วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เป้าหมายการเผยแผ่ พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย ตอน ๕

พระธรรมเทศนา

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนาพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)
เนื่องในวาระวันคล้ายวันเกิดครบ ๖๘ ปี ๒๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๑



เป้าหมายการเผยแผ่

พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกาย

ตอน ๕ รัฐศาสตร์เชิงพุทธ การปกครองระบอบธรรมาธิปไตย

ภาคผนวก :

รัฐศาสตร์เชิงพุทธ ๑
          พระสูตร กูฏทันตสูตรนี้ ถือว่าเป็นการปฏิรูปแนวความคิดในการบริหารบ้านเมือง ที่กล้าหาญที่สุดและใหม่ที่สุดในยุคนั้น เท่ากับ ว่าเป็นการลบล้างตำรา ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีเดิม ซึ่งกำหนดโดยพราหมณ์ปุโรหิต ซึ่งถือว่าเป็นราชบัณฑิต ผู้รอบรู้ นักวิชาการ และที่ปรึกษาผู้นำของประเทศ ที่มีบทบาท สูงสุด
          พราหมณ์ปุโรหิตในเรื่องนี้คืออดีตชาติของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่บังเกิดในสมัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชได้วางกุศโลบายเพื่อปราบโจรผู้ร้าย เพื่อสร้างความร่มเย็นเป็นสุขให้กับพสกนิกร โดยพลิกปัญหาและอุปสรรคให้กลายเป็นโอกาส แทนที่จะส่งเสริมให้คนทำบาปตามประเพณีเดิมของการทำพิธีบูชามหายัญ ซึ่งเป็นความเชื่อที่งมงายว่าจะต้องมีการฆ่าสัตว์บูชายัญเพื่อความเป็นสิริมงคล
          พราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ามหาวิชิตราช กลับพลิกพิธีอันโหดเหี้ยมงมงายให้กลายเป็น การพัฒนาบ้านเมืองและเศรษฐกิจแบบยั่งยืนนั่นคือยุทธศาสตร์ ๖ ขั้นตอนด้วยกัน

ยุทธศาสตร์ที่หนึ่ง การพัฒนาบ้านเมือง ด้วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
          เริ่มด้วยหลักการปราบโจรผู้ร้ายแบบ ถอนราก ถอนโคน เพื่อมิให้กลับมาเป็น เสี้ยนหนามเบียดเบียนประชาราษฎร์อีกต่อไป ๓ ประการ คือ
          ๑. ช่วยเกษตรกรผู้ขยันในการทำเกษตร ด้วยการพระราชทานพันธุ์พืชและอาหาร
          ๒. ช่วยราษฎรผู้ขยันในการค้าขายด้วยการพระราชทานต้นทุน
          ๓. ช่วยข้าราชการผู้ขยันในหน้าที่ราชการ ด้วยการพระราชทานอาหารและเงินเดือน
          เมื่อพระเจ้ามหาวิชิตราชทรงปฏิบัติตามคำแนะนำนี้โดยเคร่งครัด ก็ปรากฏว่าได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง คือ พระราชทรัพย์กลับเพิ่มพูนมากขึ้นๆ บ้านเมืองไม่มีโจรผู้ร้าย บ้านเรือนไม่ต้องปิดประตู อาณาประชาราษฎร์อยู่เย็็นเป็นสุขกันทั่วหน้า

ยุทธศาสตร์ที่สอง พัฒนาระบบการบริหาร ราชการแบบใหม่
          ด้วยระบบแรงจูงใจให้มีส่วนร่วมของผู้มีอำนาจด้านต่างๆ ของบ้านเมือง ด้วยการเชิญให้มาชี้แจงเป้าหมายและอุดมการณ์ของโครงการและขอความเห็นชอบด้วย ปรากฏว่าบุคคลเหล่านั้นก็ได้ตอบสนองยอมรับรองด้วยดี คำรับรองนี้เรียกว่า อนุมัติ ๔ นั่นหมายถึงความร่วมมือจากบุคคล ๔ ฐานอำนาจ คือ
          ๑. กลุ่มเจ้าเมืองผู้ปกครองเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับพระเจ้ามหาวิชิตราช
          ๒. กลุ่มอำมาตย์ราชบริพารผู้ใหญ่ รวมถึงเสนาบดี แม่ทัพนายกอง ผู้คุมกำลังสำคัญของบ้านเมือง
          ๓. กลุ่มพราหมณ์มหาศาล ได้แก่ บรรดา พราหมณ์ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ เป็นที่ปรึกษาเป็นราชบัณฑิต เป็นนักวิชาการที่มีทรัพย์และบารมีมาก
           ๔. กลุ่มพ่อค้าคหบดีผู้มีทรัพย์มั่งคั่ง และมีอิทธิพลในบ้านเมือง

ยุทธศาสตร์ที่สาม พัฒนาผู้นำ
          พัฒนาบุคคลซึ่งเป็นหัวใจระบบการบริหารบ้านเมืองให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ด้วยการตรวจคุณสมบัติ ๘ ประการของผู้นำและคุณสมบัติ ๔ ประการของพราหมณ์ปุโรหิตว่ามีลักษณะถูกต้องตามตำรา เป็นคนดีมีชาติตระกูล มีความรู้ ความสามารถ มีความมั่งคั่ง มีบารมี เพียงพอที่จะบริหารบ้านเมืองได้และจะทำพิธีนี้ประสบความสำเร็จ
          คุณลักษณะ ๘ ประการของผู้นำ คือ พระเจ้ามหาวิชิตราช ประกอบด้วย
          ๑. ชาติตระกูลดี ๗ ชั่วบรรพบุรุษ ไม่มี ใครคัดค้านตำหนิได้
          ๒. บุคลิกงดงามเป็นสง่า น่าเลื่อมใส
          ๓. มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก
          ๔. มีกองทัพที่เข้มแข็ง ๔ เหล่า อยู่ในระเบียบวินัย มีเดชานุภาพที่จะปราบข้าศึก
          ๕. มีพระราชศรัทธา บริจาคทาน ไม่ตระหนี่ บำเพ็ญพระราชกุศลอยู่เสมอ
          ๖. มีความรอบรู้ ในสรรพศาสตร์และความรู้ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมา
          ๗. มีความลึกซึ้งในปรัชญาภาษิต รู้จุด มุ่งหมายแห่งภาษิต
          ๘ เป็นบัณฑิตที่รอบรู้ประวัติศาสตร์ รอบรู้เรื่องปัจจุบัน และมีวิสัยทัศน์แห่งอนาคต

          คุณลักษณะ ๔ ประการของพราหมณ์ ปุโรหิต ประกอบด้วย

          ๑. เป็นผู้มีชาติกำเนิดดี ๗ ชั่วบรรพบุรุษไม่มีใครคัดค้านตำหนิได้
          ๒. เป็นผู้คงแก่เรียน ท่องจำมนต์ รู้จบไตรเพท พร้อมทั้งนิฆัณฑุศาสตร์ เกฏุภศาสตร์ อักษรศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ชำนาญโลกายตศาสตร์ และลักษณะมหาบุรุษ
          ๓. เป็นผู้มีศีล มีศีลที่เจริญ ประกอบด้วยศีลที่เจริญ
          ๔. เป็นบัณฑิตที่มีปัญญาเฉียบแหลม
          ระบบการตรวจสอบจนได้องค์ประกอบ มหายัญครบ ๑๖ ประการนั่นคือ อนุมัติ ๔ จากกลุ่มบุคคลผู้มีอำนาจในบ้านเมืองยุคนั้น คุณลักษณะ ๘ ประการของผู้นำและคุณลักษณะ ๔ ประการของพราหมณ์ผู้กระทำพิธี เท่ากับเป็นการตรวจสอบความบริสุทธิ์ของผู้กระทำพิธี ว่าต้องเป็นคนดี มีความรู้ มีเบื้องหลังชาติตระกูลดี จะได้ไม่มีใครครหานินทาในภายหลัง

ยุทธศาสตร์ที่สี่ พัฒนาระดับจิตใจของผู้นำ
          คือการยกย่องให้กำลังใจ โดยการขยายพระทัยของพระเจ้ามหาวิชิตราชให้กว้างขวางครอบคลุมทั้งรัฐ ด้วยการแสดงยัญพิธี ๓ ประการ
          ๑. เมื่อคิดจะให้ก็ไม่ต้องเสียดาย ต้องใจใหญ่ กล้าให้ ไม่กังวลว่ากองสมบัติจะสิ้นเปลือง ลดถอยลงไป ก่อนให้ต้องไม่เสียดาย
          ๒. ขณะให้ก็ไม่ควรเสียดาย ต้องให้ด้วยความเต็มใจ ด้วยความเลื่อมใสยินดี
          ๓. เมื่อให้ไปแล้วก็ไม่ควรเสียดาย ว่ากองสมบัติจะสิ้นเปลืองไปแล้ว ควรจะรู้สึกปลาบ ปลื้มยินดี เมื่อหวนคิดทุกครั้ง

