตนเองหรือผู้อื่น คือไม่ฉวยโอกาสยกตัวอย่างความดีของตัวเองเพื่อโอ้อวด หรือยกความผิดพลาดของคนอื่นเป็นตัวอย่างเพื่อประจานความผิดของเขา ไม่ใช่ถือว่ามีไมโครโฟนอยู่ในมือ ก็คุยอวดตัวทับถมคนอื่นเรื่อยไป ผู้พูดต้องมุ่งอธิบายธรรมะจริงๆ หากจะยกตัวอย่างเรื่องใดประกอบ เพื่อเป็นข้อสนับสนุนให้ผู้ฟังเข้าใจข้อธรรมะที่แสดง ก็ต้องระวังไม่ให้ผู้อื่นเสียหาย การฉวยโอกาสเวลาแสดงธรรมใส่ร้ายป้ายสีผู้อื่น เป็นการกระทำผิดหลักธรรมคำสอนของศาสนาพุทธ
เราจะเห็นได้ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงวางวิธีการเผยแผ่ศาสนาของพระองค์ไว้อย่างรอบคอบ แทนที่จะมุ่งแต่แผ่อิทธิพลศาสนาของพระองค์และทับถมโจมตีศาสนาอื่น กลับทรงวางคุณสมบัติควบคุมผู้ทำการสอนพระพุทธศาสนาไว้อย่างรัดกุม ซึ่งหาได้ยากในศาสนาอื่นๆ
คุณสมบัติของผู้ฟังธรรมที่ดี
๑. ไม่ลบหลู่คุณท่าน คือไม่ดูแคลนความรู้ความสามารถหรือคุณธรรมของผู้แสดงธรรม
“โธ่ พระเด็ก ๆ เรานี้ฟังหลวงปู่หลวงตาเทศน์มาตั้งเยอะแล้ว มาฟังพระเด็กๆ มันจะไปได้อะไร” อย่าคิดอย่างนั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเตือนถึงสิงต่อไปนี้ไว้ว่าอย่าดูแคลน
๑.๑ อย่าดูถูกกษัตริย์ว่ายังเยาว์ เพราะกษัตริย์บ่างพระองค์แม้อายุยังน้อยก็เป็นมหาราชได้ เช่น อเล็กซานเดอร์มหาราช เป็นมหาราชตั้งแต่อายุ ๒๐ ปีเศษ ปกครองถึงค่อนโลก
๑.๒ อย่าดูถูกงูพิษว่าตัวเล็ก เพราะกัดแล้วตายได้
๑.๓ อย่าดูถูกไฟว่าเล็กน้อย เพราะไม้ขีดก้านเดียวอาจเผาเมืองได้
๑.๔ อย่าดูถูกสมณะว่ายังหนุ่ม เพราะสมณะบางรูป แม้นอายุยังน้อยก็มีคุณธรรมสูง บางรูปอายุแค่ ๗ ขวบ ก็เป็นพระอรหันต์แล้ว
๒. ไม่คิดแข่งดี ไม่ยกตนข่มท่าน
“ถึงท่านจะเป็นพระ แต่เราก็จบปริญญาตรี โท เอก มาแล้ว รู้จักโลกมามากกว่าท่านเยอะ แถมอายุมากกว่าอีก” อย่าคิดอย่างนั้น
ถ้าเรามัวคิดว่าเราเก่ง เราดีกว่าผู้แสดงธรรม ก็จะพลาดโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่เป็นความรู้หรือแง่คิดดีๆ ที่ควรได้รับจากการฟังธรรม เหมือนพระอุรุเวลกัสสปะ ที่มัวคิดว่าตนเองเป็นพระอรหันต์ เหนือกว่าพระพุทธองค์ จึงไม่ได้ฟังธรรมจากพระองค์ จนสุดท้าย เมื่อพระพุทธองค์ตรัสเตือนให้เลิกหลงตัวเองว่าเป็นพระอรหันต์ จึงได้คิด และตั้งใจฟังธรรมจากพระองค์ด้วยความเคารพในที่สุดก็ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
๓. ไม่จับผิด ไม่มีจิตกระด้าง เพราะในการฟังธรรมนั้น ยิ่งมีใจเป็นสมาธิมากเท่าไรก็สามารถน้อมใจตามไป ทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะได้มากเท่านั้น แต่ถ้าเรามัวจับผิดผู้แสดงธรรมว่า เทศน์ตรงนี้ก็ไม่ถูก ตรงนี้ก็ไม่เหมือนกับที่เราเคยฟังมา ถ้าเป็นอย่างนี้ละก็ ใจเราจะไม่มีสมาธิในการฟังธรรมและจะไมสามารถน้อมใจตามไป จนเกิดความรู้ความเข้าใจได้เลย
๔. มีปัญญา คือฉลาด รู้จักพิจารณาไตร่ตรองตามธรรมที่ได้ยินได้ฟังนั้นอย่างแยบคาย ทำให้มรความแตกฉาน เข้าใจธรรมได้รวดเร็วและลึกซึ่ง ส่วนผู้ที่ทำความเข้าใจได้ช้า ก็อย่าดูแคลนตัวเองว่าโง่ จนไม่สามารถรองรับธรรมได้เพราะอย่างน้อยที่สุด แม้จะฟังธรรมยังไม่เข้าใจในขณะนี้ ก็จะเป็นอุปนิสัยติดตัวไปในภายหน้า เมื่อได้ฟังซ้ำอีกก็จะเข้าใจได้ง่าย
๕ ไม่ถือตัวว่าเข้าใจในสิ่งที่ยังไม่เข้าใจ
“โธ่ เรื่องง่ายๆ แค่นี้ เข้าใจแล้วน่ะ ไมต้องอภิบายให้ฟังอีกก็ได้” อย่าคิดอย่างนั้น
การฟังธรรมนั้นมีคุณประโยชน์มาก แม้เป็นสิ่งที่รู้แล้วเข้าใจแล้ว เมื่อฟังซ้ำอีกย่อมได้ความแตกฉานในธรรมมากยิ่งขึ้น เหมือนพระมหากัปปินะฟังธรรมจากพระพุทธองค์ครั้งแรก ก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน และเมื่อได้ฟังพระองค์แสดงธรรมเรื่องเดิมซ้ำอีก ก็บรรลุธรรมที่ละเอียดลึกซึ่งยิ่งขึ้น เป็นพระอรหันต์
อุปนิสัยจากการฟังธรรม
อุปนิสัย หมายถึง ความประพฤติ ความเคยชินที่ติดตัวเรามา และจะติดตัวเราไปเป็นพื้นใจในภายหน้า
การฟังธรรม จะทำให้เกิดความดีที่เป็นทุนหรือเป็นพื้นอยู่ในใจเรา แล้วเป็นเครื่องอุดหนุนให้เรามีความเจริญรุ่งเรือง และเข้าถึงธรรมได้โดยง่าย ดังที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสสอนว่า ผู้ที่หมั่นฟังธรรม แล้วพยายามศึกษาทำความเข้าใจ ถึงไม่เข้าใจก็พยายามจำ จะได้รับอานิสงส์ ๔ ประการ คือ
๑. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก มีปัญญารู้ธรรมได้เร็วสามารถ ระลึกได้ด้วยตนเอง และปฏิบัติตามธรรมนั้น บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว
๒. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก แม้มีภิกษุผู้มีฤธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม ก็จะระลึกถึงธรรมได้ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว
๓. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์ขึ้นไปแสดงธรรม แต่เมื่อได้ฟังเทพบุตรแสดงธรรมให้ ก็จะระลึกถึงธรรมได้ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว
๔. เมื่อละจากโลกนี้ไป ย่อมเกิดในเทวโลก แม้ไม่มีภิกษุผู้มีฤทธิ์หรือเทพบุตรมาแสดงธรรม แต่เมื่อได้ยิ่นคำตักเตือนจากเพื่อนเทพบุตรด้วยกัน ก็สามารถระลึกธรรมได้ และบรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว
พวกเราที่สวดมนต์ทำวัตรเช้าเย็นกันบ่อยๆ แม้ยังไม่เข้าใจความหมาย ของคำบาลี แต่ก็ไม่เสียเวลาเปล่า เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดความสงบทางใจ และเกิดความคุ้นเคยในสำเนียงภาษาธรรมะ ภพเบื้องหน้าได้ยินใครสวดมนต์ ก็อยากเข้าใกล้ ได้ยินใครพูดธรรมะก็อยากเข้าใกล้ ทำให้มีโอกาสได้ฟังธรรม ฟังแล้วก็เข้าใจได้ง่าย เพราะมีอุปนิสัยพื้นใจมาแต่เดิมแล้ว ทำให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้เร็ว
อานิสงส์การฟังธรรมตามกาล
๑. เป็นการเพิ่มพูนความรู้ใหม่ เพราะผู้แสดงธรรมย่อมจะศึกษา ค้นคว้าขบคิด นำข้อธรรมะต่างๆ มาแสดง ทำให้เราได้ยินได้ฟังธรรมะที่ไม่เคย ได้ยินได้ฟังมาก่อน
๒. เป็นการทบทวนความรู้เดิม คือถ้าหัวข้อธรรมที่ผู้แสดงนำมาแสดงนั้น ตรงกับสิ่งที่เราเคยศึกษามาแล้ว ก็จะทำให้เราได้ทบทวนความรู้เดิม ให้เกิดความเข้าใจแตกฉาน สามารถจดจำได้แม่นยำยิ่งขึ้น
๓. เป็นการปลดเปลื้องความสงสัยเสียได้ คือถ้าผู้ฟังยังมีความลังเลสงสัยในการละความชั่วบางอย่าง หรือการทำความดีบางอย่าง เมื่อได้ฟังธรรมะเพิ่มเติมแล้ว จะทำให้ความลังเลสงสัยนั้นหมดไป ตัดสินใจละความชั่วทำความดีง่ายขึ้น
๔. เป็นการปรับความเห็นให้ตรง คือในระหว่างการดำเนินชีวิตสู่จุดหมายของคนเรานั้น เราจะถูกมาร คือกิเลสและสิ่งแวดล้อมไม่ดีต่างๆ ทำให้ มีความเห็นผิดๆ เกิดขึ้นได้ แล้วทำให้การดำเนินชีวิตวกวนเฉไฉผิดเป้าหมายไป การฟังธรรมจะช่วยให้เราเกิดความสำนึกตัวว่า ความคิดเห็นของเราได้บิดเบือนไปอย่างไร แล้วจะได้เลิกความเห็นที่ผิดเสีย ประคองความเห็นที่ถูกไว้
๕. เป็นการฝึกอบรมจิตใจให้สูงขึ้น การฟังธรรม จะเป็นเครื่องเตือนสติเรา ทำให้ใจของเราเลิกละจากความคิดฟุ้งซ่านในเรื่องกาม ความคิดพยาบาทอาฆาต ความคิดเบียดเบียนผู้อื่น และสอดส่องชี้ให้เราเห็นถึงจุดอ่อนข้อบกพร่องในตัว ซึ่งจะต้องปรับปรุงแก้ไข ยกระดับจิตใจของเราให้สูงขึ้นๆ จนกระทั่งสามารถขจัดข้อบกพร่องได้เด็ดขาด บรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
“ดูก่อน ท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสารทั้งหลาย สมัยใด พระอริย-สาวกฟังธรรม ฟังให้จรดกระดูก ฝังไว้ในใจ รวบรวมกำลังใจทั้งหมดมา เงี่ยหูลงมาฟังจริงๆ ในสมัยนั้น นิวรณ์ ๕ ของเธอย่อมไม่มี และโพชฌงค์ ๗ ก็จะถึงซึ่งความสมบูรณ์เต็มเปี่ยม เพราะอำนาจแห่งภาวนา”
สํ. ม. ๑๙/๔๙๒/๑๓๔
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย