มงคล ที่ ๓๗ จิตปราศจากธุลี
มงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
บัวย่อมมีใบ
อันหยาดน้ำไม่อาจเกาะติดได้ฉันใด
ผู้ทำพระนิพพานให้แจ้งแล้ว
ก็ย่อมมีจิต
อันธุลีกิเลสไม่อาจเกาะติดได้ฉันนั้น
จิตปราศจากธุลี คือ อะไร ?
ธุลี แปลว่า ฝุ่นละอองที่ละเอียดมาก ในที่นี้หมายถึงกิเลสอย่างละเอียดที่เกาะ ซึม แทรก หุ้มใจของเราอย่างซ่อนเร้นบางๆ ทำให้ความผุดผ่อง ความใสสะอาดเสียไป ถ้าไม่สังเกตจะไม่เห็นไม่รู้
จิตปราศจากธุลี หมายถึง จิตที่หมดกิเลสแล้วทั้งหยาบทั้งละเอียด อย่างถอนรากถอนโคน ไม่มีทางฟื้นกลับเข้ามาในใจได้อีก ทำให้จิตสะอาดผ่องใส นุ่มนวลควรแก่การงาน ได้แก่จิตของพระอรหันต์
ประเภทของกิเลส
กิเลสในใจคนมีอยู่ ๓ ตระกูลใหญ่ คือตระกูลราคะ โทสะ โมหะ กิเลสแต่ละตระกูลก็มีหลายระดับ ตั้งแต่ที่หยาบมากๆ เห็นได้ชัดเจนเหมือนขยะมูลฝอย และเล็กลงเหมือนฝุ่นผง จนถึงที่ละเอียดมากๆ เหมือนธุลี บางคนเจอแล้วก็ยังไม่รู้ว่าเป็นกิเลส มองไม่ออก ดังนี้
๑. ตระกูลราคะหรือโลภะ คือความกำหนัดยินดี รัก อยากได้ ในคน สัตว์ สิ่งของ หรืออารมณ์ที่น่าใคร่ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ดังนี้
๑.๑ อภิชฌาวิสมโลภะ ความโลภอย่างแรงจนกระทั่งแสดงออกมา เช่น ปล้นจี้ ลักขโมย
๑.๒ อภิชฌา ความเพ่งเล็งทรัพย์ของผู้อื่น จ้องๆ จะเอาของเขาละ แต่ยังสงวนท่าที ไม่แสดงออก
๑.๓ โลภะ ความอยากได้ ความโลภ
๑.๔ กามราคะ ความพอใจในกาม รักเพศตรงข้าม ยังมีความรู้สึก ทางเพศ หรือยังยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์
๑.๕ รูปราคะ ความยินดีในอารมณ์ของรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึกสมาธิจนได้รูปฌานแล้ว
๑.๖ อรูปราคะ ความติดใจยินดีในอารมณ์ของอรูปฌาน เป็นเรื่องของผู้ฝึก สมาธิจนได้อรูปฌานแล้ว
ข้อ ๑.๔-๑.๖ นี้แหละที่จัดเป็นกิเลสละเอียด ที่เรียกว่า ธุลีในตระกูลราคะ
๒. ตระกูลโทสะ คือความไม่ชอบใจ ความคิดร้าย คิดทำลายผู้ที่ทำให้ตนโกรธ มีตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ดังนี้
๒.๑ พยาบาท ความผูกอาฆาต จองเวร อยากแก้แค้น ไม่ยอมอภัย บางทีข้ามภพข้ามชาติก็ยังไม่ยอม เช่น พระเทวทัตผูกพยาบาทพระสัมมาสัม-พุทธเจ้าตั้งแต่ภพในอดีตมา
๒.๒ โทสะ ความคิดร้าย คิดทำลาย เช่น คิดจะฆ่า คิดจะเตะ คิดจะด่า คิดจะเผาบ้าน คิดจะทำให้อาย ฯลฯ
๒.๓ โกธะ ความเดือดดาลใจ คือคิดโกรธแต่ยังไม่ถึงกับคิดทำร้ายใคร
๒.๔ ปฏิฆะ ความขัดใจ เป็นความไม่พอใจลึกๆ ยังไม่ถึงกับโกรธ แต่มันขัดใจ
ข้อ ๒.๔ นี้แหละที่จัดเป็นธุลี กิเลสละเอียดในตระกูลโทสะ
๓. ตระกูลโมหะ คือความหลง เป็นอาการที่จิตมืดมน ไม่รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่รู้จักบุญบาป ส่วนความไม่รู้วิทยาการต่างๆ ไม่ใช่โมหะ คนที่มีความรู้ วิทยาการมากเพียงใด มีปริญญากี่ใบก็ตาม หากยังไม่รู้จักบุญบาป ไม่รู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำละก็ ได้ชื่อว่าตกอยู่ในโมหะทั้งนั้น กิเลสตระกูลโมหะ มีตั้งแต่หยาบถึงละเอียดดังนี้
๓.๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากทำนองคลองธรรม เช่น เห็นว่า พ่อแม่ไม่มีพระคุณ เห็นว่าบุญบาปไม่มี เห็นว่าโลกนี้โลกหน้าไม่มี เป็นต้น
๓.๒ โมหะ ความหลงผิด ความไม่รู้ผิดชอบชั่วดี
๓.๓ สักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตน เช่น คิดว่าร่างกายนี้เป็น ของเราจริงๆ
๓.๔ วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม เช่น ยังไม่มั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ ว่าบุญบาปมีจริงไหม ทำสมาธิแล้วจะหมดกิเลสจริงหรือ
๓.๕ สีลัพพตปรามาส ความติดอยู่ในศีลพรตอันงมงาย เช่น เชื่อ หมอดู เชื่อศาลพระภูมิ เชื่อพระเจ้า
๓.๖ มานะ ความถือตัว ถือเขาถือเรา
๓.๗ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่าน เป็นอาการที่จิตไหวกระเพื่อมน้อยๆ ยัง ไม่หยุดนิ่งสนิทบริบูรณ์ไม่ได้หมายถึงความฟ้งซ่าน ไม่รู้เหนือรู้ใต้อย่างที่คนทั่วไปเป็น
๓.๘ อวิชชา ความไม่รู้พระสัทธรรม เช่น ไม่รู้ว่าตัวเรามาจากไหน เกิดมาทำไม ตายแล้วจะไปไหน
ตั้งแต่ข้อ ๓.๓-๓.๘ เป็นธุลี กิเลสอย่างละเอียดในตระกูลโมหะ
โดยสรุป ธุลี หมายถึง กิเลสอย่างละเอียดทั้ง ๓ ตระกูล รวม ๑๐ ประการ ได้แก่
๑. สักกายทิฏฐิ
๒. วิจิกิจฉา
๓. สีลัพพตปรามาส
๔. กามราคะ
๕. ปฏิฆะ
๖. รูปราคะ
๗. อรูปราคะ
๘. มานะ
๙. อุทธัจจะ
๑๐. อวิชชา
ทั้ง ๑๐ ประการนี้เรียกว่า สังโยชน์ ๑๐ พระโสดาบันจะสามารถละ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้ มีความเชื่อมั่นในคุณของพระรัตน-ตรัยเต็มที่ ไม่มีความลังเลเลย ส่วนพระสกิทาคามีก็ละได้ ๓ ข้อแรก เช่นเดียวกับพระโสดาบัน แต่กิเลสข้อที่เหลือเบาบางลง ส่วนพระอนาคามีละได้เพิ่มอีก ๒ ข้อ คือกามราคะและปฏิฆะ มีแต่พระอรหันต์เท่านั้นที่ละสังโยชน์ธุลีกิเลสทั้ง ๑๐ ประการ ได้อย่างสิ้นเชิง มีจิตผ่องใส บริสุทธิ์ตลอด
ระดับโทษของกิเลสทั้ง ๓ ตระกูล
ราคะ มีโทษน้อย แต่คลายช้า คนจะรักกัน อยู่กันฉันสามีภรรยา ถือว่าไม่ผิดศีลธรรม ขออย่าไปนอกใจหรือไปมีชู้ก็แล้วกัน โทษของราคะไม่ค่อยหนักนัก แต่การจะเลิกนั้นยากมาก คลายช้า คนลองรักกันแค่ไม่เห็นหน้าไม่กี่วันก็ทำท่าจะตายเอาให้ได้ บางทีตายแล้วเกิดใหม่ใจยังผูกพันกันอยู่เลย จะให้เลิกรักเลิกยาก
โทสะ มีโทษมาก แต่คลายเร็ว เวลาโกรธขัดใจขึ้นมาฆ่ากันได้ บางที ถึงขนาดฆ่าพ่อฆ่าแม่ ทำอนันตริยกรรมก็ยังได้ มีโทษมาก แต่ทว่าคลายเร็ว ถ้าเขามาขอโทษขอโพย เอาอกเอาใจไม่นานก็หาย โทสะคลายเร็วอย่างนี้
โมหะ มีโทษมากด้วย คลายช้าด้วย ความหลง ความไม่รู้พระสัทธรรม นี้มีโทษมาก ทำให้เราหลงไปทำบาปตกนรกเสียย่ำแย่ เราต้องเวียนว่ายตายเกิดในวัฏฏสงสารกันมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทนทุกข์กันตลอดมาก็เพราะโมหะนี่เอง และแถมเจ้าโมหะความหลงนี้ยังคลายช้าอีกด้วย คนลงไม่รู้จักบุญจักบาปละก็ กว่าจะแก้ได้ท่านว่าหืดขึ้นคอเลย บางทีก็ต้องรอพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ต่อๆ ไปโน้นมาโปรด ยังไม่รู้ว่าจะแก้หายหรือเปล่า
ข้อควรปฏิบัติ
เราต้องทราบว่ากิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้ มันฟู มันงอกงามได้ เช่น คนบางคนเดิมอาจจะเป็นคนไม่โลภอะไร พอใจอยู่กับของของตน แต่ไม่ระวังตัว เผลอไปหน่อยเดียว มีลาภยศมาล่อมากๆ เข้า อาจกลายเป็นคนโลภไปทำบาป ทำชั่วเพราะความอยากได้ก็มี บางคนเดิมอาจเป็นคนใจเย็น แต่ถูกยุถูกแหย่ มากๆ เข้ากิเลสก็อาจงอกงาม กลายเป็นคนเจ้าโทสะไปได้เหมือนกัน หรือเดิม ก็เป็นคนธรรมดาทั่วไป เข้าใจธรรมะบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง บุญบาปก็แค่สงสัยว่า มีหรือไม่ แต่ไปคบคนพาลเข้ากลายเป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่เชื่อบุญไม่เชื่อบาป ปฏิเสธ นรกสวรรค์ คิดว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณต่อตัวเอง เป็นไปได้เหมือนกัน
เราจึงต้องระวังตัวไม่ประมาทในการทำความดี ตั้งใจทำสมาธิภาวนาไปตามลำดับ ไม่ย่อท้อ สักวันหนึ่งก็คงจะทำใจหยุดใจนิ่งเกิดปัญญา เห็นอริยสัจจ์ ทำนิพพานให้แจ้ง และกำจัดธุลีกิเลสทั้งหลายให้ล่อนหลุดไปจากใจ เป็นพระอรหันต์ เข้าถึงสุขอันเป็นอมตะได้เหมือนกัน
“ผู้ใดกำจัดโลภะได้แล้ว
ไม่โลภในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความโลภ
ความโลภย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น
เหมือนหยาดน้ำตกจากใบบัว
ผู้ใดกำจัดโทสะได้แล้ว
ไม่ประทุษร้ายในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความประทุษร้าย
โทสะย่อมหมดไปจากใจผู้นั้น
เหมือนผลตาลสุกหล่นจากขั้ว
ผู้ใดกำจัดโมหะได้แล้ว
ไม่หลงในอารมณ์อันเป็นที่ตั้งแห่งความหลง
ผู้นั้นย่อมกำจัดความหลงได้
เหมือนอาทิตย์อุทัย ขจัดความมืดให้หมดไปฉะนั้น”
ขุ. อิติ. ๒๕/๒๖๘/๒๙๕-๒๙๖
หนังสือมงคลชีวิต 38 ประการ ฉบับทางก้าวหน้า
โดย พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย