วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ทานบารมี ต้นทางสู่โพธิญาณ

ปกิณกธรรม

เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ. ๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙ /
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์

 



 

ทานบารมี

ต้นทางสู่โพธิญาณ

          "เราจักเลือกเฟ้นธรรมที่จะทำให้ได้เป็นพระพุทธเจ้าทั้งเบื้องบน เบื้องต่ำ ทั่วทั้งสิบทิศ ตลอดถึงธรรมธาตุ เมื่อเราเลือกเฟ้นอยู่ในกาลนั้น ได้เห็นทานบารมีอันเป็นพุทธการกธรรมข้อที่ ๑ เป็นทางใหญ่ ที่พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงเลือกเฟ้นแล้ว จึงสอนตนว่า เธอจงบำเพ็ญทานบารมี มาทานให้มั่น หม้อน้ำที่ใครคนหนึ่งคว่ำปากลง น้ำก็ออกจากหม้อมิได้เหลืออยู่เลย ฉันใด เธอเห็นคนมาขอสิ่งของทั้งที่เป็นชั้นต่ำ ชั้นกลาง ชั้นสูง จงให้ทานโดยไม่เหลือ เหมือนหม้อน้ำ ที่เขาคว่ำปาก ฉันนั้น" (นิทานกถา)

          หลังจากที่ท่านสุเมธดาบสได้รับพุทธพยากรณ์แล้วก็ ตรวจตราพิจารณาว่าจะ ต้องบำเพ็ญความดีอะไรบ้างถึงจะได้ ตรัสรู้ธรรมเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่าน ใช้อภิญญาระลึกชาติ สอนตนเองว่าการเกิดที่จะ ได้สร้างบุญบารมีได้ เต็มที่ต้อง ใช้กายมนุษย์แต่กายมนุษย์นี้ยังตกอยู่ในไตรลักษณ์ มีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และเสื่อมสลายไป อยู่ได้ช่วงเวลาหนึ่ง เท่านั้น ต้องมีปัจจัยสี่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยง หากขาดสิ่งเหล่านี้แล้วร่างกายย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ หากเกิดไปแล้วขาดปัจจัยสี่คืออาหารเครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรควันเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดในชีวิตนั้น ก็ต้องหมดไปกับการแสวงหาปัจจัยสี่ที่สำคัญคือท่าน ไม่ได้ปรารถนาบรรลุธรรมตามลำพังแต่ต้องการให้สรรพสัตว์ ข้ามพ้นจากทุกข์ในสังสารวัฏ ไปด้วยในระหว่างการสร้างบารมีต้องมีเสบียงเพื่อหล่อเลี้ยงบริวาร มีสถานที่รองรับหมู่คณะ ยิ่งเป้าหมายใหญ่ ยิ่งต้องอาศัยสถานที่เพื่อรองรับการบำเพ็ญบารมีมากเท่านั้นเรียกง่าย ๆ คือ ทั้งที่ทีม ทุนต้องพร้อม จึงจะเผยแผ่ธรรมะได้สะดวก

          ท่านสุเมธดาบสรู้ว่า ทานบารมีนี้เป็นบารมีที่สำคัญมาก ขาดทานบารมีแล้วจะเสียเวลาไปกับการ แสวงหาปัจจัยสี่ ทำให้บำเพ็ญบารมีข้ออื่นได้ลำบาก ตามไปด้วย ท่านจึงสอนตนเองว่า จะบำเพ็ญทาน บารมีประหนึ่งหม้อที่คว่ำ เทน้ำออกหมดไม่ให้เหลือ เลย นี่เป็นความคิดอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นความคิดที่คนธรรมดาไม่กล้าคิดกัน ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเป็นพระ-ราชากรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ดำรงตำแหน่งเศรษฐี ได้สร้างโรงทาน ๖ แห่ง คือ ที่ประตูเมืองทั้ง ๔ ทิศ

 



 

          ที่ใจกลางเมือง ๑ แห่ง และที่บริเวณประตูคฤหาสน์ ของท่านอีก ๑ แห่ง ท่านได้บริจาคทานทุกวัน และ รักษาอุโบสถศีลเป็นนิจ วันหนึ่งขณะคนรับใช้กำลังนำอาหารเช้ามีรสเลิศมาให้ท่านเศรษฐีพระปัจเจก-พุทธเจ้าองค์หนึ่งเพิ่งออกจากนิโรธสมาบัติ เหาะมา ทางอากาศเพื่อโปรดท่านเศรษฐี

          พระปัจเจกพุทธเจ้าได้ยืนอยู่ที่ซุ้มประตูคฤหาสน์ ท่านเศรษฐีเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแต่ไกล และปรารถนาจะถวายทาน ทันทีที่คิดจะทำความดี มารผู้มีใจบาปทนไม่ได้ ถึงกับสั่นสะท้านคล้ายคนไข้ ที่แสลงน้ำเย็น คิดว่า "พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่ได้ฉันอาหารมา ๗ วันแล้ว วันนี้หากไม่ได้อาหารก็จะต้องปรินิพพาน เราจะทำให้พระปัจเจกพุทธเจ้าพินาศให้ได้" จึงรีบตรงไปบ้านท่านเศรษฐี และเนรมิตหลุมถ่านเพลิงกว้าง ๘๐ ศอก มีเปลวไฟร้อนแรงแดงฉานลุกโพลงจากใต้พิภพ

          เศรษฐีให้คนใช้ไปรับบาตรจากพระปัจเจก-พุทธเจ้า คนใช้เห็นเหตุการณ์นั้นก็ตกตะลึงด้วยความ หวาดกลัว รีบกลับไปรายงานท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐี ได้ส่งคนอื่น ๆ ไปอีกทุกคนต่างหวาดกลัวพากันหนีกลับเช่นกัน ท่านเศรษฐีจึงคิดว่า "พญามาร คือ ผู้ขัดขวางความดี ต้องการจะทำลายทานของเรา แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น วันนี้เมื่อเราตั้งใจทำความดี แล้ว เราจะต้องทำให้สำเร็จ แม้ว่าจะมีมารมาเป็นร้อย เป็นพัน หรือเป็นแสนก็ตาม ก็ขัดขวางการให้ทานของเราไม่ได้ "

          ท่านเศรษฐีจึงถือถาดอาหารไปยืนอยู่ที่ปากหลุมถ่านเพลิง เห็นมารยืนอยู่ในอากาศ จึงถามว่า "ท่านเป็นใคร" "เราคือมาร" "หลุมถ่านเพลิงนี้ท่าน เนรมิตขึ้นหรือ" เมื่อมารยอมรับ ท่านจึงถามต่อว่า "ท่านเนรมิตเพื่ออะไร" มารตอบว่า "เราต้องการทำ อันตรายต่อทานของท่าน และต้องการให้ชีวิตของพระปัจเจกพุทธเจ้าดับสิ้นไป"

          ท่านเศรษฐีกล่าวด้วยน้ำเสียงเด็ดเดี่ยวว่า "ใครก็ขัดขวางการให้ทานของเราไม่ได้ แม้เราจะต้องตกลงไปในหลุมถ่านเพลิงมีหัวดิ่งลง เอาเท้าชี้ฟ้า ร่างกายจะมอดไหม้เป็นเถ้าถ่านก็ตาม แต่ดวงวิญญาณของเราก็มุ่งมั่นทำความดีให้สำเร็จดังที่ได้ตั้งใจไว้ " ว่าแล้วก็กราบอาราธนาพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า "ขอท่านผู้เจริญได้โปรดรับภัตตาหารของข้าพเจ้า ด้วยเถิด"

 



 

           ท่านเศรษฐีสำรวมจิตมั่น ก้าวลงไปในหลุม ถ่านเพลิงด้วยความกล้าหาญ โดยไม่หวาดหวั่นต่อมรณภัย มีใจผ่องใสตั้งมั่นอยู่ในบุญ และด้วยอานุภาพแห่งความเชื่อมั่นในบุญ ดอกบัวใหญ่ก็ผุดขึ้น มารองรับเท้าทุกย่างก้าวของเศรษฐี อีกทั้งมีเกสรดอกบัวหอมฟุ้งกระจาย โปรยปรายลงใส่ร่างกายของ ท่านเสมือนหนึ่งพร่างพรมด้วยละอองทองคำ

          เปลวเพลิงอันร้อนแรงนั้น ไม่อาจเผาไหม้กายของท่านเศรษฐี แม้เพียงปลายเส้นขนก็ไม่ระคาย เคืองแต่อย่างใด ท่านเศรษฐีก้าวเดินไปบนดอกบัว ยืนถวายภัตตาหารอันมีรสเลิศลงในบาตรของพระปัจเจกพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้ารับภัตตาหารแล้ว ได้กระทำอนุโมทนา และประสงค์จะประกาศการสร้างความดีของท่านเศรษฐี จึงลอยบาตรขึ้นไปในอากาศ เมื่อมหาชนทั้งหลายออกมาดู ท่านก็เหาะขึ้น สู่เวหามุ่งไปป่าหิมพานต์เหมือนเดินย่ำไปบนกลีบเมฆ ฉะนั้น

          เมื่อฝ่ายมารพ่ายแพ้ต่อความดี ก็รู้สึกเสียใจที่ขัดขวางไม่สำเร็จ จึงอันตรธานหายไป ชาวเมืองพากันมาที่บ้านของท่านเศรษฐี ต่างแซ่ซ้องสาธุการในวีรกรรมอันยิ่งใหญ่ที่กล้าเอาชีวิตเข้าแลก เพื่อจะได้ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านเศรษฐีจึงถือโอกาสชักชวนชาวเมืองให้อาจหาญในการทำความดี หมั่นทำทานและรักษาศีล มหาชนฟังแล้วเกิดความ เลื่อมใส ต่างมีใจมุ่งมั่นในการบำเพ็ญบุญยิ่ง ๆ ขึ้นไป ละโลกแล้วก็ไปบังเกิดในสวรรค์

          ยอดนักสร้างบารมีทั้งหลายพระโพธิสัตว์เจ้านั้น ไม่เคยท้อแท้ในการให้ทานเพราะทานเป็นก้าวแรกที่จะต้องทำให้เต็มเปี่ยม เพื่อสนับสนุนให้การสร้างบารมีข้ออื่นสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทานบารมีเป็น สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ หากไม่ได้สั่งสมทานบารมีก็เหมือนรถที่ไม่มีน้ำมัน ซึ่งไม่อาจจะนำพาชีวิตเราไปสู่จุดหมายปลายทางได้ ดังนั้น ทุกท่านก็ต้องทุ่มเทสร้างมหาทานบารมีให้เต็มที่ อย่าให้ความตระหนี่มาครอบงำจิตใจ จะต้องฆ่าความตระหนี่ ให้ได้

 



 

          เราต้องเดินตามรอยมหาปูชนียาจารย์ ผู้มีมโนปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่จะรื้อสัตว์ขนสัตว์ ไปสู่ฝั่งนิพพานให้หมด ใจของท่านยิ่งใหญ่ขนาดนั้นที เดียวนั่นแสดงว่าบุญบารมีในตัวท่าน ต้องมีมากเป็นพิเศษเพราะท่านมองเห็นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ ถ้าทุ่มเทชีวิตจิตใจกันจริงๆและทำกันไปเป็นทีม จึงไม่แปลกใจที่พวกเราจะมีอุปนิสัยรักการสร้างมหาทานกันเป็นทีม ตามเยี่ยงอย่างท่านและทำบ่อยๆ ไม่เคยขาดจนกลายเป็นลมหายใจแห่งการ สร้างบารมี จนกว่าจะไปสู่ดุสิตบุรีกันทุกคน

      ......ทานท่านกล่าวว่าเป็นต้น เหตุของความสุขเป็นบันไดไปสู่นิพพาน ทานเป็นประดุจนาวาเพราะช่วยพาให้ข้ามทุกข์... ชนใดเล่า เมื่อได้ยินว่าทานเป็นแดนเกิดสวรรค์สมบัติแล้ว จะไม่ให้ทานอันนำไปสู่ความสุขเป็นไม่มี ทานนั้นย่อมให้สาวกภูมิปัจเจกพุทธภูมิ ตลอดถึงพุทธภูมิ..

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 112 กุมภาพันธ์ ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล