เมื่อใจบริสุทธิ์จะหลุดพ้นจากกระแสวิบากกรรม
ความสุขที่เกิดจากสมาธิเป็นแรงจูงใจให้เราอยากนั่งต่อไปเหมือนเป็นรางวัลเบื้องต้นสำหรับผู้ทำความเพียร ความไม่อิ่มไม่เบื่อในการนั่งสมาธิจะเกิดขึ้นมาเอง นี่คือรางวัลสำหรับผู้ที่มีความเพียรกระทั่งเกิดฉันทะขึ้นมา อยากอยู่กับอารมณ์นี้นาน ๆ โดยสมัครใจ อยากหยุดอยากนิ่ง มีเวลาว่าง ๕ นาที ๑๐ นาทีก็อยากจะอยู่กับตัวเองตรงศูนย์กลางกาย อยู่กับอารมณ์ชนิดนี้ที่หาไม่ได้จากคน สัตว์ สิ่งของ ธรรมชาติหรือที่ใด ๆ เลย ถ้ารู้สึกอยากจะอยู่ตรงนี้นาน ๆ แสดงว่าถูกหลักวิชชา แล้วใจจะนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งนิ่งแน่นในระดับที่ความคิดอื่นไม่สามารถดึงใจให้หลุดจากอารมณ์นี้ได้
ความนิ่งมีอารมณ์เดียว อารมณ์สุขที่เป็นกลาง ๆ บริสุทธิ์ ปราศจากมลทินของใจ จากความโลภ ความโกรธ ความหลงในระดับหนึ่ง จากความหงุดหงิดงุ่นง่าน ฟุ้งซ่าน รำคาญใจ จากการตรึกในเรื่องกาม เรื่องเพศ เรื่องรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์ เรื่องลาภ ยศสรรเสริญ หรือความโกรธ ความพยาบาท ขัดเคืองใจ น้อยใจ โศกเศร้าเสียใจ คับแค้นใจ พิไรรำพัน อะไรต่าง ๆ จะหายไป แล้วใจจะสบาย จะบริสุทธิ์ จนกระทั่งเรามีความรู้สึกเหมือนกาย วาจา ใจ เราบริสุทธิ์ สะอาด เกลี้ยงเกลาจากสิ่งที่เราเคยทำผิดพลาดในชีวิตที่ผ่านมา คล้าย ๆ บาปได้ถูกขจัดล้างออกไปด้วยกระแสธารแห่งบุญ
ความรู้สึกเกิดขึ้นมาเองว่า “เหมือนเราหลุดจากข้อผิดพลาด ที่ทำให้เกิดวิบากกรรม” ใจเราจะปีติ ภาคภูมิใจ เบิกบานใจว่า“เราได้หลุดจากกระแสวิบากกรรมที่ทำผ่านมา” ความรู้สึกอย่างนี้จะเกิดขึ้นมาเองเลยในตอนนั้น แม้ความจริงอาจจะหลุดจากวิบากกรรมไปได้ในระดับหนึ่ง ๕ เปอร์เซ็นต์ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ แต่โดยความรู้สึกของเรา เราจะรู้สึกว่ามันสูงส่งเหมือนบาปอกุศลกรรมวิบากกรรมต่าง ๆ ได้ถูกถอดออกจากใจ เราจะยิ้ม ๆ อยู่ภายในลึกๆ กระทั่งขยายมาสู่บนใบหน้า และขยายออกไปรอบตัวเรา
คุณครูไม่ใหญ่
จากหนังสือ ง่ายที่สุดคือหยุดได้ เล่ม ๕