ยุทธศาสตร์ที่ห้า พัฒนาจิตใจประชาชน ด้วยการตั้งมาตรฐานคนดี
          เพื่อประโยชน์ในการคัดคน พัฒนาคน เป็นลำดับๆ ไป ดังนั้นจึงไม่เพียงแต่พัฒนา ยกระดับจิตของผู้นำให้ขยายคลุมแผ่นดิน คลุมประเทศ คลุมโลก จนกลายเป็นพ่อของโลก ด้วยการทำใจให้ไม่เสียดายทั้ง ๓ วาระดังกล่าวเท่านั้น พราหมณ์ได้ให้ข้อคิดสำคัญในการบริหารคนหมู่มากว่า ในการทำทานครั้งใหญ่จะ ต้องทำใจให้หนักแน่นด้วยขันติธรรมเป็นพิเศษ เพราะจะมีทั้งคนดีคนชั่วหลายเหล่าปะปนกัน มารับแจกยัญหรือรับการสงเคราะห์ซึ่งยากที่จะแยกแยะได้ เราเองต้องทำใจให้ได้ว่า เราตั้งใจจะให้เฉพาะคนดีเท่านั้น แต่ถ้าคนที่ไม่ใช่คนดีมารับแจกทาน ก็ต้องทำใจให้หนักแน่นเหมือนแผ่นดิน ทำใจให้กว้างใหญ่ไพศาลว่า เราจะให้โอกาสเขากลับตัวเป็นคนดี ในภายหน้าให้ได้ ในฐานะที่เราเป็นพ่อของโลก
          นอกจากคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่มารับพระราชทาน ๓ กลุ่มคือ เกษตรกร ข้าราชการ ชั้นผู้น้อย และพ่อค้าวานิช ที่จะต้องเป็นผู้มีความขยันขันแข็งตามที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องเป็นคนมีศีล หรือถือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการดังนี้ คือ
          ๑. เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์
          ๒. เว้นขาดจากการลักขโมยทรัพย์ผู้อื่น
          ๓. เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม
          ๔. เว้นขาดจากการกล่าวเท็จ
          ๕. เว้นขาดจากการกล่าวส่อเสียด
          ๖. เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ
          ๗. เว้นขาดจากการกล่าวคำเพ้อเจ้อ
          ๘. พวกที่ไม่มีจิตเพ่งเล็งอยากได้ของเขา
          ๙. พวกไม่มีจิตพยาบาท
          ๑๐. พวกที่มีสัมมาทิฐิ
          เกณฑ์ที่พราหมณ์ปุโรหิตตั้งขึ้น ๑๐ ประการ นี้เท่ากับเป็นการประกาศมาตรฐานคนดีในยุคนั้นว่าที่แท้คือกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการนั่นเอง เพื่อให้ผู้นำมีเกณฑ์ในการคัดคนและเลือกคน
          มาตรการดังกล่าวนี้ เท่ากับเป็นการตั้งมาตรฐานในการคัดคน พัฒนาคน สร้างคน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ พัฒนาบ้านเมือง ซึ่งต้องทำควบคู่กันไป เพราะทุกโครงการจะสำเร็จหรือไม่ก็อยู่กับคุณภาพของคนนี้เอง

ยุทธศาสตร์ที่หก การพัฒนาเศรษฐกิจ คู่กับจิตใจ
          พิธีบูชามหายัญของพราหมณ์ปุโรหิตของพระเจ้ามหาวิชิตราชนั้น เป็นการปฏิวัติพิธีกรรมเดิมของพราหมณ์ที่ถือปฏิบัติสืบเนื่องมาแต่โบราณว่าจะต้องมีการฆ่าวัว แพะ แกะ ไก่ สุกร และสัตว์นานาชนิด พิธีแบบใหม่นั้นไม่ต้องตัดไม้ ทำลายป่ามาทำหลักบูชายัญ ไม่ต้องตัดหญ้าคา พวกทาสกรรมกรของพระเจ้ามหาวิชิตราชก็ไม่ต้องถูกบังคับให้ทำในสิ่งที่ตนไม่ต้องการทำ
          พิธีบูชามหายัญแบบใหม่นี้ใช้เพียงเนยใส เนยข้น นมเปรี้ยว น้ำผึ้ง และน้ำอ้อย ซึ่งเป็นของหาง่ายในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และ ที่สำคัญทำให้หยุดทำปาณาติบาต แต่หันไป ส่งเสริมการเกษตรกรรมแทน ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็เป็นการส่งเสริมอาชีพและการตลาดให้ กับประชาชน ทำนองเดียวกับ ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ ในปัจจุบันนั่นเอง

(อ่านต่อฉบับหน้า)

 
บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 80 มิถุนายน ปี2552

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล