ยกใจชนะอุปสรรค

วันที่ 23 มีค. พ.ศ.2567

230367.b01.jpg

 

ยกใจชนะอุปสรรค
๗ ตุลาคม ๒๕๓๓
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                ต่อจากนี้ เราจะได้เจริญสมาธิภาวนากัน ขอเรียนเชิญทุกท่านนั่งขัดสมาธิ สำหรับท่านที่มาอย่างสม่ำเสมอ เข้าใจถึงวิธีการปฏิบัติแล้ว ก็ให้ลงมือปฏิบัติธรรมได้เลย ส่วนท่านที่มาใหม่ยังไม่เคยปฏิบัติ ขอให้นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปทุก ๆ คนเลยนะจ๊ะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย ให้มือขวาทับมือซ้าย นิ้วชี้ของมือข้างขวา จรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ หลับตาของเราเบา ๆ อย่าไปบีบหัวตาอย่าไปกดลูกนัยน์ตา หลับตาพอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับเรานอนหลับ

 


                ขยับเนื้อขยับตัวของเราให้ดี กะคะเนให้เลือดลมในตัวของเราเดินได้สะดวก เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อยเพราะว่าเราจะใช้เวลาต่อจากนี้ไป ๑ ชั่วโมงเต็ม สำหรับการทำภาวนาและการบูชาข้าวพระ ท่านที่มาอยู่เป็นประจำแล้ว ก็ไม่มีปัญหา เพราะว่าเคยปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ส่วนท่านที่มาใหม่ยังไม่คุ้นเคย อาจจะปวดเมื่อยบ้างเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น การขยับเนื้อขยับตัว ปรับท่านั่งให้เลือดลมของเราเดินได้สะดวก จึงมีความจำเป็น เราจะได้ไม่ปวดไม่เมื่อย นั่งแล้วมีความรู้สึกว่าสบาย ๑ ชั่วโมงที่นั่งนั้น ถ้าหากว่าท่านั่งได้ถูกส่วน เราจะมีความรู้สึกว่ามันประเดี๋ยวเดียว ไม่นานเลย เพราะฉะนั้นการปรับท่านั่งขยับเนื้อขยับตัวนี้ เป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ท่านที่มาใหม่ จะต้องศึกษาให้เข้าใจทุกขั้นตอนของการทำสมาธิ ตั้งแต่ท่านั่งหลับตา ปรับร่างกาย และก็วางใจ

 


                เมื่อเราขยับเนื้อขยับตัวของเราดีแล้ว ต่อจากนี้ ก็ทำใจของเราให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส เพื่อจะให้ใจของเราเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญใหญ่ที่จะเกิดขึ้น เราจะต้องทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลยในชีวิต อย่าให้เกิดความหงุดหงิด งุ่นง่านฟุ้งซ่าน รำคาญใจ โงกง่วง ซึมเซา ง่วงเหงา หาวนอน มีนิวรณ์ทั้ง ๕ คือ นึกถึงเรื่องกามมั่ง ความพยาบาทบ้างความสงสัยลังเล ความเคลิ้ม ความท้อ หรือความฟุ้งซ่าน เป็นต้น คือคิดถึงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ภารกิจเกี่ยวกับครอบครัว ธุรกิจการงาน การศึกษาเล่าเรียนเป็นต้น จะต้องทำใจให้ปลอดโปร่ง ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส

 


                เพราะเราได้ตั้งใจเดินทางจากบ้านมา บางท่านก็เดินทางไกลมาจากต่างจังหวัด มีความตั้งใจมั่นว่าจะมาเอาบุญใหญ่ในคราวนี้ ท่านก็จะได้สมความปรารถนา เพราะฉะนั้น ต้องทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ส่วนท่านที่อยู่จังหวัดใกล้เคียง เจอปัญหาดีเพรสชั่น ถนนหนทางไม่สะดวก น้ำท่วม แต่ด้วยใจที่หัวใจที่เป็นนักสร้างบารมี รู้ว่าเราเกิดมาสร้างบารมี ก็มิได้หวาดหวั่นในอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล ได้โยนใจนั้นข้ามอุปสรรคนั้นไปคือยกให้อยู่เหนืออุปสรรค คิดว่าอุปสรรคเป็นเรื่องเล็ก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หน้าที่ของนักสร้างบารมี ก็สร้างบารมีอย่างเดียวเท่านั้น จึงได้เดินทางมาวัดพระธรรมกายในวันนี้

 


                เราจะเห็นได้ว่าการสร้างบารมีนั้นนะ มันไม่ง่าย เหมือนเราไปทานเลี้ยง ทานก๋วยเตี๋ยว หรือดูหนังดูละครเป็นเรื่องที่เราจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล จากใจของเรามั่ง จากสภาวะบ้านเมืองมั่ง ดินฟ้าอากาศบ้าง โรคภัยไข้เจ็บบ้าง แต่ว่าวันนี้เราได้ชนะแล้ว จากสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ได้มานั่งประชุมรวมกัน ณ ที่นี้ เพราะฉะนั้นต้องพยายามตักตวงบุญของเราให้เต็มที่ อะไรจะเกิดขึ้นก็ช่าง หน้าที่ของพวกเรา ในฐานะเป็นนักสร้างบารมี ต้องสร้างบารมีอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราต้องทำใจของเราให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ไม่กังวลกับสิ่งอะไรทั้งสิ้น ที่นั่งจะไม่นุ่มนวลก็ช่าง อากาศจะอบอ้าวบ้างก็ไม่สนใจ ทำใจให้เบิกบานให้แช่มชื่นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นตอนนี้ให้ทุกคนได้น้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ  

 


                เมื่อเราทำใจให้เบิกบาน ให้แช่มชื่น ให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส โดยการตั้งใจมั่นว่าเราจะสร้าง บารมี เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วสภาพใจในตอนนี้เหมาะสมต่อการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง ให้ทุกคนวางใจไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่มาเป็นประจำแล้ว รู้จักว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้นอยู่ที่ตรงไหน ก็วางใจไปเลย แต่ท่านที่มาใหม่ ยังไม่รู้จักว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน ก็ให้สมมติว่าหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นเชือกเส้นหนึ่ง ขึงจากสะดือ ทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย ให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสองนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ เรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือจากจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยเราสมมติเอานิ้วชี้กับนิ้วกลางวางซ้อนกัน และนำไปทาบตรงจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า

 


                ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นเมื่อหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ก็หมายเอาตรงนี้นะจ๊ะ สำหรับท่านที่มาใหม่ คือตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง ที่ขึงจากสะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ถ้าจำง่าย ๆ ก็คือ อยู่ในกลางท้องของเรานั่นเอง ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ เป็นตำแหน่งที่สำคัญที่สุด เพราะว่าเป็นหนทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้าพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเสด็จผ่านเข้าเส้นทางสายนี้ โดยผ่านจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ เป็นเส้นทางธรรมกาย ทางเอกสายเดียว ไม่มีสอง ที่เรียกว่า เอกายนมรรค หนทางเอกสายเดียว ไม่มีสอง เป็นเส้นทางธรรมกาย ที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

 


                 พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเข้าสู่เส้นทางนี้ เส้นทางนี้อยู่ในกลางกาย กึ่งกลางกายพอดี โดยท่านจะวางใจของท่านให้หยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ จนกระทั่งถูกส่วน ไม่ตึงเกินไปไม่หย่อนเกินไป เกิดสภาวะที่เหมาะสม คือความถูกส่วนเกิดขึ้น ท่านก็ได้พบหนทางเบื้องต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน พบปากทางของเส้นทางธรรมกาย พบปฐมมรรคเป็นธรรมเบื้องต้น เป็นดวงธรรมเบื้องต้น ที่บังเกิดขึ้นเมื่อใจท่านหยุดนิ่งถูกส่วนตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ลักษณะของธรรมเบื้องต้น หรือที่เราเรียกว่าธัมมานุปัสสนาเป็นดวงธรรมเบื้องต้นนั่นแหละ 

 


                เห็นในเบื้องแรกนั้น ลักษณะจะกลมรอบตัวเหมือนดวงแก้ว กลมรอบตัวเหมือนดวงแก้วกายสิทธิ์ ดวงแก้วมณีโชติรส อย่างเล็กก็ขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน จะขนาดไหนก็ตาม ขนาดดวงดาว ดวงจันทร์ หรือดวงอาทิตย์ จะบังเกิดขึ้นที่กลางกายฐานที่ ๗ เมื่อใจหยุดนิ่งได้ถูกส่วนอย่างนี้ เรียกว่าปฐมมรรคทั้งสิ้น ถ้าท่านได้เข้าถึงปฐมมรรค และท่านก็ปล่อยใจเข้าไปสู่ภายในกลางปฐมมรรคนั้น จนกระทั่งท่านพบดวงธรรมต่าง ๆ ละเอียดขึ้นไปตามลำดับ

 


                เมื่อเราเข้าถึง เราก็จะทราบได้ด้วยตัวของเราเอง เป็นปัจจัตตัง จะรู้จะเห็นได้ด้วยเฉพาะตัวเราเอง แต่ว่าเมื่อเห็นแล้ว ก็มีความสุข มีความปิติ มีความเบิกบานใจ อิ่มอกอิ่มใจ ภาคภูมิใจว่าได้เกิดมาในบวรพุทธศาสนา ได้ความรู้ของพระพุทธเจ้า สั่งสอนแนะนำให้เข้าถึงกายภายใน จะทำให้จิตใจเราละเอียดปราณีตขึ้นไปตามลำดับและการตั้งเป้าหมายของชีวิตก็เด่นชัดขึ้น ใจที่เคยยึดมั่นถือมั่นในวัตถุสิ่งของอะไรต่าง ๆ เหล่านั้น เป็นต้น ก็จะค่อย ๆ ค่อย ๆ ปลด ค่อย ๆ ปล่อย ค่อยวาง เมื่อปลดปล่อยวางได้ ใจก็เป็นอิสระ พอใจเป็นอิสระ ก็หลุดพ้นเข้าไปสู่เส้นทางธรรมกาย ซึ่งอยู่ในกลางตัว เข้าถึงกายต่าง ๆ ดังกล่าว และกายที่สำคัญที่สุดคือกายธรรม 

 


                กายธรรมหรือกายตรัสรู้ธรรมนั้น ลักษณะสวยงามมาก งามไม่มีที่ติ งามกว่ากายใด ๆ ในภพทั้ง ๓ งามกว่ากายอรูปพรหม งามกว่ากายรูปพรหม งามกว่ากายทิพย์ งามกว่ากายมนุษย์ทั้งหยาบละเอียด เป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา กายนั้นประกอบไปด้วย ลักษณะมหาบุรุษ งามไม่มีที่ติ เป็นจุดเริ่มต้นพระพุทธศาสนาจับหลักตรงนี้ ตั้งแต่กายธรรมนี้เป็นต้นไป เพราะฉะนั้น นี่คือเป้าหมายที่พวกเราทั้งหลายจะต้องพยายามฝึกฝนอบรม ทั้งวันทั้งคืน นั่ง นอน ยืนเดิน ปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เมื่อเข้าถึงธรรมกายได้แล้ว ก็ปิดประตูอบาย มีความสุขในภพปัจจุบันทีเดียว 

 


                เมื่อเราทราบอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไป จะได้สอนวิธีวางใจให้เป็น วางใจที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เป็นเพื่อที่จะได้เข้าถึงปฐมมรรค เข้าถึงกายในกาย จนกระทั่งเข้าถึงกายธรรมขอให้ท่านที่มาใหม่ นึกน้อมใจตามเสียงหลวงพ่อไปนะจ๊ะ เมื่อเราทราบว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นั้น อยู่ในตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือแล้ว ก็ให้วางใจของเราเบา ๆ เอาใจเราไปวางเอาไว้ตรงนั้นน่ะ ตรงตำแหน่งที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้งสอง ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ

 


                การวางใจก็คือ การนึกนั่นเอง นึกด้วยใจ นึกว่าเราเอาใจมาวางตรงนี้ ซึ่งเป็นที่สุดของลมหายใจ เวลาเราหายใจเข้าไปลึก ๆ ที่สุดลมหายใจจะอยู่ตรงนี้แหละ ตรงฐานที่ ๗ ตรงนี้ วางใจของเราเบา ๆ วางอย่างสบาย ๆ วางเฉย ๆ นะจ๊ะ อย่าไปตั้งใจมากเกินไปวางเฉย ๆ แล้วกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมาในใจ กำหนดว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว ไม่มีขีด ไม่มีข่วน คล้ายขนแมว โตเท่ากับแก้วตาของเรา 

 


                ให้สร้างมโนภาพที่เราเรียกว่ากำหนดบริกรรมนิมิต ว่าที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ นี้ มีดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา เป็นดวงแก้วที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ ให้เรานึกถึงความเป็นจริงของเพชรลูก เพชรลูกที่มีความใสโดยธรรมชาติ เมื่อกระทบกับแสงแล้วมีประกายเจิดจ้าอย่างไร การกำหนดบริกรรมนิมิตก็ให้สดใสอย่างนั้น เป็นดวงแก้วกลมรอบตัว ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้นึกถึงภาพดวงแก้วนี้อย่างง่าย ๆ นึกอย่างสบาย ๆ สบายคล้าย ๆ กับเรานึกภาพหยดน้ำที่อยู่บนปลายยอดหญ้า หรือน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือดวงดาวบนท้องฟ้า ให้นึกง่าย ๆ อย่างนั้น 

 


                เนื่องจากว่าดวงแก้วนี้เราไม่ค่อยคุ้นในการนึกสำหรับท่านที่มาใหม่ ก็ให้นึกคล้าย ๆ กับที่เรานึกถึงน้ำค้างที่อยู่บนปลายยอดหญ้า เห็นน้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว มีความใส มีความบริสุทธิ์อย่างนั้น หรือดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาวในอากาศ น้อมมาตั้งไว้ที่ศูนย์กลางกายอย่างง่าย ๆ อย่างธรรมดา ๆ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ๆ ให้คำภาวนา สัมมาอะระหัง เป็นเสียงที่ละเอียดอ่อน ดังก้องออกมาจากศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ กลางบริกรรมนิมิตดวงแก้วนั้น ให้ดังออกมาจากในกลางของดวงแก้ว กลางฐานที่ ๗ หรือกลางท้องของเรา 

 


               สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ทุกครั้งที่เราภาวนา สัมมาอะระหัง เราจะต้องไม่ลืมตรึกนึกถึงดวงใส เอาใจ หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของ ความใสบริสุทธิ์ของบริกรรมนิมิต ทุกครั้งที่เรานึกถึงบริกรรมนิมิตที่สุกใส คล้ายกับเพชร เราก็จะต้องไม่ลืมภาวนาว่า สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง สัมมาอะระหัง ให้ภาวนาควบคู่กันไป อย่างนี้นะจ๊ะ ถ้าหากเราไม่เผลอจากบริกรรมทั้งสอง คือ สัมมาอะระหัง ไปด้วยตรึกนึกถึงดวงใสไปด้วย ถ้าหากเราไม่เผลอ ไม่ช้า ใจของเราก็จะหยุดนิ่ง ใจหยุดนิ่งมีอาการดังนี้คือ คำภาวนาที่เราภาวนา สัมมาอะระหัง เราภาวนาไปเรื่อย ๆ 

 


                พอใจหยุดนิ่ง คำภาวนานั้นเราจะลืมไป มันจะเลือนหายไป เหลือแต่ดวงใสอย่างเดียว หยุดนิ่งอยู่ในกลางกาย เราจะเกิดความรู้สึกว่า เราไม่อยากจะภาวนาต่อ อยากจะวางใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อยู่ในกลางดวงนั้น นั่นแหละเรียกว่าใจหยุดแล้ว พอใจหยุด ดวงธรรมที่เกิดขึ้น ใสบริสุทธิ์อยู่ในกลางกาย ท่านที่มาใหม่ ให้ทำอย่างนี้นะจ๊ะ ภาวนาสัมมาอะระหัง ไปเรื่อย ๆ ตรึกนึกถึงดวงใสควบคู่กันไปด้วย จนกว่าเมื่อไหร่เกิดความรู้สึกว่าไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากจะรักษาดวงใสอยู่ในกลางกายอย่างเดียวเท่านั้น เราก็ทิ้งคำภาวนาไปเลย ให้รักษาแต่ดวงใสอย่างเดียวที่ศูนย์กลางกายนะจ๊ะ 

 


                การทำอย่างนี้ เป็นมหากุศล เป็นกุศลใหญ่ เป็นไปเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน ใจหยุดชั่วประเดี๋ยวเดียวแค่ระยะงูแลบลิ้นหรือฟ้าแลบแวบเดียวเท่านั้น ได้อานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาลนัก เพราะว่าเป็นทางมรรคผลนิพพาน เพราะฉะนั้น บุญอะไรที่จะยิ่งใหญ่กว่า การสร้างหนทางไปสู่พระนิพพานแล้วเป็นไม่มี บุญอันนี้เป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เพราะฉะนั้นให้ท่านที่มาใหม่นะจ๊ะ ตั้งใจปฏิบัติภาวนาไป จนกว่าใจจะหยุดจะนิ่ง และเมื่อใจหยุดนิ่งแล้วนอกจากจะเป็นหนทางไปสู่พระนิพพาน ยังเป็นใจที่มีสภาพเหมาะสมที่จะเป็นภาชนะรองรับบุญกุศล เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำใจให้บริสุทธิ์ ให้ผ่องใส ดังกล่าวแล้ว จนกระทั่งความบริสุทธิ์ปรากฏขึ้นมาในกลางหยุดกลางนิ่งนะจ๊ะ 

 


                เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ไปก็ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ จนกว่าจะถึงเวลาอันควร อย่าลืมตานะจ๊ะ ตั้งใจภาวนากันไป เราก็จะหลับตาของเราเบา ๆ ไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ซึ่งเป็นหนทางไปสู่อายตนนิพพาน การบูชาข้าวพระก็คือการที่เรานำเครื่องไทยธรรม อันมีดอกไม้ ธูปเทียน อาหารหวานคาว เอามาจากบ้านกันคนละเล็กละน้อย แล้วเราก็นำมาประชุมรวมกันที่นี่ นำเครื่องไทยธรรมที่เป็นของหยาบนี้ กลั่นด้วยธรรมกาย จนกระทั่งเครื่องไทยธรรมนี้ใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นของละเอียด แล้วเราก็จะได้น้อมนำเครื่องไทยธรรมเหล่านี้ ไปถวายแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า ในอายตนนิพพาน 

 


                ที่ท่านดับขันธปรินิพพานนานมาแล้ว แต่ยังมีพระธรรมกายปรากฏอยู่นับอสงไขยพระองค์ไม่ถ้วน การถวายเป็นพุทธบูชาอย่างนี้ เรียกว่าการบูชาข้าวพระ ซึ่งการน้อมนำขึ้นไปถวายนี้ คุณยายอุบาสิกาจันทร์ของพวกเราทั้งหลาย ท่านจะเป็นผู้ที่รวบรวมคุมเครื่องไทยธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ไปถวายเป็นพุทธบูชา ซึ่งอานิสงส์ที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระนี้ เป็นอานิสงส์ใหญ่ เพราะว่าถวายถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้า คือถูกธรรมกายนั่นเอง เพราะธรรมกายนั้น เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระพุทธเจ้านั่นเอง

 


                ธรรมกายก็คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก็คือธรรมกาย ดังพระบาลีที่ว่า ธรรมกาโย อะหัง อิติปิ ธรรมกายคือตถาคต ตถาคตคือธรรมกาย พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเอาไว้อย่างนี้ หรือท่านที่เข้าถึงแล้ว ก็จะพบธรรมกายซึ่งมีสภาวะดังนี้เช่นเดียวกัน และคุณยายท่านจะคุมบุญอย่างนี้ บุญนี้ก็จะถึงแก่พวกเราทั้งหลาย ทุก ๆ ท่านที่เป็นเจ้าของเครื่องไทยธรรมนี้ หรือได้มาอนุโมทนา บุญกุศลที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระนี้ ก็จะมีอานิสงส์ได้ทั่งถึงกันไปหมด อานิสงส์ที่เกิดขึ้นนั้นน่ะ ไม่อาจที่จะคำนวณได้ 

 


                ถ้าเราเห็นได้ด้วยตาธรรมกายแล้ว เราจะเห็นว่าบุญกุศล ที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระ ที่ถูกตัวจริงของพระพุทธเจ้านั้น มันมากมายซะจนกระทั่ง ต้องใช้คำว่า บุญเกิดขึ้นเป็นอสงไขยอัปมาณัง คือนับไม่ไหว เหมือนเราไม่อาจที่จะนับเมล็ดทรายในท้องพระมหาสมุทร หรือฝนที่ตกลงมาในท้องจักรวาล หรือธุลีดินในแผ่นดินอย่างนั้น บุญที่เกิดขึ้นมากมายก่ายกองทีเดียว ถ้าเราเห็นได้ด้วยธรรมจักขุของพระธรรมกาย เพราะฉะนั้นจึงเป็นบุญใหญ่ที่พวกเราทั้งหลาย ควรเอาใจใส่และก็มาตักตวงบุญกัน ให้สม่ำเสมอในอาทิตย์แรกของเดือน เดือนละครั้ง ซึ่งการทำอย่างนี้ เราก็ทำมานานทีเดียว หลายสิบปีแล้ว แล้วคุณยายท่านก็คุมกันไปอย่างนี้แหละ 

 


                วันนี้ก็โชคดีที่ท่านทั้งหลายเดินทางไกล มาจากต่างจังหวัดทั่วประเทศ ส่วนหนึ่งบุญบันดาลให้ได้มีโอกาสมาถวายไทยธรรมแด่พระธรรมกายของพระพุทธเจ้า นี่เป็นอานิสงส์ใหญ่จะติดตัวเราไปทุกภพทุกชาติ แล้วจะเลิกอดอยากยากจนกันไปจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน จะมีสมบัติทั้ง ๓ บังเกิดขึ้น คือมนุษย์สมบัติ ทิพย์สมบัติ และนิพพานสมบัติ เพราะฉะนั้น ให้ดีอกดีใจกันเอาไว้นะจ๊ะ 

 


                เมื่อเราทราบว่า วิธีบูชาข้าวพระ คือการกลั่นไทยธรรมที่เป็นของหยาบด้วยธรรมกาย ให้กลายเป็นของละเอียด แล้วน้อมนำไปถวายเป็นพุทธบูชา มีอานิสงส์อย่างนี้แล้ว ต่อจากนี้ เราก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๒ ซึ่งเป็นทางไปสู่อายตนนิพพาน ที่พระพุทธเจ้า พระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านเสด็จเข้าสู่เส้นทางสายนี้ปลายทางเป็นอายตนนิพพาน เราก็นึกหยุดในหยุด หยุดในหยุด เอาใจของเรานี่ ให้หยุดให้สนิท อย่างเบา ๆ อย่างละเอียดอ่อนที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ 

 


                ใครเข้าถึงปฐมมรรคก็หยุดไปที่กลางปฐมมรรค ใครเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายมนุษย์ละเอียด ใครเข้าถึงกายทิพย์ ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายทิพย์ ใครเข้าถึงกายรูปพรหม ก็เอาใจหยุดไปที่กลางกายรูปพรหม ใครเข้าถึงกายอรูปพรหม ก็หยุดไปที่กลางกายอรูปพรหม ใครเข้าถึงกายธรรม ก็หยุดไปที่กลางกายธรรม แล้วก็หยุดในหยุด หยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ให้ใจนิ่งเฉย อยู่ในกลางกายนะจ๊ะ แล้วก็กราบขอบุญบารมี รัศมี กำลัง ฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ ให้กับพวกเราทั้งหลายให้กุศลนี้บังเกิดขึ้นแก่พวกเราทั้งหลาย 

 


                ให้ได้เป็นผลบุญในปัจจุบัน ว่าปัจจุบันเนี่ย ทุก ๆ ท่านมีความตั้งใจที่จะสร้างบารมีอย่างเต็มที่ ก็ขอให้มีโภคทรัพย์ ได้บังเกิดขึ้นให้ได้บังเกิดขึ้นจากการทำมาหากินเนี่ย ให้ถูกอู่ของบุญ อู่ของสมบัติ ให้มีสายสมบัติเชื่อมโยง มีทรัพย์ได้บริจาคทำทานไม่รู้จักหมดจักสิ้น ให้ได้มาอย่างสะดวกอย่างสบาย อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วย อย่าได้ไข้ มีอายุยืนยาว จะได้สร้างบารมีไปนาน ๆ ให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด แตกฉานทั้งทางโลกทางธรรม ปัญญานั้นจะได้นำให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย เข้าถึงความสุขอันเป็นอมตะได้ ให้มีถ้อยคำที่เป็นที่รักของทุก ๆ คน 

 


                มีพลังในการทำหน้าที่ของกัลยาณมิตร จะชักชวนหมู่ญาติเพื่อนร่วมโลก ให้มาร่วมงานบุญงานกุศล ให้ทานรักษาศีลหรือเจริญภาวนา ให้ทุกท่านเหล่านั้นมีศรัทธาเลื่อมใส ในคำแนะนำที่ดีงามอันนั้น ไปแห่งหนตำบลใดก็ให้ปลอดภัยจากภัยพิบัติต่าง ๆ ให้ได้รับการต้อนรับอย่างดียิ่ง ประดุจญาติมิตรที่รักที่จากไปไกล ขอให้เป็นที่รักของมนุษย์ ของเทวดาทั้งหลาย ให้เป็นผู้ที่เทวดาปกปักรักษาแล้ว เป็นผู้ที่มีสิริมีมงคล สิริซึ่งเป็นที่มานอนแห่งโภคทรัพย์ ให้บังเกิดขึ้นกับทุก ๆ ท่าน 

 


                ให้ครอบครัวอยู่เย็นเป็นสุข มีความเข้าอกเข้าใจกัน ยิ้มแย้มแจ่มใสเข้าหากัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน อย่าได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน ให้ศึกษาเล่าเรียน สำหรับท่านที่ศึกษาเล่าเรียน ก็ให้สำเร็จสมความปรารถนา จะเรียนอะไรก็ให้รู้ง่ายจำง่าย ศึกษาได้คล่องแคล่ว เชี่ยวชาญ ที่รับราชการก็ให้เป็นที่ถูกอกถูกใจผู้หลักผู้ใหญ่ งานการให้มีประสิทธิภาพ ทำได้บรรลุเป้าหมาย อย่าได้เป็นที่สะดุดตาสะดุดใจผู้หลักผู้ใหญ่ ให้ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนให้ไปให้สูงที่สุดเท่าที่จะสูงได้ ที่ทำมาค้าขายดำเนินธุรกิจ ก็ให้ซื้อง่าย ให้ขายคล่อง ๆ ให้กำไรงาม ๆ 

 


                ให้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ประดุจอนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือมหาอุบาสิกาวิสาขา ซึ่งเมื่อมีทรัพย์บังเกิดขึ้นมาจากการทำธุรกิจแล้วก็ได้ใช้ทรัพย์อันนั้น ให้เป็นประโยชน์ เกื้อกูลแก่มวลมนุษย์ชาติ สร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นแก่โลก สร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่โลก สร้างดวงปัญญาให้เกิดขึ้นแก่โลก สร้างกุศลธรรมให้เกิดขึ้นแก่โลก ให้เป็นเศรษฐี ดังกล่าวแล้ว เหมือนกับ ๒ ท่านผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา ให้กระแสแห่งบุญนี้ ส่งผลให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ในปัจจุบันนี้ก็ให้เข้าถึงธรรมกาย ให้รู้แจ้งเห็นจริงในธรรมะของพระพุทธเจ้า ให้ทราบว่าธรรมกายนั้น มีลักษณะอย่างไร ดีอย่างไร เข้าถึงแล้วมีสุขอย่างไร 

 


                ให้เข้าถึงวิชชาธรรมกาย ความปรารถนาอันใดก็ตามที่ทุกท่านตั้งเอาไว้อย่างดีแล้ว เป็นความปรารถนาที่เป็นไปเพื่อการสร้างบารมี ให้ความปรารถนานั้น จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ จงเป็นผลสำเร็จ ด้วยอานุภาพแห่งทานบารมีที่ได้ถวายข้าวพระเป็นพุทธบูชา แด่ธรรมกายของพระพุทธเจ้า ให้สมบูรณ์ด้วยบุญบารมี รัศมี กำลัง ฤทธิ์ อำนาจ สิทธิ สมบัติ คุณสมบัติ ลาภยศ สรรเสริญ สุขมรรคผลนิพพาน ให้ได้ทำงานที่หมู่คณะได้มอบหมายเอาไว้ เพื่อการสร้างบารมีได้บรรลุเป้าหมาย โดยปราศจากอุปสรรคทั้งหลายทั้งมวล ให้กระแสธารแห่งบุญที่จะบังเกิดขึ้น ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ให้เป็นกระแสธารแห่งบุญที่ยิ่งใหญ่จะนับจะประมาณมิได้ บังเกิดแก่ทุก ๆ ท่าน ที่มาในวันนี้ 

 


                ขอความปรารถนาดีทั้งหลายทั้งมวล จงบังเกิดขึ้นแก่ทุกๆ ท่าน ทุกคนก็ตั้งใจ อธิษฐานจิตให้ดีนะจ๊ะ ที่กึ่งกลางกายของเรา ในขณะที่ท่อธารแห่งบุญหรือที่เราเรียกว่า ปุญญาภิสันธาร ท่อธารแห่งบุญเป็นกระแสขาวใสบริสุทธิ์ ที่เกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายสว่างไสว ยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวันนี้ ให้เอาใจปักมั่นที่ศูนย์กลางกาย แล้วอธิษฐานที่ศูนย์กลางกายนั้นเถอะ เราจะได้ความสำเร็จอย่างที่เรานึกไม่ถึงทีเดียว ต่างคนต่างอธิษฐานกันไปเงียบ ๆ นะจ๊ะ 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.028398398558299 Mins