มงคล ที่ ๓๕ จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม
มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
ภูเขาศิลาล้วนย่อมตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
เพราะแรงลมฉันใด
ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว
ก็ย่อมมีจิตตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้งหลายฉันนั้น
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม คือ อะไร ?
จิตหวั่น คือความหวั่นหวาดกังวล กลัวว่าจะประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ
จิตไหว คือความปรารถนาอยากได้สิ่งที่รักที่ชอบใจ
โลกธรรม คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นประจำโลก ใครๆ ก็ต้องพบ หลีก เลี่ยงไม่ได้ แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงประสบ มีอยู่ ๘ ประการ แบ่งเป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
ก. ฝ่ายที่คนทั่วไปปรารถนาอยากได้ คือ
๑. ได้ลาภ คือการได้ผลประโยชน์ เช่น ได้ทรัพย์ ได้บุตร-ภรรยา ได้บ้าน ได้ที่ดิน ได้เพชรนิลจินดาต่างๆ เป็นต้น
๒. ได้ยศ คือการได้รับตำแหน่ง ได้รับฐานะ ได้อำนาจเป็นใหญ่เป็นโต
๓. ได้สรรเสริญ คือการได้ยินได้ฟังคำชมเชย คำยกยอ คำสดุดีที่ คนอื่นให้เรา
๔. ได้สุข คือได้รับความสบายกายสบายใจ ได้ความเบิกบานร่าเริง ได้ความบันเทิงใจ ทั้ง ๔ อย่างนี้ เป็นเรื่องที่คนทั่วไปชอบ ยังไม่ได้ก็คิดหา ครั้นหาได้แล้วก็คิดหวง หวงมากๆ เข้าก็หึง การที่จิตมีอาการหา-หวง-ห่วง-หึง นี่แหละ เรียกว่า จิตไหว
ข. ฝ่ายที่คนทั่วไปกลัวว่าจะเกิดขึ้นกับตน คือ
๑. เสื่อมลาภ คือผลประโยชน์ที่ได้มาแล้วเสียไป เช่น เสียเงิน เสีย ที่อยู่ ลูกรักตายเสีย เมียรักตายจาก
๒. เสื่อมยศ คือถูกลดความเป็นใหญ่ ถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกถอดอำนาจ
๓. ถูกนินทา คือถูกตำหนิติเตียน ถูกด่าว่าในที่ต่อหน้าหรือลับหลัง
๔. ตกทุกข์ คือได้รับความทุกข์ทรมานทางกายหรือทางใจ
ทั้ง ๔ ประการนี้ เป็นเรื่องที่คนเราไม่ชอบ ไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น กับตัว เมื่อยังมาไม่ถึง จิตก็หวั่นว่ามันจะมา เมื่อมันมาแล้วก็ภาวนาว่าเมื่อไหร่จะไปเสียที ไปแล้วก็ยังหวั่นกลัวว่ามันจะกลับมาอีก
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมหมายถึงอะไร ?
จิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรม หมายถึง สภาพจิตของผู้ที่ทำพระ-นิพพานให้แจ้งแล้ว มีใจตั้งมั่นเกิดความมั่นคงหนักแน่นดุจขุนเขา เป็นอุเบกขาวางเฉยได้
เมื่อพบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ตกทุกข์ จิตก็ไม่หวั่น
เมื่อพบกับความได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ เป็นสุข จิตก็ไม่ไหว
เพราะรู้เท่าทันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นมันไม่เที่ยง ไม่จีรังยั่งยืนอะไร ลาภ มีได้ก็เสื่อมได้ ยศตำแหน่งใหญ่โตก็ไม่ใช่ของเราตลอดไป สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ ทุกคนต้องพบทั้งนั้น และในที่สุดก็ต้องเสื่อมหายไปเป็นธรรมดาตามกฎของไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์
ไตรลักษณ์ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สามัญลักษณะ คือลักษณะประจำของทุกสรรพสิ่งในโลก
ของต่างๆ ในโลกก็มีคุณสมบัติต่างกันไป เช่น ทองก็มีสีออกเหลืองๆ สะท้อนแสงมีประกายแวววาว กระจกก็ใส เพชรก็แข็ง คนเราก็มีชีวิตจิตใจรู้จักคิด แต่ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่ก็ตาม จะมีลักษณะ ๓ ประการ ที่เหมือนกันหมดคือ
๑. อนิจจัง ความไม่เที่ยง ไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เช่น บ้านเรือนก็ต้องเก่าคร่ำคร่าทรุดโทรมไป คนเราวันนี้กับเมื่อวานก็ไม่เหมือนกัน มันเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดา
๒. ทุกขัง ความเป็นทุกข์ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเป็นทุกข์ร้องไห้น้ำตาตก แต่หมายถึงการคงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ ต้องแตกดับเพราะเมื่อมันไม่เที่ยงเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้ว มันก็ต้องแตกดับ เช่น บ้านก็ต้องพัง คนเราก็ ต้องตาย แม้โลกที่เราอยู่นี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ และวันหนึ่งก็ต้องทำลายลง
๓. อนัตตา ความเป็นของไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง ไม่อยู่ในอำนาจ บังคับบัญชาไม่ได้ เช่น ตัวเราจะบังคับไม่ให้แก่ก็ไม่ได้ บังคับไม่ให้ป่วยไข้ก็ไม่ได้ บ้านบังคับไม่ให้เก่าก็ไม่ได้ แต่ตัวของเราถ้ามาแยกธาตุกันจริงๆ แล้วก็จะพบว่าประกอบขึ้นด้วยเลือด เนื้อ กระดูก ฯลฯ เท่านั้น หาตัวตนจริงๆ ไม่เจอ เป็นเพียงการประชุมแห่งธาตุประกอบกันขึ้นมาชั่วคราว พอตายธาตุต่างๆ ก็แยกสลายจากกัน ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง
คนทั้งโลกมองไม่เห็นไตรลักษณ์ จึงลุ่มหลงมัวเมายินดียินร้ายหวั่นไหวในโลกธรรม ต้องตกอยู่ในห้วงทุกข์ตลอดมา
ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ท่านเห็นนิพพาน ซึ่ง อยู่พ้นกฎของไตรลักษณ์ เที่ยงแท้แน่นอน ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พ้นการเวียนว่ายตายเกิด มีความสุขอย่างยิ่ง เป็นบรมสุขที่ไม่กลับทุกข์อีก จึงไม่ใยดีในโลกธรรม ไม่ขุ่นมัว ไม่หลงใหล ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ซึ่งเป็นของไม่เที่ยงอยู่ในกฎของไตรลักษณ์
ท่านจะได้ลาภ ได้ยศ มีคนสรรเสริญยกย่อง หรือเป็นสุข ท่านก็เฉยๆ จิตไม่ไหว
ท่านจะเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาว่าร้าย หรือตกทุกข์ ท่านก็เฉยๆ จิตไม่หวั่น
คนทั่วไปเวลาป่วยไข้ มักเกิดความทุกข์ทั้งกายทั้งใจ แต่ผู้ที่ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว ใจจรดอยู่ในพระนิพพาน จะเกิดความทุกข์อะไรอันเนื่องมาจากสังขารนี้ก็ตาม ทุกข์นั้นจะหยุดอยู่แค่กาย กินเข้าไปไม่ถึงใจท่าน ท่าน มีจิตที่มั่นคงตลอด
ข้อเตือนใจ
โบราณท่านสอนว่า อยากจะรู้ว่าใครถึงคราวตกทุกข์ได้ยากแล้วจะพิลาปรำพันโอดครวญแค่ไหน ให้ดูอย่างนี้
ถ้าคนนั้นเวลาดีใจ ได้ของถูกใจ ก็หัวเราะฮ่าๆ ก็รู้เลยว่า เมื่อถึงคราวเสียใจ เสื่อมลาภ เขาก็จะร้องไห้โฮๆ เป็นช้างร้องเชียว
ตรงกันข้าม ถ้าเวลาดีใจเขาก็แค่ยิ้มๆ ก็รู้เลยว่าถึงตอนเสียใจ อย่างมากก็คงจะแค่กัดฟัน หรือนิ่งไปซักพักแล้วก็หาย นี่เป็นอย่างนี้
ท่านจึงให้ข้อเตือนใจไว้ว่า “ถ้าดีใจก็จงยิ้มเพียงมุมปากเดียว เมื่อถึงคราวเสียใจจะได้ไม่ถึงกับร้องไห้”
และยังให้กำลังใจสำหรับผู้ตกอยู่ในความทุกข์อีกว่า
“ยิ่งมืดเท่าไร แสดงว่ายิ่งดึก
ยิ่งดึกเท่าไร ก็แสดงว่ายิ่งใกล้สว่าง”
เพราะฉะนั้นจะเจอความทุกข์ขนาดไหน ความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทาปานใด สู้ทนทำความดีไปเถิด ยิ่งเจอหนักมากขึ้นแสดงว่ามันใกล้จะพ้นแล้วละ เหมือนยิ่งดึกก็ยิ่งใกล้สว่าง
นอกจากนี้เราทุกคนจะต้องตั้งใจฝึกสมาธิภาวนากัน จนใจหยุดใจนิ่งตั้งมั่นเป็นสมธิ เกิดปัญญาสว่างไสว เห็นอริยสัจจ์ ๔ และทำนิพพานให้แจ้งให้ได้ จึงจะมีจิตไม่หวั่นไหวในโลกธรรมอย่างแท้จริง
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย